skip to Main Content
02-530-9204-5 sammachiv.pr@gmail.com
ผ้าทอมือแพรวา“ราชินีแห่งไหม” วัฒนธรรมผู้ไทสวมใส่วิถีทันสมัย

ผ้าทอมือแพรวา“ราชินีแห่งไหม” วัฒนธรรมผู้ไทสวมใส่วิถีทันสมัย

ผ้าทอมือแพรวา“ราชินีแห่งไหม”

วัฒนธรรมผู้ไทสวมใส่วิถีทันสมัย

 

ผ้าแพรวาหรือผ้าไหมแพรวามีชื่อเสียงโด่งดัง ทุกขั้นตอนการทอมือประณีตลวดลายงดงามตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวผู้ไท ซึ่งถ่ายทอดสืบสานวัฒนธรรมมายาวนานกว่า 300 ปี กระทั่งปัจจุบันถูกยกย่องให้เป็น “ราชินีแห่งผ้าไหม”

 

ตามภาษาท้องถิ่นอีสาน คำว่า “แพรวา” เป็นผืนผ้าจากการทอเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้แปรสภาพเป็นเสื้อ กางเกง (ซ่งหรือโส่ง) มีความยาว 1 วา หรือหนึ่งช่วงแขนของคนทอ ชนผู้ไทมักนิยมใช้เป็นผ้าสไบเฉียงคลุมไหล่ซ้ายทับชุดประจำถิ่นโดดเด่นด้วยโทนสีสดดำ-แดง

 

การถักทอผ้าแพรวาของบ้านโพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ มีความสวยสดงดงาม เพราะทอมือด้วยเส้นไหม พร้อมบรรจุลวดลายดั้งเดิมตามความเชื่อทางวัฒนธรรม ประเพณี หรือสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัวทั้งต้นไม้ ใบไม้ พฤติกรรมคน สัตว์ สิ่งของเครื่องใช้ แล้วเกิดแรงบันดาลใจนำมาสร้างสรรค์ลวดลายการทอผ้าไหมเพื่อสะท้อนถึงวิถีชีวิตผู้คนผู้ไทได้มากกว่า 100 ลวดลาย

 

 

ดังนั้น ลวดลายผ้าไหมแพรวาบ้านโพนจึงเป็นการบันทึกแหล่งที่อยู่อาศัย วิถีชีวิตกับธรรมชาติของผู้คน  เช่น ลายดอกมะส้าน ลายดอกบัว ลายดอกช่อต้นสน ลายดอกหมาก ลายช่อดอกไม้ ลายดอกส้มป่อย ลายกาบแบด ลายดอกแก้ว ลายดอกแก้วน้อย ลายผักแว่นขาเข ลายดอกใบบุ่นก้านก่อง ลายกาบแบดตัด ลายดอกจันกิ่ง ลายดอกพันมหา ลายตาบ้ง ลายจุ้มตีนหมา ลายนาค ลายคนขี่ช้าง ลายคนขี่ม้า ลายตาบ้งขาแข ลายคน ลายกะปูน้อย ลายงูลอยห้าไม้ ลายช่อตีนพาน ลายขาเปีย ลายขาเข ลายกง ลายเบ็ด ลายดาว ลายกระบวน ลายหอผาสาท ลายขอ ลายจะแก เป็นต้น

 

“สมศรี สระทอง” ประธานกลุ่มอาชีพสตรีทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ เล่าว่า ปัจจุบันผ้าแพรวาได้พัฒนาจากการทอเพื่อเป็นสไบเฉียง มาเป็นผ้าผืนใหญ่คลุมไหล่ แล้วยกระดับมาใช้ตัดได้ทั้งชุดผ้าไหมตามความต้องการของลูกค้า ทั้งกลุ่มผู้ใหญ่มีอายุมักนิยมสีครึ้มๆ เมื่อสวมใส่ดูมีอำนาจน่าเกรงขาม ส่วนลูกค้าวัยรุ่นมักชอบโทนสีอ่อนเย็นตาตามยุคสมัย แต่สำหรับชนผู้ไทแล้วจะเน้นสีแดงกับดำเป็นหลัก ดังนั้น เอกลักษณ์ผ้าไหมแพรวาตามต้นแบบวัฒนธรรมผู้ไทจึงเป็นสีแดง-ดำ

 

สิ่งที่เข้าตาคนรุ่นใหม่ นอกจากสีผ้าไหมย่อมด้วยสีธรรมชาติเป็นหลัก เช่น สีออกแดงมาจากครั่ง สีฟ้าจากดอกอัญชัน สีชมพูจากต้นไม้กระทืบโรง รวมทั้งสีต้นประดู่ เป็นต้น เมื่อย้อมเสร็จจะนำไปหมักโคลนให้ยึดเหนียวสีธรรมชาติคงทนยิ่งขึ้น

 

 

การสืบทอดถักทอผ้าแพรวาจากคนรุ่นต่อรุ่น โดยวัฒนธรรมผู้ไทมักให้แม่ถ่ายทอดงานฝีมือของบรรพชนสู่ลูกหญิงเมื่อเข้าสู่วัย 8-12 ปี เริ่มเรียนด้วยการทอชายผ้าถุง แล้วขยับมาทอผืนใหญ่เป็นสไบ สิ่งสำคัญวัฒนธรรมผู้ไทสอนสั่งกันมาว่า ผู้หญิงทอผ้าไม่เป็นจะไม่ได้แต่งงานออกเรือน หากออกเรือนจะได้รับมรดกจากพ่อแม่คือ เครื่องมือใช้ทอผ้าที่เรียกว่า “กี่”หนึ่งหลังกับ “ฟืม” คือเครืองมือทอผ้าหนึ่งอันใช้กระทบเส้นไหมจากกระสวยพุ่ง โดยเฉพาะผู้หญิงชาวบ้านโพนกว่า 95% จะทอผ้าไหมแพรวาเป็นทั้งหมด

 

 

การเรียนทอผ้าไหมแพรวาสำหรับคนมือใหม่หัดเรียนนั้น จะใช้เวลา 7-15 วัน เพื่อเป็นความรู้สืบสานภูมิปัญญาผ้าไทย และการสืบสานทุนทางวัฒนธรรมที่มาเป็นส่วนการผลิตของชุมชน พร้อมยืนหยัดอยู่กับสังคมสมัยใหม่ ดังนั้นผ้าทอแพรวาจากมือย่อมมีวัฒนธรรมชนผู้ไทซุกซ่อนอยู่ พร้อมถูกยกระดับดัดแปลงให้เป็นแฟชั่นของคนรุ่นใหม่ ด้วยการนำลวดลายผ้าที่ทอไปเป็นส่วนหนึ่งของการตัดชุดสวมใส่ตามวิถีสังคมทันสมัย

 

ดังนั้น ผ้าแพรวายุคใหม่จึงได้รับการตอบรับจากกลุ่มคนรุ่นใหม่และผู้ที่ชื่นชอบสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่นและยุโรปเป็นอย่างดี เนื่องจากผ้าไหมแพรวาได้ดีไซน์ใหม่ให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ได้สวมใส่ลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ของผู้ไทที่ประณีต มีจิตวิญญาณวิถีชีวิต ด้วยการปรับมาสู่สีโทนเย็น สีพาสเทล หรือใช้โทนสีลักษณะทูโทน (สีหลัก 2 สี) โดยผ้าแต่ละผืนจะมีการออกแบบวางแผนการทอมีลักษณะพิเศษ มีการจัดกลุ่มสีให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และมีการใช้วัตถุดิบให้ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น การย้อมสีจากวัสดุธรรมชาติ การใช้ไหมเส้นใหญ่ขึ้นหรือเรียกว่าไหมบ้าน แทนการใช้ไหมเส้นเล็กละเอียด เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่ให้ความรู้สึกของความเป็นธรรมชาติ

 

นอกจากนี้ นักออกแบบยังนำไปตัดกับผ้าลินินเป็นชุดต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุนและให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ คนวัยเพิ่งทำงาน เทคนิคการตัดต่อจึงนำผ้าทอแพรวามาผสมผสานด้วย เช่น ปกคอเสื้อ กระเป๋า ชายกางเกง เดรสแขนกุดกลัดกระดุมหน้า ด้านหนึ่งเป็นผ้าแพรวา อีกด้านใช้ผ้าพื้นลินิน และเสื้อคลุมแขนกุดความยาวคลุมสะโพก แมทชิ่งกับกางเกงเข้ารูป กระโปรงป้ายข้างความยาวเหนือเข่า ด้วยดีไซน์เรียบโก้ สวมใส่ง่าย เคลื่อนไหวคล่องตัว จึงยกระดับไปตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่

 

คนผู้ไทมักทอผ้าไหมเป็นอาชีพเสริม ทำวันละ 5 ชั่วโมงหลังว่างเว้นจากอาชีพเกษตรกรรม ส่วนราคาผ้าไหมทอแพรวาจะอยู่ที่ความยากง่ายของลวดลายและสีที่ทอ ผ้าผืนหนึ่งจะมีมากถึง 60 ลวดลายบรรจุลงในผ้าทอมือ ด้วยเหตุนี้การทอผ้าไหมแพรวาทำให้ชุมชนมีรายได้ยั่งยืนขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามด้วย

 

 

“สมศรี สระทอง” เล่าว่า ความสุขที่เกิดจากการทอผ้าแพรวาคือ ความภูมิใจที่ได้รับการขนานนามว่า “ราชินีแห่งไหม” สิ่งหนึ่งเป็นเพราะมีลวดลายกว่า 100 ลวดลายที่เป็นมรดกภูมิปัญญาไว้ให้สืบสานต่อยอด และมีวิถีชีวิตของคนผู้ไทถูกบรรจุลงบนผืนผ้าที่ใช้สวมใส่ อีกทั้งเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม มีมิติประวัติศาสตร์ของผู้คน มีเรื่องราวที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นให้อยู่คู่กับชุมชนผู้ไทมายาวนาน

 

ด้วยเหตุนี้ ลวดลายที่ถูกถักทอด้วยมือบนผืนผ้าไหมจะมาจากวิถีชีวตของชนผู้ไท มีวิถีการผลิต ที่สามารถค้นคว้าได้ในทางภูมิศาสต์ จนได้รับมาตรฐาน “จีไอ” (GI) คือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มาเป็นเครื่องรับประกันความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจแก่ผู้บริโภคในมาตรฐานและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ผ้าไหมจากกลุ่มสตรีบ้านโพน

 

การทอผ้าไหมผู้ไทบ้านโพน เริ่มจากสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร 70 คนในปี 2521 จากนั้นปี 2538 กิจการเติบโตขึ้นเป็นกลุ่มอาชีพสตรีทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพนมีสมาชิก 450 คน และปี 2551 ได้ขอจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ศูนย์ศิลปาชีพทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน กาฬสินธุ์ จำกัด ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 825 คน ครอบคลุม 4 อำเภอ ได้แก่ อ. คำม่วง อ. สมเด็จ อ. สามชัย และ อ. สหัสขันธ์

 

ปัจจุบันสหกรณ์กลุ่มอาชีพสตรีทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน โด่งดัง คนต่างถิ่นและนักท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเข้าไปศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมของคนผู้ไท การสาธิตการผลิตผ้าไหมแพรวาในแต่ละปีจำนวนมาก จนสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยการสืบสานและยึดมั่นแนวทางวัฒนธรรมมาผสมผสานกับการดำรงอยู่แบบวิถีสังคมทันสมัยนิยมพอเพียง

 


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

 

 

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

Back To Top