skip to Main Content
02-530-9204-5 sammachiv.pr@gmail.com
ชีวิต“นักรบเส้นด้าย” จิตอาสากับผู้ป่วยโควิด

ชีวิต“นักรบเส้นด้าย” จิตอาสากับผู้ป่วยโควิด

ชีวิต“นักรบเส้นด้าย”

จิตอาสากับผู้ป่วยโควิด

“กลุ่มเส้นด้าย”องค์กรการกุศลไม่แสวงหากำไร ตั้งอยู่ที่ 41 ซอยพหลโยธิน 11 แขวงพญาไท เขตพญาไท กทม. แจ้งจุดมุ่งหมายไว้ที่เพจเฟซบุ๊ค “เส้นด้าย – Zendai” ว่า บริการรับส่งเคสผู้ป่วยติดโควิดพาไปรักษาหรือพาผู้เสี่ยงสูงไปตรวจ

อีกอย่าง โพสต์ของกลุ่มเส้นด้ายเมื่อ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา ระบุถึงการทำงานซึ่งเป็นข่าวดีว่า ทำได้เยอะมาก คือ วิ่งรถไป 2,200 เที่ยว ช่วยคนไปได้กว่า 1,500 คน ช่วยลดการระบาดได้หลายพันเคส

“ข่าวร้าย ?? คือ เราทำงานได้เยอะ แต่เตียงสีเหลืองเต็มหมด เตียงสีเขียวก็เหลือน้อยลง แล้วเงินเส้นด้ายก็หมดแล้วด้วย”

 

ทุนทำงานร่อยหรอ

กลุ่มเส้นด้าย เริ่มดำเนินงานมาแล้วเกือบ 2 เดือน มีผลการดำเนินงานมากมาย โดยรับเคส 1,692 คน รับ-ส่งเคสมากกว่า 2,200 เที่ยวรถ รับเคสเข้ารักษาที่บ้านเส้นด้าย 294 คน รับสายโทรศัพท์ 2,602 สาย ดูแลสัตว์เลี้ยงของคนไข้ 64 ตัว ตรวจเชิงรุกทั้งหมด 3 ที่ จำนวนมากกว่า 1,000 คน ส่งข้าวผู้กักตัวและเดือดร้อนมากกว่า 6,000 กล่อง และรับศพไปทำพิธีทางศาสนา 3 ศพ

“หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น เส้นด้ายจะเดินต่อได้อีก 1 เดือน แล้วคงต้องโบกมืออำลาและไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ต่อไป เราเล็งเห็นความสำคัญของภารกิจนี้ แต่ตอนนี้อาสาหลายคนจำเป็นต้องไปกลับไปทำงานของตัวเองเพื่อเอาตัวรอดในภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ”

 

      

 

นอกจากนี้ เรามีค่าใช้จ่ายจากตำแหน่งงานประจำที่ต้องรับผิดชอบจัดการเคสที่ความซับซ้อนต่อเนื่องมากขึ้น เงินที่ผู้ร่วมก่อตั้งเส้นด้ายและผู้สนับสนุนที่ช่วยกันคนละไม้ คนละมือ ก็เริ่มจะถึงทางตัน พวกเราจึงช่วยกันระดมสมองว่า เราจะหาเงินยังไงดีเพื่อให้พอกับการดำเนินงานต่อไป

วิธีหาทุนสนับสนุนการทำงานของกลุ่มเส้นด้ายนั้น ยังระบุให้ผู้มีจิตศรัทธาช่วยอุดหนุนสินค้าและที่ ร้านเส้นด้ายด้วยเมนูที่เกี่ยวกับการดำเนินงานช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิดทั้งสิ้น ประกอบด้วยเมนูขัาว
กล่องคนกักตัวและผู้เดือดร้อน อุปกรณ์ป้องกันเชื้อโควิดต่อการปฏิบัติงาน ถุงกักตัวชุดเล็ก-ใหญ่ รถรับส่งเพื่อไปตรวจ/รักษาเชื้อโควิด เป็นต้น

 

ติดอาวุธนักรบเส้นด้าย

โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ จิตอาสากลุ่มเส้นด้าย เปิดหลักสูตรอบรมโครงการ “ติดอาวุธนักรบเส้นด้าย” จากคนเคยป่วยด้วยโควิด สู่จิตอาสา ให้กับผู้ที่หายป่วยจากการติดเชื้อโควิดมาเป็นอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสถานพยาบาลได้

หลักสูตร 2 วัน จัดรูปแบบ online ผ่าน Zoom meeting ในวันที่ 21-22 สิงหาคม 2564 นี้ รับสมัครจำนวน 500 คนเพื่อเอาความหวังของคนเคยติดเชื้อโควิดไปช่วยชีวิตอื่นได้อีกคน ซึ่งจะเป็นความสุขมากมาย

โดยการอบรมจะได้รับความรู้เกี่ยวกับการประเมินอาการของผู้ติดเชื้อโควิด การดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดที่บ้าน พร้อมการฝึกปฏิบัติออนไลน์ เกี่ยวกับการใช้ปรอทวัดไข้ดิจิตอล การใช้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว การใส่และการถอดเครื่องป้องกันตัวเองอย่างถูกต้อง เช่น ชุด PPE หน้ากาก ถุงมือ  การให้ออกซิเจนด้วยเครื่องผลิตออกซิเจนและ ถังออกซิเจน ที่บ้าน

อีกทั้งการฝึกให้ทำความสะอาดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ การดูแลผู้ป่วยที่ติดเตียงและกลุ่มผู้สูงอายุที่ติดเชื้อโควิดที่บ้านระหว่างรอรถพยาบาลมารับ การดูแลผู้ป่วยโควิดแบบประคับประคองและดูแลจิตใจของผู้ป่วยโควิดเพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับวิกฤตครั้งนี้

     

 

ชีวิตเส้นด้าย…ความหวังของผู้ป่วยโควิด

ท่ามกลางสถานการณ์ขาดเตียงรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด รัฐยังมึนชา เชื่องช้าบริหารจัดหาวัคซีนได้แบบกะปริดกะปรอย บ่งบอกการทำงานล้มเหลวเต็มรูปแบบ แต่กลับโหมโฆษณาให้ประชานรอวัคซีนอนาคตที่จะมาในช่วงตุลาคม-ธันวาคมนี้ อีกกว่า 30 ล้านโดส

ทุกวันยังมีคนป่วยโควิดนอนรอยา รอเตียงรักษา แล้วรอเสียชีวิตอยู่ที่บ้านจนเป็นข่าวให้รับรู้ทุกวัน แม้คำสั่งของนายกรัฐมนตรีห้ามมีคนเสียชีวิตที่บ้าน หรือริมถนน แต่ไม่เกิดประโยชน์ที่โควิดต้องเชื่อฟังเมื่อการระบาดของเชื้อแพร่รวดเร็ว จากเพิ่งติดเชื้อและถูกปล่อยให้ต่อสู้ตามยถากรรมด้วยข้ออ้างไม่มีเตียง ดังนั้นเชื้อจึงลุกลามจากกลุ่มสีเขียวเป็นกลุ่มเหลืองอ่อน ขยับไปเหลืองแก่ แล้วกลายเป็นกลุ่มสีแดง นั่นหมายถึงเข้าขั้นอันตราย ส่อถึงการเสียชีวิตในไม่ช้า

สำหรับกลุ่มเส้นด้ายแล้ว จิตอาสากลุ่มนี้กลับรุกถึงชุมชนเข้าไปดูแลผู้ป่วยโควิดเมื่อได้รับการติดต่อผ่านสายโทรศัพท์ให้ไปดูแลอาการ โดยเฉพาะเหตุการณ์หนึ่งถึงขั้นไปอาบน้ำผู้ป่วยก่อนนำตัวไปรักษา ซึ่งเคสนี้ได้ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกในเพจเส้นด้าย ดังนี้

“หนูมาอาบน้ำให้ป้าหน่อยนะ ป้าให้ 1,000 หนึ่งเลยก็ได้” เมื่อวันที่ 10 สิงหาที่ผ่านมา น้องเมย์– อาสาสมัครเส้นด้ายฝ่ายประสานงานได้รับโทรศัพท์จากศูนย์ข่าวแห่งหนึ่งให้ประสานงานช่วยเหลือ คุณป้ามาลัย ผู้ป่วยวัย 58 ปีที่พึ่งสูญเสียสามีไปด้วยโรคโควิดได้เพียงไม่กี่วัน จากการเร่เก็บของเก่าขายตามชุมชน ซ้ำร้ายยังมีโรคประจำตัวเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคไตร่วมด้วย

หลังจากตรวจพบเชื้อในวันที่ 6 สิงหา คุณป้าเริ่มมีอาการหอบ เวียนศีรษะ และแน่นหน้าอกตามมาจนไม่มีแรงพอที่จะเดินได้ เป็นเหตุให้อดอาหารและไม่ได้อาบน้ำถึง 10 วันไร้บุตรหลานดูแลใกล้ชิด ถึงแม้จะมีหน่วยงานอื่นติดต่อมาหาคุณป้าก็เพียงแต่บอกให้สู้และปล่อยให้รอเท่านั้น

กระทั่งเสียงใส ๆ ของน้องเมย์เข้ามาคอยประคองความหวังเล็ก ๆ จากต้นสายจนกลายเป็นความเชื่อใจระหว่างผู้รับถึงผู้ให้

คืนวันที่ 11 สิงหา คุณป้ามาลัยยังยืนยันคำเดิมที่จะให้น้องเมย์มาช่วยดูแลอาบน้ำให้ก่อนที่จะถูกนำตัวส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลบุษราคัม ในวันต่อมา น้องเมย์ ตกปากรับคำอย่างไม่รีรอ พร้อมนำเพื่อน ๆ อาสาสมัครคนอื่น ๆ ไปร่วมด้วย

แต่ดูเหมือนสถานการณ์จะรุนแรงกว่าที่คิด น้องเมย์พบคุณป้ามาลัยนอนจมกองเลือดที่แห้งจนเกาะเป็นคราบกับเงิน 2,000 บาท ในมือที่เตรียมไว้ให้ตามสัญญา คุณป้ามีอาการ หน้าซีด ไอเป็นเลือด และ มีเลือดออกจากช่องคลอดและทางทวารหนัก ซึ่งแพทย์ได้ประเมินว่า เกิดจากระบบหมุนเวียนภายในร่างกายทำงานผิดปกติ มีโอกาสจะเสียชีวิตได้ทุกเมื่อ…คุณป้ากลายเป็นผู้ป่วยสีแดงอย่างสมบูรณ์…

ถึงแม้วันนี้คุณป้ามาลัยจะเข้าสู่กระบวนการรักษาแล้ว แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้ป่วยถูกทอดทิ้งให้อยู่กับคำว่า “สู้ๆนะ” นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สีเหลืองอ่อนเปลี่ยนเป็นแดงเข้มในชั่วข้ามคืน และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกกับความเสียหายที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

 

 


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee</a

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

 

Back To Top