skip to Main Content
02-530-9204-5 sammachiv.pr@gmail.com
“บัญชา โชติกำจร” LFC#11 ชูสัมมาชีพ “สบขุ่นโมเดล” แก้ปัญหาเขาหัวโล้น

“บัญชา โชติกำจร” LFC#11 ชูสัมมาชีพ “สบขุ่นโมเดล” แก้ปัญหาเขาหัวโล้น

“แม่น้ำน่าน” ถือเป็นต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำสายหลักของประเทศไทย คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 40% เมื่อเทียบกับแม่น้ำปิง วัง และยม ก่อนจะไหลรวมเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ทว่าที่ผ่านมาจังหวัดน่าน ประสบปัญหาการรุกพื้นที่ป่า เกิดไฟป่า จากการเผาเพื่อปรับพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ขณะที่พื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่อยู่บนดอยสูงชันไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทำให้พื้นที่ป่าลดน้อยลง เกิดเขาหัวโล้นกินวงกว้าง หลายหน่วยงานอนุรักษ์ทั้งจากภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม จึงเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหา เพื่อรักษา “ป่าต้นน้ำ” ผืนนี้ไว้

 

 

เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เป็นหนึ่งในภาคเอกชนที่เข้าร่วมภารกิจนี้ ผ่านการจัดตั้งสำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน เครือเจริญโภคภัณฑ์ จังหวัดน่าน ขึ้นในปี 2558  โดยมี “สบขุ่นโมเดล” เป็นโครงการต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มีรายได้เลี้ยงชีพ (ผลผลิตมีตลาดรองรับ) คืนพื้นที่ป่า แก้ปัญหาเขาหัวโล้น

บัญชา โชติกำจร

“สบขุ่นโมเดล (ตั้งอยู่ที่บ้านสบขุ่น ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน) เป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพด (พืชเชิงเดี่ยว) ที่เยอะที่สุดในจังหวัดน่าน มากถึง 42,000 ไร่ ก่อนการเพาะปลูกชาวบ้านจะเผาเพื่อเคลียร์พื้นที่ ทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นเขาที่หัวโล้นที่สุด เราจึงเลือกทำเป็นโมเดลต้นแบบให้ชาวบ้านเลิกปลูกข้าวโพด หันมาปลูกพืชอื่นแทน ได้แก่ ต้นกาแฟ คืนผืนป่า โดยโครงการนี้ร่วมกับอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานด้านความมั่นคง หน่วยงานด้านที่ดิน ป่าไม้ หน่วยงานด้านการเกษตรในพื้นที่ เป็นต้น” บัญชา โชติกำจร ผู้อำนวยการสำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน เครือเจริญโภคภัณฑ์ จังหวัดน่าน เล่า

บัญชา ยังเป็นผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (Leadership for Change – LFC) รุ่นที่ 11 โดยระบุว่า ได้นำทักษะและเครือข่ายด้านการพัฒนาชุมชน ส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ตามแนวทางสัมมาชีพ ที่ได้รับจากการอบรมหลักสูตรนี้ไปใช้ในภารกิจที่ทำอยู่ได้มาก

โดยสบขุ่นโมเดล ได้ยึดแนวทาง “สัมมาชีพ” ให้ชาวบ้านมีอาชีพที่ยั่งยืนผลผลิตทางการเกษตรมีตลาดรองรับชัดเจน (ระยะแรกซีพีรับซื้อทั้งหมด) เป็นอาชีพที่ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม โดยขณะนี้ชาวบ้านทยอยเลิกปลูกข้าวโพด หันมาปลูกกาแฟ และปลูกป่าไปพร้อมกัน เพราะต้นกาแฟต้องอยู่ภายใต้ร่มเงาของป่าจึงจะเติบโตให้ผลผลิตที่ดี

..เราเลยได้ทั้งสองอย่าง คือ ได้สร้างอาชีพ และได้ป่าคืนมา  “บัญชา” เล่า

 

 

โครงการนี้ปลูกกาแฟทดแทนข้าวโพดมา 7-8 ปีแล้ว มีการประเมินว่า ปลูกกาแฟ 1 ไร่ จะได้รายได้เท่ากับปลูกข้าวโพด 7 ไร่  ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านรุกพื้นที่อยู่ 42,000 ไร่ เท่ากับเราต้องปลูกกาแฟ 6,000 ไร่ ชาวบ้านจึงจะมีรายได้เท่ากับการปลูกข้าวโพด 42,000 ไร่  ณ ขณะนี้ (เมษายน 2566) ชาวบ้านปลูกกาแฟ (รวมปลูกข้าว ผลไม้ ไว้ยังชีพ) กว่า 2,000 ไร่ สามารถคืนฟื้นที่ป่าได้กว่า 10,000 ไร่ จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าในปี 2570 จะปลูกกาแฟให้ครบ 6,000 ไร่ เพื่อคืนผืนป่าทั้งหมด 42,000 ไร่ ขณะที่ป่าที่ปลูกป่าพร้อมกับต้นกาแฟ ในระยะแรกได้นำกล้วย และถั่วมะแฮะ (ไม้ยืนต้นโตเร็ว) มาปลูกเพื่อสร้างระบบนิเวศป่า จนขณะนี้มีต้นไม้พื้นถิ่น เช่น มะหาด มะค่า โมง ขึ้นมาเพิ่มเติมฟื้นสภาพความเป็นป่า”

นอกจากนี้ยัง ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่ปลูกข้าวโพด จะมีรายได้ปีละ 2 แสนบาท แต่หักต้นทุนพบว่าส่วนใหญ่ขาดทุน หรือมีกำไร 5,000-10,000 บาท เมื่อมาปลูกกาแฟ มีรายได้ปีละ 1.5 แสนบาท แต่มีต้นทุนเพียง 30,000-50,000 บาท ที่เหลือคือกำไร

 

  

 

เขายังบอกว่า สบขุ่นโมเดล อยู่ระหว่างดำเนินโครงการในระยะที่ 2 ซึ่งมีทางเลือกให้ชาวบ้าน ที่ไม่ต้องการปลูกกาแฟ สามารถปลูกพืชอื่น เช่น อะโวคาโด เงาะ มะม่วงหิมพานต์ ไผ่ รวมถึงการทำท่องเที่ยวเชิงชุมชน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผลผลิตที่ชาวบ้านเพาะปลูก จะต้องมีคุณภาพดี ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความยั่งยืนด้านรายได้

“นอกจากที่บ้านสบขุ่น ยังมีหลายพื้นที่ในจังหวัดน่านที่ชาวบ้านเลือกอาชีพอื่น  เช่น ที่อำเภอทุ่งช้าง ก็ปลูกเงาะไปแล้ว แต่เมื่อปลูกกันมากพบว่าผลผลิตล้นตลาด ระยะแรกก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้านการตลาดโดยใช้เครือข่ายที่มีอยู่ช่วยกันรับซื้อไปจำหน่ายต่อ เช่น เครือข่ายองค์กรของผู้อบรมหลักสูตร LFC ซึ่งมีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เป็นต้น แต่ระยะยาวชาวบ้านต้องมีผลผลิตที่ได้คุณภาพ ผลผลิตมีปริมาณเหมาะสม ถึงตอนนั้นใครๆก็อยากซื้อ เพราะเราคาดหวังว่าวันหนึ่งถ้าเราถอนตัวไปพื้นที่อื่นแล้ว ชาวบ้านจะอยู่ได้ด้วยตัวเอง มีรายได้เลี้ยงครอบครัวอย่างเพียงพอ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

 

 

บัญชา ยังเห็นความสำคัญกับการสร้างผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง ในการพัฒนาชุมชนยั่งยืน ว่า ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลงจำเป็นมาก เพื่อเป็นเข็มทิศนำชาวบ้านไปในทางที่ถูกต้อง

 

 

“ผู้นำ ในความหมายของผม คือ ต้องพูดดี คิดดี ทำดี มีคุณธรรม เป็นคุณสมบัติพื้นฐาน ส่วนจะนำทีมไปทางไหนก็มาเรียนรู้ร่วมกัน ถ้านำไปผิดทางก็ยังตบให้เข้ามาในทางได้ อย่างน้อยก็ไม่ถอยหลัง ในทางตรงข้ามถ้าผู้นำไม่มีคุณธรรม เห็นแก่ประโยชน์ตัวเอง ซึ่งก็เคยเจอ อันนี้หนักเลย ขณะที่การเปลี่ยนแปลงก็สำคัญ ผู้นำต้องนำการเปลี่ยนแปลง ถ้ายังคิดแบบเดิม จะหวังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคงเป็นไปได้ยาก จึงต้องเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำ เมื่อเราเปลี่ยนวิธีการ ผลลัพธ์ย่อมเปลี่ยนแปลง ถ้าผลลัพธ์ยังไม่ดีอย่างน้อยก็ได้บทเรียนมาปรับปรุงให้ดีขึ้น” ผู้อำนวยการสำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน เครือเจริญโภคภัณฑ์ จังหวัดน่าน ทิ้งท้าย

 

 


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

https://www.facebook.com/sammachi

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

 

Back To Top