skip to Main Content
02-530-9204-5 sammachiv.pr@gmail.com
ผลสะเทือน“แพทย์ชนบท”ลุยโควิด กทม.

ผลสะเทือน“แพทย์ชนบท”ลุยโควิด กทม.

ผลสะเทือน“แพทย์ชนบท”ลุยโควิด กทม.

 

ชมรมแพทย์ชนบท โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมฯ ยกทีมแพทย์ต่างจังหวัดเข้า กทม. เพื่อตรวจหาเชื้อโควิดในแหล่งชุมชนเมืองถึง 2 ครั้งเมื่อ 14-16 ก.ค. 2564 และ 21-23 ก.ค. 2564 ก่อผลสะเทือนครั้งสำคัญกับระบบสาธารณสุขอย่างน้อย 3 ประการใหญ่

ประการหนึ่ง เร่งส่งเสริมระบบแยกผู้ป่วยโควิดออกจากชุมชนไปกักตัวคอยการรักษาในโครงการเฝ้าดูแลรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือเลือกเข้าโครงการศูนย์พักคอยชุมชน (Community Isolation) ให้เกิดเป็นจริงเป็นจังขึ้น ซึ่งช่วยชลอการระบาดไม่ให้ขยายวงกว้างออกไปไม่สิ้นสุด

ประการสอง ทำให้คนในแหล่งชุมชนเมืองสามารถเข้าถึงการตรวจหาเชื้อโควิดได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องไปตรวจแบบ RT-PCR ที่โรงพยาบาลอย่างเดียว โดยต้องเสียเงินครั้งละเกือบ 4,000 บาท (และต้องตรวจหาเชื้อมากกว่าหนึ่งครั้ง จึงมั่นใจว่า ติดเชื้อหรือไม่) ซึ่งเป็นอุปสรรคกับคนหาเช้ากินค่ำ ยากจะหาเงินไปตรวจได้

ประการที่สาม เปิดหูเปิดตาฝ่ายรัฐบาล ให้รับรู้รูปธรรมคนจนในแหล่งชุมชนเมืองติดเชื้อโควิดเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นเร่งรีบรักษาและทำให้เข้าถึงระบบสาธารณสุขอย่างเท่าเทียม ตามสิทธิที่กำหดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 47 ซึ่งบัญญัติว่า บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

อย่างน้อยทั้ง 3 ประการดังกล่าว ทำให้ระบบสาธารณสุขไทยต้องรื้อและแก้ไขระเบียบหยุมหยิมคอยกีดกันคนจนเมืองเข้าไปถึงการตรวจหาเชื้อและการรักษาจากโรงพยาบาล เมื่อสาธารณสุขแก้ระเบียบให้ประชาชนเข้าถึงชุดตรวจหาเชื้อเองได้ (Antigen Test Kit) ถ้าผลบวกเป็นบวกมีมาตรการแยกกักตัวในศูนย์พักคอย แล้วรอตรวจซ้ำแบบ RT-PCR เมื่อติดเชื้อจึงส่งตัวไปอยู่ที่โรงพยาบาลสนามตามกลุ่มอาการผู้ป่วยแบบสีเขียว เหลือง หรือแแดง

ดังนั้น เมื่อชมรมแพทย์ชนบทเปิดเผยผลการตรวจในแหล่งชุมชนทั้ง 2 ครั้งมีคนติดเชื้อโควิดมากถึง 6,863 คน คิดเป็น 13.35% ของจำนวนการตรวจทั้งสิ้น 51,389 คน รูปธรรมนี้บ่งบอกว่า “อัตราการติดเชื้อโควิดใน กทม. สูงมากๆ” และหากไม่เร่งรีบแยกผู้ป่วยออกจากแหล่งชุมชนแออัดแล้ว การระบาดจะบานปลายทำให้สาธารณสุขรับมือไม่ไหวถึงขั้นล้มเหลวและส่อลามให้ประเทศล่มจมได้ง่ายๆ

 

กทม.ตื่น-ขยายศูนย์พักคอย 50 เขต

แม้ชมรมแพทย์ชนบทยังไม่ได้กำหนดวันจะยกทีมแพทย์บุก กทม.ครั้งที่ 3 ในวันใด แต่ นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องเมื่อ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อระดมแพทย์ทุกหน่วยเข้ามาช่วยกู้ภัยโควิด กทม.ในวันที่ 4-10 ส.ค.นี้

การเรียกร้องของ นพ.ยงยศ นั้น ราวกับเป็นการยอมรับถึงวิกฤตระบาดโควิดใน กทม. และสอดคล้องกับชมรมแพทย์ชนบทระบุถึงปฏิบัติการบุกกรุงฯ ครั้งที่ 3 ว่า ต้องเกิดความร่วมมือที่กว้างขวางจากทุกฝ่ายทั้งรัฐและเอกชน “เราจะกลับมาอีก เพื่อกู้ภัยโควิดในกรุงเทพมหานคร หากเมืองหลวงรอดประเทศไทยก็จะรอด” นพ.สุภัทร ยืนยัน

ทางรอดพ้นจากโควิดระบาดใน กทม.นั้น นพ.สุภัทร เน้นให้ทุกองค์กรทั้งรัฐและเอกชนร่วมแรงผนึกกำลังเพื่อกู้วิกฤต โดยรุกตรวจหาเชื้อให้ครบทุกคน โดยเชื่อว่า จะพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 5 แสนคนถึง 1 ล้านคน ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยต้องถูกแยกตัวออกไปรักษาในโรงพยาบาลสนามและศูนย์พักคอยตามอาการที่ปรากฎให้มากที่สุด

การแยกตัวผู้ป่วยเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น เมื่อ กทม.เร่งขยายศูนย์พักคอยให้ครบทั้ง 50 เขต ซึ่งมีแล้ว 40 เขตสามารถรองรับผู้ป่วยโควิดได้ 7,499 ราย พร้อมกับปรับศูนย์พักคอย 7 แห่งเป็นโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยเหลืองได้เพิ่มขึ้นอีก 1,036 เตียง

ปฏิบัติการให้เกิดศูนย์พักคอยของผู้ตวจโควิดรอดูอาการติดเชื้อ เริ่มก่อรูปขึ้นจากการรุกตรวจหาเชื้อแบบ Rapid Test พร้อมๆกับการตรวจแบบ Antigen Test Kit ของประชาชน ซึ่งจะส่งผลให้พบอาการติดเชื้อจำนวนมากขึ้น ดังนั้น การแยกกักตัวจึงดำเนินไปควบคู่กัน ทั้งที่บ้านหรือที่ชุมชน และส่งไปโรงพยาบาลสนาม แต่สิ่งสำคัญคือ ฝ่ายสาธารณสุขต้องใช้แพทย์และบุคลากรเพิ่มมากขึ้นเพื่อเฝ้าดูอาการ พร้อมกับเพิ่มเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครส่งอาหาร และยารักษาให้ผู้ป่วยโควิดตามโครงการด้วย แล้วพร้อมรับมือกันแล้วหรือ?? เตียงมีพอหรือยัง???

 

รอเตียงรักษาจนตายคาบ้าน

สิ่งสะท้อนถึงรัฐจัดหาเตียงรักษาผู้ป่วยไม่เพียงพอ คือ การปล่อยให้ผู้ป่วยตกค้างที่บ้าน เมื่อรอการรักษานานวันเข้า เกิดอาการหรุดหนัก เชื้อไวรัสลงปอด หอบ เหนื่อย หายใจลำบาก แน่นหน้าอก แล้วตายคาบ้าน อีกทั้งส่อถึงการระบาดของเชื้อโควิดสู่ผู้ใกล้ชิดในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น

แม้รัฐพยายามบอกว่า เตียงมีพอ แต่ยังมีคนตายที่บ้านได้เห็นแทบทุกวัน ข้อมูลจากกระทรวงการศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) (เมื่อ 31 ก.ค.2564) รายงานถึงเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดทั่วประเทศมีจำนวน 198,148 เตียง มีผู้ป่วยครองอยู่ 160,441 เตียง เหลือว่างพร้อมใช้อยู่ 37,707 เตียง

เฉพาะพื้นที่ กทม.แล้ว อว.รายงานว่า มีผู้ป่วยครองเตียงถึง 36,138 เตียง เหลือพร้อมใช้ 5,334 เตียง และผนวกกับข้อมูลขยายศูนย์พักคอยของ กทม.แล้ว เกิดความกังขาอย่างสำคัญคือ ทำไมยังมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิดตกหล่นรอเตียงรักษาที่บ้าน แล้วอาการหนักขึ้นก็ตายคาบ้านไปมากต่อมากแล้ว

ณ ข้อมูลเมื่อ 31 ก.ค. 2564 แม้เตียง กทม.ว่างถึง 5,334 เตียง แต่ถ้าใช้ข้อมูลของศูนย์โควิดรายงานเมื่อ 31 ก.ค. 2564 เช่นกันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18,912 ราย หายป่วย 10,750 ราย นำมาหักลบกันแล้ว พบว่า ยังมีส่วนเหลืออีก 8,162 ราย ซึ่งมีจำนวนมากกว่าเตียงว่างในวันเดียวกันถึง 2,828 ราย โดยจำนวนนี้คือ ผู้ป่วยตกหล่นต้องรอคอยอยู่ที่บ้าน ชุมชน ห่างไกลการรักษา ไม่ได้ยาฟาวิพิราเวียร์มายับยั้งเชื้อโควิด แล้วยังไม่มีสิทธิ์ได้รับ “กล่องรอดตาย” ดังนั้น คนป่วยผู้อาภัพที่มีจำนวนมากมายเหล่านี้จึงเกิดอาการทรุดและแล้วตายที่บ้านตัวเองอย่างทรมาน

อย่างไรก็ตาม หากนำข้อมูลแต่ละวันที่ศูนย์โควิดรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่กับผู้หายกลับบ้านนั้นหักลบกลบกันแล้วจะทำให้เห็นจำนวนผู้ป่วยเข้าไม่ถึงเตียงเป็นจำนวนมาก เช่น ผู้ติดเชื้อใหม่ในวันที่ 1 ส.ค. 2564 มีจำนวน 18,027 ราย รักษาหายกลับบ้าน 13,402 ราย ทำให้เห็นภาพผู้ป่วยไม่มีเตียงรักษาจำนวน 18,027-(ลบ) 13,402 ราย เหลือ 4,625 ราย แล้วนำยอดตกค้างเมื่อ 31 ก.ค.มารวมจะเป็น 4,625+2,828 รายเท่ากับ 7,453 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยตกค้างไม่มีเตียงรักษาเพียง 2 วันเท่านั้น จึงคิดไปถึงหลายๆวันจะมียอดผู้ป่วยตกค้างอีกมากมายเท่าใด คิดแล้วระทึกหวั่นผวาอย่างยิ่ง

อีกทั้งสติแทบแตก เมื่อนำข้อมูลผู้ป่วยตกค้างมาประกอบสร้างการระบาดเชื้อวงกว้างมากขึ้น จากขยายเชื้อให้ครอบครัว แล้วลามถึงชุมชน ดังนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันตามที่ศูนย์โควิดแถลงแต่ละวันจึงเชื่อว่า เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยเท่านั้น หากลุยตรวจรายตัวจะพบผู้ป่วยเชื้อโควิดสีเขียว สีเหลืองอีกมหึมาที่หลบซ้อนอยู่ในชุมชน กทม. รอการตรวจและนำตัวไปรักษาตามอาการ

 

แพทย์ชนบท-หมอ ตจว.ลุย กทม.

 

นพ.ยงยศ แถลงถึงการระดมหมอจากโรงพยาบาลชุมชน ชมรมแพทย์ชนบท ชมรมเภสัชชนบท ชมรมพยาบาลอาสา สาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ มาลุยกู้ภัยโควิดใน กทม.ครั้งใหญ่ในวันที่ 4-10 ส.ค.นี้

นพ.สุภัทร ประเมินว่า ถ้าตรวจกันเรียงตัวจะพบผู้ป่วยมากถึง 5 แสน-1 ล้านคน ขณะเดียวกันถ้าพยายามเปิดทุกพื้นที่เป็นโรงพยาบาลสนามให้มาก โดยนำค่ายทหาร พื้นที่ในกองทัพต่างๆ มาเป็นโรงพยาบาลสนาม เปลี่ยนจากโรงเรียน สถานศึกษาใน กทม. เป็นโรงพยาบาลสนาม และเริ่มจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้แก่ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือมีปัจจัยเสี่ยง เพื่อลดอาการความรุนแรงของโรค ไม่ให้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก

อย่างไรก็ตาม ความจริงมีว่า เตียงโรงพยาบาลสนามมีไม่เพียงกับผู้ป่วยโควิดที่เพิ่มมากขึ้น และยังมีผู้ป่วยอาการรุนแรงถึงขั้นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลหลัก ซึ่งแน่นขนัด ล้นมาใช้ที่จอดรถเป็นสถานที่รักษาชั่วคราว ภาพที่โรงพยาบาลบ้านแผ้ว สมุทรสาคร เป็นรูปธรรมได้ชัดเจน พร้อมทั้งยังมีความจำเป็นที่จะแยกผู้ป่วยไปรักษาตัวที่บ้านหรือเฝ้าดูอาการในศูนย์กักตัวชุมชน แต่หากลุยตรวจเข้มข้นแล้ว อย่ามองไกลถึงโรงพยาบาลสนามเลย แค่ศูนย์กักตัวชุมชนคงไม่อาจรับมือได้แล้ว

ดังนั้น การลุยพื้นที่ กทม.ระลอก 3 ของทีมแพทย์ นพ.สุภัทร ระบุว่า ต้องทำให้ทุกคนที่เป็นผู้ป่วยโควิด ได้รับการดูแลรักษา ซึ่งไม่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล คนเป็นกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวต้องได้รับการดูแลที่บ้านอย่างดี ต้องมีธงชัดและควรมีการเช็ตระบบสาธารณสุขใหม่

แต่ความชัดเจนในขณะนี้คือ ตัวเลขผู้ป่วยหลบซ่อนในแหล่งชุมชน เมื่อระดมการตรวจเข้มทุกพื้นที่ ย่อมพบอีกจำนวนมหาศาล พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา จำลองฉากทัศน์ตัวเลขโควิดของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าน่ากลัวมาก เพราะถ้าไม่คุมให้ดี มีโอกาสติดวันละ 45,000 คน ตายวันละ 450 คน

สอดประสานกับ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาส่งสัญญาณให้ประชาชนในเมืองเตรียมเสบียงและสิ่งของจำเป็นไว้ในบ้าน ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม ยาสามัญประจำบ้านไว้สัก 2-4 สัปดาห์ ก็จะเป็นประโยชน์ยามฉุกเฉิน

ในเสียงเตือนนั้น ก่อฉากทัศน์ของประชาชนอาจเกิดใน ส.ค.นี้ เพราะตั้งแต่ ก.ค.สถานการณ์โควิดระบาดขยับมาถึงขั้นรัฐล้มเหลวสิ้นเชิง แต่ละวันมีผู้ป่วยจำนวนมาก การตรวจหาเชื้อยังเข้าแถวแน่นขนัดที่ศูนย์กลางขนส่งบางซือ ซึ่งสะท้อนถึงประชาชนต้องการตรวจเชื้อ เพราะกลัวโควิดคราชีวิต

ดังนั้น เมื่อตรวจหาเชื้อชักช้า การแยกผู้ป่วยกักตัวตัดขาดการแพร่เชื้อจึงอืดอาดยืดยาดตามไปด้วย อีกทั้งโรงพยาบาลสนามขาดแคลน หนำซ้ำมีผู้ป่วยอาการเริ่มหนัก แล้วตายคาบ้านในแหล่งชุมชนเมือง สิ่งเหล่านี้คือ ความล่มจมของระบบสาธารณสุขที่ชะล่าใจในการรักษาชีวิตประชาชน

ถึงที่สุดทางรอดสุดท้ายคือ การเร่งฉีดวัคซีนอย่างดีให้ประชาชน แต่ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่งตื่นตัวทั้งที่โควิดระบาดมา 2 ปี วัคซีนไฟเซอร์ที่เชื่อกันว่า เป็นของดียับยั้งโควิดพันธุ์เดลตาได้ผล แต่การสั่งซื้อจะมาในไตรมาศ 4 ปี 2564 จำนวน 20 ล้านโดส และอีก 50 ล้านโดสในปี 2565

ส่วนการรับบริจาควัคซีนจากสหรัฐ ญี่ปุ่น อังกฤษ และจีน คือการตบปากผู้นำยืนยันวัคซีนมีมากพอประชาชนทุกคนและพร้อมเป็นศูนย์กลางบริจาคประเทศเพื่อบ้านด้วย ขณะที่ไทยเป็นแหล่งผลิตแอสตร้าเซเนกา แต่ยังยิ้มแก้มปริเมื่อญี่ปุ่น-อังกฤษบริจาคแอสต้ราฯให้รวม 1.42 ล้านโดส ซึ่งยังงงๆกับการบริหารจัดหาวัคซีนในยามวิกฤต ส่วนไฟเซอร์ สหรัฐส่งมาบริจาคแล้ว 1.54 ล้านโดสและจะมาอีก 1 ล้านโดส แต่กลับเกิดความสงสัยในการจัดสรรให้แพทย์และบุคลากรด่านหน้าไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ดังนั้น เมื่อระบบสาธารณสุขมากด้วยความเคลือบแคลง ประชาชนกังขา ผู้ป่วยถูกปล่อยลืมไว้คอยความตายที่บ้าน พร้อมๆกับการเร่งตรวจหาเชื้อครั้งใหม่ของชมรมแพทย์ชนบทและระดมกำลังจากหมอต่างจังหวัดใกล้เริ่มขึ้น สิ่งที่เชื่อได้ว่า จำนวนผู้ป่วยใหม่จะมากถึงหลัก 2-3 หมื่นคน ภาวะความแตกตื่นจะเกิดขึ้นกับใจที่หดหู่เมื่อเห็นภาพคนป่วยทรุดโทรม และศพในบ้านถูกหามออกไปเผา

ผสมกับเสียงเรียกร้องหาเตียงรักษาจะดังกระหึ่ม ภาพผู้คนเข้าแถว ยืนหายใจรดต้นคอกันยาวเหยียด ล้นทะลัก ทนเบียดจองคิวรอตรวจหาเชื้อและรับฉีดวัคซีน ภาพและเสียงเหล่านี้คงวนประจานการบริหารจัดการโควิดแบบซ้ำซากตามเดิม

ความจริงคือ ขณะนี้ประชาชนตื่นตัวป้องกันโควิดกันหมด แล้วรัฐและสาธารณสุขพร้อมสู้ภัยโควิดอย่างจริงๆ ไม่“เฟคนิวส์”กันได้หรือยัง??

 


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee</a

Back To Top