“สมพล เกียรติไพบูลย์” ทุ่มเทกระจายเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชน ผลักดันปักฐาน”สัมมาชีพต้นแบบ”
“สมพล เกียรติไพบูลย์”
ทุ่มเทกระจายเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชน
ผลักดันปักฐาน“สัมมาชีพต้นแบบ”
น่าเสียดายยิ่งที่ “สมพล เกียรติไพบูลย์” ต้องครบวาระประธานกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพ หลังอยู่มาถึง 6 ปี แต่ด้วยวัยเข้าใกล้ 82 ปี เขาควรได้พักผ่อน พร้อมผ่องถ่ายภารกิจให้ผู้มาใหม่สืบสานปฎิบัติ “สัมมาชีพต้นแบบ” ให้หยั่งลึกเต็มพื้นที่ท้องถิ่นชุมชนอย่างมั่นคงเพื่อชีวิตสังคมมั่งคั่ง ยั่งยืน
“สมพล” เกิดเมื่อ 11 กรกฎาคม 2483 รับตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพตั้งแต่ 11 พฤศจิกายน 2558 และจะหมดวาระในวันที่ 2 กรกฎาคม 2565 อย่างไรก็ตาม ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว เขาทุ่มเทประสบการณ์ชีวิต ผุดพลังสมองนำก่อเกิดกิจกรรม “ต้นแบบ” ไว้มากมาย โดยมุ่งหวังถึงวิถีชีวิตสัมมาชีพที่มากด้วยความซื่อสัตย์ มีรายได้มากกว่ารายจ่าย เหลือเก็บออม ไม่เบียดเบียนตนเอง-ผู้อื่น และธรรมชาติสิ่งแวดล้อม
แนวทางมูลนิธิสัมมาชีพ ลงหลักปักฐานเอาจริงเอาจังมากว่าทศวรรษ โดยช่วงเวลานานกว่า 10 ปีคงทึกทักหรือตีค่าให้เข้าข่ายเป็นเพียง “กระแสการพัฒนา” อย่างใดอย่างหนึ่งคงยังไม่แน่ชัด แต่ในยุคที่ผู้คนโหยหามุ่งไปสู่การพัฒนาแบบทันสมัยภายใต้กรอบคิด”ทุนนิยม” ที่พ่วงท้ายด้วยสายสกุลหลากพวกพ้องก็ตาม ยิ่งทำให้ “สัมมาชีพ”เด่นชัดในวิถีเศรษฐกิจ“ทางเลือก”ของสังคมท้องถิ่น
“สมพล” ยืนหยัดทำงานจริงจังให้เห็นเป็นรูปธรรมมาตลอดกว่า 10 ปีที่ก่อตั้งมูลนิธิฯ และ 6 ปีในตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิฯ เขาเป็นหัวเรือใหญ่นำโบกสะบัดธงชุมชนยั่งยืน มุ่งมั่นสร้างฐานสังคมอยู่กินเผื่อแผ่ เอื้ออาทร เน้นถึงคุณค่าชีวิตคนตัวเล็กตัวน้อย มากกว่าคนตัวใหญ่มากบารมี
ตลอด 6 ปีที่ “สมพล” เป็นประธานกรรมการมูลนิธิฯ เขาจัดวางแนวทางสัมมาชีพเป็นแกนกลางเพื่อดึงส่วนดีจากองค์กรรัฐ ธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่จำนวน 17 องค์กรมาระดมทุนก่อตั้งเป็น “กองทุนสัมมาชีพ” ในเบื้องต้นได้ทุนมากถึง 16.5 ล้านบาท เพื่อนำไปขับเคลื่อนภารกิจอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน
ดังนั้น บทบาทการงานของสัมมาชีพจึงเริ่มด้วยการผสมส่วนของภาครัฐ เอกชน สังคมท้องถิ่น ให้ผนึกร่วมพลังพลิกฟื้นวิถีเศรษฐกิจวัฒนธรรมชุมชนให้กลายเป็นทุนสังคมนำไปต่อยอดการผลิตของวิสาหกิจชุมชนสร้างรายได้ แล้ววนย้อนกลับมาสู่สังคมท้องถิ่นโดยรวมอีกครั้งตามแนวทางสัมมาชีพเต็มพื้นที่
ไม่เพียงเท่านั้น “สมพล” ได้ผุดสร้างวิถีสัมมาชีพให้หลุดจากภาพลักษณ์นามธรรม ด้วยการก่อรูปธรรมไว้เป็น “ต้นแบบ” ให้ผู้คนเข้าใจ เข้าถึง สัมผัสรับรู้ได้ชัดเจน โดยดึงผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่มาสร้าง “บุคลคลต้นแบบสัมมาชีพ” แล้ววิถีต้นแบบจึงแตกย่อยขยายไปถึง SME ต้นแบบสัมมาชีพ และวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ
อีกทั้งสภาพ “ต้นแบบ” เริ่มแผ่กระจายตัวไปทั่วทุกภาคส่วน ยิ่งทำให้เกิดความเข้าใจในแนวทางสัมมาชีพได้ถ่องแท้ โดยเฉพาะประเทศเจอมรสุมโควิดระบาด ทำเศรษฐกิจใหญ่พังทรุด แต่สังคมท้องถิ่นกลับอยู่รอด จึงไม่เกินเลยนัก หากจะกล่าวว่า สัมมาชีพต้นแบบเป็นส่วนหนึ่งของการประคับประคองชีวิตวัฒนธรรมชุมชนไม่ให้พังพาบไปตามเศรษฐกิจเมืองที่ย่อยยับลงในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมากระทั่งถึงปัจจุบัน
“สมพล” เริ่มต้นขยายแนวคิด SME ต้นแบบสัมมาชีพ โดยคัดเลือก SME เข้าข่ายจะเป็นต้นแบบการประกอบกิจการเลี้ยงตัวเองได้ ควบคู่ไปกับมีความรับผิดชอบต่อสังคมในพื้นที่ตั้งอยู่ เพื่อให้ SME รายอื่นๆ ได้เห็นแบบอย่างที่ดีและมีกำลังใจที่จะทำตาม ซึ่งเป็นการขยายจำนวน SME สัมมาชีพ และเป็นผู้ประกอบการที่จะมีส่วนในการสนับสนุน ส่งเสริมการสร้างอาชีพ รายได้ ให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจชุมชนจนเกิดเครือข่ายเชื่อมโยงกันอีกมากโข
เช่นเดียวกัน ยังก่อรูปวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการประกอบกิจการระดับชุมชน เพื่อสร้างต้นแบบกลุ่ม องค์กร ที่บริหารจัดการกลุ่มและกิจการจนสามารถพัฒนาและสร้างเศรษฐกิจฐานรากได้ ตามแนวทาง “สัมมาชีพเต็มพื้นที่” อันจะเป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน
สิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็น “สัมมาชีพต้นแบบ” นั้น สะท้อนจากรางวัลที่ผ่านการคัดเลือกของคณะกรรมการ โดยรางวัลต้นแบบสัมมาชีพประกอบด้วย SME ต้นแบบ 5 รางวัล และวิสาหกิจ 3 รางวัล แยกเป็น 3 ประเภท คือ 1.การเกษตร ผลิต หรือแปรรูป 2.ออมทรัพย์และกลุ่มสวัสดิการชุมชน และ 3.การบริการและการท่องเที่ยวโดยชุมชน และต่อมาได้เพิ่มรางวัลเป็น 5 ประเภท ในปี 2562 ได้แก่ 1.ประเภทการบริการและการท่องเที่ยวโดยชุมชน 2.ประเภทการเงินและสวัสดิการ 3.ประเภทการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหาร 4.ประเภทการแปรรูปอาหาร และ 5. ประเภทการเกษตร
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3 ปีที่เริ่มโครงการ SME สัมมาชีพต้นแบบ มี SME สนใจเข้าร่วมประกวด จำนวน 127 องค์กร และได้มอบรางวัลไปแล้วจำนวน 14 SME รวมทั้ง ตลอดระยะเวลา 4 ปีมีวิสาหกิจชุมชนสนใจและเข้าร่วมประกวดรางวัลมากกว่า 300 วิสาหกิจ และมอบรางวัลไปแล้วรวมจำนวน 16 วิสาหกิจ ในเชิงปริมาณเช่นนี้บอกถึงแนวคิด “ต้นแบบ” มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น
สิ่งสำคัญคือ ทั้ง 14 SME ต้นแบบและ 16 วิสาหกิจชุมชนต้นแบบ ที่ได้รับรางวัลได้เป็นแหล่งเชื่อมโยงก่อรูปสัมมาชีพต้นแบบในพื้นที่ต่างๆ อย่างน่าสนใจยิ่ง โดยมีการขยายเครือข่ายผู้ประกอบการที่ร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม หรือบางแห่งจัดเวทีพูดคุยการทำแผนพัฒนาชุมชนส่งผลให้มีการจ้างงาน และการซื้อวัตถุดิบในชุมชน และท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ตลอดจนเป็นแกนกลางถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ผ่านหลักสูตรการอบรม “ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง” หรือ LFC ของมูลนิธิฯ รวมถึงส่งเสริมช่องทางพัฒนาสินค้า บริการ การตลาดของชุมชน เป็นต้น และการเชื่อมโยงเช่นนี้ ย่อมเป็นโอกาสของคนตัวเล็กตัวน้อยได้มาเอื้อหนุน โอบรับ แลกเปลี่ยนวิถีเศรษฐกิจชีวิตแก่กันและกัน
กล่าวเฉพาะการอบรม LFC ซึ่งมูลนิธิฯ จัดเติมเต็มความรู้ให้ตัวแทนรัฐและเครือข่ายผู้ประกอบการเศรษฐกิจชุมชนเป็นประจำทุกปีรวมแล้ว 11 รุ่นจำนวน 1,247 คน และในปี 2565 อบรมต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 12 โดยที่ผ่านมา LFC รุ่น 1-11 มี“จังหวัดชัยภูมิ” เป็นจังหวัดที่มีเมล็ดพันธุ์ “ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง” มากเป็นอันดับ 1 ของประเทศจำนวน 38 คนได้ปฏิบัติงานทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จนเป็น “จังหวัดต้นแบบ”ที่ทำให้เกิดความร่วมมือ เคลื่อนโครงการฝึกอบรมหลักสูตร “ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง” เข้าไปดำเนินการในระดับภูมิภาคเป็นจังหวัดแรก เพื่อเป็นภาพแทนความจริงต่อการกระจายขับเคลื่อนเครือข่ายผู้นำเข้าร่วมผลักดันการผลิตแบบสัมมาชีพอย่างเป็นรูปธรรม
รูปธรรมของ “ชัยภูมิ-จังหวัดต้นแบบ” นั้น ได้สะท้อนถึงแนวคิด ความมุ่งมั่นก่อเกิดวิถีการผลิตเศรษฐกิจชุมชนในกระจายเต็มพื้นที่ โดยในปี 2564 มูลนิธิฯ ได้ร่วมกับจังหวัดชัยภูมิ จัดอบรม หลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง ขึ้นในพื้นที่ 8 อำเภอ มีเป้าประสงค์สร้าง “ผู้ก่อการดี” กลับเข้าไปทำงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ซึ่งมี “ผู้ก่อการดี” ผ่านการฝึกอบรมไปแล้วจำนวน 64 คน
อีกทั้งในปี 2565 จังหวัดชัยภูมิ ได้เตรียมความพร้อมสร้างความร่วมมือต่อเนื่องกับมูลนิธิฯ ในการเคลื่อนงานฝึกอบรมเข้าไปใน 8 อำเภอรุ่นที่ 2 เพื่อสร้าง “ผู้ก่อการดี” เข้าไปทำงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้เต็มพื้นที่จังหวัด ที่สำคัญมูลนิธิฯมุ่งหวังให้ “ผู้ก่อการดี” เป็นต้นแบบการขับเคลื่อนในจังหวัดอื่นๆทั่วทุกภาค สิ่งนี้เท่ากับขยับสร้างเครือข่ายสัมมาชีพให้กระจายเต็มพื้นที่ไทยได้ตามเป้าหมายในอนาคต
กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า ทุกภารกิจการขับเคลื่อน “สัมมาชีพต้นแบบ” ได้ก่อรูปขึ้นด้วยการทุ่มเทผลักดันของ “สมพล เกียรติไพบูลย์” และไม่เพียงเท่านั้น “สมพล” ยังไม่หยุดนิ่งกับแนวคิดการพัฒนา ล่าสุดในปี 2565 ริเริ่มมอบรางวัล “ปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ” โดยเล็งเห็นว่า บุคคลเหล่านี้มีความสำคัญต่อการพัฒนาชุมชน สังคม และเป็นบุคคลที่มีความเสียสละจริงในการทำงาน ดังนั้น มูลนิธิสัมมาชีพควรสรรหาและมอบรางวัลเพื่อเป็นการยกย่อง และเป็นกำลังให้ให้กับบุคคลซึ่งสร้างคุณประโยชน์ต่อชุมชน และสังคม จึงเป็นอีกชิ้นงานสร้างสรรค์สังคมที่ได้ให้มีการริเริ่มดำเนินการช่วงการหมดวาระประธานกรรมการมูลนิธิฯ
ดังนั้น ทุกชิ้นงานที่ “สมพล” ได้ริเริ่มแนวคิดและมูลนิธิสัมมาชีพนำไปปฏิบัติล้วนก่อให้เกิดการพัฒนา และสร้างประโยชน์กับชุมชน สังคม อีกทั้งยังเป็นการสร้างฐานรากให้แข็งแรง และยั่งยืน ตามแนวทาง “สัมมาชีพเต็มพื้นที่”
บัดนี้ “สมพล” ใกล้ครบวาระ 6 ปีในตำแหน่ง “ประธานกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพ” ขณะที่การก่อรูป “สัมมาชีพต้นแบบ”นั้นไม่มีวาระและไร้เงื่อนไขเวลาให้ยุติเลิกลา แต่สิ่งที่ “สมพล” ได้ก่อรูปปักฐานไว้ยิ่งจะได้รับการสืบสานให้กระจายเครือข่ายออกไปอย่างกว้างขวางและมั่นคง“เต็มพื้นที่”ท้องถิ่นชุมชนทั่วไทย…สิ่งนี้คือ คุณประโยชน์อันสำคัญยิ่งต่อชีวิตสัมมาชีพในอนาคตของชุมชนไทย
ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.facebook.com/sammachiv
https://www.facebook.com/chumchonmeedee
https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods