skip to Main Content
02-530-9204-5 sammachiv.pr@gmail.com
บทบาทมูลนิธิสัมมาชีพ มุ่งมั่นทางสายกลาง สร้างแผ่นดินศานติสุข

บทบาทมูลนิธิสัมมาชีพ มุ่งมั่นทางสายกลาง สร้างแผ่นดินศานติสุข

บทบาทมูลนิธิสัมมาชีพ

มุ่งมั่นทางสายกลาง

สร้างแผ่นดินศานติสุข

 

มูลนิธิสัมมาชีพก่อตั้งมากว่า 12 ปี ในทุกปีมีภารกิจสำคัญคือ จัดอบรมหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (LFC) และปี 2565 เพิ่งอบรม LFC รุ่น 12 จบไปหมาดๆ เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมี “ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี” มาปาฐกถาหัวข้อ “บทบาทมูลนิธิสัมมาชีพในการสร้างแผ่นดินศานติสุข”

 

นายแพทย์ประเวศ วะสี เป็นบุคคลสำคัญ ได้รวบรวมกำลังปัญญาจากทุกภาคส่วน ราชการ นักธุรกิจ นักวิชาการมาบุกเบิกตั้งกองทัพสัมมาชีพขึ้นเมื่อช่วง 12 ปีก่อน อีกทั้งยังเป็นผู้ออกแบบแนวทางภารกิจให้เดินไปสู่เป้าหมายสร้างแผ่นดินศานติสุขด้วยเครื่องมือ “สัมมาชีพเต็มพื้นที่”ขึ้นทั่วผืนดินไทย

 

ความมั่นใจกับเป้าหมายแผ่นดินศานติสุขจะบังเกิดขึ้นในไม่ช้าก็เร็ว  “นายแพทย์ประเวศ วะสี” เชื่อว่า ถ้าขุมพลังของมูลนิธิฯ ยึดมั่นเดินไปบนทางสายกลาง ไม่เป็นปฏิปักษ์กับใคร แล้วเป็นแกนเชื่อมโยงผู้คนในสังคมทุกภาคส่วนมาร่วมสนับสนุน ลงแรงสร้างสัมมาชีพเต็มที่เพื่อถักทอชุมชนให้อยู่เย็นเป็นสุขแล้ว ความใฝ่ฝันเห็นแผ่นดินศานติสุข ย่อมก่อรูปขึ้นในอนาคตดังความตั้งใจได้ไม่ยากเย็นแสนเข็ญเกินไป

 

แล้วบทบาทมูลนิธิฯในทางสายกลางที่เป็นแกนเชื่อมนำพาผู้คนไปสู่ทางสายวัฒนะ ทางแห่งปัญญาเป็นเช่นไร และสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ได้อย่างไร เพราะสัมมาชีพเต็มพื้นที่คือแผ่นดินศานติสุข เป็นแผ่นดินที่ไม่มีใครสร้างได้สำเร็จ แต่ “นายแพทย์ประเวศ วะสี” มั่นใจว่า สัมมาชีพทำได้ โดยคำปาฐกถาในวันนั้น ได้ชี้ช่องไขความกระจ่างในภารกิจอันทรงคุณค่าให้เห็นเป็นรูปธรรม จึงนำเสนอรายละเอียดมาเน้นย้ำวิถีทางสายกลางปัดความสุดโต่งทิ้งกันอีกครั้ง ดังเนื้อหาด้านล่างนี้……….

 

 

ใฝ่ฝันถึงแผ่นดินร่มเย็นเป็นสุขและยึดศีลธรรม

มูลนิธิสัมมาชีพ (มสช.) ตั้งขึ้นด้วยความมุ่งหมายใหญ่มาก คือ ตั้งใจให้เป็นเครื่องมือสร้างแผ่นดินศาสนติสุขบนแผ่นดินไทย เพราะคิดจากฐานความรู้ว่า ถ้ามีสัมมาชีพเต็มพื้นที่แล้วจะเกิดความร่มเย็นเป็นสุขและศีลธรรม ซึ่งทำไม่สำเร็จด้วยวิธีการอื่น แม้จะพัฒนาการเมือง เศรษฐกิจเท่าใดก็ทำไม่สำเร็จ และสร้างศีลธรรมไม่ได้ สร้างความอยู่เย็นเป็นสุขไม่ได้ แต่ถ้ามีสัมมาชีพเต็มพื้นที่จะสร้างความร่มเย็นเป็นสุขได้

 

มีตัวอย่างเมื่อ 50-60 ปีก่อนนี้ ที่ตำบลยกษัตร อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ชาวบ้านเล่าว่า พื้นที่เต็มไปด้วยความชั่วร้ายต่างๆ เกิดการลักขโมย มียาเสพติด ชาวบ้านติดการพนัน แก้ปัญหาอย่างไรก็ไม่หาย พระสอนศีลธรรมก็โดนชาวบ้านเอาก้อนหินขว้าง ไม่สำเร็จอีก ต่อมามีพระหนุ่มรูปหนึ่งไปเป็นเจ้าอาวาสใหม่วัดยกษัตร คือพระครูสาคร สังวรกิจ ชื่อ “ชุป” เห็นชาวบ้านยากจน จึงไม่เรี่ยไร แต่มุ่งสร้างอาชีพให้ชาวบ้าน

 

ด้วยการศึกษาอาชีพใหม่หลายอย่าง จนได้ข้อสรุปว่า พื้นที่น่าจะเหมาะกับการปลูกมะพร้าว แล้วไปศึกษาจนชำนาญและมาสอนชาวบ้านในเรื่องปลูกมะพร้าว ทำน้ำตาลขาย ชาวบ้านทุกคนมีรายได้วันละ 200-400 บาทต่อคน จนทำให้ความชั่วหายไปหมด ไม่มีลักขโมย ไม่มีการพนัน ไม่มียาเสพติด ซึ่งเกิดจากความบีบคั้นจากความยากจน แต่เมื่อชาวบ้านมีรายได้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี จึงไม่มีใครอยากลักขโมย ไม่เล่นการพนัน และไม่เกิดความเครียดจากยาเสพติด

 

เมื่อชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น ความเจ็บป่วยจึงน้อยลง เกิดความอยู่เย็นเป็นสุข มีศีลธรรม และเมื่อมูลนิธิสัมมาชีพจะไปสนับสนุน นายอำเภอก็ดีใจ กรมการปกครองก็ดีใจ ถือมูลนิธิฯเป็นกัลยาณมิตร กรรมการมูลนิธิไปทำงานกับนายอำเภอ จะอำเภอเดียวหรือหลายอำเภอก็ได้ไม่มีความลำบากอะไร เพราะที่อำเภอมีระเบียบ พชอ. (พัฒนาคุณภาพชีวิต) เป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีออกมาได้ประมาณ 3-4 ปี เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ มีจัดแบ่งโครงสร้างทำงานหลายฝ่าย และมีนายอำเภอเป็นประธาน แล้วกรรมการมูลนิธิฯไปร่วมสนับสนุนกับนายอำเภอ

 

อีกทั้งยังมี อสม.-มสช. (อาสาสมัครมูลนิธิสัมมาชีพ) ซึ่งเป็นใครได้ ไม่ว่าจะเป็น นักศึกษา ข้าราชการเกษียณ พระ และยังมีคลังสมองมูลนิธิพัฒนาไทยดูแลอยู่ก็เข้ามาร่วมในการทำงาน นอกจากนี้มีกลุ่ม “วายอี” (Young Entrepreneur-YE) ซึ่งเป็นลูกหลานนักธุรกิจอยู่ในทุกจังหวัด มีการศึกษาดี ไม่มีปัญหาการครองชีพ กลุ่มนี้มีประมาณ 6,000 คนมาเป็น อสม.-มสช. ต้องการทำงานเพื่อส่วนรวม

 

ทาง“สายกลาง”มากผู้นำธรรมชาติ

“มูลนิธิสัมมาชีพไม่ได้เล่นการเมือง แต่ใช้ทางสายกลางเป็นมิตรกับทุกฝ่าย ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อใคร จึงเป็นจุดร่วมว่า เรามี อสม.-มสช., พชอ. แล้วติดแถบตราเครื่องหมายบนไหล่เสื้อให้โก้ไปเลย แล้วไปทำงานในพื้นที่แต่ละอำเภอ จะกี่คนก็ว่ากันไป จะ 10 คน 20 คน แล้วมาร่วมขบวนการชุมชนจะได้เรียนรู้กระบวนการ และได้พบเจอผู้นำชุมชน 50 คนต่อหมู่บ้าน, 500 คนต่อตำบล คนเหล่านี้เป็นคนเก่งและเป็นคนดี จะมีลักษณะคุณสมบัติ 5 ประการของผู้นำตามธรรมชาติ คือ  1. เห็นต่อส่วนรวม 2. สุจริต 3. รอบรู้คือมีปัญญา 4. เป็นนักสื่อสาร และ 5. เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป”

 

“ลองนึกภาพดู ผู้นำประเภทอื่นโดยการแต่งตั้ง เลือกตั้งไม่แน่ว่าจะมีคุณสมบัติ 5 อย่างนี้ ไม่แน่ว่าจะเห็นแก่ส่วนรวม ไม่แน่ว่าจะสุจริต ไม่แน่ว่าจะมีปัญญา แต่ผู้นำตามธรรมชาติ เขามีตรงนี้โดยธรรมชาติ จึงเป็นผู้นำตามธรรมชาติ แล้วมีถึงหมู่บ้่านละ 50 คน ตำบลละ 500 อำเภอละ 5,000 ทั่วประเทศ 80,000 หมู่บ้าน จึงมีผู้นำธรรมชาติถึง 4 ล้านคน ซึ่งเป็นการเชื่อมคนระหว่างข้างบนกับข้างล่างกันของมูลนิธิสัมมาชีพ”

 

“ดังนั้นภารกิจของมูลนิธิฯจะยิ่งใหญ่มาก เพราะการพัฒนาคือการเชื่อมโยง ถ้าไปชำแหละเป็นส่วนๆ เหมือนชำแหละโค สุกร ออกเป็นส่วนๆ มันหมดชีวิต และการพัฒนาทั่วโลกเป็นการชำแหละเป็นส่วนๆ ทั้งนั้น จึงไม่ได้ผลและเกิดความเสียสมดุลไปหมด”

 

“ตรงจุดนี้ ถ้ามีความศรัทธา ก็จะมีอาสาสมัครของมูลนิธิฯ ไปทำเรียกได้ว่าทุกอำเภอ เป็นกองทัพอาสาสมัครได้เลย ท่านสมพล เกียรติไพบูลย์ อยู่ในฐานะที่ดีมาก เพราะเป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์มาก่อน เป็นข้าราชการ รู้จักภาคเอกชนทั้งหมด ซึ่งภาคธุรกิจเอกชนเป็นภาคที่แข็งแรงที่สุด ดังนั้น ท่านสมพลและกรรมการ ได้คุยกับนักธุรกิจ ตั้งโครงการภาคธุรกิจสนับสนุนการสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เขารู้สึกมีเกียรติว่า มีส่วนสนับสนุนการสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ จึงเป็นความภูมิใจของเขาเลย เขาจะดีใจมาก”

 

“ท่านสมพล ชำนาญอยู่แล้วกับการคุยกับภาคธุรกิจให้เข้าร่วมด้วยการสนับสนุนทุน หรือนำคนของภาคธุรกิจมาเป็นอาสาสมัครร่วมทำงานในพื้นที่เลย เหมือนคนของคุณอิสระ (อิสระ ว่องกุศลกิจ) บริษัทมิตรผล มีเจ้าหน้าที่ของบริษัท 10 คนไปทำงานชุมชน ตรงนี้ถ้าจะดีต้องสร้างคุณค่าของการสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่”

 

สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่-สร้างแผ่นดินศานติสุข

ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น มสช.ใช้แนวคิดทางสายกลางซึ่งสำคัญ ถ้าแนวคิดผิด ก็ไปสู่ความหายนะ ถ้าแนวคิดถูกก็ไปสู่ความวัฒนะ จึงเป็นทางแยกว่า จะไปทางหายนะหรือวัฒนะ โดยแนวคิดทางสายกลางเป็นแนวคิดของพระพุทธเจ้า ไม่คิดเป็นปฏิปักษ์ต่อใคร ไม่แยกข้างแยกขั้ว ไม่สุดโต่ง แต่ทางสายกลางเป็นทางสายปัญญา เป็นทางสายใหม่ ใช้ไมตรีจิตการอยู่ร่วมกันเพื่อสร้างแผ่นดินศานติสุข สิ่งนี้ไม่มีใครทำได้เลย รัฐบาล หรือพรรคการเมืองก็ทำไม่ได้ โดยงานนี้ มสช.จะดึงหน่วยราชการไปร่วมงานพัฒนากับภาคีต่างๆแล้วเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน

 

“เมื่อไปทำงานในพื้นที่ของทุกฝ่ายนั้น เครื่องมือคือการเรียนรู้ร่วมกันกับการปฏิบัติในสถานการณ์จริงที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Interactive Learning Through Action (กระบวนการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ) อยากให้สนใจตรงนี้เป็นพิเศษ ผมพูดมาหลายสิบปีแล้ว ตอนนี้จะได้ผลแล้วละ”

 

“ขณะนี้ระบบสังคมไม่เหมือนโบราณที่เป็นเส้นตรงเข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา แต่ตอนนี้เป็นระบบสังคมซับซ้อน (complexity system) เราไม่รู้ว่าศัตรูเป็นใคร ทำไมเศรษฐกิจแย่ ตกต่ำ เกิดเงินเฟ้อ ซึ่งระบบที่ซับซ้อนนั้นอำนาจใช้ไม่ได้ผล ความรู้ การวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่ได้ผล การใช้ความรู้สำเร็จรูปก็ไม่ได้ผล เพราะเรื่องซับซ้อนยากเกิน จึงต้องเรียนรู้ในการปฎิบัติร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด”

 

“มาถึงจุดนี้ ผมเชื่อว่า หลังจบการบรรยายนี้ กรรมการทั้งหมด นักศึกษาทั้งหมด คนเกี่ยวข้องทั้งหมดจะลุกฮือขึ้น เห็นทางไปอย่างกระจ่าง ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพดี อายุยืน มีสติปัญญา ช่วยกันเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นแผ่นดินศานติสุขด้วยการมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่”

 

ฟังปาฐกถา​ฉบับเต็ม​กัน​ที่

 


ติดตามมูลนิธิสัมมาชีพได้ที่

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedeehttps:

//www.youtube.com/user/RightLivelihoods

Back To Top