“เอ็นนู” กะเทาะเปลือก…ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ให้เกียรติเป็นวิทยากรในหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 9 โดยบรรยายหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ได้เล่าถึงแนวทางยุทธศาสตร์ชาติไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
เหตุที่ต้องมียุทธศาสตร์ 20 ปี เพราะที่ผ่านมาการเมืองขาดความต่อเนื่อง การพัฒนาเศรษฐกิจ ก็ขาดความต่อเนื่อง นักเลือกตั้งให้ของได้บ้างไม่ได้บ้าง ที่ได้บางครั้งก็เป็นของที่เราไม่อยากได้ ประเทศเรามีปัญหาสังคมเยอะมาก แต่คนไทยเราก็มีข้อดี จะเห็นได้จากกรณี ของตูน บอดี้สแลม และกรณีทีมหมูป่าได้เห็นพลังสามัคคีของคนไทย ซึ่งเราจะเอาประโยชน์จากกรณีตูนและทีมหมูป่าได้อย่างไร
สำหรับ พ. ร. บ. ยุทธศาสตร์ชาติซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ภายในเดือนนี้ยุทธศาสตร์ชาติน่าจะออกมา ต่อไปก็เหลือขั้นตอนการทำมาสเตอร์แพลน ซึ่งคาดว่าเดือนกันยายนก็จะเสร็จ ขณะนี้อยู่ระหว่างการคุยกับข้าราชการ เกลี้ยกล่อมให้ข้าราชการเห็นด้วยได้อย่างไร
ยุทธศาสตร์ชาติแบ่งเป็นด้านต่างๆ ทั้งหมด 6 ด้าน คือ ด้านความมั่นคง ด้านขีดความสามารถ การแข่งขัน ด้านเศรษฐกิจ ด้านการพัฒนาบุคลากร ด้านการพัฒนาสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านการพัฒนาข้าราชการ
ยุทธศาสตร์ชาติเราเขียนไว้สำหรับอนาคต ให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้นไม่ใช่เขียนวันนี้แล้วใช้อีก 20 ปี มีการยืดหยุ่นให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วไป โดยกำหนดให้แบ่งเป็นช่วงๆ เป็น 5 ปี 10 และ 20 ปี ซึ่งรัฐบาลในตอนนั้นสามารถนำมาทบทวนและปรับให้มีความเหมาะสมได้ หากเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงแล้วเหมาะสม โดยเฉพาะในเรื่องของไอที ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก
ในทางปฏิบัติ ยุทธศาสตร์ชาตินั้นเป็นหน้าที่ ปลัดกระทรวงต่างๆ เป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนปฏิรูปประเทศอยู่ในความดูแลในระดับอธิบดี ปัญหาทุกวันนี้ ข้าราชการเขียนแผนเป็นเฉพาะการใช้งบประมาณปกติ แต่เขียนแผนในเชิงยุทธศาสตร์ไม่เป็น เราไม่ต้องการแผนปกติแต่เราต้องการแผนบูรณาการร่วมกัน ยุทธศาสตร์ชาติจึงเป็นแผนที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ในเดือนมกราคมปี 62 จะต้องตามดูว่า แต่ละกระทรวงปรับแผนหรือยัง ตั้งใจจะให้เสร็จกันยายนปี 62 เพราะต้องเขียนของบประมาณ ให้ทันใน 3 เดือน ที่ผ่านมาจึงต้องเชิญคนมาคุยมากมาย เพราะเศรษฐกิจต้องมีความต่อเนื่องจะต้องมียุทธศาสตร์
ที่ผ่านมารัฐบาลเปลี่ยนบ่อยๆ ทำให้กระตุก คราวนี้ยุทธศาสตร์ก็จะเดินไปเรื่อยๆ สังคม ต้องยุติธรรม เน้นให้ประชาชนอยู่กินดี ทุกเรื่องต้องมั่นคง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงภาพลักษณ์ ของประเทศการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทำอย่างไรให้คนไทยเป็นคนเก่งและคนดี เก่งแต่ไม่ดีก็โกงแหลกด้านสิ่งแวดล้อมก็เป็นหน้าที่เราทุกคนต้องช่วยกันดูแล
ในส่วนภาครัฐทุกวันนี้ 60-70 % ของงบประมาณประเทศเป็นรายจ่ายด้านบุคลากร ทำอย่างไรให้ภาครัฐเล็กลง ค่าบำเหน็จบำนาญ ค่ารักษาพยาบาลมหาศาล ต่อไปภาครัฐต้องเล็กลงใช้ประชาชนทำแทน รัฐทำหน้าที่ดูแลแต่ประชาชนเป็นคนปฏิบัติ
ด้านสังคมต้องลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ เปิดโอกาสให้สามารถพัฒนาตัวเองได้ เกษตรกร แรงงานก็ทำให้ดีขึ้น คาดว่า 60 % ดีขึ้น ทุกวันนี้ คนไทย 65 ล้านคน 10 % ที่อยู่บนยอดรวยที่สุด รายได้ 35 % ของจีดีพี 10 % ล่างสุดแค่ 1.5% ของจีดีพี ระหว่างบนสุดกับล่างสุดต่างกัน 22 เท่า ภายใน 20 ปี ระหว่างบนสุดกับล่างสุดจะให้ช่องว่างเหลือห่างกัน 15 เท่า จะต้องทำให้ข้างล่างเติบโตเร็วกว่าข้างบน ในขณะที่จีดีพี 4-5 % เราสั่งข้างบนไม่ได้ แต่เราจะต้องทุ่มพลังทั้งหมดให้ข้างล่าง ให้เป็น 10 – 15% ของจีดีพี
เป้าหมายอีกกลุ่มคือ พวกรับบัตรคนจน เราต้องทำแบบรัฐบาลจีน คือ ให้ข้าราชการประกบคนยากคนจน เพื่อเข้าไปช่วยเหลือ รัฐบาลจีนใช้ข้าราชการ 1 คน จะต้องรับผิดชอบคนจน 4 คน นักวิจัยมหาลัยรับผิดชอบ 2 คน มีปัญหาอะไรคนเหล่านี้ต้องช่วยทันที ซึ่งเราน่าจะทำอย่างนั้นบ้างข้าราชการต้องเข้าไปดูแลคนจน จะเห็นว่าวิธีนี้ทำให้จีนแก้ปัญหาความยกจนได้เร็วมาก
การแจกเงินอย่างเดียวจะมีผลข้างเคียง เพราะแจกเรื่อยๆ รัฐบาลเองก็จะเจ๊ง ตอนนี้เตรียมเสนอมาตรการภาษีเพื่อช่วยให้คนออม โดยใช้การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นเครื่องมือ เพราะทุกวันนี้คนไทยออมน้อยมาก แต่จะให้เขาออมรายได้ที่มีอยู่ก็แทบไม่พอใช้ ดังนั้นอาจจะใช้มาตรการภาษีในการออม เช่น อาจจะใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะทุกคนต้องซื้อของซึ่งต้องจ่าย อาจจะนำส่วนหนึ่งของภาษีมูลค่าเพิ่ม มาเป็นเงินออม แต่จะต้องขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วเอาส่วนที่เกินจาก 7 % มาออมสำหรับให้ประชาชนมีเงินใช้ในอนาคตในยามที่แก่ตัวลง
การแก้ปัญหาประเทศต้อง “คิดใหม่” คิดแบบเก่าไม่ได้ ทั้งหมดที่เล่ามาก็เป็นเรื่องการคิดใหม่ตั้งแต่เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อให้มีเงินออมสำหรับประชาชนที่จะต้องใช้ในวัยสูงอายุ นอกจากนี้ในแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี จะจัดเป็นกลุ่มจังหวัด ใน 4-5 จังหวัดที่จัดกลุ่มจะต้องมี 1 จังหวัด ที่เจริญซึ่งเป็นเมืองหลวงของกลุ่มจังหวัดและในการจัดงบประมาณ จะใช้วิธีดูว่าจังหวัดไหนยากจนสุด ก็จะให้มากที่สุด ไม่ใช่เป็นรายหัวเหมือนที่ผ่านมา จังหวัดใหญ่ๆ ได้งบประมาณมากทั้งที่เจริญแล้ว แต่จังหวัดเล็กที่ไม่เจริญอย่างแม่ฮ่องสอนได้งบประมาณน้อยที่สุด จึงต้องเป็นจังหวัดยากจน ทุกวันนี้ในสังคมคนแก่ต้องเปลี่ยนวิธีคิดของคนในสังคมว่าคนแก่คือ พลัง ไม่ใช่ภาระ เพราะคนแก่ต่างๆมีประสบการณ์มากมาย ต้องนำมาใช้ประโยชน์ ขณะเดียวกันเกษตรกรเอง ก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากผู้ผลิต อย่างเดียวมาเป็นผู้ประกอบการ คือ ทั้งผลิต แปรรูป หาตลาดและอาจจะถึงการขนส่ง นั่นคือ ต้องส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน การท่องเที่ยวชุมชนให้นักท่องเที่ยวมาซื้อ มาหาสินค้า ไม่ใช่เกษตรกรต้องไปเร่หาตลาดเหมือนที่ผ่านมา
นี่คือ บางส่วนของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี