skip to Main Content
02-530-9204-5 sammachiv.pr@gmail.com
บางสน คน ริม เล

บางสน คน ริม เล

บางสน คน ริม เล

 

 

        บทความนี้ เป็นบทความที่ผู้เขียนตั้งใจเขียนมันขึ้นมาเป็นอย่างมาก สำหรับคนที่เล่าเรื่องไม่เก่งอย่างผู้เขียนแล้ว ก็นับว่าค่อนข้างที่จะเป็นงานยากพอสมควร แต่ทั้งนี้มันก็คงไม่ยากเกินความพยายาม หากเราได้ตั้งใจจะทำอะไรแล้ว ก็ย่อมประสบความสำเร็จอยู่เสมอ ดังสำนวนที่ว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น” 

         สำนวนนี้ยังคงใช้ได้ไม่ว่ายุคสมัยจะผ่านไปอีกกี่ปีก็ตาม เมื่อพูดถึง ‘บางสน’  แล้วหลายคนอาจจะยังไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ยินชื่อในบทความนี้จึงอยากจะมาบอกเล่าเรื่องราวถึงบางสนความทรงจำที่น่าประทับใจ ในมุมของผู้เขียนที่ไปเยือนบางสน

       สำหรับผู้เขียนแล้วคิดว่า บางสน เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากว่าชุมชนบางสน ต้องพึ่งพาธรรมชาติในการดำเนินชีวิตเป็นส่วนใหญ่ ชาวชุมชนทั้งริมคลองและริมทะเล จึงได้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ โดยคนในชุมชนนั้นมีระบบบริหารจัดการในการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติควบคู่ไปกับการดูแลรักษา เพื่อให้เกิดความยั่งยืนด้านทรัพยากร อาทิเช่น วิถีประมงพื้นบ้าน ที่เน้นในเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กลุ่มประมงพื้นบ้านได้จัดกิจกรรมการดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเล โดยการทำบ้านปลาและปลูกปะการังเทียมเพื่ออนุรักษ์พันธุ์สัตว์ทะเล มีการจัดกิจกรรมปลูกป่าชายเลน กิจกรรมเก็บขยะตามลำคลองบางสน การอนุรักษ์ปูม้าด้วยการจัดตั้งธนาคารปูม้า นอกจากนี้ชาวประมงพื้นบ้านยังมีมาตรการในการควบคุมดูแลการจับสัตว์น้ำในพื้นที่อ่าวบางสน วิถีประมงของบ้านบางสนส่วนใหญ่แล้ว ไม่ได้มุ่งเน้นในเรื่องของเศรษฐกิจมากนักเพื่อป้องกันการสูญพันธุ์ของสัตว์ทะเลและเป็นการร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์และยังยืนต่อไป

      ส่วนการท่องเที่ยวในบางสนก็ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่นักท่องเที่ยวมาแล้วจะต้องไปเยือน คือ “เขาดินสอ” สถานที่นี้เป็นยอดเขาสูงที่สุดในพื้นที่อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เนื่องจากบริเวณนี้มีดินสอพองอยู่เป็นจำนวนมากจึงได้ชื่อว่าเขาดินสอ ในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี มักจะมีนกเหยี่ยวที่อพยพหนีอากาศหนาวมาจากประเทศจีน เพื่อมุ่งหน้าลงสู่ประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย แต่ในช่วงที่ผู้เขียนไปนั้น เป็นช่วงเดือนพฤศจิกายน ทำให้พลาดชมฝูงนกเหยียวจึงเปลี่ยนเป้าหมายเป็นการชื่นชมทิวทัศน์แทน จากจุดชมวิวบนเขาดินสอนั้น เราจะมองเห็นพื้นน้ำทะเลสีฟ้ากว้างใหญ่โดยรอบมองออกไปจะเห็นเกาะเล็กเกาะน้อยอยู่มากมาย

       และอีกหนึ่งความประทับใจมากที่สุด ก็คือการได้ล่องเรือชมวิถีชีวิตของคนริมคลอง เราอาจจะไม่เห็นวิถีชีวิตมากนัก แต่เราได้เห็นถึงความเป็นธรรมชาติสองริมฝั่งคลองที่แน่นไปด้วยพันธุ์ไม้พื้นถิ่นของภาคใต้  ระหว่างทางริมคลองทั้งสองฝั่งมีต้นจากที่ขึ้นและเติบโตตามธรรมชาติเป็นทิวแถว จะพบเห็นได้ตลอดเส้นทางตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และก่อนที่เรือจะล่องออกสู่อ่าวบางสนนั้น เราจะพบกับป่าโกงกาง ในช่วงขณะที่ผู้เขียนกำลังล่องเรืออยู่นั้นเป็นเวลาที่พระอาทิตย์กำลังจะตกดิน ทำให้ลำแสงพระอาทิตย์กระทบกับใบของต้นโกงกาง จึงทำให้ดูเหมือนกับว่าใบไม้จากสีเขียวกำลังจะเปลี่ยนเป็นสีส้มอ่อน เมื่อเรือออกสู่ปากอ่าวก็จะเห็นบ้านเรือนของชาวบ้านที่มาตั้งรกรากอยู่ริมคลอง และเรือก็ขับมุ่งไปยังเกาะไข่ ซึ่งเกาะนี้เป็นเกาะที่มีขนาดเล็กมากบนเกาะไม่มีอะไรแม้กระทั่งมะพร้าวสักต้น มีเพียงแค่เปลือกหอยที่ถูกน้ำทะเลซัดมา และนกฝูงใหญ่บินมาเกาะกลุ่มกันเพื่อหาอาหาร แต่ก็เป็นสถานที่หนึ่งที่ทำให้เราได้เห็นทะเล 360 องศา หลังจากชื่นชมธรรมชาติในช่วงพระอาทิตย์ทอแสงเรียบร้อยแล้ว ก็หันหัวเรือกลับเข้ามาชื่นชมความอุดมสมบูรณ์ของริมคลองบางสน ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาพลบค่ำพอดี เพื่อมาชมสิ่งที่นับว่ามหัศจรรย์ของที่นี่ สำหรับชาวเมืองหลวงหลายๆคน นับว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่พบเจอได้ยากมาก และ หากจะนับตั้งแต่ผู้เขียนเกิดมาครั้งนี้ก็คงเป็นครั้งแรกเลยก็ว่าได้ ที่พบเจอกับฝูงหิ่งห้อยนับร้อยนับพันตัว เกาะกลุ่มกันอยู่บนต้นไม้เป็นจำนวนมาก  ในระหว่างทางไกด์ประจำเรือชี้ไปยังจุดต่างๆ ที่มีเจ้าแมลงตัวเล็กๆชนิดนี้ เกาะกลุ่มกันอยู่ตามต้นไม้ริมชายคลอง  ถึงแม้แสงของพระจันทร์ในคืนนั้นจะส่องประกายเจิดจ้าเพียงใด ก็ไม่ได้ทำให้หิ่งห้อยตัวน้อยๆ ที่สามัคคีกันแข่งขันส่องแสงสู้กับพระจันทร์นั้นลดความงดงามลงได้เลย หากย้อนเวลากลับไปในสมัยก่อนสถานที่นี้คงเป็นที่สำหรับคู่รัก เพราะช่างเป็นบรรยากาศที่ผู้เขียนคิดว่าโรแมนติกดี หิ่งห้อยนั้นถือได้ว่าเป็นสัตว์ปีกแข็งตัวเล็กๆ ที่สามารถบ่งชี้หรือแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากมาทบทวนดูแล้วก็คงไม่แปลกถ้าเราจะพบเจอหิงห้อยจำนวนมากเหล่านี้เหล่านี้อยู่ที่บางสน ดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ

     นอกจากกิจกรรมการชมธรรมชาติแล้ว ที่นี่ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอื่นๆอีกมากมาย ให้นักท่องเที่ยวได้ผ่อนคลาย หากใครชื่นชอบการเรียนรู้ ก็จะมีแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้การทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ เรียนรู้การทำผ้าลายน้ำทอง ศูนย์เรียนรู้วิถีชาวนาข้าวเหลืองปะทิว ซึ่งเป็นพันธ์ข้าวพื้นถิ่นดังเดิมของชาวอำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ที่ปัจจุบันใกล้จะสูญหายไปตามกาลเวลา เนื่องจากเกษตรกรนิยมหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจกันมากขึ้น แต่ชุมชนนี้ก็ยังอยากที่จะอนุรักษ์ไว้

     และหากใครที่ชื่นชอบการกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่นี่ก็ยังมีวัดที่ชาวบ้านนับถือ ได้แก่ วัดเขาเจดีย์ เป็น โบราณสถานสำคัญของชุมชน สันนิษฐานกันว่าวัดนี้ถูกสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ก่อนที่จะเสียกรุงให้แก่พม่า ภายในบริเวณวัดมีเจดีย์โบราณที่ถูกบูรณะปฏิสังขรณ์ เมื่อปี พุทธศักราช 2537 โดยสำนักงานศิลปากรที่ 8 นครศรีธรรมราช ด้านข้างเจดีย์นั้น มีองค์พระพุทธรูปองค์ใหญ่สูงสง่า เรียกกันว่า “พระบูรพาบรรพต”

    อีกวัดที่สำคัญคือ “วัดแหลมยาง” เนื่องจากว่า“หลวงปูเขียน สุทธสีโล” เป็นที่นับถือของชาวบ้านในพื้นที่และชุมชนใกล้เคียง ผู้คนมักจะมากราบไหว้สรีระสังขารของหลวงปู่เขียน แต่ก่อนที่จะมรณภาพท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดแหลมยาง ปัจจุบันท่านได้มรณภาพไปนานหลายปีแล้ว ร่างของท่านไม่เน่าเปื่อยจึงถูกบรรจุไว้ในโลงแก้ว นอกจากนี้เส้นผมของท่านก็ยังคงงอกอยู่เสมอ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ชาวบ้านจะมาประกอบพิธีสรงน้ำและตัดผมให้กับสรีระสังขารของหลวงปู่เขียนทุกๆ ปี

    และสถานที่หนึ่งที่ไม่ควรพลาดเลยคือ “อนุสาวรีย์เสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” หรือที่ชาวบ้านเรียกขานกันว่า “เสด็จเตี่ย” สถานที่นี้ตั้งอยู่ ณ แหลมแท่น จังหวัดชุมพร ชาวชุมพรและพื้นที่ใกล้เคียงจะเดินทางมาสักการะขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต นอกจากเรื่องการท่องเที่ยวสิ่งที่พลาดไม่ได้เมื่อมาบางสนแล้ว ก็ต้องแวะซื้อของฝากจากชุมชน โดยกลุ่มแปรรูปอาหารทะเล ซึ่งวัตถุดิบที่ได้นั้นมาจากกลุ่มประมงในชุมชนและวัตถุดิบที่มีในชุมชน สินค้าของชุมชนที่ผู้เขียนอยากจะนำเสนอคือ กะปิหน้าทับ ที่ชื่อนี้ก็เนื่องมาจากว่าสถานที่ดำเนินงานของกลุ่มแปรรูปอาหารทะเลนั้นตั้งอยู่ในเขตบ้านนาทับ กะปิของที่นี่มีความพิเศษอย่างหนึ่งคือใช้กรรมวิธีขัดน้ำ ซึ่งเป็นกรรมวิธีการทำกะปิดั้งเดิม สืบทอดกันมาตั้งแต่ยุคสมัยของบรรพบุรุษ ทำให้กะปินั้นสามารถเก็บไว้ได้นานหลายปี นอกจากนี้ยังมี “สบู่ลูกจาก” เนื่องจากบางสนนั้นมีต้นจากเป็นจำนวนมากดังที่ได้กล่าวในข้างต้น พอลูกจากแก่แล้ว ก็ไม่สามารถนำมารับประทานหรือใช้ประโยชน์อื่นๆได้ เพราะลูกจากค่อนข้างแข็ง ดังนั้น กลุ่มแปรรูปจึงมีแนวคิดที่จะเพิ่ม มูลค่าสินค้าให้แก่วัตถุดิบเหลือใช้ในชุมชน โดยการนำลูกจากเหล่านั้นมาผ่านกระบวนการแปรรูป

 

  

 

     ถึงแม้ว่าบางสนจะเป็นชุมชนเล็กๆ แต่ผู้เขียนก็อยากจะเชิญชวนผู้อ่านทุกท่านมาสร้างความทรงจำดีๆ ในที่แห่งนี้ เมื่อท่านมาแล้วท่านจะได้สัมผัสกับเสน่ห์ของธรรมชาติอันงดงามรายล้อมชุมชน ตั้งแต่ภูเขาสู่ท้องทะเล เหมือนได้มาเติมพลังให้กับชีวิตที่เหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมาตลอดทั้งปี นอกจากนี้ยังได้เห็นวิถีชีวิตของชาวบางสน ถึงแม้ว่าความเจริญหรือความศิวิไลซ์จะเริ่มย่างกรายเข้ามา แต่วิถีชุมชนก็ยังคงเดิมไม่ได้ถูกกลืนกินไปกับกาลเวลาที่ผ่านหมุนไป อีกทั้งคนบางสนยังมีวิถีชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน หากท่านที่ได้มาที่นี่แล้ว บางสนมันก็คงเป็นความทรงจำดีๆ อันน่าประทับใจและชวนให้หวนคิดคำนึงถึงวันที่เคยมาเยือนได้อย่างแน่นอน

 

เขียนโดย  จิราวดี อยู่สบาย

ไม่มีภาพกิจกรรม

ไม่มีวิดีโอ

Back To Top