skip to Main Content
02-530-9204-5 sammachiv.pr@gmail.com
ฉันคือเมล็ดพันธุ์สัมมาชีพ

ฉันคือเมล็ดพันธุ์สัมมาชีพ

เบญจมาศ เมตไตร

ฉันคือเมล็ดพันธุ์สัมมาชีพ

 

จุดเริ่มต้นการทำงานของนักพัฒนา หรือ NGO อย่างฉัน ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ฉันฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ นาๆ มาอย่างมากมายกว่าจะถึงวันนี้ แหละนี่คือเรื่องเล่าของฉัน เมล็ดพันธุ์สัมมาชีพ ฉันเรียนจบนิเทศศาสตร์ จากราชภัฎ แต่ไม่ได้ใช้วิชาชีพที่เรียนมาเลย เพราะใจรักในงานพัฒนา อาจเป็นเพราะตัวเองเป็นคนต่างจังหวัด อยู่กับดินเล่นกับทราย ปลูกต้นไม้ ทำสวน ทำไร่ ใช้ชีวิตแบบบ้านๆๆ จนซึมซับเข้าสายเลือด

 

จนฉันเติบใหญ่ ฉันได้เรียนรู้ และเฝ้ามองทำให้ฉงนคิด เหตุใดลุงป้าน้าอายังคงมีชีวิตอยู่เช่นเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งหนึ่งที่ฉันเห็น คือ ชุมชนขาดโอกาส ขาดการเติมเต็มทั้งเรื่องทักษะความรู้ และปัจจัยหลายๆอย่าง ทำให้พวกเขาย้ำอยู่ที่เดิม และนี่คือจุดเปลี่ยนและการเริ่มต้นของฉัน ในเส้นทางนักพัฒนาอย่างจริงจัง

 

ฉันคิดเสมอว่าฉันเองคงทำงานพัฒนาและคงสิ้นสุดที่งานพัฒนาเช่นเดียวกัน เส้นทางการทำงานของฉันมันทำให้ฉันคุ้นชินกับงานในระดับพื้นที่ สมัยก่อนฉันเหมือน “กบในกะลา” นึกว่าตัวเองเก่งเรื่องงานชุมชนเพราะได้เรียนรู้และติดตามผู้รู้ที่เป็น NGO ใหญ่ไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง ฉันเชื่อมั่นว่าวิธีการทำงานในพื้นที่จะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้คือเมื่อโครงการจบแกนนำก็หยุดการขับเคลื่อน หรือทำงานตามแนวคิดวิธีการของหน่วยงานอื่น ๆ ต่อไป เป็นการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุดทั้งชุมชนและตัวฉันเอง

 

ใคร ๆ ก็ว่าฉันเป็น NGO ฉันบอกเสมอว่า “ฉันขอเป็น NGO กลายพันธุ์” ที่คิดนอกกรอบจาก NGO ใหญ่หลายท่าน ที่ผ่านมามีหลักสูตรพัฒนาแนวเดียวกันคือยกระดับความรู้ชุมชน ส่งเสริมอาชีพ พัฒนาการแปรรูป ผลที่เกิดขึ้นคือชุมชนผลิตได้แต่ขายไม่เป็น การบรรจุหีบห่อไม่สวยงาน ผลิตตามความต้องการของกลุ่มไม่ผลิตตามความต้องการของลูกค้า ฉันเห็นข้อจำกัดของฉันที่ไม่สามารถให้ความรู้เฉพาะเรื่องได้ เส้นทางการผลิตต้องมีความรู้และทักษะหลาย ๆ อย่างมาประกอบกัน ฉันมองเห็นแต่ฉันคิดไม่ออกว่าจะต้องทำอย่างไร เครือข่ายเพื่อนฉันมีแต่ผู้นำเกษตรกร ข้าราชการเกษียณ และ NGO หลาย ๆ คนก็น่าจะตกอยู่ในวังวนแบบเดียวกัน สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นสาเหตุให้ “ชุมชนเข้มแข็ง” เกิดขึ้นน้อย เป็นคำถามที่ NGO กลายพันธุ์อย่างฉันถามตัวเองมาตลอด

คำถามเริ่มมีคำตอบเมื่อฉันได้ร่วมงานกับมูลนิธิสัมมาชีพในโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งบริษัท เป็นการทำงานร่วมกับบริษัทเอกชนครั้งแรก ขณะนั้นทำงานร่วมกับโรงงานน้ำตาลมิตรผล โดยมีพื้นที่รับผิดชอบ ต.แจงงาม
อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี ดำเนินงานตามแนวทางของมูลนิธิสัมมาชีพคือ “การใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง” โรงงานน้ำตาลมิตรผล จ.สุพรรณบุรี ให้ความสำคัญกับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย จึงค้นหาแนวทางพัฒนาให้เกษตรกรมีรายได้เสริมภายหลังการปลูกอ้อย ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่าน Model ความสำเร็จเพื่อยกระดับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ได้แก่

  1. ส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องหลุมพอเพียง โดยที่โรงงานน้ำตาลพากลุ่มเกษตรกรไปศึกษาดูงานและให้นำความรู้มาประยุกต์ใช้และลงมือปฏิบัติในพื้นที่ตนเอง 2 รูปแบบ แบ่งพื้นที่ปลูกอ้อยมาทำหลุมพอเพียง หรือ ปลูกอยู่ปลูกกินในครัวเรือน
  2. ส่งเสริมการจัดเก็บข้อมูลบัญชีครัวเรือน จัดเวทีเรียนรู้และวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกัน ส่งผลให้เกิดแผนแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ แผนแก้ไขปัญหาไฟไหม้อ้อย (แผนแนวกันไฟ) แผนแก้ไขปัญหาไฟฟ้าตก(สำหรับหมู่ที่ใช้น้ำบาดาล)

 

.   

นี่เป็น 2 ประเด็นหลักที่โรงงานน้ำตาลมิตรผลได้ขับเคลื่อนงานพัฒนาร่วมกับมูลนิธิสัมมาชีพ ส่งผลให้เกิดคุณประโยชน์กับชุมชนทั้งด้านอาชีพ ด้านรายได้ และที่สำคัญได้สร้างนักพัฒนาในระดับท้องถิ่นที่เป็นนักพัฒนาโดยธรรมชาติส่งผลให้เกิดความยั่งยืนถึงแม้ว่ามูลนิธิสัมมาชีพจะยุติการทำงานพัฒนาในพื้นที่แล้ว ความร่วมมือในระยะเวลา 1 ปี มิไช่แต่จะมีแค่โรงงานน้ำตาลมิตรผลเท่านั้น ยังมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมหนุนเสริมการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน ต. แจงงาม ทำให้ปัญหาต่าง ๆ ได้รับการแก้ไขภายใต้ภาคีที่เข้าร่วมกระบวนการทั้งท้องที่ ท้องถิ่น ส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ ทำให้เกิดการบรรจุเป็นแผนการดำเนินงานของแต่ละองค์กรอย่างสอดรับกันซึ่งส่งผลให้เกิดประโยชน์กับชุมชนโดยตรง ได้แก่

  1. การแก้ไขปัญหาไฟฟ้าตก โดยที่การไฟฟ้าอำเภอหนองหญ้าไซวางแผนแก้ไขปัญหาร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลแจงงาม ได้ติดตั้งหม้อแปลงเพิ่มทำให้เกษตรกรมีกระแสไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอกับการสูบน้ำบาดาลมาใช้รดอ้อย ทำให้เกษตรกรมีผลผลิตและมีรายได้เพิ่ม
  2. การมีรายได้เพิ่มจากการทำหลุมพอเพียง ทำให้มีผักและผลไม้ปลอดสารพิษรับประทานในครัวเรือน อีกทั้งยังเหลือขายให้กับคนทั้งในและนอกหมู่บ้าน
  3. ได้ติดอาวุธทางปัญญาให้กับผู้นำชุมชน มีการอบรมและพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่องโดยโรงงานน้ำตาลมิตรผล ทำให้เกิดกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ การทำอาชีพเสริม ควบคู่ไปกับพัฒนาด้านการปลูกอ้อย

   

แนวทางการทำงานพัฒนาของมูลนิธิสัมมาชีพที่มุ่งเน้นการทำงาน “ข้ามภาคส่วน” สามารถสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนโดยตรง ภาคเอกชนมีจุดแข็งเรื่องความรู้ที่ทันสมัย มีทุน มีบุคลากรที่มีศักยภาพ สามารถนำใช้จุดแข็งดังกล่าวหนุนเสริมชุมชนได้ ซึ่งการดำเนินงานต้องเป็นลำดับขั้นตอนและใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี ผลที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ตอบโจทย์องค์กรภาคเอกชนเรื่องผลประกอบการ แต่ตอบโจทย์การทำงานพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) สามารถนำผลลัพธ์เทียบเคียงหรือนำไปใช้ตอบโจทย์ของระบบธุรกิจได้ ซึ่งองค์กรภาคเอกชนต้องยึดถือปฏิบัติเพื่อก้าวไปสู่สังคมธุรกิจที่มีการแบ่งปัน

การทำงาน “ข้ามภาคส่วน” คือ คำตอบที่ทำให้ฉันเห็นช่องท่างที่จะส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็งได้ แต่จะจริงหรือไม่หรือจะสร้างความยั่งยืนได้หรือเปล่าต้องเรียนรู้ต่อไป เพื่อหาคำตอบที่ถูกที่สุดหรือใกล้เคียงที่สุด เพราะฉันจะนำความรู้ไปถ่ายทอดเมื่อฉันไปทำศูนย์เรียนรู้ของตัวเอง ฉันต้องทดลองปฏิบัติเพื่อให้เกิดประสบการณ์และเรียนรู้วิธีการแก้ไขปัญหา นี่คือเส้นทางการทำงานของฉัน ฉันอยากมีส่วนช่วยสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ และทุก ๆ คนก็ร่วมกันสร้างได้ ผลจากการที่ฉันได้เรียนรู้หลักการและแนวทางการทำงานของมูลนิธิสัมมาชีพ ทำให้ฉันคิดใหม่และค่อย ๆ ลงมือปฏิบัติในการสร้างศูนย์เรียนรู้ของตัวเอง จะเป็นเรื่องเล่าเรื่องต่อไปของฉันที่อยากถ่ายทอดให้ทุกคนได้รู้เสมือนร่วมลงมือปฏิบัติไปด้วยกัน ติดตามเรื่องราวของฉันเมล็ดพันธุ์สัมมาชีพตอนต่อไปที่นี่เร็วๆนี้


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee</a

Back To Top