skip to Main Content
02-530-9204-5 sammachiv.pr@gmail.com
จุฬาฯ จับมือภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เปิดตัวศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม

จุฬาฯ จับมือภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เปิดตัวศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม

          เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน 2562 ณ หอประชุมอาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มีการจัดแถลงข่าว การเปิดตัวศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีตัวแทนจากคณะผู้บริหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแขกผู้มีเกียรติ อาทิ คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.กฤษ อังคนาพร ผู้ช่วยอธิการบดี งานด้านยุทธศาสตร์ พัฒนาระบบงาน และประกันคุณภาพองค์กร, นายณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม

          ร่วมด้วยตัวแทนจากภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ ดร.สุนทร คุณชัยมัง ผู้อำนวยการหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (LFC), คุณเสน่ห์ วิชัยวงษ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิสัมมาชีพ, ตัวแทนจากสถาบันอาศรมศิลป์ และจากบริษัทเอกชน

          คุณกอบกาญจน์ กล่าวว่า การสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันและมีความเท่าเทียมเป็นสิ่งสำคัญ ในการคิดทำโครงการให้เกิดความยั่งยืน สำหรับความตั้งใจในการทำโครงการนี้เป็นสิ่งที่ดีมาก โดยที่ไม่ต้องรองบประมาณจากรัฐบาล หรือหน่วยงานต่างๆ เราสามารถยืนอยู่บนขาของตัวเองดีที่สุด ดังเช่นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ความสำเร็จอาจจะไม่เกิดในทันที แต่ขอให้เริ่มลงมือทำตั้งแต่วันนี้ เพราะถ้าเราไม่ทำก็จะไม่มีใครทำ

          นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ศูนย์นวัตกรรมการออกแบบเพื่อสังคม เป็นความริเริ่มของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ร่วมกับสมาคมนิสิตเก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวาระโอกาสครบ 100 ปีของมหาวิทยาลัย โดยมีความตั้งใจที่จะใช้เป็นพื้นกลางของการทำงานรูปแบบใหม่แบบร่วมมือ ระหว่าง นิสิต คณาจารย์นักวิจัย จากหลายภาคส่วนในมหาวิทยาลัย และ เครือข่ายศิษย์เก่าที่มีความสามารถและศักยภาพ เพื่อร่วมกันสร้างผลกระทบทางสังคมเชิงบวกที่ยั่งยืนผ่านเครื่องมือ “การออกแบบ” ซึ่งเป็นฐานคิดสำคัญของคณะ

          ศูนย์ถูกออกแบบและวางแผนให้มีการบริหารจัดการแบบกิจการเพื่อสังคมหรือ SOCIAL ENTERPRISE ที่นอกจากจะมีเป้าหมายสำคัญคือ การนำเอาความรู้สู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมแล้ว ยังจะต้องดำเนินการให้สามารถอยู่รอดทางการเงิน และขยายตัวได้ด้วยตนเองในอนาคตอย่างยั่งยืน โดยไม่จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาเงินบริจาคหรือสนับสนุนจากภายนอก

          ผู้อำนวยการศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม กล่าวต่อว่า ในระยะเวลา 3 ปีแรกของการทำงาน ศูนย์ออกแบบเพื่อสังคมฯ ตั้งใจใช้ “การออกแบบ” และ “วิธีคิดเชิงออกแบบ” เข้าไปตอบ 4 โจทย์ซึ่งเป็นความท้าทายหลักของสังคมปัจจุบันคือ “งานบริการสาธารณะ” “เศรษฐกิจท้องถิ่น” “สังคมที่เป็นธรรม” และ “ความยั่งยืน” โดยมีโครงการที่ตั้งขึ้นเพื่อตอบโจทย์เหล่านั้นรวมทั้งสิ้น 8 โครงการ โดยโครงการความคิดริเริ่มในระยะสั้น จะมีการผลิตกางเกงสำหรับผู้นั่งรถเข็น จำนวน 1,000 ตัว และบริการปรับปรุงบ้านเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ จำนวน 100 หลังในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร

 

 

          ทั้งนี้ การออกแบบเพื่อสังคมเป็นความร่วมมือจากหลายๆ ภาคส่วนของสังคม เพื่อสร้างผลกระทบหรือการเปลี่ยนแปลงทางบวกผ่านการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ บริการ รวมไปจนถึงนโยบายสาธารณะ เราเชื่อว่า “การออกแบบ” มีบทบาทสำคัญในการเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง และเราอยากชวนทุกคนมาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยกัน

          ด้าน รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.กฤษ กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของโครงการคือการผลักดันให้ความรู้ และเผยแพร่งานวิจัย สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสังคม ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ขอขอบคุณเครือข่ายองค์กรที่มาร่วมพัฒนา หวังว่าศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม จะสามารถดำเนินการได้อย่างมีคุณภาพ และบรรลุเป้าหมายที่สำคัญ โดยเฉพาะการใช้การออกแบบมาสร้างกระบวนการขับเคลื่อนอย่างมีส่วนร่วม เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมและยั่งยืนต่อไป

          ขณะที่ คุณเสน่ห์ กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มูลนิธิสัมมาชีพ ได้ร่วมเป็นหนึ่งในภาคีเครือข่ายของศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่อว่าการดำเนินโครงการต่างๆ ของทางศูนย์ฯ จะมีส่วนช่วยสนับสนุนและเติมเต็มสังคมไทยให้ดีขึ้นได้ ทั้งนี้ทางมูลนิธิสัมมาชีพ มีความยินดีที่จะร่วมกิจกรรมอื่นๆ ของศูนย์ฯ หากมีกิจกรรมที่เป็นไปในแนวทางช่วยเหลือสังคมเช่นเดียวกัน

Back To Top