โลกยุคใหม่ ไทยสร้างได้ด้วยสัมมาชีพ
มูลนิธิสัมมาชีพจัดอบรมหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (LFC) รุ่นที่ 12 ภายใต้แนวทาง ผู้นำแห่งอนาคต (The Future Leader) : ผ่านทุกวิกฤติ ด้วยวิถีสัมมาชีพ โดยเมื่อ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ไทยคือใคร ในเวทีโลก โอกาสโลกยุคใหม่ สร้างได้ด้วยสัมมาชีพ”
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า หลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง เดินภายใต้แนวคิด “ประเทศเปลี่ยนแปลงได้ต้องเปลี่ยนผู้นำ” ไม่ว่าจะเป็นผู้นำชุมชน ภาคประชาสังคม และท้องถิ่น โดยไม่มองตำแหน่งใหญ่เป็นตัวพัฒนาการ แต่มองว่าผู้นำต้องสร้างให้เกิดการกระจาย ไม่ใช่กระจุกเฉพาะคนที่ตำแหน่งใหญ่เท่านั้น อีกทั้งผู้นำที่แท้นั้นอยู่ที่ตัวผู้ปฎิบัติข้างล่าง ซึ่งผู้นำชุมชนเป็นผู้นำแบบศรัทธามากกว่าผู้นำโดยตำแหน่ง
ทุกครั้งคาดหวังหลักสูตร LFC มีความพิเศษในการร่วมกันพาสังคมไทยไปด้วยกันเพื่อประเทศชาติ เพราะวันนี้มีคำ 3 คำที่มีความจำเป็นในการมองโลก คือ นอร์มอล (Normal) ระเบียบโลก (World Order) และความยั่งยืน (Sustainability) โดยเฉพาะเมื่อโควิดระบาดได้นำวิถีชีวิตไปสู่นิวนอร์มอล ซึ่งเป็นการชี้นำการเปลี่ยนแปลงของโลก พร้อมๆสร้างบาดแผลที่ใหญ่ให้โลกด้วย
Normal เปลี่ยนชีวิต
โควิดเป็นสิ่งเร่งการเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมหน้าและสร้างผลกระทบให้กับคนอย่างมากตั้งแต่ลากยาววิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน กรณีหาบเร่แผงลอยทั่วประเทศมีประมาณ 4-5 แสนครัวเรือนเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อหารายได้เลี้ยงปากท้องและส่งลูกเรียน ดังนั้นจึงเป็นตลาดธรรมชาติเป็นตัวเชื่อมห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) ที่ใหญ่มาก ถ้าตลาดเช่นนี้ถูกตัดตอนแล้ว ยิ่งทำให้คนฐานรากเดือดร้อนถึงขั้นอดอยาก
เมื่อเราไม่ส่งเสริมคนข้างล่างให้มีกิน เราจะตัดสิ่งที่มีอยู่แล้วออกไปทำไม วันนี้เราต้องประคับประคองคนข้างล่าง แล้วจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ซึ่งแก้ยากมากเพราะไม่มีกิน ถ้าต้องกู้เงินนอกระบบดอกเบี้ยโหดร้อยละ 5 ต่อวัน จนเกิดหนี้ใหม่มาพอกพูนหนี้เก่า ดังนั้นการแก้ปัญหานี้ต้องอาศัยพลังมาร่วมกัน
“ผมเคยบริหารกระทรวงมา ยืนยันได้ว่า รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ได้ การแก้สิ่งเหล่านี้ได้ไม่ใช่รัฐ เพราะรัฐไม่มีเงิน ถ้ากู้แล้วทำอะไร ถ้ากู้แล้วแจกเจ๊งหนักไปอีก การเอาเงินมาให้ต้องมีวิธีไม่ใช่เยียวยาอย่างเดียว การแจกคือการเยียวยาซึ่งไม่ทำให้เศรษฐกิจหมุน มันจะหมุนได้ต้องฟื้นฟู ดังนั้นเงินที่ลงไปต้องใช้ทั้งเยียวยาและฟื้นฟูให้สอดรับกับนอร์มอลและนิวนอร์มอลที่กำลังจะเกิดขึ้น การที่โควิดเข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตและการค้าขาย แล้วคนข้างล่างจะทำอย่างไร ใครจะช่วย”
นิวนอร์มอลก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 2 กระแสคือ กระแสชุมชนคนด้อยโอกาสกับกระแสการเปลี่ยนแปลงแลนด์สเคป (Landscape) ใหม่ของโลกใบนี้ ขณะที่การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีใหม่ การค้าขายใหม่จึงวิ่งมาชนกัน โดยหลายคนหวังว่าจะเป็นนิวนอร์มอลที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น เช่น ระบบการสื่อสารโปรแกรมซูม หรือการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ขึ้นมาแทนการเข้าทำงานออฟฟิค สิ่งนี้เป็นตัวอย่างสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อโควิดเข้ามาและความหวังจะให้เป็น Batter Normal เพื่อใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของ Normal และ New normal
วันนี้ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม จะเป็นยุคของ Big Data เพราะโลกใบนี้ไม่เหมือนเดิม ยิ่งเทคโนโลยีเติบโตพฤติกรรมของคนจะถูกเก็บไว้เป็นฐานข้อมูล โดยสิ่งนี้คืออาวุธที่น่ากลัวมากกับทุกระดับชั้น แต่เป็นประโยชน์มหาศาลกับคนใช้เป็น ดังนั้น Big Data กับ AI (เอไอ) จึงเป็นสิ่งจำเป็นมากไม่ว่าจะทำอะไรทั้งในระบบราชการ เอกชน ประชาสังคม และชุมชนที่จะก่อประโยชน์ให้กับประเทศไทยมหาศาล
“ผมยกตัวอย่างในสมัยเป็นรัฐบาล เราได้เริ่ม Big Data ของไทยด้วยการทำพร้อมเพย์ (PromptPay) คนไทยไม่เข้าใจ แต่มันเป็นการทำ Big Data ที่ต่อสู้กับความยากจน เพื่อนำคนจนเข้าสู่ระบบพิษเศรษฐกิจด้วยการให้เงิน 300 บาทต่อเดือนซื้อของกินของใช้ จนดึงคนเข้าระบบรอบแรกได้ประมาณ 12-13 ล้านคน ซึ่งเป็น Big Data ที่ใหญ่มาก และเรารู้แล้วว่าคนจนอยู่ที่ไหน”
เมื่อเรารู้ว่าคนจนอยู่ที่ไหนแล้ว เป้าหมายที่แท้จริงของบัตรคนจนคือเอาเขาพ้นจากความจน ไม่ได้แจกเงิน ตอนนั้นเส้นความยากจนมี 2 เส้น คือต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปีกับเส้นต่ำกว่าแสนบาทต่อปี แล้วเราเริ่มนำคนเหล่านี้มาสร้างอาชีพหวังให้พ้นจากความยากจน ผลปรากฎว่า 1 ปีมีคนพ้นจากความยากจนระดับเส้นหนึ่งแสนบาทได้ประมาณ 3-4 แสนคน นั่นแปลว่าถ้าเรารู้เขาอยู่ที่ไหน เราก็เปิดโอกาสให้เขา เพราะไม่มีใครอยากจะจน เราต้องให้สิ่งที่เขาต้องการและรัฐต้องส่งเสริมเขา แต่หลังจากนั้นนโยบายก็เริ่มเปลี่ยนไป
World Order: พหุอำนาจถ่วงดุลขั้วอำนาจ
ระเบียบโลก (world order) มี 2 มติคือ ความมั่นคง ต่อไปจะเกิดพหุอำนาจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของ 2 ขั้วประเทศมหาอำนาจสู้กัน ยิ่งในภูมิภาครอบบ้านไทยจะต้องระวังปัญหาทะเลจีนใต้ระหว่างสหรัฐกับจีน รวมทั้งคาบสมุทรเกาหลี
อีกมิติคือ ข้อตกลงด้านการค้าและไทยเคยตกขบวนหลายครั้ง ไทยต้องอาศัยการส่งออกเป็นเครื่องจักรดันจีดีพี (GDP) ของประเทศมายาวนานและยิ่งถอยลงเพราะขายสินค้าเกษตรมากขึ้น แต่มีรายได้น้อย ล่าสุดข้อตกลงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย-ยุโรป หรือ “อาเซม” ที่มีผลกระทบต่อคนไทยมาก เนื่องจากสินค้าเกือบ 30,000 รายการที่ปลอดภาษีหรือภาษีเป็นศูนย์ ถ้ารัฐขาดการวางแผนที่ดีจะกระทบต่อเอสเอ็มอี เพราะไม่ได้ทำการส่งออกให้แข็งแรง เราจึงถูกหลอกด้วยตัวเลขมูลค่า ดังนั้นต้องยกระดับเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างแท้จริง
Sustainability: ภาษีคาร์บอนปกป้องสิ่งแวดล้อม
ความยั่งยืน (Sustainability) ต้องสร้างความสมดุลระหว่างสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ตอนนี้เรื่องคาร์บอนเครดิตขยายจากราคา 20 เหรียญต่อตันคาร์บอนไปถึงวันนี้ 80 เหรียญต่อตันคาร์บอน และเมื่อต้นปีโตไปที่ 100 เหรียญต่อตันคาร์บอน ซึ่งเป็นสิ่งใกล้ตัวมาก เนื่องจากเป็นกติกาโลก โดยต่อไปการส่งออกไปยุโรปต้องติดกรีนเลเบิ้ล (Green Label) ที่เป็นตัวบอกว่าจะมีคาร์บอนเครดิตอย่างไร ใช้พลังงานจากไหน ถ้ามาจากพลังงานฟอสซิลต้องจ่ายภาษีแพงเพราะเป็นการเอาเปรียบโลก
ไทยเป็นประเทศที่มีพลังงานทางเลือกสูง ดีที่สุดและเติบโตที่สุดในอาเซียน วันนี้เป็นโอกาสที่ไทยจะขายพลังงานสะอาด เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ที่ไม่มีพื้นที่ตั้งพลังงานโซล่าเซลล์ ไทยจึงควรขายพลังงานสะอาดไปสิงคโปร์ หรือขายไปประเทศเพื่อนบ้านที่พัฒนาไม่ทันเรา ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องเริ่มภาษีคาร์บอน (Carbon Tax)
“ทุกวันนี้เราเก็บภาษีน้ำมัน ภาษีสรรพสามิต คำถามคือถูกหรือผิดที่จะเอาภาษีสรรพสามิตที่เป็นภาระประชาชนมาเป็นรายได้ของรัฐ เราตัดไม่ได้เพราะรัฐไม่มีตัง รัฐจึงต้องเอาภาษีน้ำมันจากประชาชนใช้ ถึงเวลาต้องปรับโครงสร้างใหม่ ผมเสนอให้มีทั้งสรรพสามิตกับ carbon tax จะทำให้เก็บภาษีถูกฝาถูกตัว และถูกกว่า เช่น เก็บภาษี 5 บาทก็แยกเป็นเก็บสรรพสามิต 2 บาท และ carbon tax 3 บาท แล้วนำ carbon tax ไปสนับสนุนคนที่ใช้พลังงานสะอาด หรือนำไปส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดทั้งระบบ”
นอกจากนี้ ถ้าไทยใช้ carbon tax สินค้าที่ส่งไปยุโรปจะไม่ต้องเจอเก็บภาษี Green Label เนื่องจากเป็นกติกาว่าถ้าถูกเก็บจากประเทศต้นกำเนิดคือไทยแล้ว ประเทศปลายทางจะไม่เก็บ สมัยตนอยู่กระทรวงพลังงานได้ทำโรงไฟฟ้าชุมชน คือ การสร้างพลังงานสะอาดที่เน้นคาร์บอนต่ำ อีกอย่างเป็นการลงทุนแสนล้านของเอกชน รัฐให้เพียงสัมปทานและซื้อไฟฟ้่า
สิ่งสำคัญโรงไฟฟ้าชุมชนผลิตด้านชีวภาคกับชีวมวล จึงต้องไปซื้อวัตถุดิบของภาคเกษตรมาผลิต เมื่อเรามีพื้นที่มากมายในการปลูกพืชพลังงานได้ แล้วจะเกิดพื้นที่สีเขียว และป่าไม้ ซึ่งชาวบ้านได้ประโยชน์แล้วเข้าสู่ห่วงโช่คุณค่า รวมทั้งเมืองตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนต้องนำเงินไปพัฒนาชุมชน โดยนโยบายนี้ต้องทำต่อไป
รวมพลังสัมมาชีพสู่ชุมชนเข้มแข็ง
การเชื่อมโยงทั้งนอร์มอล นิวนอร์มอล ระเบียบโลก และความยั่งยืน จะเป็นกรอบคุมทิศทางพัฒนาในอนาคต และสัมพันธ์กับสัมมาชีพ คือ ใช้ความเข้มแข็งเพราะไทยมีพัฒนาการด้านความเข้มแข็งของสังคมที่เริ่มเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ปี 2519 ทำให้ภาคสังคมมีพัฒนาการมาเรื่อยจนเกิดทิศทางชุมชนเข้มแข็งเป็นกระแสทางเลือกของไทย เพื่อให้เห็นภัยของการเน้นการเติบโตของเศรษฐกิจมหภาคกระแสหลักแต่ทำลายความแข็งแรงของชุมชนลงไป
การต่อสู้แนวคิดทั้ง 2 กระแสนั้นใช้เวลาถึง 10 ปีแนวคิดชุมชนเข้มแข็งเริ่มเป็นที่ยอมรับขึ้น กระทั่งเริ่มเกิดพัฒนาในปี 2530 จนตกผลึกในมหาวิทยาลัย วงวิชาการ แล้วเกิดกองทุนวิจัยที่เรียกว่า สำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) เกิดกองทุนอนุรักษ์พลังงาน และเกิดกองทุนสิ่งแวดล้อมในปี 2535 สมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน
ถึงปี 2540 เมื่อต้องเผชิญปัญหาวิกฤตต้มยำกุ้ง ไทยพังยับ เจ๊งทั้งประเทศ แต่สิ่งที่ยังอยู่คือ ชุมชนที่แข็งแรง จนเกิดกองทุน social investment fund (SIF) ด้วยงบประมาณ 4,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาบุคคลกรของชุมชนฐานล่าง พร้อมกับเกิดแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาคู่กับการพังทลายของเศรษฐกิจมหภาค แล้วตามมาด้วยแนวทาง สสส. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มาถึงสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สิ่งเหล่านี้เป็นจุดเปลี่ยนชุมชนและสังคมไทยให้อยู่รอดได้
อีกทั้งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2520 ถึงปัจจุบัน มีภาคสังคมและชุมชนเป็นเสาหลักค้ำยันเอาไว้ ที่สำคัญได้ใช้เป็นฐานให้ต่อสู้กับโควิด จะเห็นว่าไทยมีจุดแข็งหลายอย่างที่แตกต่างจากตะวันตก ไทยมีวัฒนธรรมเข้มแข็ง มีทุนทางสังคมเข็มแข็ง ไทยยังมีของดีอยู่มาก แต่ขาดการเชื่อมโยงพลังเพื่อไปแข่งขันกับเวทีโลก
“เรามีโอกาสเป็นประเทศฉวยการพัฒนายั่งยืนจากคนอื่นได้ เรามีทุนทางสังคม ทุนทางธรรมชาติ และทุนทางวัฒนธรรม ทุนเหล่านี้ต้องหยิบออกมาใช้ประโยชน์บนความเปลี่ยนแปลงของโลก ถ้าปล่อยให้การเปลี่ยนแปลงไปในทางทุนนิยมอย่างเดียวไม่มีสิ่งมาถ่วงดุลแล้วก็ยังไม่พ้นความยากจน”
สังคมไทยปล่อยให้เสรีมาทำลายชุมชน ถ้าเราเชื่อมโยงให้ชุมชนเข็มแข็ง ถัาชุมชนมีความสุข ความเข้มแข็งจะรักษาสิ่งที่เป็นรากเหง้าของไทยได้ เพราะสุดท้ายโลกเจริญก็จะหันกลับไปสู่รากเหง้าของตนเองหรือสิ่งใหม่จะกลับไปสู่สิ่งเก่า กลับไปสู่ธรรมชาติ ออกจากเมืองหลวง ลงจากคอนโดสูง ไปโหยหาถิ่นที่มีแต่แสงดวงดาวบนท้องฟ้า
ในการเปลี่ยนแปลงของโลกไทยมีบางอย่างที่สามารถประคับประคองความเข้มแข็งได้ ถ้าคนข้างล่างไม่แข็งแรงแล้วเราก็อยู่ไม่ได้และมีความสุขไม่ได้ ดังนั้นการเรียนในหลักสูตรนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทใดก็ตาม อยากให้คิดว่า เราไม่ได้มาช่วยคนทั้งประเทศ แต่มาช่วยคนเฉพาะพื้นที่ เพื่อสร้างเครือข่ายต่อกันให้แข็งแรงขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างบุคลกรและผู้นำที่ดีในอนาคตไทย
สิ่งสำคัญคือ บ้านเมืองเราที่พังเพราะมีนักการเมืองพาเข้ารกเข้าพง จนน่าเสียดายที่คนดีไม่ชอบเข้าสู่การเมือง เพราะการเมืองทำลายผู้คนตลอดเวลา ดังนั้น เราต้องผนึกกำลังเป็นแรงต้านเพื่อสร้างให้สิ่งดีอยู่ในสังคมไทยและลูกหลายในอนาคต
ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.facebook.com/sammachiv
https://www.facebook.com/chumchonmeedee
https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods
ไม่มีภาพกิจกรรม
ไม่มีวิดีโอ