skip to Main Content
02-530-9204-5 sammachiv.pr@gmail.com
วิสาหกิจชุมชนเลี้ยง “จิ้งหรีด” แมลงเศรษฐกิจศักยภาพสูง

วิสาหกิจชุมชนเลี้ยง “จิ้งหรีด” แมลงเศรษฐกิจศักยภาพสูง

 

วิสาหกิจชุมชนเลี้ยง“จิ้งหรีด”

แมลงเศรษฐกิจศักยภาพสูง

 

หลังวิกฤตโควิดคลี่คลาย ประกอบกับสงครามรัสเซียกับยูเครนปะทะรุนแรงมากว่า 7 เดือน ในอนาคตอันใกล้ยังไม่มีทีท่าสงครามจะยุติ อีกทั้งยากจะคาดการณ์วิกฤตครั้งใหม่จะโถมซัดอะไรตามมาซ้ำเติม แต่ภาวะขาดแคลนอาหารส่อแนวโน้มเป็นวิกฤตใหญ่ในหลายประเทศทั่วโลกเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่าหวั่นวิตกยิ่ง

 

อีกด้านหนึ่ง จำนวนประชากรโลกในปัจจุบันอยู่ที่ 7,700 ล้านคน และคาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ. 2050 จะเพิ่มเป็น 9,700 ล้านคน และอาจเพิ่มเป็น 11,000 ล้านคนในปี ค.ศ. 2100 ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกเช่นนี้ สะท้อนถึงปัจจัยเสี่ยงจะทำให้การขาดแคลนอาหารรุนแรงขึ้นมาทับถมวิกฤตอีก ดังนั้น การเลี้ยงแมลงโดยเฉพาะ“จิ้งหรีด” ยังเป็นทางเลือกอาหารของโลก และเป็นโอกาสทองของเกษตรกรที่รวมตัวเป็น “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงจิ้งหรีด” เพื่อแปรรูปส่งออกป้อนเป็นอาหารโอชะให้ต่างประเทศได้ลิ้มรส

 

 

ตลาดจิ้งหรีดโลก

ตลาดส่งออกจิ้งหรีดของไทยมีมูลค่าประมาณปีละ 1,000 ล้านบาท โดยส่งออกในรูปแบบสด แช่เเข็ง แปรรูปทอด คั่ว ที่นิยมมากสุด คือ นำไปทำเป็นแป้งผสมอาหาร ทั้งเบเกอรี่ พาสต้า นายครรชิต สุขเสถียร รองเลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) คาดว่าในปี ค.ศ. 2023 ตลาดจิ้งหรีดโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 37,900 ล้านบาท

 

อีกอย่างในปี ค.ศ. 2024-2025 ประเทศในแถบยุโรป หรือ ตลาดอียู เริ่มเปิดตลาดแมลงครั้งแรก ทำให้แมลงกลายจะเป็นดาวเด่น รวมทั้งในหลายๆ ประเทศทั้งในเอเชีย ยุโรปและสหรัฐอเมริกา เริ่มหันมาเลี้ยงจิ้งหรีดกันมากขึ้น แต่คู่แข่งสำคัญของไทยในตลาดอาเซียน คือ ประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ดังนั้น ถ้าไม่พัฒนาระบบการเลี้ยงให้ได้มาตรฐาน GAP โอกาสจะส่งออกจิ้งหรีดไปต่างประเทศ ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามได้

 

รัฐวางยุทธศาสตร์ 5 ปีหนุนฟาร์มจิ้งหรีด

หลายหน่วยงานรัฐได้ส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดให้เป็นแมลงทางเศรษฐกิจของไทยจนประสบความสำเร็จในหลายพื้นที่ พร้อมทั้งสนับสนุนเกษตรกรรวมกลุ่มตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงจิ้งหรีด” ขึ้น โดยหวังเป็นรายได้เสริมอย่างเป็นกอบเป็นกำให้ชุมชน

 

กรณีความสำเร็จฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดแปลงใหญ่ของวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงจิ้งหรีดบ้านหนองปลาไหล  ต.หนองปลาไหล อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี ที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ให้การส่งเสริม ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก.กล่าวว่า สามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตจิ้งหรีดเป็น 3,000 กก /เดือน/กลุ่ม ราคาเฉลี่ย 130 บาท/กิโลกรัม มีรายได้กลุ่ม 390,000 บาท/เดือน ซึ่งเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ

 

  

 

ไม่เพียงเท่านั้น ส.ป.ก. ยังเล็งถึงความสำคัญของจิ้งหรีด แมลงเศรษฐกิจที่มีโอกาสทางการตลาดส่งออก จึงวางแผนปฏิบัติการ 5 ปี ช่วง พ.ศ. 2563-2567 เพื่อพัฒนาการเลี้ยงจิ้งหรีดและแปรรูป ซึ่งดร.วิณะโรจน์ ชี้ว่า ฟาร์มจิ้งหรีดต้องยกระดับการผลิตตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ทั้งนี้ใน พ.ศ. 2565 เน้นการพัฒนาไปถึงการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า เนื่องจากวิสาหกิจชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดินจำนวน 1,033 กลุ่ม และสหกรณ์การเกษตรอีกจำนวน 119 สหกรณ์ มีปัญหาการแปรรูปและการจัดการผลผลิต

 

อีกตัวเลขหนึ่งสะท้อนถึงความสำคัญของการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดในประเทศไทย ซึ่งมีข้อมูลระบุว่า เพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะปี พ.ศ. 2564 มีฟาร์มจิ้งหรีดประมาณ 25,000 ฟาร์มทั่วประเทศ แต่ที่ได้มาตรฐาน GAP มีเพียง 40-50 ราย และอยู่ในระหว่างการขอมาตรฐาน คาดว่าน่าจะมีฟาร์มจิ้งหรีดที่ได้มาตรฐาน GAP ที่สามารถส่งออกได้ประมาณมากกว่า 100 ฟาร์ม

 

อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงจิ้งหรีดส่วนใหญ่ อยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีกำลังการผลิตสูงถึง 7,500 ตันต่อปี โดยเกษตรกรนิยมเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมเนื่องจากใช้พื้นที่น้อย เลี้ยงง่าย  ใช้น้ำน้อย ใช้เงินลงทุนต่ำ สามารถเลี้ยงได้ทุกเพศทุกวัยทั้งเด็กและผู้สูงอายุ โดยจิ้งหรีดที่นิยมเลี้ยงเชิงพาณิชย์มี 3 สายพันธุ์ คือ สะดิ้ง ทองดำ ทองแดง เพราะเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสม มีคุณภาพดี โปรตีนสูง โดยแหล่งจำหน่ายใหญ่ คือ ตลาดโรงเกลือ และส่งโรงงานแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น

 

สิ่งสำคัญจิ้งหรีดจากไทยเป็นที่นิยมของตลาดยุโรป เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง กระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า อาทิ Snack food รสชาติต่าง ๆ ทั้งรสต้มยำ รสวาซาบิ และจิ้งหรีดชนิดโปรตีนผงเพื่อนำไปแปรรูปเป็นเค้ก และคุกกี้ แต่การส่งออกจิ้งหรีดจากไทยไปสหภาพยุโรป ต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดเงื่อนไข โดยเฉพาะมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ซึ่ง ดร.วิณะโรจน์ เห็นว่า เกษตรกรที่สนใจตลาดส่งออกต้องเข้าสู่ระบบ เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญในปัจจุบัน

 

นายธนาคารบุกเบิก“เปี่ยมสุขฟาร์ม”เลี้ยงจิ้งหรีด

“ณธัชพงศ์ รักศรี” นายธนาคาร และ “ธนเดช ไชยพัฒรัตนา” ลูกพี่ลูกน้องผู้ร่วมก่อตั้ง “เปี่ยมสุขฟาร์ม”จ.ชัยนาท เพื่อเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นรายได้เสริม เนื่องจากเห็นโอกาสทางการตลาดโลก หลังตระเวนหาความรู้และอบรมด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับการทำฟาร์มจิ้งหรีดส่งออก จึงสร้างโรงเรือนเลี้ยง เริ่มจากกล่องเลี้ยง 24 กล่อง มีผู้เชี่ยวชาญจาก สวทช. และกรมปศุสัตว์ เป็นที่ปรึกษา

 

ความดีใจของฟาร์มเปี่ยมสุขอยู่นำหลักวิชาและนวัตกรรมมาเป็นเครื่องมือการเลี้ยงจนเกิดผลผลิตจิ้งหรีดเพิ่มมากขึ้น จากที่เคยเลี้ยงได้ไม่ถึง 2 กก./กล่อง สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงได้ 25-30 กก./กล่อง และได้มากสุดถึง 40 กก./กล่อง นอกจากนี้ยังได้พัฒนาฟาร์มผ่านการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด (GAP) และมาตรฐานเกษตรปลอดภัย (Q) ซึ่งเป็นใบเบิกทางสำคัญสำหรับการผลิตเพื่อส่งออก เพราะมาตรฐานจะทำให้ฟาร์มอยู่ได้ ไปต่อได้และเติบโต

 

ปัจจุบันเปี่ยมสุขฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดอยู่ 2 ชนิด คือ จิ้งหรีดทองดำ ทองแดง และสะดิ้ง (จิ้งหรีดตัวเล็กสีน้ำตาลอ่อน) ในส่วนของทองดำ ทองแดง ได้ทดลองนำไปแปรรูปเป็นจิ้งหรีดทอดกรอบกับโรงงานที่ได้มาตรฐาน อย., GMP Codex (Insect). HACCP เพื่อทดสอบตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้แบรนด์ Bug Hero ส่วนสะดิ้งจะส่งไปโรงงานแปรรูปทำผงโปรตีนส่งขายต่างประเทศ เพื่อนำไปบริโภคและเป็นส่วนผสมของอาหาร base food เพื่อเพิ่มคุณค่าโปรตีน ปัจจุบันปริมาณความต้องการสินค้าสูงถึง 12 ตัน/รอบการผลิต แต่ยังผลิตได้ 3-4 ตัน/รอบการผลิต

 

 

นวัตกรรมยกระดับการเลี้ยง

กว่า 3 ปีที่ทั้งคนทั้งสองทำฟาร์มจิ้งหรีดอย่างจริงจังบนพื้นฐานความรู้ทางวิชาการ เรียนรู้และลงมือทำ ปรับเปลี่ยนและแก้ไขเพื่อพัฒนาระบบการเลี้ยงให้ได้ประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แม้ปัจจุบันจะมีผลผลิตจำหน่ายได้แล้วและฟาร์มเป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่ทั้งคู่มองว่ายังต้องพัฒนาอีกหลายเรื่องโดยเฉพาะกระบวนการหลังการเก็บผลผลิตที่ยังใช้แรงงานคนเป็นหลัก

 

 

ปัจจุบันเปี่ยมสุขฟาร์มมีโรงเรือนเลี้ยงจิ้งหรีดแบบปิด 2 โรง มีกล่องเลี้ยงรวม 208 กล่อง มีเจ้าหน้าที่ดูแลหลัก 2 คน โดยติดตั้งกล้องวงจรปิดในกล่องเลี้ยง เพื่อสังเกตพฤติกรรมของแมลงแบบ real time รวมทั้งติดตั้งระบบตรวจวัดอุณหภูมิและความชื้นภายในโรงเรือน (weather station) สามารถดูข้อมูลเรียลไทม์ผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม สวทช. พัฒนาระบบและอุปกรณ์เก็บข้อมูลอุณหภูมิกล่องเลี้ยงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในแต่ละรอบ ซึ่งแสดงถึงให้ความสำคัญทั้งในด้านการผลิต มาตรฐานผลิตภัณฑ์ และการสร้างโอกาสในการแข่งขันเพื่อยกระดับสู่กรีนพรีเมี่ยมและก้าวสู่อุตสาหกรรม BCG ที่เป็นนโยบายในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรคุณภาพสู่ความยั่งยืนของกระทรวงอุตสาหกรรม

 

นอกจากทำฟาร์มจิ้งหรีดให้ได้มาตรฐาน GAP แล้ว ทั้ง “ณธัชพงศ์ และ ธนเดช” ยังให้ความสำคัญเรื่องการจัดการของเหลือทิ้งในฟาร์มแบบ Zero Waste  โดยนำกากเศษอาหาร มูลจิ้งหรีด เศษผักในฟาร์มมาเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย (หนอนทหารเสือ) หรือหนอน BSF ก่อนนำหนอนไปเป็นอาหารปลาและอาหารไก่ไข่ เศษขยะที่เหลือนำไปทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพบำรุงพืชผักในฟาร์ม นอกจากนี้ยังเพาะเลี้ยงแหนแดงไมโครฟิลล่า เพื่อใช้เป็นอาหารของจิ้งหรีด

 

     

 

สิ่งสำคัญ ทั้งสองได้รวมกลุ่มสมาชิกจัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนเปี่ยมสุขฟาร์ม” โดยมี “ธนเดช” เป็นประธานฯ ผลผลิตของกลุ่มฯ นอกจากมะนาวและจิ้งหรีด ยังมีพืชผักปลอดภัยจากสมาชิกกลุ่มฯ จำหน่ายในตลาดชุมชน และมีแนวทางส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดให้ชาวบ้าน โดยใช้พื้นที่ในฟาร์มเปี่ยมสุขเพื่อควบคุมภาพการผลิตให้ได้ตามมาตรฐาน ขณะเดียวกันที่นี่ยังเป็นศูนย์เรียนรู้ที่พร้อมถ่ายทอดประสบการณ์การเลี้ยงจิ้งหรีดให้ผู้สนใจ

 


ติดตามมูลนิธิสัมมาชีพได้ที่

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

https://www.instagram.com/sammachiv/

Back To Top