skip to Main Content
02-530-9204-5 sammachiv.pr@gmail.com
บริหารอย่างไร…จึงจะยั่งยืน

บริหารอย่างไร…จึงจะยั่งยืน

ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) บรรยายในหัวข้อ “การบริหารสู่ความยั่งยืน” ในโครงการอบรมหลักสูตร ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 9 จัดโดยมูลนิธิสัมมาชีพ มีรายละเอียดน่าสนใจดังนี้

ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในวันนี้มีทิศทางที่ถูกต้องเน้นไม่แต่เพียงธุรกิจใหญ่ๆ แต่ยังลงมาระดับกลาง ระดับเล็ก จนไปถึงรากหญ้า สิ่งหนึ่งที่เราเห็นคือการพัฒนาอุตสาหกรรมเน้นความสมดุลทำให้เกิดความยั่งยืน วันนี้ทุกคนพูดถึงการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน การบริหารประเทศทำอย่างไรให้ยั่งยืน วันนี้สิ่งที่ผมจะพูดจะแบ่งออกเป็น 4 ส่วนด้วยกัน คือ

  1. ความท้าทายของโลกในปัจจุบัน
  2. กระแสโลกที่ส่งผลต่อความยั่งยืนขององค์กร
  3. แนวคิดและตัวชี้วัดความยั่งยืน
  4. กรณีศึกษาของปตท.

ข้อแรก : ความท้าทายของโลกในปัจจุบัน โลกกำลังเผชิญกับเรื่องความเปลี่ยนแปลง มีความซับซ้อนมากขึ้นในหลายมิติ มีผลต่อการบริหารจัดการทุกระดับ เราต้องพูดถึง “New Norm” แต่ไม่มี “Norm” ซึ่งผลจากความเปลี่ยนย่อมมีผลกระทบต่อการบริหารจัดการ ไม่ว่าระดับประเทศ ระดับองค์กร หรือระดับต่ำลงไปในระดับชุมชน ทำให้การบริหารจัดการต่างๆ ขององค์กรต้องเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันเราต้องอยู่กับความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความคลุมเครือ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จะอยู่กับเราตลอดไป

ยกตัวอย่างผมอยู่ในธุรกิจพลังงาน ความผันผวนคือเรื่องของราคาน้ำมัน หรือสงครามการค้า (Trade War) ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะมีความไม่นอน ความผันผวน ความกังวล เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการต่างๆ ยากขึ้นในทุกมิติ รวมไปถึงการก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะเกิดการแข่งขันที่ข้ามอุตสาหกรรม คู่แข่งเราอาจะมาจากธุรกิจที่เราไม่คาดคิดมาก่อน

ดังนั้นวิกฤตการและความท้าทายทางธุรกิจ ทำให้อายุขององค์กรต่างๆ นั้นสั้นลง ต่อไปองค์กรร้อยปีจะหายากขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงอายุการทำงานของซีอีโอก็สั้นลงด้วย ผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นก็มีแนวโน้มที่ลดลง ดังนั้นผู้ที่สามารถดำรงสถานะอยู่ได้ต้องดำเนินการให้ตัวเองมีผลตอบแทนที่ดี มีศักยภาพในการแข่งขัน

ข้อสอง : กระแสโลกในอนาคตที่ส่งผลต่อความยั่งยืนในองค์กร อีกราว 20 ปีข้างหน้า เราอาจเห็นการเพิ่มขึ้นของประชากรที่มีนัยสำคัญ ประเทศอินเดียจะแซงสหรัฐอเมริกาขึ้นเป็นเบอร์ 2 ของโลก รองจากประเทศจีนซึ่งเป็นเป็นเบอร์ 1 ความเจริญจะเปลี่ยนขั้วจากตะวันตกมาตะวันออก การผลิตโซลาร์เซลล์หรือเซลล์แสงอาทิตย์จะเข้ามามีบทบาท เทคโนโลยีจะมากขึ้น รถบินได้ คนจะไปดาวอังคาร

เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ เหล่านี้อย่างแน่นอน รวมไปภาวะโลกร้อนในอนาคตจะสร้างปัญหามหาศาลในโลกเรา สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่างๆ อยากให้ตระหนักไว้เวลาเราคิดถึงความยั่งยืนในเชิงของประเทศ ขององค์กร ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่สำคัญอันหนึ่ง ซึ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมจะต้องทำ 3 อย่างควบคู่กันไป คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

บทบาทของภาครัฐก็จะจำกัดลง ภาคประชาชนจะมีบทบาทมากขึ้นและจะนำไปสู่การกระจายอำนาจ สิ่งเหล่านี่จะเกิดขึ้น ภาครัฐสนับสนุนส่งเสริม ภาคประชาชนจะเป็นใหญ่ ลูกค้าจะยิ่งเป็นใหญ่ ความต้องการจะมากขึ้น พฤติกรรมของผู้บริโภคต้องการสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ซึ่งถ้าคนไม่ใส่ใจสิ่งเหล่านี้ ธุรกิจก็ไม่สามารถเติบโตได้ ไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนในสังคม

การพัฒนาที่ยั่งยืน คือการพัฒนาที่สามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ภายใต้ทรัพยากรที่จำกัดบนโลก การสร้างความมั่งคั่งต้องไม่กระทบกระเทือนคนรุ่นต่อไป ประเทศต้องมั่งคั่ง ยั่งยืน ไม่แสวงหาแต่ผลประโยชน์ บนความลำบากของประชาชนรอบข้าง องค์กรก็ต้องทำเป็นองค์กร 100 ปี ไม่ใช่องค์กรแค่ 10 ปี

ข้อสาม : แนวคิดและตัวชี้วัดความยั่งยืนองค์กร จากผลการสำรวจความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ องค์กรที่เป็นผู้นำในระยะยาว จะมีการกำหนดวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนเอาไว้ บริษัทจำนวนมากขึ้นกำหนดว่าผู้บริหารต้องมีความรับผิดชอบในการดำเนินการด้านความยั่งยืน ซึ่งต้องเริ่มจากการกำหนดทิศทาง            กลยุทธ์ และนำไปสู่การปฏิบัติ ฝังลึกเข้าไปในดีเอ็นเอของพนักงานจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร ดังนั้นองค์กรก็จะเดินไปสู่การทำอะไรต่างๆ ที่ผู้บริโภคต้องการ และที่โลกต้องการในอนาคต

สำหรับตัวชี้วัดเรื่องความยั่งยืนองค์กร เช่น ดัชนีหลักทรัพย์ที่ใช้ประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัท (DJSI: Dow Jones Sustainability Index) ซึ่งเป็นดัชนีแรกของโลกที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล มีความเป็นอิสระ โปร่งใส และน่าเชื่อถือมาก เน้นหนักในการประเมินสามด้านที่เรียกว่า ESG ได้แก่ การรักษาสิ่งแวดล้อม (Environment), การดูแลสังคม (Social),  การมีธรรมาภิบาลทางธุรกิจ (Governance) ซึ่งมีบริษัทไทยโดยเฉพาะบริษัทในกลุ่มปตท. ถูกจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่ม DJSI

ข้อสี่ : กรณีศึกษาปตท. จากบริษัทพลังงานแห่งชาติสู่บริษัทพลังงานข้ามชาติ โดยปตท. ได้กำหนดกรอบการลงทุนในอนาคตให้สอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาแบบยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDG) โดยมุ่งเน้นการลงทุนที่ให้สังคมและชุมชนมีส่วนร่วม (Inclusive Business) มากขึ้น โดยเฉพาะทิศทางกลยุทธ์ด้าน Treasure กลุ่มปตท. ได้ใช้แนวทาง “PTT 3D” อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับกลยุทธ์ การเป็นองค์กรแห่งความภาคภูมิใจ (Pride) โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องภายใต้ทิศทางยุทธศาสตร์ชาติสู่ไทยแลนด์ 4.0

สำหรับ แนวทาง PTT 3D ได้แก่ กลยุทธ์ Do Now คือ การมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน เพื่อสร้างรายได้และลดต้นทุนต่อเนื่อง และการเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะการนำระบบดิจิตอลมาประยุกต์ใช้ในองค์กรทุกภาคส่วนพร้อมกับการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน

กลยุทธ์ Decide Now จึงเป็นการขยายการเติบโตที่ต้องเร่งตัดสินใจ เพื่อนำไปสู่การลงทุนของธุรกิจในอนาคตให้สอดคล้องกับศักยภาพทางการเงินของกลุ่ม ปตท. โดยการขยายการลงทุนในธุรกิจหลัก การลงทุนในสายโซ่อุปทานของก๊าซธรรมชาติเหลว การลงทุนในพลังงานหมุนเวียน และการแสวงหาโอกาสลงทุนในภูมิภาคและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

ส่วนกลยุทธ์ Design Now คือการเร่งสร้างธุรกิจใหม่ให้มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดในอนาคต โดยการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ และพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ ที่ตอบสนองทิศทางโลกาภิวัฒน์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น การลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่คุณค่าด้านไฟฟ้า (Electricity Value Chain) และธุรกิจใหม่ภายใต้ห่วงโซ่คุณค่าด้านชีวภาพ (Bio-Based Value Chain) เป็นต้น

          นอกจากเป็นองค์กรที่เราอยากเห็นว่ายั่งยืนแล้ว ทำยังไงนอกจากเป็นแบรนด์สูงสุดในประเทศ ทำยังไงเราจะเป็น  Word Most of Mind Company สิ่งเหล่านี้นอกจากยั่งยืนแล้ว ยังเป็นที่ยอมรับของคนทั้งโลก เพราะฉะนั้นสามห่วงนี้ คลีน (ความสะอาด) ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

Back To Top