skip to Main Content
02-530-9204-5 sammachiv.pr@gmail.com
ร้องประยุทธ์ หยุดส่งความทุกข์ ยุติเข้าร่วม CPTPP ถาวร

ร้องประยุทธ์ หยุดส่งความทุกข์ ยุติเข้าร่วม CPTPP ถาวร

ร้องประยุทธ์ หยุดส่งความทุกข์ ยุติเข้าร่วม CPTPP ถาวร

ตลอด 2 ปีผ่านมา เครือข่าย “#NoCPTPP” โดย FTA Watch (กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน) เป็นแกนกลางผนึกเสียงคัดค้านรัฐบาลนำไทยเข้าร่วม CPTPP มาเป็นระยะๆ เพราะเชื่อว่า การเข้าร่วม CPTPP คือการนำความทุกข์มาให้คนไทย แต่คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ซึ่งมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ยังคงเดินหน้าศึกษาข้อมูลเพื่อผลักดันให้ไทยบรรลุจุดมุ่งหมายเข้าร่วม CPTPP อย่างไม่ลดละเช่นกัน

แล้ว กนศ.ตัดสินใจมั่นเหมาะจะชงข้อมูลการตัดสินใจเข้าร่วม CPTPP ให้ ครม.พิจารณา 8 ธ.ค.นี้ ถัดจากนั้นวันที่ 14 ธ.ค. ก็ถึงคิว ครม. เคาะมติเข้าร่วม CPTPP ดังนั้น ปรากฎการณ์เช่นนี้ยิ่งเร่งให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลกับองค์กรภาคประชาชน จนอาจยากจะรอมชอมกันได้

การเผชิญหน้าเริ่มก่อหวอดทดลองพลังขึ้นทันทีในวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา เมื่อเครือข่าย #NoCPTPP จัดงาน“ความฉิบหายจะมาเยือน Say No to CPTPP บอกแล้วไม่เอา CPTPP” ที่สวนชีววิถี สวนผักคนเมือง อ.ไทรม้า จ.นนทบุรี พร้อมมีข้อเสนอถึงรัฐบาลและพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ยุติการนำไทยเข้าร่วม CPTPP อย่างถาวร

 

แม้ข้อเรียกร้องของเครือข่าย “#NoCPTP” ไม่ได้พ่วงคำขู่ไปด้วยในทำนองหากรัฐบาลเพิกเฉยแล้วจะเจอมาตรการกดดันอะไรตามมา แต่ท่าทีของภาคประชาชนที่สะท้อนด้วยเสียงแบบ “ความฉิบหายจะมาเยือน” หรือ “อย่าส่งความทุกข์ด้วยการร่วม CPTPP” และตามด้วยการส่งสัญญาณเด็ดขาดว่า “ยุติเข้าร่วม CPTPP อย่างถาวร” ย่อมบ่งบอกอารมณ์สุดทานทนกับความดันทุรังของรัฐบาลที่พยายามเข้าร่วม CPTPP ให้ได้

 

 

ก่อนวันงานความฉิบหายจะมาเยือนจะเริ่มขึ้นหนึ่งวัน แม้นายดอน ส่งจดหมายถึง FTA Watch เพื่อขอฟังความคิดเห็น โดยนัดหารือกับคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบันในวันที่ 8 ธ.ค.นี้ แต่เครือข่าย #NoCPTPP ตอบรับไม่ขัดข้อง พร้อมขอเปลี่ยนวันหารือเป็น 20 ธ.ค. 2564 เวลา 10.00-12.00 น. ณ สวนชีววิถี ไทรม้า นนทบุรี นั่นหมายความว่า ครม.จ้องจะเคาะมติเข้าร่วม CPTPP ในวันที่ 14  ธ.ค. อาจต้องชะลอไว้ก่อนจนกว่าผลการหารือจะมีข้อยุติเป็นเด็ดขาด

 

ด้วยท่าทีล่าสุดของทั้งสองฝ่ายที่จ้องเผชิญหน้ากันนั้น ฝ่ายเครือข่าย #NoCPTPP ชัดเจนในการคัดค้าน ส่วนรัฐบาลก็มุ่งมั่นนำไทยเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมของกลุ่มทุนผูกขาดในอนาคต และความหวั่นวิตกกับอุสาหกรรมทุนผูกขาดนี้จึงมีค่าเท่ากับ “นำความทุกข์และความฉิบหายมาเยือนคนไทย” ดังนั้น เครือข่ายฯจึงจัดงานสะท้อนผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา

ในงาน“ความฉิบหายจะมาเยือน Say No to CPTPP บอกแล้วไม่เอา CPTPP” มีนิทรรศการและกิจกรรมหลากหลายประเด็นเกี่ยวข้องกับความตกลง CPTPP ที่สำคัญมีฐานเรียนรู้ผลกระทบ 4 ฐานคือ ฐานเมล็ดพันธุ์รากฐานสังคม ฐานขยะนำเข้าทำลายคุณภาพชีวิต ฐานระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และฐานนโยบายสาธารณะ คุ้มครองผู้บริโภค คุ้มครองประชาชน โดยฐานเหล่านี้ได้บ่งบอกถึงภัยความฉิบหายของการเข้าร่วม CPTPP ซึ่งประชาชนมีแต่เสียกับเสีย

 

เริ่มด้วยผู้เข้าร่วมกิจการได้เดินเรียนรู้จากฐาน“เมล็ดพันธ์รากฐานสังคม”จะแนะนำให้รู้จักกฎหมาย UPOV 1991 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ส่งผลให้ความหลากหลายทางชีวภาพน้อยลง เพราะต้องจดสิทธิบัตร การผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปรับปรุง พัฒนาหรือปลูกต่อได้

               

ถัดไปสู่ฐาน “ขยะนำเข้าทำลายคุณภาพชีวิต” ชี้ให้เห็นว่าการเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะทำให้มีการนำเข้าขยะจำนวนมาก โดยมีเป้าหมายในการผลักดันให้ภูมิภาคอาเซียนกลายเป็นแหล่งรีไซเคิลขยะ จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม

 

จากนั้นถึงฐาน “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ว่าด้วยผลกระทบจากการเข้าร่วม จะทำให้ยามีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ระบบหลักประกันสุขภาพต่าง ๆ ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ มีเงินไม่เพียงพอที่จะจ่ายค่ายาให้กับผู้ป่วยที่อยู่ในระบบนั้น ๆ นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ระบบร่วมจ่าย (Co-Payment) ในที่สุด

 

แล้วฐานกิจกรรมสุดท้าย คือ “นโยบายสาธารณะ คุ้มครองผู้บริโภค คุ้มครองประชาชน” โดยคุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมเป็นผู้บรรยาย โดยชวนพูดคุยถึงผลกระทบจาก CPTPP ทั้งกรณีเครื่องสำอางด้อยคุณภาพ ความเสี่ยงในการซื้อสินค้าออนไลน์ การถูกบังคับให้นำเข้าเครื่องมือแพทย์มือสอง ซึ่งจะกลายเป็นขยะและกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

 

เสร็จสิ้นจากการเดินเรียนรู้ผลกระทบแต่ละฐานแล้ว ก็มีละครสั้นตอกฝาโรงให้ชมกัน โดยเยาวชนรุ่นแห่งกลุ่มทะลุฟ้า ต่อด้วย Printing Art Show โดย “วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร” สานพลังเครือข่ายด้วยการสกรีนผ้ารูปเมล็ดข้าวผืนยาวช่วยกันถือ ก่อนตัดแยกให้ทุกคนได้รับและนำกลับบ้านเป็นสัญญาใจ กระทั่งมาจบท้ายด้วยการอ่านจดหมายเปิดผนึกของเครือข่าย #NoCPTPP ถึง พล.อ.ประยุทธ์ ให้ยุติการเข้าร่วมความตกลง CPTPP อย่างถาวร

จดหมายเปิดผนึกของเครือข่ายฯ ขึ้นหัวเรื่องอย่างดุดันว่า “ถ้าไม่คืนความสุขให้ประชาชน ก็อย่าส่งความทุกข์ด้วยการเข้าร่วม #CPTPP” โดยมี 35 องค์กรประชาชนลงชื่อท้ายจดหมายเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลตัดสินใจรักษาผลประโยชน์ของประชาชนมากกว่าผลประโยชน์ของกลุ่มบรรษัทอุตสาหกรรมเพียงหยิบมือ ซึ่งจะทำลายความมั่นคงทางอาหาร และความหลากหลายทางชีวภาพของไทย อันเป็นผลจากการครอบงำของบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยและบรรษัทข้ามชาติของโลก ดังข้อกังวล 4 ข้อ ต่อไปนี้

 

ประการแรก การเข้าร่วมเป็นภาคี CPTPP คือการยอมรับข้อตกลงที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991 ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นรวมถึง

 

(1) ต้องแก้พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 โดยตัดหลักการขออนุญาตเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ เปิดทางให้โจรสลัดชีวภาพเข้ามาใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืชของท้องถิ่น

(2) ตัดสิทธิพื้นฐานของเกษตรกรในการเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อในฤดูกาลถัดไป เพียงแค่เก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อไปปลูกต่อก็อาจมีโทษอาญาจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 แสนบาท

(3) ขยายอำนาจการผูกขาดพันธุ์พืชใหม่ให้รวมไปถึงผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปซึ่งผลกระทบนี้จะรวมไปถึงผลิตภัณฑ์ยาที่แปรรูปจากพืชสมุนไพรด้วย

(4) สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพรรณธัญญาหารเพราะอาหารที่ผลิตได้มาจากการเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวและการผูกขาดของบริษัท นำไปสู่ความล่มสลายของวิถีการปรับปรุงพันธุ์และอาชีพนักปรับปรุงพันธุ์พืชรายย่อย รวมถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการเกษตรเดิมของไทยที่ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ

(5) เมล็ดพันธุ์ในประเทศไทยที่เราปลูกอยู่อาจมีราคาสูงขึ้น 2-6 เท่า ซึ่งจะส่งผลให้อาหารแพงขึ้นเนื่องจากต้นทุนในการปลูกสูงขึ้น จากรายงานการศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเมื่อปี 2556 พบว่า ในระยะยาวหากเกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์พืชใหม่จากบริษัทเมล็ดพันธุ์ทั้งหมด ราคาเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรจะต้องซื้อสูงขึ้นประมาณ 2-6 เท่าหรือคิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 28,538 ล้านบาท เป็น 80,721 – 142,932 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 52,183 – 114,394 ล้านบาท/ปี

 

ประการที่สอง – CPTPP จะทำให้ประเทศไทยต้องยอมรับการนำเข้าสินค้าที่ปรับสภาพเป็นของใหม่ หรือ remanufactured goods โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ และขยะพลาสติกและอิเล็กทรอนิคส์ โดยที่ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการพิกัดศุลกากรที่แยกประเภทสินค้าเหล่านี้ได้อย่างแม่นยำชัดเจน  ไม่มีหน่วยราชการหรือหน่วยตรวจสอบที่มีขีดความสามารถในการตรวจสอบรับรอง  และขาดรายละเอียดในเชิงข้อกำหนดของการจัดการของเสีย/ของหมดอายุเมื่อสินค้าเหล่านี้หมดอายุไป ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเป็นช่องทางให้เป็นการนำเข้าขยะทางการแพทย์ ขยะพลาสติก และขยะอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากขยะอิเล็กทรอนิกและขยะสารพิษ ที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ให้หนักหน่วงขึ้นไปอีก นี่คือการสวนทางกับเป้าประสงค์ที่ 12.4 ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG 12 ที่ต้องการให้มีการกำจัดขยะอันตราย ขยะติดเชื้อและกากอุตสาหกรรมให้ถูกต้อง

 

ประการที่สาม – CPTPP ยังมีบทว่าด้วยการลงทุน ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชนฟ้องร้องรัฐบาล ถ้ารัฐบาลออกหรือบังคับใช้กฎหมายหรือนโยบายใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของนักลงทุนต่างชาติ แม้ว่าจะเป็นไปเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน โดยฟ้องร้องกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS) ที่มีคณะอนุญาโตตุลาการนอกประเทศทำหน้าที่ตัดสิน  ทั้งนี้ นิยามการคุ้มครองการลงทุนใน CPTPP กินความกว้างขวาง ซึ่งรวมถึง portfolio ของนักลงทุนต่างชาติที่จะเป็นเพียง  pre-establishment ทั้งที่ยังหรือไม่ได้มาลงทุนจริง ๆ ในประเทศไทย   ซึ่งประเทศไทยไม่เคยมีการคุ้มครองการลงทุนเช่นนี้มาก่อน  การคุ้มครองการลงทุนและการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนใน CPTPP จะส่งผลให้รัฐบาลต้องระงับการออกหรือบังคับใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชน และชดเชยค่าเสียหายจำนวนมหาศาลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชน โดยใช้เงินภาษีของประชาชนจ่าย   ยิ่งไปกว่านั้น ยังจะก่อให้เกิดสภาวะหวาดกลัวหรือ Chilling Effect ทำให้รัฐบาลไม่กล้าที่จะออกหรือบังคับใช้กฎหมายใด ๆ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ การเข้าถึงยา และการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะกลัวจะถูกฟ้องโดยนักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชน รวมทั้งอาจทำให้ไม่สามารถปรับปรุงกฎหมายและนโยบายที่ส่งผลอย่างไม่เป็นธรรมต่อคนในประเทศได้ และอาจขัดต่อมาตรการควบคุมยาสูบตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ซึ่งนี่สวนทางกับเป้าประสงค์ที่ 10.3 ที่มุ่งลดผลกระทบที่ไม่เป็นธรรมจากนโยบายและกฎหมาย ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน-SDG 10 ที่ว่าด้วยการลดความเหลื่อมล้ำ

 

ประการสุดท้าย – ข้อบทใน CPTPP ที่เกี่ยวข้องกับระบบทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ สินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ การคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค จะก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อระบบสุขภาพและการสาธารณสุขของประเทศไทย เนื่องจากจะทำให้ยารักษาโรคแพงขึ้นอย่างมหาศาล จากงานวิจัยการประเมินผลกระทบของ CPTPP ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นเกือบ 400,000 ล้านบาท เพราะประเทศต้องพึ่งพายานำเข้าและมีสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นจาก 71% ในปัจจุบัน เป็น 89% และอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศจะมีส่วนแบ่งตลาดลดลงมากกว่า 100,000 ล้านบาท  ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศที่สูงขึ้นย่อมส่งผลต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งสามระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  เฉพาะระบบบัตรทองเพียงระบบเดียว งบประมาณค่าใช้จ่ายด้านยาคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 50% ของงบประมาณระบบบัตรทองทั้งหมด  สิ่งเหล่านี้คือผลกระทบต่องบประมาณค่ายาเท่านั้น  CPTPP ยังจะก่อให้เกิดปัญหาที่รัฐบาลจะไม่สามารถกำหนดและบังคับใช้กฎหมายเพื่อส่งเสริมการเข้ายา เช่น มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ และมาตรการป้องปรามการบริโภคสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างเหล้าและบุหรี่ด้วย รวมไปถึงการจำกัดสิทธิของผู้บริโภคในเรื่องความปลอดภัยของสินค้า เช่น เครื่องสำอาง สินค้าที่ซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ สินค้าที่มีส่วนผสมหรือปนเปื้อนสิ่งที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมหรือ GMO ฯลฯ   ในเรื่องการเข้ายา ข้อบทใน CPTPP ขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลงทริปส์และการสาธารณสุข และสวนทางกับบริบทของโลกในปัจจุบัน ที่กำลังเผชิญกับวิกฤตการระบาดของโควิด 19 ที่สะท้อนให้เห็นถึงการเข้าไม่ถึงยาและวัคซีน เพราะการผูกขาดด้วยระบบทรัพย์สินทางปัญญา  ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลกระทบต่อเป้าประสงค์ที่ 1.4 ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน-SDG 1 ที่มุ่งเพิ่มการเข้าถึงบริการพื้นฐานของคนยากจน เป้าประสงค์ที่ 3.b ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน-SDG 3 ที่มุ่งเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงวัคซีนและยารักษาโรคอีกด้วย

 

ข้อเสียในแต่ละประการนั้น ไม่ใช่ความสุขของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทย เครือข่าย #NoCPTPP เห็นว่า นายกรัฐมนตรีและคณะ ควรมุ่งมั่นดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนบนพื้นฐานของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (SDGs) โดยที่ไม่นำพาประเทศสู่การครอบงำทางเศรษฐกิจโดยบรรษัทอาหารยักษ์ใหญ่และทอดทิ้งเกษตรกร ผู้ผลิตรายย่อย และประชาชนไว้เบื้องหลัง ดังที่ได้ประกาศต่อประชาชนไทยและประชาคมโลกไว้

 

เครือข่าย #NoCPTPP ทิ้งท้ายในจดหมายเปิดผนึกว่า ในฐานะตัวแทนกว่า 400,000 เสียงจากประชาชน ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียุติการพิจารณานำ CPTPP เข้ามติคณะรัฐมนตรี และยุติการเข้าร่วมความตกลง CPTPP อย่างถาวรในทันทีเพื่อเป็นของขวัญส่งท้ายปีให้กับประชาชน

 


 

ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

ไม่มีภาพกิจกรรม

ไม่มีวิดีโอ

Back To Top