ปิดอบรม หลักสูตร “ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง” รุ่น13 คึกคัก สร้างผู้นำ BCG จิ๊กซอว์ เคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
บรรยากาศการปิดหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (Leadership for Change- LFC) รุ่นที่ 13 ที่จัดโดยมูลนิธิสัมมาชีพคึกคัก ภายใต้ธีม “BCG Model in Action” สร้างเหล่าผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลงโดยมีผู้เข้าร่วมอบรมทั้งหมด 81 คน สู่เป้าหมายนำองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจ BCG ไปต่อยอด ปรับใช้ ในภาคส่วนต่างๆ และร่วมมือกันปฏิบัติการจริงด้าน BCG กับชุมชน หวังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เติม “จิ๊กซอว์” ที่ขาดหายในการพัฒนาประเทศ ตามปรัชญาสัมมาชีพ
คุณประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพ กล่าวว่า หลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมูลนิธิสัมมาชีพจัดทำขึ้น ได้มีการพัฒนาเนื้อหา ทั้งความรู้เชิงวิชาการและด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ทางหลักสูตรได้จัดทำขึ้น ภายใต้แนวคิด “BCG Model in Action” นำองค์ความรู้ด้าน BCG ซึ่งเป็นเทรนด์ใหญ่ของโลกมาถ่ายทอด เพื่อส่งเสริมให้ภาครัฐ ภาคธุรกิจ เอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน ท้องถิ่น นำองค์ความรู้ไปปรับใช้ รวมทั้งมีกิจกรรมเพิ่มเติม คือ การปฏิบัติการจริง โดยนอกจากผู้เข้าอบรมจะได้ลงพื้นที่เพื่อทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจให้ชุมชนแล้ว ยังจะร่วมมือกันทำงานพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวต่อเนื่อง ภายใต้ความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตร หน่วยงานภาครัฐ และภาคีอื่นๆ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสำคัญของหลักสูตรในการสร้างผู้นำเพื่อร่วมกันทำงานสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้
คุณประเสริฐกล่าวต่อว่า แนวทางดังกล่าว ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งตัวผู้เข้าอบรมเองที่จะนำความรู้สู่การลงมือทำจริง ได้แนวทางการแก้ไขปัญหาจากพื้นที่จริง หรือนำไปปรับใช้ในการทำงานของตนเอง ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการชุมชนก็จะได้เรียนรู้และนำความรู้ สิ่งใหม่ๆ ไปต่อยอด มีโอกาสพัฒนากิจการของตัวเอง
ประการสำคัญ แนวทางการเชื่อมโยงภาคส่วนต่างๆ มาจับมือ ร่วมมือกันทำงานนั้น จะเป็นแบบอย่างการทำงานพัฒนาซึ่งจะต้องร่วมมือกัน เพื่อ “เขยื้อนภูเขา” ให้สำเร็จ
“ผมเชื่อมั่นว่า ท่านผู้ผ่านการอบรมทั้งหลายจะเป็นองคาพยพสำคัญ ในการนำความเปลี่ยนแปลงที่ดีงามให้เกิดขึ้นในสังคมได้ โดยมีจุดเริ่มต้นจากจุดนี้
แม้จะเป็นพลังเล็กๆ แต่เชื่อว่า เมื่อรวมพลังกันแล้ว จะทำให้เกิดสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในสังคมไทยได้ โดยค่อยๆ ขยายผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี เป็นสัมมาชีพที่ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม ไม่ทำอะไรเกินตัว มีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้ ทำให้สังคมอยู่อย่างมีความสุข”
ด้าน คุณวิเชฐ ตันติวานิช ประธานกรรมการสถาบันผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง กล่าวว่า การเป็นผู้นำที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ ต้องใช้องค์ความรู้หลากหลายด้าน เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หรือมีความเสี่ยงใหม่ๆ เกิดขึ้น
หลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 13 ซึ่งมีธีมว่าด้วย BCG Model in Action จึงมีเนื้อหาที่เตรียมพร้อมอย่างรอบด้าน ให้ได้เรียนรู้อย่างเข้มข้น ทั้งประเด็นสำคัญอย่าง BCG ซึ่งเป็นแนวทางการสร้างเศรษฐกิจใหม่ ในรูปแบบความเติบโตที่คู่ความยั่งยืน ศาสตร์แห่งการเป็นผู้นำ กระบวนการทำงานพัฒนากับพื้นที่ชุมชน พร้อมการประยุกต์ใช้ความรู้เหล่านั้นในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดขึ้นจริง
“ผมหวังว่า สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของท่านในอนาคต ในฐานะผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง และสร้างผลลัพธ์เชิงบวกต่อสังคมไทย
อยากจะฝากให้พวกท่านมีพลังใจ ขอยุท่านให้ใช้พลังให้เป็นประโยชน์ต่อการนำการเปลี่ยนแปลง หากพวกท่านขาดพลัง ให้คิดว่าเพื่อนที่เข้าร่วมอบรมในหลักสูตรนี้กว่า 80 คน คือพาวเวอร์ซัพพลาย ที่จะปรึกษากันได้หมด นำพลังที่มีทั้ง 80 คน กระจายตัวออกไปยังภาคส่วนต่างๆ พวกท่านเป็นผู้นำแล้ว แต่ต้องเป็นผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง อย่าท้อแท้ อย่าถอย
ผลงานของท่าน จะแสดงให้สังคมได้เห็นถึงพลังแห่งการสร้างความเปลี่ยนแปลงซึ่งสามารถเริ่มได้จากทุกคน”
ด้าน คุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถา “สัมมาชีพ เปลี่ยนเมืองไทยให้น่าอยู่” ว่า ในฐานะที่ตนเองเป็นผู้อำนวยการหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลงคนแรก และมีส่วนร่วมในการก่อตั้งมูลนิธิสัมมาชีพ ต้องการเห็นผู้จบการอบรมหลักสูตรนี้นำสิ่งที่ได้รับจากการอบรม ไปเปลี่ยนแปลงประเทศ ภายใต้อุดมการณ์ จิตวิญญาณที่มุ่งมั่น ตามปรัชญาสัมมาชีพ (ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม) ซึ่งเป็นกระแสโลกอยู่ในขณะนี้
นอกจากนี้ยังต้องการให้ทุกฝ่ายมองการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมแบบไม่แยกส่วน (บูรณาการ) ซึ่งถือเป็นหัวใจของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเป็นตัวเชื่อม เป็น “จุดรวมพลัง” ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศยังขาดอยู่ จึงต้องมาช่วยกันเติมในส่วนนี้ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง
“ทุกรัฐบาลบอกว่าสังคม ประเทศ จะเข้มแข็ง เศรษฐกิจฐานรากจะเข้มแข็งต้องทำแบบบูรณาการ คำถามคือ ทำไมเรายังไปไม่ถึงไหน
เพราะคำว่า บูรณาการ ไม่ได้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง สิ่งที่ประเทศนี้ขาด คือ ขาดตัวเชื่อม
ผมอยากให้พวกท่าน (ผู้จบหลักสูตร LFC13) เป็นคลื่นลูกใหม่ เป็นผู้กล้าในการเปลี่ยนแปลง เป็นจิ๊กซอว์ไปเชื่อมการพัฒนาประเทศ ภารกิจของพวกท่านคือตรงนี้ และสัมมาชีพคือคำตอบของจิ๊กซอว์ที่ขาดหาย เพราะถ้าทำไม่ได้เศรษฐกิจฐานรากจะยิ่งอ่อนแอ อยู่ที่พวกท่านจะเป็นจิ๊กซอว์ตัวนี้หรือไม่”
คุณสนธิรัตน์ ยังระบุว่า นอกจากปรัชญาสัมมาชีพจะเป็นจุดแข็งของมูลนิธิสัมมาชีพแล้ว อีกจุดแข็งคือ การผนึกความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ดีกับสังคม โดยเฉพาะเครือข่ายภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง ดังนั้นทำอย่างไรจึงจะ “ขยายผล” จุดแข็งนี้ไปสู่การสร้างความร่วมมือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้นไปอีก เพื่อให้เกิด “แรงกระเพื่อม”ในการเปลี่ยนแปลงประเทศในวงกว้าง
ขณะที่โมเดลการพัฒนาชุมชนของมูลนิธิสัมมาชีพ ซึ่งมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้ดีขึ้นนั้น เห็นว่า สิ่งที่ต้องทำคือ “การมุ่งความสำเร็จในเชิงรูปธรรม” ทำให้กลายเป็น “โมเดลต้นแบบ” ของการพัฒนาเชิงสัมมาชีพอย่างบูรณาการ โดยโอบรับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
“เราไม่ใหญ่ แต่เรารู้ว่าสังคมขาดอะไร และเราจะเป็นพลังที่ทุกคนมองหา” คุณสนธิรัตน์ ทิ้งท้าย
สำหรับแผนพัฒนาพื้นที่ของผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 13 เป็นพื้นที่ใน ต.ทรายทองวัฒนา อ.ถาวรวัฒนา จ.กำแพงเพชร โดยจะร่วมพัฒนาการประกอบการของชุมชนสามกลุ่ม คือ กลุ่มโคก หนอง นา โมเดล กลุ่มแปรรูปพริกแกง และกลุ่มหัตถกรรม ภายใต้ความร่วมมือกับองค์กรภาคีต่างๆ เช่น บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ องค์การบริหารส่วนตำบลถาวรวัฒนา รวมทั้งหน่วยงานราชการในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นแนวทางร่วมมือกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน ระหว่างมูลนิธิสัมมาชีพ ผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 13 และองค์กรพันธมิตร
ภาพบรรยากาศ