skip to Main Content
02-530-9204-5 sammachiv.pr@gmail.com
สแกนท่องเที่ยวชุมชนไทย ถอดบทเรียนแห่งความสำเร็จ

สแกนท่องเที่ยวชุมชนไทย ถอดบทเรียนแห่งความสำเร็จ

สแกนท่องเที่ยวชุมชนไทย

ถอดบทเรียนแห่งความสำเร็จ

อาจารย์ ม.รังสิต ถอดบทเรียนพัฒนาหมู่บ้านญี่ปุ่น สแกนหาความสำเร็จของชุมชนต้นแบบท่องเที่ยวไทย ระบุการริเริ่มพัฒนาใกล้เคียง พบเน้นธรรมชาติ สร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่น ดึงดูดการท่องเที่ยว แนะปรับปรุงทุนทางสังคมสร้างสรรค์ได้มาตรฐาน นำรายได้เข้าชุมชน

 

มูลนิธิสัมมาชีพ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยรังสิต และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ Workshop วิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยว เมื่อ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดย ดร.สุนทร คุณชัยมัง อาจารย์มหาวิทยาลัยรังสิต นำเสนอการถอดบทเรียนชุมชนการท่องเที่ยว 4 แห่งที่ได้รับรางวัลต้นแบบสัมมาชีพ ประกอบด้วย วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีชุมชนตำบลบ้านแหลม จ.สุพรรณบุรี วิสาหกิจชุมชนกลุ่มโฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น จ.สุโขทัย วิสาหกิจชุมชนบ้านนาตีน จ.กระบี่ และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มโฮมสเตย์เชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมบ้านเชียง จ.อุดรธานี

 

นายผดุงศักดิ์ พื้นแสน รักษาการผู้อำนวยการมูลนิธิสัมมาชีพ กล่าวเปิดการสัมมมาถอดบทเรียนว่า ตลอดการดำเนินกิจกรรมของมูลนิธิฯ มา 12 ปี ได้คัดเลือกรางวัลต้นแบบสัมมาชีพ 3 ประเภท ทั้งระดับบุคคลต้นแบบประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนต้นแบบ และ SMEs ต้นแบบ นอกจากนี้ ยังได้เริ่มคัดเลือกรางวัลปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบขึ้นอีกหนึ่งรางวัล โดยหวังให้รางวัลเหล่านี้ได้เชื่อมโยงธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง-เล็ก และท้องถิ่น เข้ามาเป็นพันธมิตรกัน นำไปสู่เป้าหมายส่งเสริมสัมมาชีพต้นแบบเต็มพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อได้พัฒนาความมั่นคง เข้มแข็งให้ชุมชนท้องถิ่นไทย

ดังนั้น การจัดสัมมนาครั้งนี้ จึงหวังนำวิสาหกิจที่ได้รับรางวัลมาร่วมถอดบทเรียนการทำกิจกรรมเพื่อชุมชน ซึ่งมูลนิธิฯ จับมือกับมหาวิทยาลัยรังสิตสนับสนุนด้านวิชาการ และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส มาช่วยเผยแพร่ความสำเร็จออกสู่สาธารณะ

 

 

ต้นแบบหมู่บ้านพัฒนาจากญี่ปุ่น

ดร.สุนทร คุณชัยมัง กล่าวถึงการถอดบทเรียน ประสบการณ์ และความสำเร็จของวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยว ว่า กำหนดแนวทางศึกษาวิสาหกิจท่องเที่ยวทั้ง 4 แห่งที่ได้รับรางวัลนั้น ใน 3 ประเด็นใหญ่คือ ปัจจัยนำไปสู่ความสำเร็จ การจัดองค์กร และมีกลไกในการขับเคลื่อนอย่างไร

 

ทั้งนี้ ได้ยกบทเรียนจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นต้นแบบหนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) มาถอดหาความสำเร็จจนไทยนำมาเป็นต้นแบบการผลิตนโยบายเพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนขึ้นในยุครัฐบาล
นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

 

จุดเริ่ม OTOP หรือ OVOP ของญี่ปุ่น ปรากฎขึ้นที่หมู่บ้านโอยามะ (Oyama) อยู่ชนบทห่างไกลจากเมืองมาก หมู่บ้านแห่งนี้ไม่ได้พัฒนา OTOP ขึ้นด้วยการส่งเสริมจากรัฐบาลท้องถิ่นและส่วนกลาง แต่มาจากริเริ่มกันเองของชุมชน จนประสบความสำเร็จกลายเป็นต้นแบบการพัฒนาท้องถิ่นในญี่ปุ่น

 

พื้นที่หมู่บ้านโอยามะใช้ปลูกข้าว เป็นชุมชนเกษตร และเข้าไม่ถึงนโยบายรัฐบาล  แต่”สหกรณ์การเกษตร”ของชุมชนที่มีอยู่เดิมได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้ผล เช่น ลูกพลัม พรุน เกาลัด ที่ใช้พื้นที่การปลูกน้อย แต่ผลผลิตได้ราคาสูง ในช่วงแรกชุมชนโอยามะ ประสบความสำเร็จขายผลผลิตไม้ผลให้กับผู้มีรายได้สูงในชุมชนที่มีประมาณ 20% ของประชากรในหมู่บ้าน จากนั้นเริ่มส่งออกขายนอกพื้นที่ แล้วขยับไปสู่ตลาดต่างประเทศ

 

อีกบทเรียนหนึ่งคือ ที่หมู่บ้าน Yufuin ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหมู่บ้านเต็มไปด้วยหุบเขา ทุ่งหญ้า และธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ หมู่บ้านแห่งนี้ตั้ง “ชมรมผู้ประกอบการ”มานำการพัฒนากันเอง ขายความเป็นธรรมชาติ แล้วขยายเป็นที่พักโฮมสเตย์ จัดเป็นการสร้างคุณค่าทางวัฒนธรรม ใช้ทุนทางสังคมมาสร้างรายได้ให้ชุมชน

 

สิ่งสำคัญ คือ การพัฒนาท่องเที่ยวของ Yufuin เน้นตลาดเพื่อรองรับการท่องเที่ยวจากหมู่บ้าน Beppu ที่สร้างเสน่ห์ด้วยการเที่ยวบ่อน้ำผุร้อน ดังนั้น การพัฒนาท่องเที่ยวของหมู่บ้าน Yufuin จึงไม่ได้แย่งตลาดของ Beppu แต่เป็นการพัฒนาในสิ่งที่ Beppu ไม่มี ซึ่งเป็นการส่งเสริมรองรับกันและกันของหมู่บ้านในด้านพัฒนาการท่องเที่ยว

 

 

 

ไม่เพียงเท่านั้น การพัฒนาของโอยามะ ทำให้เกิดกระบวนการลดการพึ่งพาจากรัฐบาล เพราะแต่เดิมเกษตรกรประมาณ 80% มีรายได้น้อยจากการปลูกข้าวอย่างเดียว แล้วหันมาปลูกไม้ พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่วน Yufuin นั้น ชุมชนมีรายได้เพิ่มจากแขนงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ร่วมกับกิจกรรมท่องเที่ยวที่สัมพันธุ์กับหมู่บ้าน Beppu อีกอย่างบทเรียนการพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวในสเปน โดยใช้การแสดง อาหาร วัฒนธรรมท้องถิ่นมาสร้างสรรค์มูลค่าทุนทางสังคมที่มีอยู่จนเกิดเป็นรายได้เข้าท้องถิ่น

 

ก่อรูปใกล้เคียงต้นแบบ-สำเร็จหรือไม่?

ดร.สุนทร มีข้อสังเกตุถึงวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ของไทยทำได้ใกล้เคียงกับการพัฒนาของหมู่บ้านในญี่ปุ่นและสเปนหรือไม่ โดยคำตอบได้จากการถอดบทเรียน ซึ่งเน้นใน 3 ด้าน คือ การจัดองค์กร ปัจจัยสู่ความสำเร็จ และกลไกการทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่ของ 4 วิสากิจชุมชนได้รับรางวัลล้วนใช้ธรรมชาติของชุมชนมาเป็นจุดขาย ดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยมีกลไกจากการริเริ่ม บุกเบิก เพื่อให้ไปสู่ความสำเร็จ

 

 

ดังนั้น เสนอแนะว่า บทเรียนของปัจจัยสำเร็จจึงต้องเป็นการสร้างงานสร้างสรรค์ให้ได้มาตรฐาน และเข้าสู่ระบบตลาด ส่วนกลไกอยู่ที่คนมีความอดทน พยายามและประสานงานจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเปรียบเทียบการพัฒนากรณีชุมชนบ้านนาตีน จ.กระบี่ คล้ายกับการพัฒนาของหมู่บ้าน Yufuin ในญี่ปุ่น คือนำวิถีชุมชนมุสลิมมาเป็นทุนทางสังคมสร้างสรรค์ศิลปะ ผลิตภัณฑ์ จัดการบริการสนองความต้องการของตลาดท่องเที่ยวจนทำรายได้เข้าชุมชน

 

ส่วนชุมชนบ้านนาต้นจั่น จ.สุโขทัย เป็นการสร้างสรรค์ท่องเที่ยวขึ้นมาใหม่ ด้วยผลิตภัณฑ์ของตัวเองด้านการทอผ้าท้องถิ่น แล้วนำนักท่องเที่ยวไปเติมการท่องเที่ยวของ จ.สุโขทัย ซึ่งเป็นกระแสหลัก

 

สำหรับชุมชนบ้านเชียง จ.อุดรธานี นั้น เน้นทุนทางสังคมขนาดใหญ่ เน้นอิงความมีเสน่ห์ของทุนทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ อารยธรรมของท้องถิ่น แล้วดึงนักท่องเที่ยวมาเติม จ.อุดรธานี และร่วมกิจกรรมในจังหวัดเป็นหลัก

 

ขณะที่ชุมชนบ้านแหลม จ.สุพรรณบุรี การพัฒนาใกล้เคียง Yufuin เพราะขับเคลื่อนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมริมสายน้ำท่าจีน-สุพรรณบุรี แต่ยังมีปัญหาด้านการออกแบบกิจกรรมสัมผัส
ทุนทางสังคมที่ดี ดังนั้น ควรปรับดัดแปลงใช้เสน่ห์ทุนทางวัฒนธรรม สร้างระบบตลาดชวนเชิญนักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสและสร้างรายได้เพิ่มให้ชุมชน

 

สแกน 4 วิสาหกิจท่องเที่ยว

การถอดบทเรียนวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวทั้ง 4 แห่งของไทย แม้เน้นสแกนการพัฒนาไปเทียบเคียงกับต้นแบบจากหมู่บ้านโอยามะและ Yufuin ในประเทศญี่ปุ่น แต่โดยหลักๆ แล้ว ดร.สุนทร มีความเห็นว่า ชุมชนไทยได้ก่อรูปพัฒนาใกล้เคียงกับหมู่บ้านพัฒนาต้นแบบของญี่ปุ่น ด้วยการแปลงและเน้นธรรมชาติ นำวิถีชีวิตพื้นบ้านซึ่งเป็นทุนทางสังคม หรือทุนทางวัฒนธรรมทั้งอาหารการกิน สร้างที่พักแบบโฮมสเตย์ไว้รองรับ รวมถึงการรื้อสร้างใช้ภูมิปัญญาชุมชนมาสืบสาน แล้วจัดกลุ่ม รวมหมู่กิจกรรมสร้างสรรค์มาดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสวิถีพื้นบ้านที่สามัคคี เอื้อเฟื้อกันและกันของคนในชุมชนเดียวกัน

 

สำหรับส่วนที่แตกต่างจากการพัฒนาต้นแบบ คือ หมู่บ้านพัฒนาของญี่ปุ่นเริ่มต้นด้วยการพัฒนาตัวเอง ใช้พลังของชุมชนในการขับเคลื่อน ไม่ได้พึ่งพิงการขับเคลื่อนจากหน่วยงานรัฐ หรือรัฐบาลเช่นดังวิสาหกิจชุมชนของไทย โดยสแกนจากบทเรียนวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวรางวัลต้นแบบสัมมาชีพ 4 แห่งเป็นกรณีศึกษา ซึ่งมีการก่อรูปพัฒนาอยู่ระนาบเดียวกันทั้งการจัดองค์กร สร้างกลไกขับเคลื่อนให้ไปสู่เป้าหมายความสำเร็จทั้งเชิงเศรษฐกิจรายได้และวิถีสังคมรวมหมู่ของชุมชน

 

ในเอกสารชื่อยาว คือ การศึกษาประสบการณ์ความสำเร็จและการจัดทำข้อเสนอแนะ ว่าด้วยการขยายผลความสำเร็จจากการริเริ่มที่ชุมชนไปสู่การดำเนินงานในระดับนโยบายเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ได้ขมวดข้อมูลทั้ง 4 แห่งเบื้องต้นไว้อย่างน่าสนใจ รวมเนื้อสรุปดังนี้

 

 

  • ชุมชนบ้านนาตีน หมู่ที่ 4 ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ริเริ่มจัดตั้งกลุ่มเพื่อพัฒนาวิชาชีพตามการส่งเสริมของหน่วยงานภาครัฐทั้งด้านผลิตภัณฑ์ชุมชน และการท่องเที่ยวจากกลุ่มผ้าบาติก เมื่อปี 2531 ในปัจจุบัน มีสมาชิก 208 คน จาก 119 ครัวเรือน จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน เมื่อ 13 ก.ย. 2562

 

ชุมชนแห่งนี้นำเอาทุนทางสังคมทุนปัญญาท้องถิ่น และวิถีวัฒนธรรมของชุมชนมุสลิมมา ปรับใช้ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จำหน่ายสำหรับนักท่องเที่ยวเพื่อนำรายได้เข้าชุมชน โดยระหว่างปี 2559-2560 วิสาหกิจนี้มีรายได้จากการประกอบการ 9.5 ล้านบาท/ปี คิดเป็นรายได้ต่อคนต่อปี ได้ 46,110 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 59.7 ของรายได้ต่อหัวของประขากรจังหวัดกระบี่ อยู่ที่ 78,566 บาทต่อคนต่อปี

 

จำนวนสมาชิกของวิสาหกิจ 208 ราย (หรือ 119 ครัวเรือน) ที่ได้ประโยชน์จากกิจกรรมทางตรงของวิสาหกิจนี้ คิดเป็นร้อยละ 9.7ของประชากรหมู่ที่ 4 หรือคิดเป็นร้อยละ 7.3 ของครัวเรือนหมู่ที่ 4 ตำบลอ่าวนาง (ประชากรหมู่ 4 มีจำนวน 2,137 คนหรือ 1,623 ครัวเรือน)

 

รายได้ของวิสาหกิจชุมน เป็นรายได้จากแขนงอาชีพที่เกิดขึ้นใหม่และจากการสร้างสรรค์การบริการของกลุ่ม อันเป็นการรวมเอาทุนทางสังคมที่มีอยู่เดิม มารวมกับความรู้ใหม่ๆ ที่ได้รับการอบรมและสนับสนุนจากองค์กรภายนอก เป็นตัวอย่างของ “การสร้างความสามารถทางสังคมขึ้นใหม่” (New Social Capability) ที่ต่างไปจากวิถีของการพึ่งพาการเกษตรและการประมงแบบดั้งเดิม รวมทั้งการประสานเชื่อมโยงเศรษฐกิจชุมชนให้เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของจังหวัด หรือกล่าวได้ว่า เป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดการให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน

 

กิจกรรมของวิสาหกิจสนับสนุนการท่องเที่ยว เช่น ศูนย์ชุมชนบ้านนาตีน และ เส้นทางท่องเที่ยว
บนบกและเชื่อมโยงกับกิจกรรมอาชีพ-ทางทะเล (เลี้ยงแพะ ประมง ทำอาหาร และขนม) การกรีดยาง การหุงข้าวด้วยฟืน การเย็บจากมุงหลังคา บริการรถตุ๊กตุ๊ก เรือนำเที่ยว ของที่ระลึกจากกะลามะพร้าว  ผ้าบาติก บ้านพัก โฮมสเตย์ 15 หลัง ประสานการสนับสนุนจากองค์กรสนับสนุนภายนอก เช่น สมาคมท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดกระบี่ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) (องค์การมหาชน)

 

 

  • วิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านนาต้นจั่น หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

เดิมวิสาหกิจชุมชนนี้ จัดตั้งองค์กรแบบกลุ่มที่พัฒนางานมาจากกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ชื่อว่า กลุ่มทอผ้าบ้านนาต้นจั่น เมื่อปี 2534 ต่อมากลุ่มได้รับการส่งเสริมการรวมกลุ่มจากกรมพัฒนาชุมชน และการพัฒนาความรู้เรื่องสี การย้อม การตลาด และท่องเที่ยว พร้อมงบประมาณสร้างศูนย์แสดงสินค้าชุมชน และการไปดูงาน OVOP ของเมืองโออิตะ ที่ญี่ปุ่น จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม แล้วกลุ่มได้
จดทะเบียน เป็นวิสาหกิจชุมชน เมื่อ 28 มิ.ย. 2549

 

วิสาหกิจชุมชนนี้ แบ่งงานออกเป็น 3 ส่วน คือ (1) งานจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าทอ (2) งานบริการโฮม
สเตย์และบริการท่องเที่ยว (3) งานบริการนวด สปา และผลิตภัณฑ์ทอผ้า สำหรับการบริการที่พักแบบโฮมสเตย์และบริการท่องเที่ยว ผู้ร่วมบริการได้สร้างกติกาการอยู่ร่วมของนักท่องเที่ยวและชุมชน โดยไม่เล่นการพนัน ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ อันเป็นการรบกวนเพื่อนบ้านคนอื่น

 

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอ ก็มีการนำเอาวัสดุพื้นบ้านและทุนปัญญาท้องถิ่นเรื่องโคลน-ผ้าหมักโคลน เพื่อทำผ้าให้นุ่ม ทำสีจากใบไม้และเปลือกไม้ธรรมชาติ  รวมทั้งการออกแบบดีไซน์ ตามความรู้ที่ได้รับการส่งเสริมจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังมีบริการจำหน่ายอาหารพื้นเมือง-ข้าวเปิ๊บ กาแฟสด ของฝากของที่ระลึก ฯลฯ ทั้งที่เป็นกิจการของวิสาหกิจและกิจการของครัวเรือนในชุมชน อีกทั้งมีการบริการอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวด้วยระบบการชำระเงินผ่านระบบการเงินของธนาคารออมสิน การจองที่พักและบริการผ่านช่องทาง Social media และ ระบบคิวอาร์โค้ด

 

ในระหว่างปี 2562-2563 วิสาหกิจนี้มีรายได้จากการประกอบการ 13.8 ล้านบาท/ปี สมาชิกของวิสาหกิจชุมชนร่วมงานบริการนวดสปาจำนวน 6 ราย (6 ครัวเรือน) ร่วมงานบริการโฮมสเตย์ 19 ราย (หรือ 19 ครัวเรือน) ร่วมงานนวดสปา โฮมสเตย์และผลิตภัณฑ์ทอผ้าจำนวน 308 ราย (264 ครัวเรือน) ที่ได้ประโยชน์จากกิจกรรมทางตรงของวิสาหกิจนี้ คิดเป็นร้อยละ 71.4 ของประชากรหมู่ที่ 5 (บ้านนาต้นจั่น ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 370 ครัวเรือน)

 

ยิ่งไปกว่านั้นการท่องเที่ยวโดยชุมชนของบ้านนาต้นจั่น ยังสร้างรายได้ทางตรงให้กับสมาชิกที่ให้บริการต่างๆ ที่ไม่ใช่รายการของวิสาหกิจ เช่น การรับจ้างทอผ้าให้กลุ่ม หรือการหาวัตถุดิบให้กลุ่มวิสาหกิจ เป็นต้น คิดเป็นเงินประมาณ 32 ล้านบาทต่อปี

 

การสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจของวิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านนาต้นจั่นข้างต้น เป็นตัวอย่างของ “การสร้างความสามารถทางสังคมขึ้นใหม่” (New Social Capability) ที่ต่างไปจากวิถีของการพึ่งพาเรือกสวนไร่นา ที่สร้างรายได้เพิ่มจากการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ (ด้วยการใช้ปุ๋ย) และ/หรือการบุกเบิกที่ดินทำกินใหม่ (ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับส่วนราชการ)

 

 

  • ก่อตั้งเป็น “กลุ่มโฮมสเตย์บ้านเชียง” เมื่อ 1 เม.ย. 2547 มีสมาชิก 47 ราย (ถือเป็นตัวแทนของครัวเรือน) เป็นกลุ่มที่รวมตัวกันบริการที่พักแบบโฮมสเตย์ที่อาศัยจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2559

 

การบริการที่พักแบบโฮมสเตย์กับนักท่องเที่ยว ด้วยการอิงความมีเสน่ห์/ความเป็นทุนทางสังคม และทุนวัฒนธรรม/ประวัติศาสตร์ของอารยธรรมบ้านเชียง-อารยธรรมก่อนประวัติศาสตร์ การเรียนรู้ความเป็นมาของอารยธรรมผ่านโบราณคดีบ้านเชียง การสาธิตอาหารสูตรไทยพวน (อาหารท้องถิ่นของชุมชนที่อาศัยอยู่ในปัจจุบัน) กิจกรรม DIY (Do it yourself คือทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง) ปั้นหม้อ
เขียนสี ตีกลองยาว งานจักสานไม้ไผ่ผ้ามัดย้อมขึ้นลายมัดหมี่ การประดิษฐ์ของที่ระลึกจากเศษผ้า การฟ้อนไทยพวน มีการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เช่น งานมรดกโลกบ้านเชียง บ้านเชียงมาราธอน บ้านเชียงสตรีทอาร์ท ที่เน้นนักท่องเที่ยวแบบนิยมดูงานและร่วมกิจกรรมร้อยละ 70 แบบ Walk-in ร้อยละ 30

 

ในระหว่างปี 2560-2561 กลุ่มมีรายได้จากการประกอบการ 1.9 ล้านบาท/ปี มีการจ้างงาน/สร้างงานกับสมาชิกในชุมชนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมและบริการต่างๆ เช่น การฟ้อนรำ การร่วมกิจกรรมปั้นหม้อ-เขียนไห จำนวน 421 คน (หรือ 421 ครัวเรือนโดยประมาณ) รายได้ต่อปีนี้ คิดเปรียบเทียบเป็นรายได้ของสมาชิกต่อราย คิดเป็น 40,440 บาท รายได้ดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 50.4 ของรายได้ประชากรจังหวัดอุดรธานี ที่มีรายการอยู่ที่ 80,294.51 บาทต่อคนต่อปี

 

รายได้ของกิจการบริการแบบโฮมสเตย์ดังกล่าว ถือได้ว่า เป็นรายได้เพิ่มที่เพิ่มจากแขนงอาชีพที่เกิดขึ้นใหม่จากการสร้างสรรค์การบริการของกลุ่ม เป็น แขนงอาชีพใหม่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชนบท ที่ต่างไปจากกิจกรรมทางการเกษตรแบบนา ไร่ สวนและปศุสัตว์ ที่มีรอบรายได้ตามฤดูกาล เป็นแขนงอาชีพงานบริการ-สร้างสรรค์ ที่มีรายได้เกิดขึ้นตามห้วงระยะเวลาที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับฤดูกาลทางการผลิต และเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีมาก่อนในพื้นที่ของชุมชน

 

ในเบื้องต้น ถือได้ว่ารายได้จำนวน 1.9 ล้านบาทต่อปีเป็นกระแสรายได้ของสมาชิกกลุ่มและชุมชนของหมู่ที่ 13 ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี จำนวนรวม 468 ครัวเรือน และหมู่ที่ 13 มีจำนวน 297 ครัวเรือน สมาชิก 720 คน สมาชิกผู้รับประโยชน์ 429 คน เทียบเป็น 58 % ของประชากรหมู่ที่ 13 ตำบลบ้านเชียง

 

 

  • วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีชุมชนตำบลบ้านแหลม หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านแหลม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นชุมชนตั้งบ้านเรือนไปตามแนวยาวของแม่น้ำสุพรรณบุรี หรือแม่น้ำ
    ท่าจีน เป็นชุมชนที่เป็นจุดแลกเปลี่ยนค้าขายผลิตทางการเกษตร ปู-ปลา-อาหาร มีตลาดริมน้ำหลายแห่ง เช่น ตลาดเก้าห้อง ตลาดคอวัง จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน เมื่อปี 2561 ปัจจุบัน มีสมาชิก 57 คน

 

กิจกรรมและแหล่งท่องเที่ยวถูกออกแบบเป็นจุด/ฐานเรียนรู้จำนวน 15 จุด เพื่อเป็นโปรแกรมบริการนักท่องเที่ยว พร้อมจัดที่พักแบบโฮมสเตย์รองรับจำนวน 13 หลัง (ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ลดพื้นที่ให้บริการได้ 6 หลัง) เชื่อมโยงการเดินทางจุดท่องเที่ยวแต่ละจุดด้วยบริการรถนำเที่ยวในชุมชน-รถอีต๊อก พร้อมบริการของมัคคุเทศก์ชุมชน และกิจกรรมวัฒนธรรมการแสดงของชาวสุพรรณบุรี-เพลงพื้นบ้านให้ชุมชนมีส่วนร่วมตั้งแต่หมู่ที่ 1-5 จัดบริการท่องเที่ยว / กิจกรรมแบบวันเดียว แบบ 2 วัน และรับนักท่องเที่ยวได้ 250 คน/วัน พร้อมประสานจัดที่พักแรมได้ถึง 120 คนต่อคืน มีบริการห้องประชุม และสัมมนาที่รับบริการที่ประชุม 50 คน

เป็นวิสาหกิจชุมชนต้นแบบของ OTOP นวัตวิถี หมู่บ้าน CIV ได้รับการรับรองมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับงานท่องเที่ยว เช่น  SHA มาตรฐานเรือจ้างนำเที่ยวมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย มาตรฐานโฮมสเตย์อาเซียน มาตรฐานท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT Thailand พร้อมทั้งรางวัล SME Provincial Champions และ Thailand Village Academy

 

ในระหว่างปี 2562-2563 วิสาหกิจนี้มีรายได้จากการประกอบการเฉลี่ย 1.2 ล้านบาท/ปี คิดเป็นรายได้ต่อคนต่อปี ได้ 21,112 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24.8 ของรายได้ต่อหัวของประชากรจังหวัดสุพรรณบุรี ที่มีรายการอยู่ที่ 85,129 บาทต่อคนต่อปี

 

รายได้ของวิสาหกิจชุมชนนี้ เป็นตัวอย่างของการริเริ่มรายได้และแขนงอาชีพใหม่ที่ต่างไปจากวิถีการเกษตรกรรม  ไปเป็นสู่การบริการ และการสนับสนุนแขนงเศรษฐกิจ-ธุรกิจแบบบริการเป็นตัวอย่างของ “การสร้างความสามารถทางสังคมขึ้นใหม่” (New Social Capability) ด้วยการผสมผสานระหว่างทุนทางสังคม ทุนวัฒนธรรมกับการจัดบริการมาตรฐาน

 

ชุมชนถ่ายทอดแลกเปลี่ยนบทเรียน

แม้เสน่ห์ท่องเที่ยวของบ้านนาตีนอยู่ที่ธรรมชาติ มีหาดทรายขาว สะอาด น้ำทะเลน่าเล่น ลมพัดสดชื่น โปร่งโล่งสบาย แต่ “บัญชา  แขวงหลี” ตัวแทนวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านนาตีน บอกกล่าวกิจกรรมของชุมชนที่เข้าข่ายการสร้างสิ่งใหม่ในการท่องเที่ยวเพื่อมุ่งดึงนักท่องเที่ยวกระแสหลักเข้ามาเที่ยวสัมผัสวัฒนธรรมมุสลิม คือ ใช้เครื่องบีบคั้นน้ำอ้อยโบราณภูมิปัญญาชาวบ้านดั้งเดิมมาให้นักท่องเที่ยวร่วมกิจกรรมออกแรงบีบน้ำอ้อยสดๆ มาดื่มด้วยตัวเอง

 

เครื่องมือบีบคั้นน้ำอ้อยโบราณของมุสลิมมีขนาดใหญ่ ทำด้วยลำต้นมะพร้าวนำมาผูกมัดไว้ระหว่างต้นหมากสองต้นราวเป็นคาน โดยใช้แรงคนดึงปลายต้นมะพร้าว (ข้างหนึ่ง) ไปบีบลำอ้อยสดที่วางคานต้นหมาก ก็จะได้น้ำอ้อยรินไหลลงกาบหมากเจาะรูให้น้ำอ้อยลงถังรองอีกชั้นหนึ่ง

 

ไม่เพียงเท่านั้น ยังจัดกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้อาหารพื้นบ้านโดยเข้าชมครัวโบราณมุสลิมด้วย ส่วนการรักษาสิ่งแวดล้อมนั้น จัดเป็นการสะท้อนถึงความร่วมมือ สามัคคีของชุมชนอย่างยิ่ง เพราะบ้านนาตีนไม่ส่งเสริมให้ใช้โฟม พลาสติก แต่ใช้ใบไม้ ใบตองมาเป็นพาชนะรองสิ่งของ เพื่อดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

 

“บ้านนาตีนไม่มีถังขยะ เป็นชุมชนสะอาด จึงทำให้ชุมชนมีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาสัมผัส ยิ่งช่วงวิกฤตโควิดได้สินให้ชุมชนอยู่ได้ด้วยตัวเอง เราไม่จัดฉาก นำเสนอของจริงแก่นักท่องเที่ยว”

 

นวัตกรรมใหม่หรือชาวบ้านเรียกกิจกรรมใหม่ดึงรายได้เข้าชุมชนนั้น เป็นการสร้างสรรค์จัดงานเทศกาลประจำปีของบ้านนาตีน (จัดมา 4 ปีแล้ว) เพื่อชวนนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชม ซื้อผลิตภัณฑ์ของร้านค้ากว่า 40 ร้าน อีกทั้งจัดกิจกรรมตลาดพื้นบ้านเพื่อแปลงรายได้เข้าชุมชนทุกเสาร์-อาทิตย์ โดยไม่ต้องรอเทศกาลนานเป็นปี

 

สำหรับชุมชนบ้านนาต้นจั่น “เกษทิพย์ วุฒิสาร ตัวแทนมาถ่ายทอดแลกเปลี่ยนบทเรียนว่า บ้านนาต้นจั่นเป็นชุมชนเล็กๆ เน้นกิจกรรมให้เข้มแข็ง เกิดความสามัคคีเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาชุมชน

 

สิ่งสำคัญ คือ ชุมชนมีการสืบทอดต่อยอดในพื้นที่ โดยให้เยาวชนมารับช่วงการขับเคลื่อนกิจกรรม
จนเกิดนวัตกรรมใหม่มาเสริม เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ อาหารพื้นถิ่น ใช้เทคโนโลยีเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการค้นหารูปแบบ วิธีการดึงคนนอกพื้นที่มาชุมชน เข้าร่วมกิจกรรม พักผ่อนแบบธรรมชาติ อีกทั้งจัดกลุ่มโปรแกรมนำเสนอการเที่ยวในเชิงสัมผัสแบบเข้าถึงกิจกรรมโดยตรงหรือฉาบฉวย

 

“เราเน้นเป็นเจ้าบ้านที่ดี สร้างศรัทธา ให้ได้ใจนักท่องเที่ยว เราขายอัตตลักษณ์ความเป็นพื้นบ้านและความสามัคคีของชุมชน ส่วนรายได้เกิดผลดีต่อชุมชน แม้ช่วงโควิดเกิดผลกระทบบ้างแค่ 20% แต่รูปแบบขายโปรแกรมเที่ยวทั้งปีเพื่อชวนกลุ่มคนแตกต่างกันมาเที่ยว”

 

ขณะที่ตัวแทนชุมชนโฮมสเตย์บ้านเชียง “ชุมพร สุทธิบุญ” กล่าวว่า บ้านเชียงอาศัยงบประมาณจากภาครัฐมาส่งเสริมการท่องเที่ยวมรดกโลกบ้านเชียง เกิดเป็นโฮมสเตย์บ้านไม้ตามวัฒนธรรมชุมชนแล้วยกระดับสู่ความเป็นสากล ด้วยสไตล์บ้านสวยแบบอัตลักษณ์ท้องถิ่น

ส่วนการพัฒนาคนให้เข้าบริบทการท่องเที่ยวด้วยแนวทางดึงเงิน อยู่ได้ จากสถิติมีนักท่องเที่ยวแต่ละปีมากถึง 1.9 แสนคนสร้างรายได้นับร้อยล้านบาทจากการเที่ยวแบบวัฒนธรรมที่เน้นทำของดีให้นักท่องเที่ยว

 

“ไม่เพียงกิจกรรมการปั้นหมอเชิงปนระวัติศาสตร์ การทักทอผ้าท้องถิ่น และส่งเสริมมัคคุเทศก์ สิ่งสำคัญคือให้คนชุมชนมีส่วนร่วมสร้างประโยชน์ อีกทั้งอาหารพื้นบ้าน ซึ่งช่วงโควิดระบาดเป็นช่วงที่ดีที่สุดของชุมชนทำให้นักวิชาการเกิดไอเดียข้าวพัดข่า แจ่วหอมหวานบ้านเชียง ซึ่งเป็นแจ่วของไทพวนอร่อยที่สุด มีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ 200 กว่าปีก่อน หาทานที่ไหนไม่ได้ มีแค่ที่บ้านเชียงที่เดียว มีผักปลอดสารพิษเป็นเครื่องเคียง จึงเป็นนวัตรกรรมใหม่ที่ชุมชนสร้างขึ้นจนประสบผลสำเร็จ”

 

นอกจากนี้ มีกิจกรรมการแต่งกาย การแสดงรำพื้นถิ่นภูไท ระบำบ้านเชียงมาต้อนรับนักท่องเที่ยว อีกทั้งกิจการของบ้านเชียงยังเน้นถึงการทอลายผ้าเฉพาะถิ่นที่มีมานับร้อยปีเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนอัน
โดดเด่น แล้วยังเสนอโปรแกรมเส้นทางท่องเที่ยวด้วย ซึ่งเป็นผลงานของเยาวชนพัฒนาขึ้นมาด้วย
เทคโนโลยี จนได้รับรางวัลที่หนึ่ง รวมถึงชุมชนส่งเสริมหลักสูตรวัฒนธรรมการเที่ยวชุมชนอีกด้วย
สิ่งเหล่านี้ทำให้ชุมชนอยู่ดีมีสุข

 

“หลักสูตรที่สร้างขึ้นมีทั้งการปั้นลวดลายหมอไห นำไปหากินได้ สิ่งกังวลคือ กลไกของชุมชนทำงาน
ไม่เก่ง กลัวไม่มีการสืบสานเมื่อหมดคนรุ่นนี้ในการเฝ้ามรดกบ้านเชียงสมบัติของประเทศ จึงกลัวการสูญหาย วันนี้การตลาดมีทั้งอีคอมเมิร์ช สื่อทางไลน์ ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนา ร่วมรณรงค์ขับเคลื่อนทั้งชุมชน”

 

ด้านชุมชนท่องเที่ยวบ้านแหลม “โสภณ พันธุ” กล่าวว่า ชุมชนมีประชากรประมาณ 4,800 คน การขับเคลื่อนกิจกรรมเน้นด้านวัฒนธรรมริมน้ำท่าจีน-สุพรรณบุรี เป็นหลัก จุดเริ่มของกิจกรรมมาจากครอบครัวทำธุรกิจร้านอาหารแล้วเอื้อกับวิถีวัฒนธรรมชุมชนนำสินค้ามาขายที่ร้าน จากนั้นขยับสร้างเรือนไทยให้เป็นพักนักท่องเที่ยว กลายเป็นโฮมสเตย์จนได้รับรางวัลทั้งไทยและอาเซียน

 

“สิ่งสำคัญการท่องเที่ยวต้องมีมาตรฐานที่ดี เรามีประกันภัยให้นักท่องเที่ยว พร้อมส่งเสริมกิจกรรมให้นักท่องเที่ยงลงมือทำเองด้วย อนาคตมุ่งนำท่องเที่ยวไปสู่ BCG ไม่เท่านั้นยังมีการต้อนรับด้วยเสียงเพลงพื้นบ้าน ทั้งเพลงเรือ เพลงฉ่อย เพลงเกี่ยวข้าง เพลงอีแซว ซึ่งเพลงเหล่านี้ทุกบ้านเรือนในชุมชนร้องกัน เป็นชุมชมที่สนุก”

 

ส่วนนวัตกรรมชุมชนสร้างผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา ทั้งจาน ชามใส่อาหารแห้ง จากนั้นจะพัฒนาใส่ของเหลว อีกทั้งยังทำกระเป๋า หมวก ด้านอาหารพื้นถิ่นซึ่งมีปลาบริบูรณ์ มีน้ำพริกอร่อย ขนมพื้นบ้านขึ้นชื่อ รวมถึงการทำกิจกรรมทำธูป เทียน ให้นักท่องเที่ยวเข้าร่วมด้วย โดยรายได้แต่ละกิจกรรมจะหัก 10% เข้าส่วนกลาง

 

 

 

 


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

 

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

 

Back To Top