skip to Main Content
02-530-9204-5 sammachiv.pr@gmail.com
ปรับมาตรการ 8 จ.ท่องเที่ยว เปิดร้านดื่มเหล้าไม่เกิน 3 ทุ่ม

ปรับมาตรการ 8 จ.ท่องเที่ยว เปิดร้านดื่มเหล้าไม่เกิน 3 ทุ่ม

ปรับมาตรการ 8 จ.ท่องเที่ยว เปิดร้านดื่มเหล้าไม่เกิน 3 ทุ่ม

หลังเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ 2565 เชื้อโควิดกลับมาระบาดระลอกใหม่และแพร่ขยายสายพันธุ์ “โอมิครอน”อย่างรวดเร็ว โดยตั้งแต่ 3-5 ม.ค.พบผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 2-3 พันราย พุ่งพรวดเกือบเท่าตัวเป็นกว่า 5 พันรายเมื่อ 6 ม.ค. และเมื่อ 7 ม.ค. ยังเพิ่มสูงอีก 7,526 ราย แล้วยังทะยานเพิ่มต่อเนื่องเมื่อ 8 ม.ค. พบมีผู้ติดเชื้ออีก 9,508 ราย ซึ่งรวมผลการตรวจ ATK เข้าข่ายติดเชื้อ ส่วนผู้เสียชีวิตกลับน้อยลงมีแค่ 14 คน รักษาในโรงพยาบาล 27,811 คน มีอาการหนัก 535 ราย ใส่ท่อหายใจ 100 ราย ส่วนการฉีดวัคซีนได้เกิน 105 ล้านเข็มแล้ว

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อ 7 ม.ค. ได้กำหนดมาตรการแพร่กระจายเชื้อโควิด ซึ่งคาดว่า จะมีตัวเลขต่อวันเพิ่มเป็นหมื่นราย โดยสาระสำคัญในมาตรการต่างๆนั้น หลังการประชุม ศบค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงการปรับมาตรการล่า โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

 

พื้นที่สีส้ม: ประเทศเฝ้าระวัง

สถานการณ์โควิดทั่วโลกมีผู้ป่วยพุ่งสูงขึ้น สำหรับการคาดการณ์การระบาดในไทยนั้น หากปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ จะพบผู้ป่วยถึง 3 หมื่นรายประมาณ ก.พ. หรือปลายเดือน ม.ค.อาจมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มถึงหลักหลายหมื่น แต่การเสียชีวิตถือว่ายังน้อย ทำให้รู้ว่าลักษณะของโอมิครอนไม่ได้รุนแรงเท่าเดลตา รวมทั้งการระบาดระลอกเดือน ม.ค. มาจากการผ่อนคลายมาตรการดื่มสุราในร้านอาหารกึ่งผับบาร์ ด้วยเหตุนี้กระทรวงสาธารณสุขจึงยกระดับเตือนภัยโควิดเป็นมาตรการระดับ 4 จากมาตรการทั้งหมด 5 ระดับ

ระบบเตือนภัยล่าสุดนั้น ที่ประชุม ศบค. ได้สั่งปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วประเทศเป็น“พื้นที่สีส้ม”ควบคุม 69 จังหวัด และพื้นที่สีฟ้านำร่องการท่องเที่ยว 8 จังหวัด คือ กทม. กาญจนบุรี กระบี่ ชลบุรี นนทบุรี พังงา ภูเก็ต (จังหวัดอื่นๆ ดำเนินการบางพื้นที่มี 18 จังหวัด) มีผลตั้งแต่ 9 ม.ค.2565 เป็นต้นไป

 

ลากยาว WFH-พื้นที่สีฟ้าขายสุราถึง 3 ทุ่ม

ในมาตรการรับมือโควิดระบาดล่าสุด ศบค.เสนอปรับแผนป้องกันโควิดด้วย 3 มาตรการ คือ 1. ขยาย Work From Home (WFH) ไปจนถึง 31 ม.ค. 2565  และเลื่อนเปิดสถานบันเทิงออกไป เพื่อยับยั้งการแพร่เชื้อโควิด ดังนั้น ธุรกิจผับ-บาร์ แหล่งเที่ยวกลางคืนเหี่ยวเฉาเป็นปีที่ 3 และยังรอเปิดไม่มีกำหนด

แต่การปรับรูปแบบมาเป็นร้านอาหารกึ่งผับนั้น ต้องทำตามมาตรการจริงๆ และต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือ กทม. ส่วนการดื่มสุราในพื้นที่ท่องเที่ยว (สีฟ้า) ได้จำกัดเวลาไม่เกิน 21.00 น. และต้องเป็นร้านอาหารที่ผ่าน SHA+ หรือ Thai Stop COVID 2 Plus เท่านั้น กรณีหากไม่ดำเนินการ ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย

2. มีคำสั่งมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือ กทม. ตรวจประเมินสถานบันเทิงอย่างเคร่งครัด ส่วนสถานที่ กิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่สีส้มส่วนใหญ่เปิดได้ แต่มีเงื่อนไขให้ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขเพื่อป้องกันการกระจายเชื้อโควิด

 

3. การเดินทางเข้าราชอาณาจักร โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เมื่อ ม.ค.-มิ.ย. 2564 เข้ามาประมาณ 4 หมื่นคน จากนั้นเมื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวเดือน ก.ค.เข้ามา 1.8 หมื่นคน เดือน ส.ค. 1.5 หมื่นคน กระทั่งเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวเทสต์แอนด์โก (Test & Go) ช่วงเดือน พ.ย. ถึง ธ.ค. เข้ามาเป็นแสนคน รวมแล้วปี 2564 มีนักท่องเที่ยวเข้าไทยมากถึง 416,160 คน

ส่วนข้อมูลวันที่ 1-5 ม.ค. 2565 เข้ามาแล้วกว่า 2.6 หมื่นคน แม้นโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวจะนำเงินเข้าประเทศ แต่มีข้อสังเกตว่า ระบบเทสต์แอนด์โกมีคนติดเชื้อเข้ามาพอสมควร จึงต้องชะลอลงทะเบียนเพิ่มเติม เพราะจากข้อมูลพบว่า มีผู้เดินทางมาจริงประมาณร้อยละ 30 ของผู้ได้รับอนุมัติเข้าไทย

 

อีกทั้ง กรณีเทสต์แอนด์โก ยังเป็นช่องว่างของเชื้อโรคที่จะเข้ามาได้ จึงต้องระงับไปก่อน ยกเว้นผู้ที่ได้รับอนุมัติแล้วต้องเดินทางเข้ามาก่อนวันที่ 15 ม.ค. 2565 ซึ่งผู้ที่ได้รับอนุมัติทั้งหมด 7-15 ม.ค. มีจำนวนกว่าหมื่นคน ยังพอรับมือได้

 

ปี 65 มุ่งฉีดวัคซีน ม.ค. 9.3 ล้านโดส

แผนการบริหารจัดการวัคซีนโควิดปี 2565 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เสนอแผน 3 เป้าหมาย ดังนี้ 1.ผู้ที่อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปยังไม่เคยรับวัคซีน สามารถเข้ารับการฉีดแบบ “วอล์กอิน”ได้ ตามสถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.  2. ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือผู้ที่เคยติดเชื้อทุกรายจะได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุข และ 3. กลุ่มเป้าหมายอายุ 5-11 ปีสามารถรับฉีดวัคซีนได้ตามความสมัครใจของเด็กและผู้ปกครอง

ส่วนแนวทางการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 4 ของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนกลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรังนั้น ตามมติที่ประชุมอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคกำหนดไว้ ดังนี้

– หากฉีดวัคซีนเข็มที่ 1-2 เป็นซิโนแวคกับซิโนแวค และเข็ม 3 เป็นแอสตร้าฯ ให้เข็ม 4 เลือกเป็นแอสตร้า หรือ ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ระยะห่าง 3 เดือนขึ้นไปหลังฉีดเข็ม 3

 

– หากฉีดวัคซีนเข็มที่ 1-2 เป็นซิโนแวคกับซิโนแวค และเข็ม 3 เป็นไฟเซอร์ ให้เข็ม 4 เลือกเป็นไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นาได้ ระยะห่าง 3 เดือนขึ้นไปหลังฉีดเข็มที่ 3 สำหรับข้อเรียกร้องฉีดใต้ผิวหนังได้หรือไม่นั้น สามารถให้ได้ตามดุลยพินิจของแพทย์ และผู้รับวัคซีนต้องสมัครใจ ซึ่งเปิดให้เลือกได้กว้างขึ้น

โดยเฉพาะในเดือน ม.ค.นี้ มีเป้าหมายฉีดวัคซีนประมาณ 9.3 ล้านคน ทั้งเข็ม 1 เข็ม 2 เข็ม 3 และเข็ม 4 ซึ่งมีวัคซีนต่างๆเตรียมไว้แล้ว ส่วนยาต้านไวรัสแพ็กซ์โลวิดสำหรับผู้ป่วยอาการเล็กน้อยจนถึงปานกลางได้ขอจัดซื้อไว้ 5 หมื่นชุด โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อนุมัติให้ใช้เงินกู้มาซื้อ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการ สธ. บอกว่า เป็นการนำมาเสริมกับยาหลักคือ ฟาวิพิราเวียร์

 

สำหรับความกังวลต้องงดการเดินทางหรือไม่นั้น เป็นแค่ข้อแนะนำ และ ศบค. ยังไม่มีมติข้อกำหนดห้ามใดๆ ดังนั้นเครื่องบิน รถโดยสารสาธารณะยังไม่หยุด แต่ขอให้ยึดคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข และสิ่งสำคัญกระทรวงสาธารณสุขเตือนว่า ถ้าไม่จำเป็นอย่าเดินทาง


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

 

 

 

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

 

 

ไม่มีภาพกิจกรรม

ไม่มีวิดีโอ

Back To Top