skip to Main Content
02-530-9204-5 sammachiv.pr@gmail.com
บทเรียนรัฐรับมือโควิด-19 ระลอกสาม

บทเรียนรัฐรับมือโควิด-19 ระลอกสาม

 

บทเรียนรัฐรับมือโควิด-19 ระลอกสาม

……………………………………..

 

“วิศรุต สินพงศพร” รายงานบทความเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ลงในเพจ “WorkpointTODAY” ไว้อย่างน่าสนใจ “สัมมาชีพ”จึงนำเสนอไว้เป็นบทเรียนให้ศึกษาอีกครั้ง โดยถือวิสาสะเปลี่ยนชื่อบทความใหม่ (ดังกล่าว) ตามที่คิดเอาเองว่า สมควรและเหมาะสม

 

ในเวลานี้ เราใช้คำว่า “วิกฤติ” ได้เต็มปากแล้ว ยอดคนติดเชื้อ 2,839 คนในวันเดียว (24 เม.ย.64) เป็นตัวเลขที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยได้จริงๆ

ในหลายๆประเทศ ถ้ามีการบริหารจัดการได้ดี พอถึงจุดพีกแล้ว ตัวเลขก็จะลดลงเรื่อยๆ สิงคโปร์ ติดเชื้อสูงสุดไม่เคยเกิน 1,426 คนต่อวัน เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ ไม่เคยติดเชื้อเกิน 1,241 คนต่อวัน ส่วนที่ไทย เราตอบไม่ได้จริงๆ ว่าตัวเลขสองพันกว่าๆ มันพีกแล้วหรือยัง แต่มีแนวโน้มว่า จะเพิ่มขึ้นไปไกลกว่านี้อีกเยอะ

 

โควิดรอบนี้หนักกว่าทุกครั้ง บรรยากาศเต็มไปด้วยความหดหู่ ภาคเศรษฐกิจกำลังมีทีท่าว่าจะฟื้นตัวเหมือนโดนหมัดน็อกให้ร่วงไปอีกรอบ ผู้คนหวาดวิตกจนไม่อยากออกจากบ้าน ขณะที่เรื่องการจัดหาวัคซีนก็ดูยากลำบากเหลือเกิน เช่นเดียวกับเรื่องการดูแลผู้ป่วยในประเทศ ก็มีดราม่าให้ได้ตำหนิกันทุกวัน ว่ากันตรงๆ คือมองหาแสงสว่างได้น้อยมากๆ

 

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องราวแย่ๆ เกี่ยวกับโควิด-19 ก็เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ทบทวนถึงจุดอ่อนบางอย่างที่เกิดขึ้นกับภาครัฐ และอนาคตถ้าเกิดภัยพิบัติแบบนี้อีก เราอาจใช้มันเป็นประสบการณ์ เพื่อที่จะรับมือกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น

 

รัฐเตรียมแผนรับมือช้า-ปล่อยประชาชนดูแลกันเอง

ภาครัฐทำได้ดีในส่วนของการรับมือกับโควิด-19 ในช่วงแรก ในเดือนเมษายน 2563 ไทยมีผู้ติดเชื้อต่อวันแค่ “หลักหน่วย” เท่านั้น แต่ปัญหาคือภาครัฐไม่ได้คิดถึง Worst Case Scenario ว่า ถ้าเกิดการระบาดใหญ่จริงๆขึ้นมาในอนาคตแล้วเราจะรับมืออย่างไร คือมั่นใจว่าประชาชนจะช่วยกันดูแลตัวเองจนปลอดภัยจนถึงวันที่ได้วัคซีนมา

 

แต่ความจริงคือ คนไทยมี 66 ล้านคน มันเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะปกป้องตัวเองกันได้ตลอดไป ถึงจุดหนึ่งก็ต้องมีรูรั่วกันให้เห็น ดังนั้นหน้าที่ของรัฐตั้งแต่แรก คือคิดถึงสถานการณ์เลวร้ายที่สุด ว่าถ้าเกิดการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง แล้วจะรับมืออย่างไรต่างหาก แต่สิ่งที่เห็น ไทยเราไม่มีการเตรียมตัวใดๆเลย แก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันวันต่อวัน โดนประชาชนด่าที ก็แก้ปัญหาตรงนั้นที

 

ที่สหรัฐอเมริกา ทำเนียบขาวได้เขียนคู่มือ 1 ฉบับ ชื่อ “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ สำหรับการตอบสนอง โควิด-19 และการเตรียมการสำหรับโรคระบาดใหญ่”  นี่เป็นคู่มือความยาว 200 หน้า วางเป้าหมาย 7 ข้อ เพื่อการเอาชนะโควิดอย่างเด็ดขาด โดยในคู่มือ จะบอกเลยว่าทีละสเต็ปต้องทำอย่างไร หน่วยงานไหนต้องทำแบบไหน นี่ต่างหากคือหน้าที่ของรัฐ มันต้องเตรียมการรับมือให้พร้อม ไม่ใช่เอาแต่คาดหวังให้ประชาชนช่วยดูแลตัวเอง หรือเอาแต่ตอกย้ำให้ประชาชนมีจิตสำนึกต่อสังคม เพราะสุดท้ายแล้ว รัฐบาลคือคนที่ถูกเลือกมาให้ดูแลประเทศ ไม่ใช่ถูกเลือกมาเป็นอาจารย์วิชาจริยธรรม

สายด่วนโควิด ต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วน

หนึ่งในเรื่องที่รัฐไม่ได้เตรียมการเอาไว้อย่างดีพอ นั่นคือสายฮอตไลน์โควิด-19 โดยประเทศไทยเรามีสายด่วน 1668 ของกรมการแพทย์ เป็นเหมือนด่านหน้าสุดที่คนติดเชื้อ หรือส่ออาการว่าจะติดเชื้อ จะได้โอกาสพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ พูดง่ายๆคือสายด่วน 1668 เป็นเหมือนความหวังของชาวบ้าน เพราะสมมุติตัวเองติดเชื้อ ก็คงอยากรู้ว่า อาการเรารุนแรงแค่ไหน กักตัวอยู่บ้านได้ไหม หรือต้องไปรักษาที่โรงพยาบาล และ 1668 ในความรู้สึกคือ One Stop Service ที่จะประสานงานระหว่างคนไข้ กับหน่วยพยาบาลทุกๆอย่าง

 

แต่ภาพที่เราเห็นล่าสุดคือ ในระหว่างที่คนโทรมาวันละมากกว่า 3,000 สาย แต่มีเจ้าหน้าที่ 1668 คอยรับโทรศัพท์แค่ 20 คู่สาย ตามรายงานบอกว่า 1 สายใช้เวลาสนทนาประมาณ 30-40 นาที  แปลว่าถ้ารับสายแบบ 24 ชั่วโมงไม่มีพักผ่อน อย่างมากสุดก็รับสายได้แค่ 960 คนเท่านั้น ส่วนอีก 2,000 กว่าคนที่โทรมาก็ตกหล่นไป ประชาชนก็ไม่รู้แล้วว่าต้องทำอย่างไรต่อ ถ้าติดโควิดแล้วออกไปหาโรงพยาบาลเอง ก็เสี่ยงทำให้คนในสังคมติดเชื้อเพิ่มอีก ขนาดล่าสุดนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลองโทรเข้า 1668 เอง ยังไม่มีคนรับเลย มันโทรติดยากขนาดนั้นแหละ

 

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเราเห็นภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ 1668 ก็ต้องช็อก เพราะไม่มีคอมพิวเตอร์สำหรับบันทึกใดๆ แต่ใช้มือเขียนเพียวๆ คำถามคือ คุณก็ต้องเสียเวลาเอาที่เขียน ไปใส่ข้อมูลในคอมพิวเตอร์อีกรอบหรือเปล่า เพื่อบันทึกเป็น data เอาไว้ นี่มันเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อนหรือไม่ แล้วคือโปรเจ็กต์ระดับชาติแบบนี้ รัฐบาลจ่ายเงินซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องละ 1-2 หมื่น ให้เจ้าหน้าที่ไม่ได้หรือ ต้องให้ใช้มือจดกันเองเนี่ยนะ อย่างที่บอกไว้ว่ารัฐมีเวลาตั้งเยอะ แต่แค่เตรียมพร้อมสายฮอตไลน์ยังไม่สามารถทำได้ งบเงินกู้สาธารณสุขที่ตั้งวงเงินไว้ 45,000 ล้านบาท แบ่งมาซื้อคอมพิวเตอร์สักหน่อยก็ไม่ได้เชียวหรือ

 

ที่เกาหลีใต้ สายด่วนของเขาคือเบอร์ 1339 ในเดือนมีนาคม 2563 คนโทรเข้าฮอตไลน์บางวัน 2,000 สาย บางวัน 20,000 สาย แต่หน่วยงานที่เกาหลี จัดสรรคนได้อย่างมากพอและคีย์ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว จนสถิติการรับโทรศัพท์สูงถึง 95% มันแสดงให้เห็นว่า เมื่อคุณโทรมาแทบจะรับประกันได้เลยว่า จะได้คุยกับเจ้าหน้าที่ทุกครั้ง และรู้แนวทางในการปฏิบัติตัวว่าต้องทำอย่างไรต่อ ซึ่งนี่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกาหลีใต้ ยับยั้งโควิด-19 ไว้ได้ ไม่ให้ระบาดหนักจนเกินไป

ตัวแทนรัฐ ต้องคิดก่อนพูดให้มาก

ในยามวิกฤติสิ่งสำคัญที่สุดคือ “การสื่อสาร” ในระหว่างที่กำลังสับสน การพูดจาที่ชัดเจน ตรงประเด็น ไม่ก่อดราม่าของผู้มีอำนาจ เป็นส่วนสำคัญมากในการยับยั้งสถานการณ์คับขัน แต่สิ่งที่ฝ่ายรัฐแต่ละคนพูดออกมา มีหลายครั้งมากที่ไม่ก่อประโยชน์ให้เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ออกมากล่าวว่า “วัคซีนโควิด-19 จะมาช้าหรือเร็ว แทบไม่ได้มีผลกับคนไทย เพราะเรามีหน้ากากอนามัย-หน้ากากผ้า ในการป้องกันอนามัยส่วนตัว ไม่ต้องเจ็บจากการฉีดวัคซีน” คือใครๆก็รู้กันอยู่แล้วว่า ยิ่งวัคซีนมาเร็วเท่าไหร่ เศรษฐกิจของประเทศ ก็จะแข็งแรงเร็วเท่านั้น การที่โฆษกศบค.เอง พูดอย่างไม่ระวัง ส่งผลให้เกิดดราม่าที่ไม่ควรจะเกิด

 

นายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ก็มีดราม่าหลายครั้ง ตั้งแต่พูดว่าโคโรน่าไวรัสก็คือไข้หวัดประเภทหนึ่ง ตามด้วยไปตำหนิแพทย์ว่าไม่ระวังตัวเอง เลยติดโควิด ส่งผลให้แพทย์เสียกำลังใจอย่างมาก ยังไม่รวมถึงประกาศลั่นว่าโควิดคือโรคกระจอก และกับกรณีไปด่านายแพทย์ชญานนท์ บุญธีระเลิศ ที่ตั้งรูปโพรไฟล์เฟซบุ๊กเป็นหน้าสุนัขว่า “เห็นหน้าคนโพสต์เลยเข้าใจแล้ว ว่าหมาไม่เข้าใจคนอ่ะ” ก็เป็นประเด็นที่ถูกวิจารณ์เยอะ

 

แม้แต่นายกรัฐมนตรีก็เช่นกัน คำพูดอะไรที่ไม่จำเป็น พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องพูดก็ได้ วันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา นายกฯแถลงว่า “ประเทศไทยเราต้องชนะ เมื่อถึงยามคับขันประชาชนต้องการผู้กล้าหาญ เมื่อถึงคราวปรึกษางาน ต้องการผู้ที่ไม่พูดพล่าม ไม่พูดไร้สาระ ไม่พูดสิ่งใดที่ไม่เป็นประโยชน์ บิดเบือน ยามมีข้าวมีน้ำก็ต้องการผู้เป็นที่รัก ยามเกิดปัญหาก็ต้องการบัณฑิต” คือบทละครระบายความเจ็บปวดรวดร้าวในใจ เก็บไว้ดีกว่า หรือไม่ก็ไประบายใส่แอคกลุ่มในทวิตเตอร์ก็ได้ ลองคิดดู เราเคยเห็นสี จิ้นผิง ออกมาตัดพ้อประชาชนชาวจีนไหม คือถ้าจะออกมาพูด บอกเลยว่าจะทำอะไร 1 2 3 4 เอาเนื้อๆ สรุปความเน้นๆ แบบนั้นจะเป็นประโยชน์กว่า และตัวนายกฯ ก็จะไม่โดนแขวะด้วย

 

เข้าใจว่านายกฯ ไม่มีประสบการณ์ในฐานะนักการเมือง คือเป็นทหาร แล้วก็กระโดดมาเป็นนายกฯ ทันที จึงไม่เคยผ่านการดีเบท การปราศรัย หรือการโต้วาที ต่อหน้าสาธารณชนมาก่อน และไม่เข้าใจว่าทุกคำที่นักการเมืองพูด มันมีราคาแค่ไหน ดังนั้นหลายๆครั้งจึงพูดไปเรื่อย โดยขาดการกลั่นกรอง ซึ่งจุดนี้นายกฯ เมื่อเจ็บตัวมาหลายครั้งแล้ว ก็ควรจะเรียนรู้บ้างเช่นกัน

 

ต้องมี Backup Plan เตรียมไว้เสมอ

ในการวางกลยุทธ์ระดับชาติ จำเป็นต้องมีแผน 2 แผน 3 รองรับเอาไว้ ในกรณีที่แผน 1 ติดขัดหรือเจอปัญหา กรณีการจัดหาวัคซีน เป็นสิ่งที่อธิบายได้อย่างดี ไอเดียของรัฐ ที่จะใช้งาน AstraZeneca เพียงแบรนด์เดียว ถ้าคิดซะว่าไทยไม่เจอการระบาดรอบ 3 ประชาชนอาจจะไม่โมโหขนาดนี้ แต่เมื่อเจอการระบาดที่คาดไม่ถึง และวัคซีนก็ยังไม่มา มันก็ช่วยไม่ได้จริงๆ ที่กระแสสังคมจะเล่นงานรัฐบาลหนักแบบนั้น

 

สำหรับ AstraZeneca ที่เราบอกว่าจะได้นั้น นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นวัคซีนล็อตแรกเดือนมิถุนายน 6 ล้านโดสว่า “ตอนนี้ต้องรู้ให้แน่นอนก่อนว่า วัคซีนจะมาเมื่อไหร่ ส่งมอบครั้งเดียว 6 ล้านโดส หรือแบ่งเป็น 3 ล้านโดส 2 ครั้ง เป็นรายละเอียดที่ยังไม่ชัดเจน” มันแปลว่า ถึงวันนี้รัฐก็ยังไม่รู้เหมือนกันนั่นแหละ ว่าจะได้วัคซีนวันไหน

 

เรื่องนี้ กรณีศึกษาที่ดีคือประเทศนิวซีแลนด์ ที่เตรียมแผนการทุกทางเพื่อได้มาซึ่งวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นการอนุมัติงบประมาณให้หน่วยงานในประเทศทำการวิจัยวัคซีนขึ้นมาเอง หรือการเข้าร่วม Covax เพื่อรอวัคซีนจากส่วนรวม ขณะที่การสั่งซื้อโดยตรง นิวซีแลนด์ติดต่อกับ 4 บริษัทพร้อมกัน คือ Pfizer and BioNTech, Johnson & Johnson, AstraZeneca และ Novavax จริงอยู่ว่าแต่ละวัคซีน มีวิธีการจัดเก็บ และราคาที่แตกต่างกัน แต่นิวซีแลนด์มองว่า การเดิมพันไปกับวัคซีนเจ้าเดียว ถ้ามีปัญหาขึ้นมา มันจะลำบาก ดังนั้นต้องมีแผนสำรองเตรียมไว้ นี่ก็เป็นแนวทางที่รัฐบาลไทยสามารถนำไปใช้การได้ ถ้ามีวิกฤติครั้งใหม่ในอนาคต

 

แน่นอน มีการพูดขึ้นมาว่า ก็ไทยไม่ใช่มหาอำนาจ ไม่ได้รวยซะหน่อย แล้วเราจะไปหาวัคซีนหลายๆเจ้าได้อย่างไร แต่ถ้าไปย้อนดูนิวซีแลนด์ พวกเขาก็ไม่ใช่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกเช่นกัน แต่ทำไมเขาสามารถหาวัคซีนหลายๆแบรนด์ได้ล่ะ มันอยู่ที่วิสัยทัศน์ และความสามารถในการเจรจาของรัฐหรือเปล่า

ในสถานการณ์วิกฤติ ผู้นำต้อง Take Action

กรณีศึกษาที่น่าสนใจ คือเมื่อสัปดาห์ก่อน ประเทศญี่ปุ่นต้องการวัคซีนเพิ่มให้ประชาชน ทำให้นายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ สุงะ โทรสายตรงคุยกับอัลเบิร์ต บูล่า ซีอีโอของบริษัท Pfizer ขอซื้อวัคซีนเพิ่มอีก และได้สุดท้ายก็ดีลกันได้ ตกลงซื้อขายกันเรียบร้อย สิ่งที่เราเห็นคือ การซื้อขายวัคซีนชั่วโมงนี้ เป็นเรื่องยากมาก เพราะๆใครก็อยากได้ ดังนั้นต้องใช้คนระดับผู้นำประเทศในการคุยกับซีอีโอของบริษัทวัคซีน ภารกิจถึงจะพอลุล่วงไปได้

 

หรืออีกเคสที่ถูกพูดถึงบ่อย คือนายกรัฐมนตรีของอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู โทรศัพท์หาซีอีโอของ Pfizer ถึง 30 ครั้ง เพื่อปิดดีลวัคซีนให้ได้ ก่อนที่สุดท้ายความพยายามก็จะเป็นผล ปัจจุบันประชาชนอิสราเอลฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว จำนวน 55.3% ของทั้งประเทศ ใกล้จะพิชิตโควิด-19 เต็มที

 

อย่างไรก็ตามที่ไทย วิธีการทำงานเป็นอีกแบบ นายกฯ ตั้งคณะกรรมการเพิ่มขึ้นมาอีกชุด กว่าจะมีนัดประชุม กว่าจะสรุปความได้ว่าต้องซื้อวัคซีนเพิ่มอีก 35 ล้านโดส ก็ต้องใช้เวลา จากนั้นก็ต้องมารายงานนายกฯ อีกรอบ แล้วนายกฯ ก็สั่งให้หน่วยงานรัฐไปเร่งจัดซื้อ คือขั้นตอนมันเยอะไปหมด แล้วผู้นำประเทศของเราอยู่ตรงไหน ในยามที่ต้องใช้พาวเวอร์ของผู้นำรัฐในการเจรจาเรื่องสำคัญแบบนี้

 

เมื่อกู้เงินมาใช้ในยามวิกฤติ ก็ต้องใช้มันให้คุ้มค่า

รัฐประกาศกู้เงินไป 1 ล้านล้านบาท เพื่อเอามาใช้จ่ายในวิกฤติโควิด เงินเหล่านี้ กลายเป็นหนี้สินของประชาชนไปโดยอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นการนำมาใช้จ่ายใดๆ ก็ต้องทำด้วยความรอบคอบ และต้องมั่นใจว่าจะให้ประโยชน์กลับมาจริงๆ

 

รัฐจ่ายเงิน 2.1 แสนล้านบาท กับโครงการเราชนะ และ 37,100 ล้านบาท กับโครงการ ม.33 เรารักกัน และ 94,254 ล้านบาท กับโปรเจ็กต์การกระตุ้นการบริโภค เช่น เราเที่ยวด้วยกัน และคนละครึ่ง ก็มีคำถามว่า จะส่งผลประโยชน์กับประเทศในระยะยาวหรือไม่

 

ขณะที่งบประมาณสำหรับสาธารณสุข รัฐอนุมัติเงิน 10,132 ล้านบาท สำหรับ “การเตรียมความพร้อมสถานพยาบาล” แต่ปัจจุบันที่เราเห็น เตียงสำหรับคนไข้ติดโควิด-19 ยังมีไม่พออยู่เลย เราเห็นเคสของอาม่าที่เขตบางคอแหลม จำนวน 3 คน ที่ผ่านไปกว่า 1 สัปดาห์ ก็หาเตียงโรงพยาบาลไม่ได้ สุดท้ายอาม่าเสียชีวิตคาบ้าน 1 คน

 

หรือกรณีล่าสุด ที่คุณอัพ-กุลทรัพย์ วัฒนผล อดีตนักกีฬาอีสปอร์ตชื่อดัง ไลฟ์ในเฟซบุ๊กวันที่ 20 เมษายนว่าป่วยหนักอยู่บ้าน โทรติดต่อทุกเบอร์แล้ว โรงพยาบาลก็ไม่รับ สายด่วนก็ไม่ช่วย ไม่รู้จะไปรักษาที่ไหน สุดท้ายการช่วยเหลือก็สายเกินไป วันที่ 23 เมษายน เขาเสียชีวิต

 

คำถามคือเมื่อเรามีเวลาหลายเดือน และมีงบระดับหมื่นล้าน แต่ทำไมเรื่องการจัดสรรหาเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาล ยังมีปัญหามากขนาดนี้อีก อันนี้มันส่งผลให้คนตายกันเห็นๆเลยนะ 

 

อย่าคิดว่าทุกเรื่องเป็นการเมืองไปหมด

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยกล่าวไว้ว่า “This isn’t about politics. It’s about saving lives” หมายความว่า เมื่อเกิดสถานการณ์โควิดขึ้น ใครๆก็เป็นห่วงบ้านเมืองกันทั้งนั้น ไม่ว่าพรรคไหนก็อยากให้ประชาชนสุขภาพแข็งแรง และมีชีวิตรอด ดังนั้นไอเดียใดๆ จากคนที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับรัฐบาล ก็ไม่ได้แปลว่าเขาตั้งใจจะเลื่อยขาอีกฝ่าย เขาแค่อยากจะช่วยเท่านั้น

 

ดังนั้น ถ้าหากฝั่งรัฐบาลถูกวิจารณ์ ตำหนิ หรือให้ข้อเสนอแนะใดๆ ก็น้อมรับฟังเขาบ้าง อย่าคิดว่าเพราะพวกแกไม่ได้อยู่ฝั่งฉัน ทุกความเห็นคือจงใจทำร้าย คือมันไม่ใช่แบบนั้นหรอก เพราะอย่าลืมว่า ต่อให้มีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร สุดท้ายใครๆก็รักประเทศกันทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าคุณรักคนเดียวเสียเมื่อไหร่ และสำหรับกองเชียร์รัฐบาลก็เช่นกัน ยอมรับความจริงเถอะว่ารัฐไม่ได้ทำถูกไปทุกอย่าง ไม่จำเป็นต้องปกป้องทุกประเด็นก็ได้ อะไรที่ผิด ก็ควรตำหนิไปเลย เพื่อที่จะได้ปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น

สิ่งดีอย่างเดียวคือการเรียนรู้  

วิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นกับไทยตอนนี้ เราต้องยอมรับอย่างหนึ่ง ว่าเป็นภัยพิบัติที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นแล้ว มันแรงยิ่งกว่าต้มยำกุ้ง แรงยิ่งกว่าเหตุการณ์น้ำท่วม 2554 ทุกคนได้รับผลกระทบทั้งหมด วิถีชีวิตต้องเปลี่ยน เศรษฐกิจจมดิ่ง ไม่รู้จะคัมแบ็กกลับมาได้เมื่อไหร่

 

ในฐานะประชาชนคนไทย เราก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากจะ “ป้องกันตัวเอง” ซึ่งทุกคนก็คงทำกันอยู่แล้ว เพราะเราไม่มีทางไปเจรจาซื้อวัคซีน หรือออกนโยบายใดๆได้ จริงไหม

 

แต่เอาล่ะ ในเมื่อรัฐบาลยืนยันว่าจะอยู่ทำงานต่อ ไม่เปิดทางให้คนที่เก่งกว่าเข้ามาจัดการวิกฤติ สิ่งเดียวที่เราทำได้คือต้องกัดฟันให้กำลังใจรัฐบาลกันไป ภาวนาว่าอนาคตภาครัฐจะตัดสินใจอะไรๆ ได้ถูกต้องจนชนะใจประชาชนได้เสียที คือใจจริงหลายคนก็อยากให้รัฐบาลสยบคำวิจารณ์ต่างๆ ได้นะ ช่วยพิสูจน์ให้เห็นหน่อยเถอะ ว่าพวกคุณมีฝีมือคู่ควรกับการบริหารงานแผ่นดินจริงๆใช่ไหม

 

และสุดท้าย จะดีหรือร้าย สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เมื่อพลาดไปแล้ว มันย้อนกลับไปแก้ไขไม่ได้ก็จริง แต่มันไม่ควรถูกมองข้าม เพราะมันจะเป็นกรณีศึกษาให้คนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี

 

ในอนาคตเมื่อคนเจเนเรชั่นต่อไปก้าวขึ้นมามีอำนาจปกครองประเทศแล้ว พวกเขาจะได้เรียนรู้จากเรื่องราวที่เคยผ่านมา ได้เห็นถึงจุดอ่อนที่รัฐบาลชุดนี้ทำเอาไว้ และอะไรที่เคยผิดพลาดมาแล้ว เชื่อเถอะว่าผู้นำในยุคต่อไป ก็จะไม่ทำพลาดซ้ำเดิมเป็นครั้งที่ 2

 

 


ติดตามข้อมูลข่าวสานของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

Back To Top