skip to Main Content
02-530-9204-5 sammachiv.pr@gmail.com
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษ ในงานมอบรางวัลต้นแบบสัมมาชีพ ประจำปี 2561

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษ ในงานมอบรางวัลต้นแบบสัมมาชีพ ประจำปี 2561

คุณอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

“สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำคือ พยายามสร้างความเท่าเทียม

 งานรางวัลต้นแบบสัมมาชีพ ประจำปี 2561 มูลนิธิสัมมาชีพได้รับเกียรติจาก “นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษ มีสาระสำคัญดังนี้

  

อยากจะเล่าสิ่งที่รัฐบาลได้ทำให้กับพวกเราได้ฟังในเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จริงๆ มีอยู่ 6 เรื่อง เรื่องแรกจะเป็นเรื่องของความมั่นคง สอง เรื่องความสามารถในการแข่งขัน สามเรื่องการสร้างคน เรื่องที่สี่การลดเหลื่อมล้ำ ห้าสิ่งแวดล้อมและหกเรื่องการพัฒนาโครงการ หรือการบริหารของภาคราชการ 6 เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จำเป็นของประเทศไทย ถ้าไม่มีก็จะโตไปปอย่างไร้ทิศทางและความยั่งยืนก็จะไม่มี สิ่งที่รัฐบาลทำให้มีการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน โดยพยายามสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ไม่ว่าอุตสาหกรรมจะต้องสามารถแข่งขันได้มากขึ้น เราไปทำเรื่อง EEC เพื่อให้มีเขตพื้นที่สามารถไปลงทุนได้ แต่สิ่งที่เราเน้นมาก อีกอันหนึ่งก็คือ แผนการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งผมคิดว่ามันเข้ากับภารกิจหลักของมูลนิธิสัมมาชีพ ในการลดความเหลื่อมล้ำ

สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำคือ พยายามสร้างความเท่าเทียม ความเท่าเทียมในเชิงที่เราคิดก็คือว่า ความเท่าเทียมในโอกาส ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียม ใครมีโอกาสน้อยกว่า ซึ่งเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องจัดสรรทรัพยากรต่างๆ เข้าไป ช่วยให้เขาเองมีความสามารถในการแข่งขันและมีความเท่าเทียมที่มากขึ้น เช่น คนซึ่งมีรายได้น้อย เราก็จัดให้มีเงินกู้จากธนาคารออมสิน ธกส.  คนเหล่านี้ก็จะไปช่วยคนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินปกติของธนาคารพานิชย์ ก็จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินเหล่านี้ได้

SME ที่มีความสามารถในการแข่งขันน้อย ก็มี สสว. ไปช่วยส่งเสริม ไปสอนและพัฒนาให้สามารถแข่งขันได้ สิ่งเหล่านี้รัฐบาลพยายามใส่เข้าไป เราไปทำเรื่องบัตรสวัสดิการ ตอนนี้ก็เริ่มมีคนมาแสดงความเห็นว่าให้เงินแจกเงินอย่างเดียวหรือเปล่า ในอดีตในประเทศไทยไม่เคยรู้เลยว่า เป้าหมายของผู้มีรายได้น้อยและมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือคือใคร ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยสามารถทำได้ และรู้ว่าใครที่เราต้องเข้าไปช่วย การเข้าไปช่วยมีหลายๆ ส่วน เราพูดถึงสวัสดิการ การเดินทาง ค่าน้ำ ค่าไฟ ในเรื่องต่างๆ เราก็ไปช่วยแต่ไม่ได้ทั้งหมดเป็นการบรรเทา เรารู้ว่าเขามีรายได้น้อย ความสามารถในการใช้จ่ายมีน้อย เราก็เติมเงินเข้าไปให้เขา สิ่งเหล่านี้ เราเข้าไปช่วยคนที่จำเป็นจริงๆ ไม่ใช่ไปแจกทั่วไปหมดโดยไม่มีข้อมูล

แต่สิ่งที่เราจะทำ คือการพัฒนาเหล่านี้ให้เขามีเป้าหมาย ให้มีรายได้ ที่ดีขึ้น เราพูดกันระหว่างผู้ปฎิบัติงาน ออมสิน กับ ธกส . ทำยังไงให้เขาหายจน เราทำมาเกือบปีและจะสรุปในวันที่ 17 ธันวาคม นี้วันนั้นเราจะรู้ว่าคนที่เราไปช่วยพัฒนา หายจนไปแล้วกี่คน มีรายได้เพิ่มขึ้นมาแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ เราคุยกันตั้งแต่ต้นว่าสิ่งที่เราอยากเห็นคือเห็นเขาหายจนจริงๆ ไม่ใช่ไปบอกว่าเอาไปพัฒนา ไปอบรมกี่คนแล้วอันนี้คือแนวคิดเก่า

ฉะนั้นแนวคิดนี้เราจะทำให้เขาหายจนจริงๆ แต่ไม่ว่ารัฐบาลจะทำมากแค่ไหนก็ตาม มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ภาคเอกชนต้องลงมาช่วย และแนวคิดของมูลนิธิสัมมาชีพ คือการผลักดันให้เอกชนมีแนวคิดอย่างนี้ เข้ามาช่วยสังคมด้วย เอกชนซึ่งเก่งก็มีโอกาสเข้ามาช่วยสังคม กระทรวงคลังพยายามโปรโมตเรื่องนี้มา ประมาณซัก 2-3 ปี เราให้สิทธิประโยชน์ ใครที่เก่งแล้วให้ไปช่วยรายเล็กรายน้อย ไปช่วยสังคมเราให้หักภาษีได้เพิ่ม 2 เท่า พยายามผลักดันในเรื่องนี้ แต่ผลสำเร็จยังมีน้อย ทั้งที่ตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. พยายามผลักดันเรื่องนี้ เราไปทำเรื่อง CSR แต่ทำเป็นจุดๆ เป็นชิ้นๆ ถ้าเราสามารถดูแลทั้งคลัสเตอร์ ดูแลได้ทั้งหมด มันจะช่วยยกระดับคนที่อยู่ในระบบของตัวเองพัฒนาขึ้นมาได้

และนั่นคือหัวใจสำคัญของการลดความเหลื่อมล้ำ ทุกคนมีความสามารถไม่เท่ากัน ต่อให้โอกาสที่เราให้เท่ากัน คนเก่งกว่า มีความสามารถมากกว่าก็จะไปได้เร็วกว่า แล้วโอกาสจับสิ่งดีๆ ให้ตัวเองหรือบริษัทตัวเองก็จะมากกว่า

สังคมไทยยังมีคนที่ต้องการช่วยเหลือ ไม่ว่าใครเกิดความลำบาก เราขอบริจาค เราเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีการบริจาคอันดับท๊อปของโลก เมื่อเราไปถึงอีกขั้นแล้วเราต้องลงมาช่วย แล้วในภาวะตอนนี้ การเปลี่ยนแปลงของโลกที่เร็วมาก การเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆ มากขึ้น คนที่เก่งกว่าสามารถจับโอกาสเหล่านี้ไว้ได้ ทำให้เขายิ่งสามารถกระโดดก้าวข้ามอะไรบางอย่างไปได้ คนไม่เก่งพอก็ทำไม่ได้ และเมื่อการเปลี่ยนแปลงแบบนี้เกิดขึ้น  ความห่างของความเหลื่อมล้ำจะมากขึ้น

อยากจะฝากพยายามเข้าไปช่วยดึงเอาคนข้างล่างขึ้นมา คนที่เก่งแล้วช่วยดึงขึ้นมา มีผู้ประกอบการหลายคนที่ประสบผลสำเร็จส่วนใหญ่มาจากศูนย์ บางคนมาจากติดลบ เพราะความสามารถของเขาและสร้างตัวเองขึ้นมาได้ แต่คนเหล่านี้เมื่อใหญ่โตขึ้นไปแล้ว สิ่งที่น่าเสียดาย ก็คือว่าตัวเขาเองถึงแม้จะคิดเรื่องนี้ แต่เขาไม่ได้สร้างดีเอ็นเอให้กับองค์กรของตัวเองผลที่ตามมาก็คือ พนักงานของตัวเองไมได้คิดแบบนี้ พนักงานคิดว่าตัวเองเป็นลูกจ้างมีหน้าที่ทำผลประโยชน์ให้กับบริษัทให้มากที่สุด และการทำผลประโยชน์ก็เกิดการเอาเปรียบคู่ค้า ลูกค้า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในสังคมไทย

ถ้าเราเอาแนวคิดของมูลนิธิสัมมาชีพไป ก็คือไม่เบียดเบียนตนเอง คนอื่น สิ่งเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น แล้วสอนไปทั้งองค์กรให้มีแนวคิดแบบนี้ร่วมกัน สิ่งนี้อยากฝากให้ทำให้ได้ ของเราเองหลายคนทำธุรกิจ อันนี้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการพัฒนาประเทศ

สิ่งเหล่านี้ทำให้ประเทศไม่ยั่งยืน มูลนิธิก็จะเป็นตัวช่วยเหมือนกัน ส่งเสริมให้คนรู้ว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งไม่ควรทำ สิ่งที่ควรทำคืออะไร ขอให้มูลนิธิสัมมาชีพ ขยายแนวคิดให้เต็มพื้นที่

Back To Top