skip to Main Content
02-530-9204-5 sammachiv.pr@gmail.com
ประชุมนัดแรก “กรรมการภาคีสัมพันธ์ มสช.” พร้อมสานต่องานมูลนิธิสู่สาธารณะ ชูหลักสูตร LFC แหล่งความรู้ปั้นผู้ประกอบการ – วิสาหกิจชุมชน ดันเศรษฐกิจฐานรากเติบโต

ประชุมนัดแรก “กรรมการภาคีสัมพันธ์ มสช.” พร้อมสานต่องานมูลนิธิสู่สาธารณะ ชูหลักสูตร LFC แหล่งความรู้ปั้นผู้ประกอบการ – วิสาหกิจชุมชน ดันเศรษฐกิจฐานรากเติบโต

          เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการภาคีสัมพันธ์ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2562 สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการบริหาร มูลนิธิสัมมาชีพ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2562 ที่ประชุมรับทราบและมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการภาคีสัมพันธ์ ประจำปี 2562 เพื่อให้การดำเนินงานด้านการระดมทุน หารายได้มาสนับสนุนการดำเนินงานกิจกรรม และโครงการตามแผนยุทธศาสตร์มูลนิธิสัมมาชีพ เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่วางไว้

          โดยมีอำนาจหน้าที่ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ของภาคีเครือข่ายที่ขับเคลื่อนงานร่วมกับมูลนิธิสัมมาชีพ เพื่อหารายได้สำหรับดำเนินกิจกรรมและโครงการเพื่อสังคมของมูลนิธิสัมมาชีพ และเพื่อเผยแพร่กิจการของมูลนิธิสัมมาชีพ ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ

 

          สำหรับคณะกรรมการชุดนี้ ประกอบด้วย คุณวรนุชนันท์ พงศ์สุรางค์ เป็นประธาน, คุณสุปรี เบ้าสิงห์สวย รองประธาน คนที่ 1, คุณพลอยริญญา ภัทรอิ่มอ้วน รองประธานคนที่ 2 พร้อมด้วยคณะกรรม คุณพสุ สุขุมวาท, คุณภูษิต สุนทรพันธุ์, เรือโทวารินทร์ เดชเจริญ, คุณจารินญา บุญยะหัต, คุณอัฐเมท ฤทธิศักดิ์, คุณกิตติพงษ์ เอื้อพิพัฒนากูล, คุณผดุงศักดิ์ เหล่ากิจไพศาล, คุณอธิป พุ่มพวง และคุณกรรณิการ์ รุ่งศิริมาศ เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีคุณผดุงศักดิ์ พื้นแสน เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ

          จากนั้นที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการขับเคลื่อนงาน ประจำปี 2562 อาทิ การจัดงานครบรอบ 10 ปี มูลนิธิสัมมาชีพ, งานมอบรางวัลต้นแบบสัมมาชีพ, กิจกรรมสานสัมพันธ์ศิษย์เก่าคืนสู่เหย้าชาวผู้นำ (LFC) ครั้งที่ 2, งานประสานเครือข่ายองค์กรภาคี และงานขยายผลเครือข่าย LFC เป็นต้น

          ทั้งนี้ กิจกรรมสานสัมพันธ์ศิษย์เก่าคืนสู่เหย้าชาวผู้นำ (LFC) ครั้งที่ 2 เตรียมที่จะจัดขึ้นเร็วๆ นี้ โดยจะมีการแข่งขันกีฬาเพื่อการกุศล พร้อมงานเลี้ยงแสดงความยินดีให้กับศิษย์เก่า LFC ที่ได้รับตำแหน่งสูงขึ้น อาทิ ส.ว. ส.ส. และผู้แทนเกษตรกร เป็นต้น          

          ด้านคุณวรนุชนันท์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนภาคีสัมพันธ์ในปีนี้จะต้องจับจุดให้ถูก เราจะต้องเปิดช่องทางของมูลนิธิให้เชื่อมต่อกับองค์กรหน่วยงานต่างๆ โดยอาจจะต้องปรับเนื้อหาเพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบนโยบายของหน่วยงานเหล่านั้น ซึ่งจะมีผลทำให้การประสานงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพราะมีทิศทางการทำงานไปในแนวเดียวกัน ขณะเดียวกันทางมูลนิธิจะต้องมีจุดขายที่น่าสนใจ เช่น ถ้ามีโครงการที่เข้ากับหน่วยงานนั้น โอกาสที่จะได้งบประมาณสนับสนุนก็จะสูง ดังนั้นต้องมีการวางนโยบายและแผนงานให้มีขั้นตอนและชัดเจน ซึ่งตอนนี้เริ่มต้นมาดีอยู่แล้ว แต่ว่าเราจะทำอย่างไรให้มูลนิธิฉายแสงออกมา

          คุณกิตติพงษ์ กล่าวว่า ในส่วนของงานครบรอบ 10 ปี อยากให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ชัดเจนว่าคืออะไร ตั้งแต่ 1-10 ปีผ่านมา มูลนิธิทำอะไรมาบ้าง โครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมและสามารถนำไปประชาสัมพันธ์ให้สังคมรับรู้ได้ นอกจากนี้ควรนำไปเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียให้มากขึ้น เพราะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เร็ว ขณะที่เรื่องการทำหลักสูตรปัจจุบันมีการแข่งขันกันมาก แต่หลักสูตร LFC ของมูลนิธิ ไม่แพงและมีผู้ทรงคุณวุฒิระดับระดับประเทศมาบรรยาย ตรงนี้ถือเป็นจุดขายที่ดี แต่อาจจะต้องปรับหลักสูตรให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของผู้ที่เข้ามาเรียน โดยเฉพาะเมื่อจบหลักสูตรไปแล้ว จะต้องได้แนวทางไปต่อยอดในด้านที่เขาสนใจ

          ขณะที่คุณพสุ เสนอว่า เราควรจะเน้นการทำสื่อประชาสัมพันธ์ภารกิจของมูลนิธิให้เป็นที่รู้จักยิ่งขึ้น เพื่อให้ง่ายในการเข้าไปพูดคุยกับหน่วยงาน เวลาที่ไปประสานเรื่องต่างๆ โดยอาจจะปรับปรุงเว็บไซต์ออนไลน์ หรือสื่อโซเชียลมีเดียให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น

          เช่นเดียวกับ คุณพลอยริญญา กล่าวเสริมว่า การระดมทุนเราไม่ควรใช้ความเป็นส่วนตัวเข้าไปขอการสนับสนุนเพราะจะไม่ยั่งยืน แต่มูลนิธิควรจะมีต้นแบบโครงการเพื่อสังคมที่ชัดเจน เพราะจะทำให้หน่วยงานต่างๆ สนใจเข้ามาสนับสนุนง่ายขึ้น ดังนั้นเราจะต้องพัฒนาและสร้างจุดขายให้มูลนิธิเป็นที่ยอมรับมากกว่านี้

          สอดคล้องกับ เรือโทวารินทร์ กล่าวว่า มูลนิธิต้องหาจุดขายตัวเองให้ได้ เพราะจะยั่งยืนในการทำงานมากกว่าการใช้ความรู้จักส่วนตัวไปขอให้ช่วย หรือให้เพราะความเกรงใจ เราต้องชัดเจนว่า เก่งด้านไหนอะไร เพื่อที่จะเอาโครงการของเราไปเสนอบริษัทที่มีนโยบาย CSR ตรงกัน ส่วนเรื่อง LFC ควรให้ความสำคัญหลังจากอบรมไปแล้ว เราจะจัดกิจกรรมรียูเนี่ยนแบบใดให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และหาทางทำให้หลักสูตรมีเชื่อเสียงและไม่ลืมหลักสูตร LFC เมื่อเรียนจบไปแล้ว

          ส่วนคุณสุปรี กล่าวว่า ในเรื่องของเงินงบประมาณที่ได้มานั้น ผู้ให้มักจะมีเงื่อนไขเสมอ เช่น โครงการจะต้องนำเงินไปใช้ 100 % ไม่สามารถนำมาบริหารจัดการได้ หรือบางที่ก็จะให้เป็นเงินสำหรับบริหารจัดการอย่างเดียว แต่ให้ไปคิดโครงการเอง ดังนั้นเราต้องปรับตัวให้เข้ากับเงื่อนไขให้ได้ โดยเลือกงานที่ตรงกับความเชี่ยวชาญ ซึ่งวันนี้เราต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า มูลนิธิมีจุดเด่น จุดขายอยู่ตรงไหน เรามีองค์ความรู้ทางปัญญาอะไรบ้าง ซึ่งเรามีอยู่แน่นอนและต้องหาให้เจอ โดยน่าจะเริ่มต้นที่การทำหลักสูตร LFC ให้มีจุดขายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เหมือนหลักสูตรเราจุดประกายฉายแสง ซึ่งคนที่มาเรียนมีศักยภาพกันอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ฉายแสงออกมา เช่น เมื่อเรียนจบไปแล้ว สามารถกลับไปตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้

          ด้านคุณผดุงศักดิ์ แสดงทัศนะว่า จุดอ่อนของมูลนิธิคือไม่ได้จดแจ้งเป็นที่ปรึกษา ดังนั้นจะรับงานเองไม่ได้ ต้องอาศัยหน่วยงานอื่นมาจ้างให้ทำ ซึ่งจุดนี้กำลังหาทางแก้ไขอยู่ เพื่อต่อไปมูลนิธิจะรับงานเองได้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเราพยายามจะขยายงานโดยการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยนำความสามารถของมูลนิธิไปใช้ เช่น เป็นฐานเชื่อมโยงการทำงานระหว่างชุมชนกับหน่วยงานต่างๆ

 

          สำหรับการจัดงานครบรอบ 10 ปีมูลนิธิสัมมาชีพ ที่ผ่านมาเราค้นหาตัวเองมาตลอด และพยายามปรับปรุงจนได้เป็นหลักสูตร LFC ซึ่งสมัยแรกเป็นการให้ความรู้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเองไปสู่ชุมชน ส่วนหลักสูตร LFC รุ่น 10 เราจะเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการและชุมชน เพื่อพัฒนาสร้างเศรษฐกิจฐานราก ให้ความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการ ซึ่งหลักสูตรต้องทำออกมาให้หลากหลาย มีความยืดหยุ่นสูง เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของแต่ละชุมชนได้

          ทั้งนี้ การประชุมกรรมการภาคีสัมพันธ์ จะมีทุกวันพุธที่ 2 ของเดือน เวลา 14.00 น. โดยครั้งต่อไปจะประชุมวันที่ 11 มิ.ย. 2562 เวลา 14.00 น. ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.)

Back To Top