skip to Main Content
02-530-9204-5 sammachiv.pr@gmail.com
วิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ

วิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ

ขอแสดงความยินดีผู้ได้รับรางวัลวิสาหกิจแห่งปี 2559

3 วิสาหกิจ ที่ได้รับรางวัลได้แก่

องค์กร วิสาหกิจชุมชนกองทุนออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านดอนคา
ผู้นำองค์กร นายวิโรจน์ คงปัญญา
จังหวัดเชียงนครศรีธรรมราช ประเภทการเงิน

องค์กรวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง (เกษตรทิพย์)
ผู้นำองค์กร นายบุญมี สุระโคตร
จังหวัด ศรีสะเกษ ประเภท การผลิตและการแปรรูป

องค์กรวิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านนาต้นจั่น
ผู้นำองค์กร นางเสงี่ยม แสวงลาภ
จังหวัด สุโขทัย ประเภทบริการและการจัดสวัสดิการชุมชน


องค์กร วิสาหกิจชุมชนกองทุนออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านดอนคา
ผู้นำองค์กร นายวิโรจน์ คงปัญญา
จังหวัดเชียงนครศรีธรรมราช ประเภทการเงิน

ความเป็นมา
      ชุมชนบ้านดอนคา (บ้านดอนคา เป็นชุมชนหมู่บ้าน หมู่ที่ 2 ใน 10 หมู่บ้านของตำบลทอนหงส์) ตำบลทอนหงส์ อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมืองนครศรีธรรมราช ประมาณ 38 กิโลเมตรเดิมอำเภอพรหมคีรี เป็นกิ่งอำเภอของอำเภอเมือง ได้แยกออกจากอำเภอเมือง เป็นอำเภอพรหมคีรี เมื่อปี พ.ศ. 2524 โดยรวมเอาพื้นที่บางส่วนจากอำเภอนบพิตำ และบางส่วนของอำเภอท่าศาลา มารวมเข้าไว้ด้วย นครศรีธรรมราช เป็นจังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดในพื้นที่ภาคใต้และมีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ แต่จากการสำรวจข้อมูล จปฐ.ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย พบว่า เป็นจังหวัดที่ประชากรมีรายได้ต่อครัวเรือนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกล่าวคือ มีรายได้เฉลี่ย 216,294 บาทต่อครัวเรือนต่อปี หรือ 69,534 บาทต่อคนต่อปี ในขณะที่รายได้เฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 245,632 ต่อครัวเรือนต่อปีหรือ 79,185 บาทต่อคนต่อปี

การสร้างสรรค์เศรษฐกิจชุมชน
     บ้านดอนคาเป็นชุมชนชายเขา-เขาหลวง ด้านตะวันออก ที่ประกอบอาชีพสวนยางพาราและสวนผลไม้ มีรายได้พอที่จะเก็บออม แต่ไม่สะดวกที่จะใช้บริการรับฝากเงินธนาคาร ประกอบกับในปี พ.ศ. 2526 มีตัวอย่างการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นในหมู่บ้านใกล้เคียง คือบ้านอ้ายเขียว จึงเป็นแรงจูงใจให้กลุ่มแม่บ้านบ้านดอนคาริเริ่มที่จะรวมกลุ่มเพื่อการดังกล่าวในลักษณะเดียวกัน โดยเริ่มต้นจากสมาชิกเริ่มแรก จำนวน 37 คน เงินสะสมก้อนแรกจำนวน 2,857 บาท จัดตั้งเป็น “กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต” เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2526 ด้วยการสนับสนุนจากนายณรงค์ ปรีชา ประธานอำนวยการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านอ้ายเขียว ทำหน้าที่เป็นประธานชั่วคราว เมื่อก่อตั้งได้แล้วจึงได้เลือกนายช้วน ศรีอินทร์ มาทำหน้าที่เป็นแกนนำ และต่อมาเมื่อนายช้วน มีปัญหาด้านสุขภาพและขอลาออก จึงเลือกนายวิโรจน์ คงปัญญา ดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มมาจนปัจจุบัน การดำเนินงานของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านดอนคา ได้จัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนกองทุนออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านดอนคา” ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ.2548 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2548 ปัจจุบัน วิสาหกิจแห่งนี้ (ปี พ.ศ. 2559) มียอดเงินฝากทั้งสิ้น 161,158,927.17 บาทในขณะที่วงเงินปล่อยกู้จะกำหนดไว้ไม่เกิน 150 ล้านบาท หรือประมาณ 90 % ของยอดเงินฝาก วิสาหกิจชุมชนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านดอนคา ได้จัดระบบการระดมเงินออมและการกู้ยืมของสมาชิก ให้สอดคล้องกับความจำเป็นในการใช้จ่ายของสมาชิกซึ่งเป็นคนในภาคชนบท ประกอบไปด้วย (1) เงินกู้สำหรับการประกอบอาชีพเช่น วัสดุอุปกรณ์ทางการเกษตร (2) เงินกู้เพื่องานพิธีกรรม เช่น การจัดงานบวช งานแต่งงาน (3) เงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน (4) เงินกู้ลอยฟ้า – กู้เพื่อซื้อสินค้าอุปโภค เช่น มอเตอร์ไซด์ ทีวี รถยนต์ การกู้เงินเพื่อกรณีต่างๆข้างต้น วิสาหกิจฯ จะกำหนดงวดการชำระคืนพร้อมกับคุณสมบัติเบื้องต้นว่าด้วยการออม นอกจากนั้นแล้วยังจะเกี่ยวข้องกับประเภทของการกู้ยืม เช่น กรณีกู้ยืมฉุกเฉิน (ซึ่งมีวงเงิน ไม่เกิน 3,000 บาท สมาชิกจะค้ำประกันด้วยสมุดเงินฝาก) กรณีการกู้สามัญ จะต้องมีสมาชิกค้ำประกันและบางกรณีจะต้องมีหลักทรัพย์ประกอบ แต่หากเป็นการกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน จะจัดเป็นการกู้แบบจำนอง คือ วิสาหกิจเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นก่อนแล้วจึงให้สมาชิกผ่อนชำระตามวิธีการของการออม/การชำระคืน

      นอกจากการระดมเงินออม การจัดระเบียบการกู้เงิน และการสร้างความตระหนักร่วมในการใช้จ่ายและการชำระคืนตามหลักปฏิบัติทั่วไปของกลุ่มออมทรัพย์แล้ว วิสาหกิจชุมชนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านดอนคา ยังได้จัดสรรเงินเพื่อการลงทุนเพื่อการอื่นๆที่เป็นการร่วมสร้างเศรษฐกิจในระดับชุมชน เช่น (1) ร่วมลงทุนและร่วมบริหารในกิจการโรงแป้งขนมจีน (2) ร่วมลงทุนกับเทศบาลตำบลทอนหงส์ ในกิจการโรงปุ๋ยชีวภาพ (3) ร่วมลงทุนกับกลุ่มเกษตรกรในกิจการโรงรมยางพาราและอบแห้ง ซึ่งเป็นตัวอย่างของการขยายขนาด (scaling up) ของการสร้างเศรษฐกิจของชุมชน (การประกอบกิจการที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนโดยการจัดการของชุมชน นอกจากนั้น การร่วมลงทุนข้างต้น ยังเป็นการร่วมทุนระหว่างวิสาหกิจชุมชนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านดอนคา ซึ่งเป็น “กองทุนชุมชน” กับผู้ประกอบการรูปแบบต่างๆ คือ (1) โรงแป้งขนมจีนเป็นการร่วมทุนกับ “ปัจเจกเอกชน” (2) โรงปุ๋ยชีวภาพเป็นการร่วมทุนกับ “องค์กรภาครัฐในท้องถิ่น” (3) โรงรมยางพาราและอบแห้งเป็นการร่วมทุนกับ “กลุ่มเกษตรกร” (4) การลงทุนในพันธบัตร/สลากออมสิน ซึ่งถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมการจัดการทางเศรษฐกิจที่ริเริ่มขึ้นในระดับชุมชนฐานล่าง

ผลประกอบการ 3 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2556 – 2558 วิสาหกิจนี้ ในแต่ละปี

ปี เงินออม เงินปล่อยกู้สมาชิก กำไร
2556 129,425,982.00 105,689,946.00 7,131,488.88
2557 137,506,398.29 107,131,034.00 9,010,648.55
2558 146,238,854.99 108,286,477.00 9,521,906.40

การจัดสรรกำไร จะแบ่งออกเป็นกรณีต่างๆ ดังนี้ ปันผลต่อสมาชิกตามการถือหุ้น 60 % เป็นสวัสดิการสำหรับสมาชิก 20 % ตอบแทนกรรมการ 10 % สำรองตามกฎหมาย 5 % และเป็นกำไรสะสมที่สามารถไปใช้จ่ายเพื่อการลงทุนต่างๆ 5 %

การจัดการองค์กร
    วิสาหกิจชุมชนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านดอนคา มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อร่วมงาน 3 คณะ ประกอบด้วย 1) คณะกรรมการบริหาร มี 9 คน มีหน้าที่ผลัดเวรมากลั่นกรองเอกสารเพื่อประกอบการนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร ซึ่งจะประชุมอนุมัติเงินกู้ของสมาชิกทุกวันพฤหัสบดี2) คณะอนุกรรมการ มีทั้งสิ้น 35 คน ทำหน้าที่เป็นผู้รับเงินออม/คืนเงินกู้ของสมาชิกประจำเดือน ทุกวันที่ 3 และ 4 ของเดือน โดยมีการจัดแบ่งสมาชิกผู้กู้ให้กรรมการแต่ละท่านรับผิดชอบดูแล 3) คณะกรรมการสาขา จำนวน 17 คน เป็นกรรมการที่ทำหน้าที่เหมือนกับคณะอนุกรรมการ แต่มีพื้นที่ที่รับผิดชอบโดยตามตามเขตปกครองที่อยู่นอกเหนือตำบลดอนหงส์ ประกอบด้วย ตำบลไทยบุรี โพธิ์ทอง นบพิตำ กะหรอ และท่าศาลา การบริหารจัดการกลุ่มออมทรัพย์ ทั้งในเรื่องของการระดมเงินออมและการกู้เงินของสมาชิกนั้น วิสาหกิจชุมชนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านดอนคา ให้ความสำคัญต่อการจัดระเบียบการรวมกลุ่มสมาชิกเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลมากกว่าการออมเพื่อหวังผลในกำไรของกิจการ (จากการลงทุนและการปันผล) ให้เป็นแนวทางเบื้องต้นของการช่วยเหลือเกื้อกูลดังกล่าว จึงเน้นให้สมาชิกใช้จ่ายเพื่อการต่างๆในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตประจำวันตามความจำเป็นใช้คืนตามกำหนดเพื่อช่วยเพื่อนคนต่อไปในชุมชน จึงได้กำหนดหลักการในการบริหารงานไว้ 5 ประการด้วยกัน คือ

  1. การเคารพและปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และข้อบังคับที่สมาชิกได้กำหนดขึ้นร่วมกัน
  2. คณะกรรมการบริหาร เปิดโอกาสให้สมาชิกเข้ามาร่วมตัดสินใจในประเด็นสำคัญ เช่น การจ่ายเงินปันผลจากกำไรการร่วมลงทุนในกิจการต่างๆในนามวิสาหกิจ
  3. สร้างการตระหนักในการประหยัดอดออม การเคารพในสัจจะและคำสัญญาที่จะต้องซื่อสัตย์ต่อตนเองและการคำนึงถึงเพื่อนสมาชิก รวมทั้งการลดการพึ่งพาแหล่งภายนอก จึงจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องส่งเงินกู้ตามกำหนดทุกวันที่ 3 – 4 ของเดือน
  4. ยึดหลักคุณธรรม 5 ประการ คือ (1) ซื่อสัตย์ต่อตนเอง ต่อองค์กร (2) เสียสละต่อเพื่อนสมาชิก (3) ร่วมรับผิดชอบต่อองค์กร สมาชิก และเพื่อนร่วมงาน (4) คำนึงถึงชีวิตในอนาคตของเพื่อนสมาชิก เพื่อนร่วมงาน และผู้ยากลำบาก (4) ยึดมั่นในหลักการเกื้อกูล
  5. การควบคุมกันเองและการตรวจสอบได้

อย่างไรก็ตาม วิสาหกิจนี้ ก็ได้จัดวางมาตรการในการติดตามหนี้ ในกรณีที่เพื่อนสมาชิกขาดการส่งเงินตามกำหนดซึ่งมีการดำเนินงานตามมาตรการต่างๆตามแบบแผนไปแล้ว โดยกำหนดมาตรการไว้ 5 ขั้นตอน ประกอบด้วย (1) จดหมายเตือน (2) ให้กรรมการติดตาม (3) ให้ทนายแจ้งเป็นหนังสือ (4) ให้ทนายความเจรจาตกลง (5) ให้ดำเนินฟ้องคดีต่อศาล ปรากฏว่า ตั้งแต่มีการจัดตั้งกลุ่ม มีผู้ที่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนเหล่านี้ไปทั้งสิน 65 ราย แต่ไม่มีรายใดที่จะต้องอาศัยการตัดสินโดยศาล

การให้ความสำคัญต่อหลักสัมมาอาชีวะ
    หลักการบริหารงาน 5 ประการ ซึ่งรวมเอาหลักคุณธรรม5 ประการมารวมไว้ด้วยนั้น เป็นกลไกการบริหารที่บ่งชี้ถึงการคำนึงถึงหลักการของสัมมาชีพ ที่ถือเอาการประพฤติปฏิบัติชอบในการประกอบอาชีพเป็นหลักการสำคัญ

ประวัติผู้นำองค์กร
   นายวิโรจน์ คงปัญญาเกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2490จบระดับการศึกษาในระดับปริญญาตรี หลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ปัจจุบัน กำลังการศึกษาต่อปริญญาโท สาขา สหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนประกอบอาชีพทำสวนยางพาราและสวนผลไม้(สวนสมรม) นายวิโรจน์ คงปัญญา เล็งเห็นความเข้มแข็งของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านดอนคา จึงเป็นผู้ริเริ่มผลักดันนโยบายของกลุ่มออมทรัพย์ ให้พัฒนาแนวทางจากการออมทรัพย์เพื่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ไปสู่การสร้างความสามารถในการผลิตและสวัสดิการชุมชน ความสำเร็จในการขยายขีดความสามารถจากการช่วยเหลือไปสู่การริเริ่มการลงทุนในชุมชน จะเห็นได้จากการลงทุนในกิจการต่างๆ ทั้งโรงแป้งขนมจีน โรงปุ๋ยชีวภาพ โรงรมยางพาราและอบแห้ง แล้ว สมาชิกของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านดอนคา ก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น จาก475 คน และเงินออมหมุนเวียน 1,549,100 บาท ในวันรับตำแหน่งประธานเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2534 มาเป็นสมาชิกจำนวน 14,000 คน และเงินออมหมุนเวียน จำนวน 161,158,297.17 บาท ในปัจจุบัน (ปี พ.ศ. 2559) ครอบคลุมการให้บริการ/สนับสนุนช่วยเหลือเกื้อกูลประชาชน (ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีรายได้ต่อครัวเรือนต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของประเทศ) ในพื้นที่ 10 ตำบล 3 อำเภอ คือพรหมคีรี นบพิตำ และท่าศาลา

 

ข้อมูล ณ.วันที่ 3 มกราคม 2560


องค์กรวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง (เกษตรทิพย์)
ผู้นำองค์กร นายบุญมี สุระโคตร
จังหวัด ศรีสะเกษ ประเภท การผลิตและการแปรรูป

ความเป็นมา

    “วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง” เป็นวิสาหกิจของชุมชนที่จัดตั้งขึ้นที่หมู่บ้านอุ่มแสง ตำบลดู่ อำเภอราศีไศล จังหวัดศรีสะเกษ จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนตาม พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 โดยมีนายบุญมี สุระโคตร เป็นประธาน เมื่อปี พ.ศ. 2549 เป็นกลุ่มที่มีการรวมตัวกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ดำเนินการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดต้นทุนทางการผลิต พึ่งตนเองตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมให้สมาชิกในกลุ่มทำการเกษตรด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ รักษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ และให้ความสำคัญต่อสุขภาพของผู้ผลิต/ผู้ใช้และผู้บริโภคควบคู่กัน เป็นการจัดการต่อประเด็นต้นทุนการผลิตที่มาจากปุ๋ยเคมีราคาแพง สารเคมีมีผลกระทบต่อผู้ผลิต/ผู้ใช้และผู้บริโภค แรกเริ่มก่อตั้งด้วยสมาชิก 74 คน (ปัจจุบันมีสมาชิก 1,258 ราย) และระดมเงินกองทุนได้ 608,000 บาท ทั้งนี้ การจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนในกิจการนี้ได้จดพร้อมกับ “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปุ๋ยอินทรีย์เกษตรทิพย์” ข้อมูลสถิติของจังหวัดศรีสะเกษ จากการสำรวจข้อมูล จปฐ.ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ. 2558 เป็นจังหวัดที่มีตัวเลขรายได้ครัวเรือน 224,045 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขเฉลี่ยของประเทศ 245,980 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ประชาชนโดยส่วนใหญ่มีอาชีพทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับข้าว มันสำปะหลังหอมแดง กระเทียม ข้าวโพด ปอแก้ว และถั่วลิสง

การสร้างสรรค์เศรษฐกิจชุมชน
    การมุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อผลิตข้าวอินทรีย์ วิสาหกิจชุมชนนี้ ได้ดำเนินการผสมผสานกระบวนการผลิต การตลาด และการจัดการต่างๆเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย 1) การส่งเสริมให้มีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ให้เพียงพอต่อการปลูกข้าว 2) ประสานความร่วมมือจากสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย และบริษัท ไบโออะกริเสิร์ช (ไทยแลนด์) จำกัด ในการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องระบบเกษตรอินทรีย์สากลเพื่อการส่งออก และรู้เท่าทันต่อสถานการณ์การค้าข้าวของโลก (รวมทั้งประสานลูกหลานสมาชิกซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ให้มีส่วนร่วม) 3) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานต่างๆและเป็นที่ยอมรับของสากล เช่น สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ไทย (Organic Thailand) International Federation of Organic Agriculture Movements : IFOAM, การรับรองผลิตภัณฑ์อาหารและออร์แกนิคของสหรัฐอเมริกา (USDA) FLO ID 27806 ของ FAIRETRADE มาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ของสหภาพยุโรป (EU-NOP) มาตรฐานข้าวหอมะลิไทย และการรับรองมาตรฐานของผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์  ในแต่ละปี วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวบ้านอุ่มแสง จะรับซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิก แล้วไปผลิตเป็นข้าวอินทรีย์ชนิดต่างๆ ประกอบด้วย ข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวมะลิแดง ข้าวมะลินิล ข้าวเหนียวดำ ข้าว Rice Berry และข้าวชัยนาท 1 เพื่อสนองตอบต่อความต้องการทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ตามมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องกับสัญญาซื้อขาย โดยมี “กลุ่มวิสาหกิจโรงสีข้าวอินทรีย์” ซึ่งจะมีทั้งโรงสีของศูนย์ และโรงสีอื่นๆที่สามารถสีข้าวได้ตามมาตรฐานการรับรอง ไม่ว่าจะเป็นโรงสีสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธกส.ศรีสะเกษ จำกัด (สกต.) ทั้งในจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดใกล้เคียง เช่น โรงสีเกษตรอินทรีย์สุรินทร์ โรงสีเกษตรอินทรีย์น้ำอ้อมยโสธร ปีหนึ่งๆ วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวบ้านอุ่มแสง ปีหนึ่งๆ จะผลิตข้าวอินทรีย์เพื่อตลาดภายในประเทศ 30 %และเพื่อการส่งออกประมาณ 70 % จะรวมเอาการจัดการการปลูก การแปรรูป และการตลาดมาจัดการรวมเข้าด้วยกัน เพื่อเอาราคาขายข้าวอินทรีย์ที่ขายได้ไปจัดความสัมพันธ์กับราคาการรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาสมาชิกได้ จากข้อมูลผลประกอบการของวิสาหกิจในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีรายได้จากการขายข้าวอินทรีย์ชนิดต่างๆ ในปี พ.ศ. 2556 จำนวน 9.5 ล้านบาท ปี พ.ศ. 2557 จำนวน 38 ล้านบาท ปี พ.ศ. 2558 จำนวน 55 ล้านบาท โดยรับซื้อข้าวจากชาวนาสมาชิกในปี พ.ศ. 2556 ประมาณ 1 ล้านตัน ปี พ.ศ. 2557 ประมาณ 2.5 ล้านตัน และปี พ.ศ. 2558 ประมาณ 3.5 ล้านตัน จะเห็นได้ว่า การประกอบการของวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวบ้านอุ่มแสง เติบโตอย่างก้าวกระโดด (ยอดขายเพิ่มขึ้น 478 % ปริมาณรับซื้อข้าวเปลือกเพิ่มขึ้น 250 %) ในรอบ 3 ปี ที่ผ่านมา มีกำไรโดยต่อเนื่อง ปี พ.ศ. 2556 มีกำไร 0.85 ล้านบาท ปี พ.ศ. 2557 มีกำไร 1.34 ล้านบาท และปี พ.ศ. 2558 มีกำไร 1.38 ล้านบาท โดยนำเอา 15 % ของกำไรจัดสรรเป็นเงินปันผลให้กับสมาชิกจำนวน 1,258 ราย พร้อมกับการจัดการเพื่อการต่างๆสำหรับสมาชิกและชุมชน เช่น ประกันความเสี่ยง สมทบสวัสดิการของกลุ่มสมาชิก ทุนการการศึกษาของลูกหลานสมาชิก สมทบทุนเพื่อสาธารณะประโยชน์ของชุมชน ฯลฯ แล้ว วิสาหกิจนี้ ยังนำเอารายได้พิเศษที่ได้รับจากองค์กร Fair Trade ไปสนับสนุนเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการตรวจสอบแปลงนาให้เป็นไปตามาตรฐาน จัดทำกองทุนเมล็ดพันธ์และปุ๋ย ผลิตน้ำดื่มชุมชน รวมทั้งการจัดการเพื่อสาธารณกุศลในชุมชนอีกส่วนหนึ่งด้วย
    กล่าวได้ว่า การที่วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ขายข้าวอินทรีย์ชนิดต่างๆ เป็นเงิน 55 ล้านบาทได้นั้น เป็นผลมาจากการสามารถสร้างตลาดที่ขายไปยังต่างประเทศได้ด้วยการเลือกที่จะเป็นผู้ผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์และผลของการได้รับรองมาตรฐาน ในขณะเดียวกัน ในขณะที่เกษตรกรทั่วไปขายข้าวให้กับรัฐบาลได้ในราคา 11,000 บาทต่อตัน นั้น สมาชิกของวิสาหกิจนี้ สามารถขายได้ในราคา 15,000 บาทต่อตันโดยประมาณ ดังนั้น เฉพาะปี พ.ศ. 2558 ที่วิสาหกิจนี้รับซื้อข้าวจากชาวนาสมาชิก จำนวน 3.5 จึงเท่ากับได้ “เพิ่ม”ส่วนที่เกิดจากผลการดำเนินงานตามระบบเกษตรอินทรีย์และการรับรองมาตรฐานคิดเป็นเงิน 14 ล้านบาท เงินที่ส่วนเพิ่มนี้ นอกจากจะเป็นสร้างสรรค์การไหลเวียนทางเศรษฐกิจของชุมชนและท้องถิ่นแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ต่อครัวเรือนของสมาชิกเพิ่มขึ้นจากวิถีการผลิตแบบปกติทั่วไป หากคิดเป็นรายการต่อครัวเรือน ซึ่งสมาชิกหนึ่งรายจะเป็นตัวแทนของครัวเรือนหนึ่งครัวเรือน ปีหนึ่งๆ สมาชิกจะนำข้าวเปลือกมาขายให้กับวิสาหกิจ ประมาณ 3 ตันต่อรอบการผลิต โดยปีหนึ่งจะมีรอบการผลิต 2 รอบ ก็จะคิดเป็นรายได้ที่เกิดจากมูลค่าเพิ่มนี้ทั้งสิ้น 24,000 บาทต่อครัวต่อปี หรือเท่ากับ 11 %ของรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อปี

การจัดการองค์กร
     วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวบ้านอุ่มแสง มีสมาชิก 1,258 ราย ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูก 20,716 ไร่ 22 หมู่บ้าน 5 ตำบล 2 อำเภอ (อำเภอราศีไศล และอำเภอศิลาลาด) มีกรรมการวิสาหกิจทั้งหมด 17 คน มีเจ้าหน้าที่ประจำ 5 คน แบ่งงานออกเป็นฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายบริหาร ฝ่ายประสานงาน ฝ่ายตรวจสอบแปลงข้าว ฝ่ายรับรองแปลงข้าว นอกจากนี้ ยังมี “กรรมการหลัก” จำนวน 112 คน เพื่อทำหน้าที่ดูแลและเป็นพี่เลี้ยงให้กับสมาชิก โดยมีอัตราส่วน 1 : 10 หรือ 1 : 12 คน การจัดการของวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวบ้านอุ่มแสง ที่เน้นการจัดการตามมิติความสัมพันธ์ตามห่วงโซ่ของธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ แล้ว ยังมีการจัดการกลุ่มวิสาหกิจสนับสนุน นับตั้งแต่การจัดตั้งวิสาหกิจกลุ่มปุ๋ยอินทรีย์เกษตรทิพย์แล้ว ก็ยังมี “กลุ่มวิสาหกิจพืชหลังนา” เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับสมาชิกที่สนใจจะปลูกพืชผักบางชนิด เช่น แตงกวา คะน้า ถั่วฝักยาว มะเขือ มะละกอ ตะไคร้ ฯลฯ “กลุ่มวิสาหกิจเครื่องจักรกล” เพื่อรวมพื้นที่การเพาะปลูกให้สอดคล้องกับการคุ้มค่าการใช้เครื่องจักรกลทั้งการจ้างเพื่อการใช้งาน และการซ่อมบำรุง 

การให้ความสำคัญต่อหลักสัมมาอาชีวะ
   การมุ่งเน้นการเปลี่ยนวิถีการผลิตจากการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นปุ๋ยอินทรีย์ นั้น แสดงถึงการดำเนินธุรกิจที่ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยจิตสำนึกเป็นเบื้องต้น รวมทั้งในการนี้ ยังจัดให้มีกระบวนการดำเนินการที่ต่อเนื่องกันไปตั้งแต่การปลูกและการจัดการแปรรูป ตามเกณฑ์มาตรฐาน ยิ่งไปกว่านั้น การดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวบ้านอุ่มแสง ยังสะท้อนความสำเร็จของการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการดำเนินธุรกิจด้วยการจัดการแบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นธุรกิจและตลาดแบบทางเลือก (ตลาดกระแสรอง) ที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมากขึ้น

ประวัติผู้นำองค์กร

    นายบุญมี สุระโคตร เกิดในครอบครัวชาวนา หลังจากเรียนการศึกษาประถมที่ 7 ก็ช่วยทางบ้านทำนามาโดยตลอด และศึกษาเพิ่มเติมจบการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลายจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ปี พ.ศ. 2556 บุญมี เริ่มการทำนาแบบอินทรีย์เพื่อหาทางลดการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี โดยการน้อมนำเอาปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เริ่มด้วยการลดรายจ่าย ลดต้นทุนการผลิตควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่เผาตอซังแต่จัดการโดยการไถกลบและหว่านพืชที่สามารถเป็นปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปอเทืองและถั่วพร้า รวมกลุ่มเพื่อนบ้านเป็นกลุ่มเพื่อจัดทำปุ๋ยหมักชีวภาพ การสกัดสารจากพืชสมุนไพรเพื่อไล่แมลงศัตรูพืช โดยเพาะเพลี้ยและเชื้อราในข้าว การปรับที่นาให้สม่ำเสมอเพื่อสามารถควบคุมปริมาณน้ำในแปลงนา ปลูกไม้ยืนต้น เช่น มะม่วง ยูคา และตะกู บริเวณโดยรอบแปลงนา ฯลฯ ด้วยสภาพพื้นที่นาของบุญมี อยู่นอกเขตชลประทาน เขาจึงขุดบ่อสร้างแหล่งน้ำเพื่อนำน้ำมาใช้ในการทำนาให้ได้มากกว่า 1 ครั้งต่อปี โดยใช้พื้นที่บางส่วนของพื้นที่นาที่ทำนาในฤดูฝน จำนวน 22 ไร่ มาใช้เพาะปลูกข้าวนาปรังได้ 5 ไร่ จากการพยายามพัฒนากระบวนการทำนา ในพื้นที่ 22 ไร่ ทำนา 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 2 ทำในพื้นที่ 5 ไร่ จึงทำให้บุญมีสามารถมีรายได้ระหว่างปี พ.ศ. 2551 – 2553 เฉลี่ยปีละ 136,534 บาท โดยที่แต่ละปีมีรายได้เพิ่มขึ้น (จากปี พ.ศ. 2551 มีรายได้ 125,600 บาท ปี พ.ศ. 2553 มีรายได้ 144,500 บาท) จนเป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน ตำบล อำเภอ และจังหวัด ได้รับเชิญจากจังหวัดต่างๆ ให้เป็นวิทยากรแนะนำการผลิตข้าวอินทรีย์และอื่นๆ ในนามของ “กลุ่มเกษตรกรเกษตรทิพย์” และ “ข้าวตราลุงบุญมี” ได้รับการยกย่องให้เป็น “ปราชญ์ชาวบ้านเรื่องเกษตรอินทรีย์” เป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลดู่ เป็นกรรมการโรงเรียนหวายคำวิทยา /โรงเรียนบ้านกระเดาอุ่มแสง เป็นประธานศูนย์ข้าวชุมชนตำบลดู่ เป็นกรรมการกองทุนหมู่บ้านอุ่มแสง เป็นประธานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เป็นประธาน OTOP ระดับอำเภอราษีไศล เป็นรองประธานเครือข่าย OTOP จังหวัดศรีสะเกษ และเป็นที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ด้านวิสาหกิจชุมชน 
การสำรวจข้อมูล จปฐ ของจังหวัดศรีสะเกษ
พบว่าในจำนวน 22 อำเภอของจังหวัด อำเภอราศีไศล ประชาชนมีความสุขน้อยที่สุด

ข้อมูล ณ วันที่ 2 มกราคม 2560 


องค์กรวิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านนาต้นจั่น
ผู้นำองค์กร นางเสงี่ยม แสวงลาภ
จังหวัด สุโขทัย ประเภทบริการและการจัดสวัสดิการชุมชน

ความเป็นมา

      หมู่บ้านนาต้นจั่น เป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีจำนวนประชากร1,100 คน 374ครัวเรือน (ข้อมูลจากการสำรวจปี 2558 ขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านตึก)เป็นหมู่บ้านหมู่ที่ 5 ของตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย (ทั้งตำบลมี 14 หมู่บ้าน)ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีรายได้ครัวเรือนต่อปีเฉลี่ย จำนวน 234,573 บาท (หรือ 76,059 บาทต่อคนต่อปี) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ 245,632 บาทต่อครัวเรือนต่อปี (หรือ 79,185 บาทต่อคนต่อปี) บ้านนาต้นจั่น ห่างจากตำบลบ้านตึก ประมาณ 17กิโลเมตร จากอำเภอศรีสัชนาลัย 32 กิโลเมตร และตัวเมืองสุโขทัย 89 กิโลเมตร (ตามระยะทางของการเดินทางโดยรถยนต์) เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ของ “เมืองด้ง”ซึ่งเป็นเมืองประวัติศาสตร์ในยุคสมัยการปกครองของล้านนา อยู่ในการปกครองของเจ้านครลำปาง (ก่อนปี พ.ศ. 2007) ตามประวัติศาสตร์ของตำบลบ้านตึกและต่อมาในปี พ.ศ. 2428 ได้เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองของเมืองสวรรคโลก ด้วยลักษณะที่ตั้งของหมู่บ้านที่ติดกับชายป่าอุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัยเขตรอยต่อตำบลแม่พูล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ จึงทำให้ที่ตั้งของชุมชนและที่ทำกินอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ประชาชนเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ที่มีการทำกินในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ ด้วยลักษณะข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์และสภาพแวดล้อม จึงทำให้ชาวบ้านนาต้นจั่น อาศัยพื้นที่ชายป่าประกอบอาชีพเกษตรกรรมทั้งพืชไร่และพืชสวนมากกว่าการพึ่งพาเศรษฐกิจด้วยการทำนาปลูกข้าว โดยหันไปทำพืชสวนไม้ผลเช่น ลองกอง ทุเรียน มะนาว ส้มโอ กาแฟ และกล้วย การใช้ประโยชน์จากป่า และงานหัตถกรรม เช่น การจักสาน และการกลึงไม้ รวมทั้งการทอผ้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตพื้นบ้าน ประกอบกับคนในตำบลบ้านตึกโดยส่วนใหญ่รวมทั้งนาต้นจั่นเป็น “คนเมือง/คนล้านนา” (เหมือนกับคนลับแล อุตรดิตถ์)ยกเว้นคนในหมู่ที่ 3 กับหมู่ 11 เป็นไทยพวน จึงทำให้ชาวบ้านตึกและนาต้นจั่น มีทุนทางวัฒนธรรมของชุมชน ที่ต่างไปจากคนตำบลอื่นของอำเภอศรีสัชนาลัย

การสร้างสรรค์เศรษฐกิจชุมชน

      กลุ่มทอผ้าบ้านนาต้นจั่นมีนางเสงี่ยม แสวงลาภ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกลุ่ม รวมตัวกันเป็นกลุ่มในปี พ.ศ. 2534 เป็นการพัฒนาต่อยอดมาจาก “กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร” ที่รวมกันส่งเสริมการปลูกข้าวโพด กล้วย และแปรรูปกล้วย แล้วนำรายได้จากการขายกล้วยไปใช้จ่ายจ้างแรงงานเกี่ยวข้าว ซึ่งก่อตั้งมาก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 ต่อมา ในปี พ.ศ. 2540 กลุ่มอาชีพทอผ้าบ้านนาต้นจั่น ได้รับเงินสนับสนุนจากกรมการพัฒนาชุมชน ให้พัฒนาทักษะและเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆในการทอผ้า เพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับสีการย้อมผ้า การตลาด และการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน การพัฒนาของกลุ่มทอผ้าบ้านนาต้นจั่นและการสร้างสรรค์เศรษฐกิจของชุมชน นั้น มีจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญมาจากการการดำเนินงานตามโครงการ “หมู่บ้านอุตสาหกรรมชนบทเพื่อการท่องเที่ยว” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่สนับสนุนกิจกรรมและงบประมาณตามโครงการประมาณ 2 ล้านบาท และการสนับสนุนของธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan Bank for International Cooperation : JBIC)ที่สร้างศูนย์แสดงสินค้าชุมชนฝึกอบรมและเพิ่มพูนความรู้การบริหารจัดการกลุ่ม นอกจากนั้น ยังคัดเลือกให้รับรางวัลการบริหารจัดการชุมชนดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2546 และให้ทุนแก่ตัวแทนของกลุ่มไปศึกษาดูงานพัฒนาผลิตภัณฑ์หมู่บ้านและการจัดการท่องเที่ยวชุมชนที่ประเทศญี่ปุ่น 28 มิถุนายน พ.ศ. 2549 กลุ่มอาชีพทอผ้าบ้านนาต้นจั่น ได้อนุมัติการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 เป็น “วิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านนาต้นจั่น” โดยมีผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 5 ดาว คือ ผ้าหมักโคลน ซึ่งเป็นการนำเอากระบวนการย้อมสีจากสีธรรมชาติไปผสมกับการหมักโคลน ซึ่งเป็นการค้นพบของวิถีการใช้ชีวิตของชาวบ้านที่พบว่าผ้าที่เปื้อนโคลน (ซึ่งมีส่วนประกอบของธาตุเหล็ก) แม้จะซักและตากแห้งแล้วจะนุ่มกว่าปกติ การพัฒนาสีย้อมผ้าโดยผสมจากวัสดุธรรมชาติของท้องถิ่น เช่น สีเขียวแก่ – ใบมะม่วง สีเขียวอ่อน – ใบจั่น สีโอลด์โรส– ใบสะเดา สีเขียวครีม – ใบหูกวาง สีเหลือง – แก่นขนุน สีม่วง – เปลือกมังคุด สีกะปิ – เปลือกสะเดา สีดำ – ลูกมะเกลือ สีเหลืองใบไผ่- ไม้เพกา สีแดงอมฝาด – ไม้ฝาง เป็นต้น กล่าวได้ว่า ในขณะที่จังหวัดสุโขทัย เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นถิ่นกำเนิดของผ้าตีนจก ที่บ้านนาต้นจั่น จะเป็นที่รู้จักกันในเรื่องผ้าหมักโคลน ที่สร้างสรรค์ “ลายขิด” ขึ้นไว้อีกมากกว่า 50 ลาย นอกจากนั้น การทอผ้าที่บ้านนาต้นจั่น ยังอนุรักษ์การทอผ้าแบบดั้งเดิมที่ใช้ “กี่พื้นเมือง” มีการทอตามลวดลายต่างๆที่พัฒนาขึ้นเป็นการเพิ่มเติม เช่น ลายดอกพิกุล ลายดอกบัว และลายสารภี เป็นต้น นอกจากจะมีผลิตภัณฑ์ผ้าทอและการวางจำหน่าย ณ ศูนย์แสดงสินค้าของหมู่บ้านแล้ว วิสาหกิจชุมชนของกลุ่มทอผ้าบ้านนาต้นจั่น ยังสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อท่องเที่ยวชุมชนขึ้นมาคู่ขนานกันไปเพื่อเป็นการกระตุ้นตลาดและความสนใจของผู้บริโภค ประกอบด้วย 1) กลุ่มผู้ประกอบการโฮมสเตย์2) กลุ่มนวดสปา3) กิจกรรมสนับสนุนการท่องเที่ยวในชุมชน– จุดชมวิวบนภูเขา การแสดงละเล่นพื้นบ้าน การทำบุญตักบาตร การเยี่ยมชมกิจกรรมจักสาน การทำตะเกียบไม้ไผ่ การจัดทำตุ๊กตาบาร์โหน การสาธิตกี่ทอผ้า การจัดบริการยวดยานพาหนะ การบริการจักรยานให้เช่า ตลาดนัด 3 แคร่ในวันเสาร์-อาทิตย์ การผลิตและบริการข้าวเปิ๊บ และร้านกาแฟ ฯลฯ
      จากที่กล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า วิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านนาต้นจั่น ดำเนินธุรกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์ 2 แขนง ขึ้นพร้อมกัน คือ ผลิตภัณฑ์ผ้าทอ และการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต่างไปจากการผลิตแบบเกษตรกรรมโดยเฉพาะอย่างแบบที่ผลิตเพื่อยังชีพแล้วขายส่วนที่เหลือ ทั้งนี้ก็เพราะ เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นใหม่มีลักษณะการขึ้นต่อการรับรู้ และค่านิยมของผู้บริโภคเป็นด้านหลัก มีความแนบแน่นกับความเกี่ยวข้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของเมือง

การจัดการองค์กร

     การบริหารงานของวิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านนาต้นจั่นโดยมีนางเสงี่ยม แสวงลาภ เป็นประธานกรรมการ มีพนักงาน/ลูกจ้าง มีแขนงกิจกรรมทางธุรกิจ 3 แขนงด้วยกัน คือ 1) ผลิตภัณฑ์ผ้าทอ 2) บริการโฮมสเตย์และกิจกรรมท่องเที่ยว 3) บริการนวดสปา ผลิตภัณฑ์ทอผ้า จะมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 308 คน หรือ 264 ครัวเรือน โดยที่กลุ่มทอผ้านี้ จะแบ่งการทำงานของสมาชิกไปตามขั้นตอนของการผลิต คือ กลุ่มจัดหาวัสดุ ย้อม ทอ ออกแบบ ตัดเย็บ และการจัดจำหน่าย ฯลฯ สำหรับกิจการท่องเที่ยวโดยชุมชน จะมีบริการโฮมสเตย์ ฯ จะมีสมาชิกกลุ่ม 19 หลัง หรือ 19 ครัวเรือนและบริการนวดสปา จะมีสมาชิกที่ให้บริการ 6 คน หรือ 6 ครัวเรือน นอกจากนี้แล้วในกิจการท่องเที่ยว ยังจะมีการจัดให้มีบริการด้านการละเล่น การแสดงพื้นบ้าน การพาไปชมจุดชมวิว ฯลฯ ซึ่งจะมีมัคคุเทศก์หรือผู้นำพาไปในที่ต่างๆ ซึ่งจะมีความเกี่ยวข้องกับการประสานงานและการจัดบริการ การบริหารงานของวิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านนาต้นจั่น นอกจากสมาชิกจะได้รับผลตอบแทนจากการร่วมงานกับวิสาหกิจในรูปแบบต่างๆ เช่น ถ้าเป็นพนักงานหรือคนงานก็จะได้รับค่าจ้างแรงงาน ถ้าเป็นผู้ขายวัตถุดิบก็จะได้รับค่าสินค้าตามลักษณะของสินค้าที่ขาย ทั้งนี้ในกรณีของกลุ่มทอผ้า ผู้ที่รับเส้นด้ายไปทอ จะได้รับค่าทอผืนละ 90-400 บาท ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของลายและการทอ เดือนหนึ่งๆสมาชิกประเภทนี้ จะมีรายได้ประมาณ 4,000 บาทต่อเดือน สมาชิกยังจะได้รับแบ่งปันผลกำไรและสวัสดิการต่างๆอีกลำดับหนึ่งด้วย สำหรับกลุ่มโฮมสเตย์และนวดสปา จะถือว่ารายได้เกิดขึ้นต่อสมาชิกผู้ให้บริการโดยตรง โดยสมาชิกของกลุ่มในเรื่องนั้นๆจะหัก % สมทบเป็นรายได้ให้กับวิสาหกิจ ตัวอย่างกรณีของกลุ่มบ้านพักโฮมสเตย์ ราคาขายจะคิดเท่ากัน คือ 500 บาทต่อคนต่อ 1 คืน ในกรณีที่เป็นลูกค้าจร เจ้าของบ้านพักโฮมสเตย์จะหักรายได้สมทบวิสาหกิจ 10 บาทต่อคนต่อ 1 คืน ในกรณีที่เป็นลูกค้ากลุ่ม เจ้าของบ้านกับวิสาหกิจ จะแบ่งกันคนละครึ่ง เป็นต้น ผลการประกอบการของวิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านนาต้นจั่น ทำให้เกิดการจ้างงานขึ้นใหม่ในกิจการทอผ้า มีรายได้เพิ่มจากการขายผลิตภัณฑ์ผ้าทอ จากบ้านพักโฮมสเตย์ การเช่าพาหนะ การขายของที่ระลึก ฯลฯ นอกจากนั้นแล้ว จากการสำรวจข้อมูลยอดขายของผลิตภัณฑ์ผ้าทอ ระหว่างปี 2556-2559 พบว่า เฉลี่ยเป็นเงิน 3,479,800 บาทต่อปี (ปี พ.ศ. 2556 มียอดขาย 4,067,640 บาท ปี 2557 มียอดขาย 3,213,551 บาท และปี พ.ศ. 2559 มียอดขาย 3,158,159 บาท) ซึ่งถือได้ว่า เป็นจำนวนเงินที่วิสาหกิจชุมชนฯได้สร้างขึ้นให้เป็นกระแสหมุนเวียนในระดับชุมชน หากจะนำเอาตัวเลขรายได้จากการประกอบกิจการทอผ้าของวิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านนาต้นจั่นข้างต้นไปคิดเฉลี่ยเป็นรายได้ต่อคนต่อปีของสมาชิกที่มีอยู่จำนวน 308คน จะได้เท่ากับ 11,297 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งคิดเป็น15 % ของรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีของจังหวัด (ตามตัวเลขของ จปฐ.)

การให้ความสำคัญต่อหลักสัมมาอาชีวะ
     การดำเนินกิจการของวิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านนาต้นจั่น ได้ให้ความสำคัญในการสร้างสรรค์กิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ๆให้เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชน โดยเฉพาะชุมชนที่ติดชายป่าอุทยานโดยมุ่งที่จะสร้างสรรค์กิจกรรมที่ไม่ใช้ประโยชน์จากการครอบครองหรือบุกรุกป่า หันมาพึ่งพาและสร้างประโยชน์ป่าด้วยการท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์ธรรมชาติ วัฒนธรรม กิจกรรม และงานฝีมือ พัฒนาผลิตภัณฑ์สีด้วยวัสดุธรรมชาติ (การผสมของใบไม้และเปลือกไม้) การหมักโคลน ฯลฯ สำหรับการรองรับนักท่องเที่ยวโดยชุมชนของบ้านนาต้นจั่น ซึ่งเป็นการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ก็จะมีการจัดระบบการจัดการโดยความร่วมมือของชุมชน จำหน่ายสินค้าของชุมชนและผลผลิตทางการเกษตรในราคาที่เป็นธรรม บริการผู้พักอาศัยด้วยความจริงใจ ไม่แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวใช้เสียงดังเอะอะ มีข้อเกี่ยวกับห้ามเล่นการพนัน ดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ การจัดที่พักแยกกันระหว่างชายและหญิงที่ไม่ได้เดินทางมาด้วยกัน การดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านนาต้นจั่น สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการสร้างสรรค์และการจัดการผลิตภัณฑ์ชุมชนหมู่บ้าน อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และการใช้ประโยชน์หรือการอยู่ร่วมกับธรรมชาติชายป่าอุทยานแห่งชาติ โดยการผสมผสานเข้ากับความนิยมของผู้บริโภคที่หันมาให้ความสนใจต่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งเป็นธุรกิจและตลาดแบบทางเลือก (ตลาดกระแสรอง)  อนึ่งผู้นำของวิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านนาต้นจั่น ได้รับการเพิ่มพูนความรู้ในด้านต่างๆจากการสนับสนุนของส่วนราชการต่างๆ เป็นอย่างดี เช่น การพัฒนาศักยภาพหมู่บ้าน การจัดการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน การจัดทำและบริหารแผนพัฒนาหมู่บ้าน ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างความตระหนักในหลักคุณธรรม จริยธรรม และความยั่งยืน

ประวัติผู้นำองค์กร

        นางเสงี่ยม แสวงลาภ เกิดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2496 ปัจจุบันอายุ 63 ปี สมรสกับนายยอดธง แสวงลาภ มีบุตร-ธิดา 3 คน ประสบการณ์ในการดำเนินงานเพื่อส่วนรวมของนางเสงี่ยม แสวงลาภ ประธานกรรมการวิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านนาต้นจั่น

ประสบการณ์การทำงานเพื่อชุมชนและการนำ

  1. เคยเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) ติดต่อกัน 3 สมัย 18ปีระหว่างปี พ.ศ. 2542 ถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2560)
  2. เป็นอาสาพัฒนาชุมชนจนถึงปัจจุบัน ซึ่งดำรงตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531
  3. เป็นประธานกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มทอผ้าซึ่งดำรงตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534
  4. เป็นประธานกลุ่มโฮมสเตย์ บ้านนาต้นจั่นซึ่งดำรงตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 (โฮมสเตย์ เกิดขึ้นก่อนการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน –2549)
  5. เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทพัฒนาสตรีจังหวัดสุโขทัย
  6. เป็นกรรมการในคณะกรรมการหมู่บ้าน บ้านนาต้นจั่น
  7. เป็นกรรมการในคณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนมัธยมประจำตำบล
  8. เป็นกรรมการในคณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนประถมศึกษาประจำหมู่บ้าน
  9. เป็นกรรมการในคณะกรรมการร่วมพิจารณาเงินงบประมาณ โครงการพัฒนาชุมชนของจังหวัดสุโขทัย

ประวัติด้านผลงานและรางวัลทั้งในนามส่วนตัว ตัวแทนกลุ่ม และวิสาหกิจชุมชน ดังนี้

ผลงานส่วนตัว

1) ได้รับรางวัลแม่ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2557 ประเภท แม่ผู้เป็นเกษตรกร ของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ 2) รางวัลสตรีดีเด่นด้านการส่งเสริมการเกษตรภาคเหนือ ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ผลงานการเป็นตัวแทนกลุ่มและวิสาหกิจ

  1. รางวัลสิงห์ทอง ผู้นำเครือข่ายพัฒนาชุมชนดีเด่นของกระทรวงมหาดไทย ประจำปี 2552
  2. รางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประจำปี พ.ศ.2557

ผลการบริหารวิสาหกิจชุมชน จนเป็นผลให้ชุมชนบ้านนาต้นจั่น ได้รับรางวัลต่างๆ ดังนี้

  1. รางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็น เป็นสุข” ของกระทรวงมหาดไทย ประจำปี 2552
  2. รางวัลส่งเสริมกิจกรรมนันทนาการดีเด่น นันทนาการนอกเมือง ของกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ประจำปี 2553
  3. รางวัลภูมิปัญญาไทย สาขาคหกรรม ของจังหวัดสุโขทัย ประจำปี 2553
  4. รางวัล Pata Gold Award 2012 ระดับอาเซียน ด้านการอนุรักษ์ภูมิปัญญา ของ Tourism Malaysia
  5. ศูนย์เรียนรู้สิ่งทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2555 ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
  6. 1 ใน 20 ชุมชนท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์จากคะแนนโหวตของ www.mycreativetourismthailand.com ปี2557
  7. หมู่บ้านต้นแบบการจัดการสารสนเทศเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตดีเด่น ระดับภาค ภาคเหนือ ของกรมการพัฒนาชุมชน ประจำปี 2557
  8. รางวัล Thailand Homestay Standard 2015-2017 (พ.ศ. 2558-2560) ของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
  9. รางวัลกินรีทองคำยอดเยี่ยม ด้านองค์กรสนับสนุน ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
  10. รางวัลชนะเลิศองค์กรชุมชนแกนหลักในการพัฒนาหมู่บ้าน ประจำปี 2558 (กลุ่มโฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น) ของจังหวัดสุโขทัย
  11. รางวัลสิงห์ทอง (กลุ่มโฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น)ของกรมการพัฒนาชุมชน ประจำปี 2558

ชุมชนในระดับหมู่บ้านตามการสำรวจจปฐ.ของกรมการพัฒนาชุมชน
พบว่า มีประชากรครัวเรือนเฉลี่ย 153 ครัวเรือนต่อหมู่บ้าน

ข้อมูล ณ 2 มกราคม2560


 

Back To Top