skip to Main Content
02-530-9204-5 sammachiv.pr@gmail.com
ภูป่าเปาะ-ฟูจิเมืองเลย ชีวิตสัมพันธ์ คน ป่า ธรรมชาติ

ภูป่าเปาะ-ฟูจิเมืองเลย ชีวิตสัมพันธ์ คน ป่า ธรรมชาติ

ภูป่าเปาะ-ฟูจิเมืองเลย

ชีวิตสัมพันธ์ คน ป่า ธรรมชาติ

 

“ภูหอ” ตั้งตระหง่านในพื้นที่ ต.ภูหอ อ.ภูหลวง จ.เลย ยอดภูสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,115 เมตร มีรูปทรงสามเหลี่ยม ตรงยอดภูพื้นดินเคยทรุดตัวจากเปลือกโลกโก่งตัว จนเกิดหินราบโผล่ขึ้น ทำให้ภูทั้งลูกมีรูปลักษณ์คล้ายงอบเกษตรกร แต่ถ้าเพ่งมองตรงยอดภูแล้ว ราวกับเป็นปล่องพ่นโอโซนธรรมชาติปกคลุมพื้นที่ชีวิตโดยรอบได้สูดรับอากาศสดชื่น ขณะที่เบื้องล่างมีลำน้ำยาวคดเคี้ยวไหลลัดเลาะที่ราบลุ่มตีนภู

 

จากจุดชมวิวมุมสูงเหนือระดับน้ำทะเล 900 เมตรของภูป่าเปาะ มองเห็นภูหอตั้งโดดเด่นทางทิศตะวันตกได้เต็มตา เห็นทิวเขาทมึนรายล้อมเป็นฉากหลังทอดตัวไปสู่อุทยานแห่งชาติ 3 จังหวัด คือ น้ำหนาว ที่เพชรบูรณ์, ภูผาม่าน ขอนแก่น และผาสามยอด หนองบัวลำภู

 

“ภูป่าเปาะ”ตั้งในพื้นที่บ้านผาหวาย ต.ปวนพุ อ.หนองหิน จ.เลย เสน่ห์บนยอดภูแห่งนี้มีจุดเด่นเฉพาะตัว เพราะสามารถชมทิวทัศน์ของเทือกเขารายล้อมได้ทั้งทิศทาง 360 องศา และที่สำคัญเห็นความสวยงามระยะมุมสูงของภูหอกลายเป็นภูเขาฟูจิยามา แหล่งท่องเที่ยวชื่อกระฉ่อนโลกของญี่ปุ่น แต่ถูกธรรมชาติประกอบสร้างขึ้นที่จังหวัดเลยอย่างน่าทึ่ง ไม่ผิดเพี้ยนกัน

 

 

มีเรื่องเล่าจากไกด์นำเที่ยวบอกว่า นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นมาชมวิวบนยอดภูป่าเปาะ มองดูภูหอถึงกับร้องอุทาน “โอ้! ฟูจิยามา” นับตั้งแต่นั้นมาภูหอจึงถูกขนานนาม “ฟูจิเมืองเลย” โดยมียอดสูงจุดชมวิวภูป่าเปาะเป็นเครื่องนำพาสู่บรรยากาศ “ฟูจิยามา”ของญี่ปุ่น ยิ่งไปเที่ยวหน้าหนาวมีหมอกขาวลอยปกคลุมภูหอ ยิ่งซึมซับอารมณ์ฟูจิฯไม่แตกต่างได้ไปถึงญี่ปุ่นอะไรแบบนั้น

 

ด้วยเหตุนี้ ภูหอ-ฟูจิเมืองเลย-ภูป่าเปาะ พร้อมธรรมชาติโดยรอบ 360 องศา ซึ่งผุดภูอีกหลายเทือก และชีวิตที่ราบลุ่มตีนภูแต่งแต้มบรรยากาศภาพจำ แล้วองค์ประกอบเหล่านี้หนุนเกิดสัมพันธ์ปรับเปลี่ยนวิถีผู้คนได้ทำมาหากินกับแหล่งท่องเที่ยวผืนใหม่ที่ถูกพัฒนาเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา

ไปภูป่าเปาะสัมผัสฟูจิเมืองเลย

ผืนป่า ธรรมชาติ และวิถีชีวิตที่ราบลุ่มภูป่าเปาะ ดึงดูดนักท่องเที่ยวไปเยือนได้ทั้งปี หรือตลอดฤดูกาล เมื่ออยู่บนยอดภูจะได้รับบรรยากาศแตกต่างกันไปในอารมณ์ 3 ฤดูคือ หน้าร้อนจะมองเห็นทุ่งหญ้าขุนเขาเป็นสีเหลืองทอง ช่วงหน้าฝนเทือกเขาและท้องทุ่งนาปรับตัวเป็นสีเขียวชุ่มฉ่ำของต้นข้าวดูราวพื้นพรมเขียวถูกปูไว้โดยรอบ ส่วนหน้าหนาวนอกจากได้ชมทุ่งข้าวออกรวงสีทองกลางหุบเขา ยังได้ชื่นชมทะเลหมอกขาวปกคลุมภูหอประกอบเป็นฟูจิเมืองเลย สวยโดดเด่นสะดุดตาเทียบเคียงภูเขาฟูจิยามาของญี่ปุ่นได้ประมาณนั้น

 

 

การไปภูป่าเปาะ ถ้าเดินทางจากตัวจังหวัดเลย ตัวอำเภอหนองหินอยู่ห่าง 45 กิโลเมตร และประมาณ 1 กิโลเมตรก่อนถึงตัวอำเภอหนองหิน เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางหมายเลข 3029 ผ่านอุทยานผางามหรือคุนหมิงเมืองไทย และตรงสำนักสงฆ์วังวิโมกข์จะมีทางอยู่ซ้ายมือเข้าที่ทำการของภูป่าเปาะ

 

นายจริยาทร สูหู่ ผู้อำนวยการสำนักงานท่องเที่ยว (ททท.) สำนักงานเลย บอกว่า ภูป่าเปาะถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติมาประมาณ 7-8 ปี โดยชุมชนบ้านผาหวายตั้ง “กลุ่มชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ภูป่าเปาะ” ขึ้นเป็นแกนกลางบริหารจัดการและคอยบริการนักท่องเที่ยวที่จะขึ้นไปสัมผัสบรรยากาศ ชมวิวทิวทัศน์บนสู่ยอดภู ซึ่งการท่องเที่ยวมีส่วนแนะนำร่วมเสนอรูปแบบ ปรับภูมิทัศน์ และแนวทางจัดการท่องเที่ยวแบบธรรมชาติ

 

การขึ้นสู่ยอดภูป่าเปาะ ต้องใช้บริการรถอีแต๊กของกลุ่มชมรมฯ เท่านั้น เปิดบริการตั้งแต่ตี 5 ไปดูแสงทองของอาทิตย์โผล่ขึ้นขอบฟ้าจนถึงเวลา 19.00 น.ได้เห็นอีกบรรยากาศที่อาทิตย์กำลังโรยลับตาในเวลาใกล้ค่ำ ทั้งนี้ค่าบริการรถอีแต๊กคิดอัตราคนละ 60 บาทต่อเที่ยว (ไป-กลับ) ใช้เวลาประมาณ 15 นาทีก็ไปจอดนิ่งบนยอดภู

 

       

 

การใช้รถอีแต๊กพาขึ้นภูนั้น นายจริยาทร อธิบายว่า ชาวบ้านต้องการอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวให้เป็นธรรมชาติ และยังป้องกันอุบัติเหตุที่นักท่องเที่ยวไม่คุ้นชินเส้นทาง ด้วยเหตุนี้จึงไม่ให้ขับรถส่วนตัวขึ้นไปกันเอง ทั้งนี้ตลอดเส้นทางขึ้นภูนักท่องเที่ยวจะได้ชมดอกบัวตองเหลืองอร่าม ผสมดอกนางพญาเสือ และทองอุไร ปลูกแซมเป็นภูมิทัศน์ให้ชื่นชมเบิกบานตาเป็นระยะๆ อีกทั้งยังได้ออกแรงเดินเหนื่อยหลายหอบกับการไต่ทางชันผ่านป่าไผ่เปาะขึ้นถึงยอดภู ซึ่งไม่มีร้านค้าขายอาหาร ดังนั้นนักท่องเที่ยวควรพกน้ำดื่ม ขนมขบเคี้ยวไว้กินรองท้องยามหิวและดื่มดับกระหายกันเอง

 

บนภูป่าเปาะมีจุดชมวิว 4 จุด ให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูป เก็บภาพจำไว้เป็นที่ระลึก ซึ่งสวยงามตามฤดูกาลแตกต่างกัน แต่ถ้ามาหน้าหนาวจะมีทะเลหมอกปกคลุมภูหอ เป็นจุดเด่นและเป็นสัญลักษณ์ฟูจิเมืองเลยภาพจำเช่นนี้ดูสวยงามไม่ยิ่งหน่อยกว่าไปเที่ยวชมภูเขาฟูจิฯที่ญี่ปุ่นกันที่เดียว

 

บรรยากาศอารมณ์แบบฟูจิเมืองเลยนั้น เป็นสิ่งสรรค์สร้างและได้เห็นเมื่อมองจากจุดชมวิว 360 องศาของภูป่าเปาะ สิ่งนี้เป็นเสน่ห์ให้คนมาท่องเที่ยวจำนวนมากในแต่ละปี โดยนายจริยาทร บอกว่า ตั้งแต่ตุลาคม ปี 2564 เป็นต้นมา ภูป่าเปาะต้อนรับนักท่องเที่ยวมาเยือนแล้วกว่า 5,000 คน นอกจากนี้ยังสามารถเตรียมแผนไปแหล่งเที่ยวใกล้เคียง เช่น ถ้ำโพธิสัตว์หรือกุ๊ยหลินเมืองเลย สวนหินผางาม และน้ำตกเพียงดินได้ด้วยแบบไม่เสียโปรแกรมการเข้าถึงแหล่งธรรมชาติ

 

เก็บภาพจำกับจุดชมวิว 4 จุด

จุดชมวิวของภูป่าเปาะมี 4 จุด แต่ละจุดอยู่ห่างกันประมาณ 200 เมตร จุดแรกมองเห็นวิวของภูหอคล้ายภูเขาไฟฟูจิได้ใกล้ที่สุด เพราะมีระเบียงยื่นออกไปให้นักท่องเที่ยวชมอย่างใกล้ชิด ส่วนจุดที่สอง มีชิงช้าเป็นเครื่องเล่น ให้นักท่องเที่ยวโล้ลอยตัวสัมผัสความเสียว ทำเสมือนกำลังไปเอื้อมโอบฟูจิเมืองเลย แล้วรับความสวยไว้แนบตัว  อีกทั้งยังมีจินตภาพมองเห็นผานางนอนมีลักษณะคล้ายผู้หญิงกำลังนอนอยู่ และภูอีกลูกมีรูปลักษณ์คล้ายผู้ชายนอนกอดพุงมองภูเขา

 

จุดที่สาม เป็นจุดชมวิวด้านทิศตะวันออก มองเห็นสวนหินผางาม ได้อย่างชัดเจน และเป็นจุดพักรถ จากนั้นเดินขึ้นไปยังจุดที่สี่ ที่มีมุมมองแบบกว้างไกล เห็นวิวทิวทัศน์ได้ถึง 360 องศา แต่อาจจะมีต้นไม้ใบหญ้าบังสายตาบ้าง สามารถชมพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกในจุดเดียวกัน ในจุดนี้ในหน้าหนาวจะเห็นทะเลหมอกห้อมล้อมภูหอ สีขาวปุยฝ้ายปกคลุมงดงามเหมือนหิมะที่ปกคลุมเป็นภาพจำที่สวยงามตื่นตาตื่นใจ

 

นอกจากนี้ยังสามารถมองเห็นอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน อำเภอภูผาม่าน จ.ขอนแก่น อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว อำเภอหล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ วนอุทยานแห่งชาตินายูง-น้ำโสม อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี และถ้ำเอราวัณ อ.นาวัง จ.หนองบัวลำภู

 

สิ่งที่สำคัญบนภูป่าเปาะไม่อนุญาติให้กางเต็นนอน หากต้องการพักค้างคืนแล้ว พื้นที่ราบด้านล่าง มีที่พักแบบโฮมสเตย์ได้รับมาตรฐานสะดวก สะอาด ปลอดภัย ประมาณ 5-6 หลัง พร้อมอาหารเช้า-เย็น คิดบริการคนละ 350 บาท สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่พักโฮมสเตย์ 7-10 คนต่อหลัง มีบายศรีสู่ขวัญ เลี้ยงพาแลง และมีการแสดงพื้นบ้านอีกด้วย

 

ส่วนร้านอาหาร ร้านค้าขายของที่ระลึกตั้งที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว สามารถหาซื้อของฝากจากชุมชน เป็นผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ สิ่งทอ เสื้อผ้าชาวบ้าน ย่าม โดยเปิดให้บริการตั้งแต่ 5:00 น. ส่วนอาหารการกินจัดว่าอร่อยสมราคาไม่แพง นอกจากนี้ตามรายทางท่องเที่ยวนี้ยังมีร้านอาหารขึ้นชื่อน่ากินอยู่มาก เช่น ร้านต้นกล้าฟ้าใส ศูนย์บริการ นทท. ภูป่าเปาะ ร้านข้าวเหนียว-ไก่ย่าง ร้านค้าชาวบ้านตลาดปวนพุ ร้านก๋วยเตี๋ยวส้มตำ ใกล้ๆวนอุทยานผางาม ร้านค้าหน้าสวนหินผางาม และร้านในตลาดอำเภอหนองหิน ซึ่งอยู่ห่างจากภูป่าเปาะประมาณ 9 กิโลเมตร

 

ชุมชนร่วมแรง ทุ่มใจสร้างวิถีชีวิตใหม่

ก่อนปี 2553 ชุมชนบ้านผาหวาย ดำรงชีพด้วยการเกษตรและหาของป่าเป็นหลัก นายบุญลือ พรมหาลา ประธานชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ภูป่าเปาะ บอกว่า แต่เดิมชาวบ้านทำการเกษตรแบบไร่เลื่อนลอย ปลูกข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง โดย 3 ปีบุกรุกป่าย้ายไปหาแหล่งใหม่ทำกิน จนเป็นสาเหตุให้สภาพป่าธรรมชาติเสื่อมโทรม แม้เจ้าหน้าที่รัฐพยายามแก้ปัญหา แต่ไม่ตรงความต้องการของชาวบ้าน แนวทางจึงไม่ลงรอยกัน

 

กระทั่งปี 2553 พื้นที่นี้ถูกประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูค้อ ภูกระแต ชีวิตหากินของชาวบ้านถูกบังคับให้อยู่ในกรอบกฎหมาย แล้วความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับรัฐจึงก่อตัวขึ้นไม่หยุดหย่อน เกิดความบาดหมาง พยายามหาทางรอมชอมเข้าหากัน แล้วการแก้ปัญหาจึงมีข้อสรุปร่วมตรงที่การพัฒนาภูป่าเปาะเป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อหยุดการบุกรุกป่า

 

“เมื่อไปคุยกับหน่วยงานรัฐเพื่อจะทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่หลายหน่วยงานบอกทำได้ยากเพราะอยู่ในเขตป่า ผมจึงเสนอให้มองกลับด้านว่า ถ้านักท่องเที่ยวมามาก เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็จะเข้ามาดูแล คนลักลอบตัดไม้ก็ไม่กล้าตัด คนจะทำความผิดทั้งหลายก็ไม่กล้าทำ”

 

จากนั้น ชุมชนเปิดเวทีประชาคมหมู่บ้าน โดยส่งตัวแทนครัวเรือนละ 1 คนมาร่วมพูดคุยหารือไปสู่เป้าหมายหยุดบุกรุกป่า หันกลับชีวิตอยู่แบบพอเพียง และพัฒนาขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ให้คนในชุมชนร่วมกันบริหารจัดการภายใต้แกนกลาง “กลุ่มชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ภูป่าเปาะ” แล้วเกิดกลุ่มเครือข่ายอาชีพ 11 กลุ่มขึ้นมาหนุนเสริมจัดการ เช่น กลุ่มอีแต๊ก กลุ่มร้านค้า กลุ่มมัคคุเทศก์ กลุ่มโฮมสเตย์ กลุ่มข้าวเกียบหน่อไม้ เป็นต้น

 

เมื่อความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ชุมชนได้ลงแรงร่วมกันค่อยๆพัฒนาภูป่าเปาะเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นมาตั้งแต่ปี 2554 ปรับปรุงถนนขึ้นไปบนภู ทำชานไม้เป็นจุดชมวิว 4 จุด จน คนเริ่มรู้จักภูป่าเปาะ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยว แล้วชีวิตเกษตรกร การทำไร่เลื่อนลอยจึงเปลี่ยนมาเป็น “อาชีพท่องเที่ยว” นำพาชาวบ้านได้อยู่กับป่า มีรายได้จากรถอีแต๊กนำนักท่องเที่ยวขึ้นไปยังจุดชมวิว โดยเริ่มต้นมีรถอีแต๊กแค่ 5 คัน กระทั่งปัจจุบันมีรถวิ่งบริการนักท่องเที่ยวกว่า 74 คัน

 

นอกจากนี้ นายบุญลือ บอกว่า ชมรมฯ ยังให้ผู้มีรายได้น้อยตกเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ซึ่งเป็นครอบครัวมีรายได้ไม่ถึง 20,000 บาทเข้ามาทำร้านค้าบริการนักท่องเที่ยวและคนในชุมชน จนทำรายได้เฉลี่ย 9,500 บาทต่อเดือนในปัจจุบัน

 

ภูป่าเปาะ ประเมินมีนักท่องเที่ยวเข้ามาชมธรรมชาติมากกว่า 150,000 คนก่อรายได้รวมเข้าหมู่บ้านกว่า 14 ล้านกว่าบาท จากให้บริการรถอีแต๊กกว่า 7 ล้านบาท และร้านค้า 6 ล้านกว่าบาท โดยเงินรายได้จะถูกแบ่งออก 20% เข้าชมรมฯ ส่วนที่เหลือ 80% นำมาหารแบ่งให้กลุ่มอื่นๆในชมรมฯ อย่างยุติธรรม

 

“เราทำไปเรื่อยๆ ทำจนสำเร็จ ทำด้วยใจ เอาใจออกมาก่อน สุดท้ายแล้วถ้าเกิดปัญหาขึ้น ภายในกลุ่มจะคุยกันก่อน ถ้าคุยไม่ได้ก็เอาเรื่องเข้าที่ประชุมใหญ่ของชมรมฯที่ประชุมปีละครั้ง ปัจจุบันผมเชื่อว่าคนชุมชน 98% มาร่วมกันที่นี่ และไม่คิดว่าจะรุกป่าอีกแล้ว ซึ่งหยุดไปโดยปริยายทั้งหมด”

 

 

นั่นเป็นบทสรุปของนายบุญลือ ซึ่งสะท้อนการร่วมแรงใจพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวมาถึง 7-8 ปี และชาวบ้านได้ช่วยกันสร้างภูป่าเปาะเป็นจุดชมวิวทิวทัศน์ธรรมชาติที่มีขึ้นชื่อ “ฟูจิเมืองเลย” จนทำให้กลายเป็นภาพจำอันสวยงามของนักท่องเที่ยวเมื่อมาเยี่ยมชม แต่สิ่งสำคัญคือ ชุมชนชาวบ้านมีสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ เลิกบุกรุก เบียดเบียนถากถางป่าหาประโยชน์เพื่อดำรงชีพ

 

บัดนี้ ภูหอ-ฟูจิเมืองเลย-ภูป่าเปาะ คือสัมพันธ์แห่งชีวิตท่องเที่ยวให้คนได้อยู่เคียงคู่ป่า สร้างสรรค์พลังอนุรักษ์ให้เป็นแหล่งทำกินโดยไม่เอาเปรียบธรรมชาติ และองค์ประกอบเหล่านี้ ได้สร้างให้เป็นภาพจำอย่างมีพลังตามวิถีสัมมาชีพของชุมชนผาหวาย

 

 


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

Back To Top