skip to Main Content
02-530-9204-5 sammachiv.pr@gmail.com
หมอรามาฯไม่ทนลงชื่อ 851 คน  จี้ปิดสุญญากาศกัญชาเสรี

หมอรามาฯไม่ทนลงชื่อ 851 คน จี้ปิดสุญญากาศกัญชาเสรี

หมอรามาฯไม่ทนลงชื่อ 851 คน

จี้ปิดสุญญากาศกัญชาเสรี

 

กลุ่มหมอรามาธิบดีคงสุดทน จึงลุกขึ้นยืนแถวหน้า ร่อนแถลงการณ์ประกาศจุดยืนเกี่ยวกับนโยบายกัญชาเสรีของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข เป็นแม่งานใหญ่หวังผลักดัน“กัญชาพารวย” แต่เยาวชนอนาคตของชาติกำลังถูกทำลายให้มึนเมา

 

เมื่อกลุ่มหมอออกมาต้านกัญชาเสรี จึงไม่ใช่สิ่งปกติธรรมดาเสียแล้ว ดังนั้นนายกรัฐมนตรีควรรับฟังอย่างสงบ ตั้งใจ แล้วไตร่ตรองถึงพิษภัย “กัญชาเสรี” ซึ่งระบาดไปทั่วพื้นที่ทั้งร้านอาหาร ตั้งขายเสรีริมถนน สามารถซื้อทางออนไลน์ได้ แล้วลามรุกเข้าถึงโรงเรียน นี่เป็นสภาวะอันตราย ไม่ใช่อารมณ์ไฮปาร์คเฮฮาของนักการเมืองที่คิดแต่ด้านบวกทางการแพทย์ว่า กัญชาพารวย

 

 

เสียงจากแถลงการณ์สั้นๆ แต่ชัดเจนเมื่อ 24 ก.ค. 2565 กลุ่มหมอรามาธิบดี และคณะแพทย์ ม.มหิดล 851 คน แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์จากนโยบายกัญชาเสรีในปัจจุบันนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่รัฐบาลมิควรเมินเฉย

 

ข้อเรียกร้องในแถลงการณ์มี 2 ข้อคือ 1. ปิดสภาวะสุญญากาศ โดยออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขชะลอการบังคับใช้การปลดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ออกไปก่อน จนกว่าจะมีมาตรการควบคุมที่เพียงพอ หรือให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ที่ใช้ในทางการแพทย์ได้ เหมือนมอร์ฟีน หรือออก พ.ร.ก.กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดจนกว่าจะมี พ.ร.บ.กัญชาออกมาบังคับใช้ และ 2. จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน เพื่อออกแบบนโยบายกัญชาของประเทศไทยอย่างน้อย 1-2 ปี เพื่อประกอบการพิจารณาออก พ.ร.บ.กัญชาต่อไป

สภาวะสุญญากาศของนโยบายกัญชาเสรี เกิดขึ้นนับแต่อนุทิน ชาญวีรกูล ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ให้ปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ซึ่งมีผลตั้งแต่ 9 มิ.ย. 2565 ในขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา ยังไม่แล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการของสภา 

 

ไม่เพียงเท่านั้น ยังเสียงที่รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขควรต้องใส่ใจรับฟัง เพราะเป็นเสียงจากสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งมีสมาชิกเป็นแพทย์ผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่งในกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่อนแถลงการณ์ร่วมแสดงจุดยืนให้ปิดภาวะกัญชาเสรีทันที โดยจุดยืนนี้สนับสนุนกลุ่มหมอ 851 ของรามาธิบดีเช่นกัน

 

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เมื่อ 9 ก.ค. 2565 เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด ออกจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 2 ถึงรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา กับส่งไปสภาผู้แทนราษฏรถึงชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร, พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา และ ศุภชัย ใจสมุทร ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. …. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

 

สาระสำคัญของจดหมายเปิดผนึกเป็นเช่นเดียวกับแถลงการณ์เรียกร้องของกลุ่มหมอรามาธิบดีทั้ง 851 คนที่เรียกร้อง 2 ข้อ คือ ปิดสภาวะกัญชาเสรีในสภาวะสุญญากาศทันที และจัดให้มีกระบวนการรับฟังผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน

 

ย้อนไปพิจารณาเนื้อหาในจดหมายเปิดผนึก ซึ่งระบุด้วยเหตุผลทางการแพทย์และหวั่นกังวลกับสภาพแวดล้อมสังคมที่เข้าถึงกัญชาได้เสรีว่า ‘กัญชาเสรีในสภาวะสุญญากาศ’ เนื่องจากยังไม่มีนโยบายควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดอย่างเพียงพอ จนเกิดผลกระทบจากการใช้กัญชาอย่างมาก ทั้งการบริโภคแบบรู้ตัว (เช่น สูบดอกกัญชา) และแบบไม่รู้ตัว (เช่น กินอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาที่ไม่มีใครบอก) ซึ่งเกิดกับทั้งผู้ใหญ่ เยาวชน และเด็กเล็ก ตลอดจนมีการขายกัญชาเพื่อนันทนาการ (ความบันเทิง) แพร่หลายไปหมด 

 

 

สถานการณ์เช่นนี้จะรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อประชาชนปลูกในครัวเรือนมากขึ้นในอนาคต หากสถานการณ์กัญชาเสรีในสภาวะสุญญากาศนี้ยังต่อเนื่องไปนาน จะเกิดความเสียหายต่อประเทศอย่างรุนแรง โดยเฉพาะต่ออนาคตของเด็กและเยาวชนไทยในระยะยาว ประเทศไทยจึงไม่ควรตกอยู่ในสภาวะสุญญากาศนาน ต้องมีนโยบายควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดอย่างเพียงพอโดยเร็ว เมื่อประชาชนจำนวนมากใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ และจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการบริโภคกัญชาแบบไม่รู้ตัวอย่างชัดเจน

 

อย่างไรก็ตาม การออกแบบมาตรการเพื่อควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดมีรายละเอียดมาก ต้องการการออกแบบอย่างรอบคอบ เช่น กัญชาจะยังเป็นยาเสพติดหรือไม่, ประเทศไทยต้องการนโยบายกัญชาทางการแพทย์ หรือกัญชาเพื่อเศรษฐกิจ หรือกัญชาเพื่อนันทนาการ, จะให้ปลูกกัญชาในครัวเรือนหรือไม่ จำนวนเท่าใด, จะควบคุมเยาวชนนำช่อดอกกัญชาไปสูบได้อย่างไร, จะควบคุมการทำธุรกิจกัญชาแค่ไหน เพียงใด, จะควบคุมการโฆษณาและการส่งเสริมการขายหรือไม่ เพียงใด, จะปกป้องเยาวชนอย่างไร, จะปกป้องผู้ไม่เสพใช้กัญชาอย่างไร, จะควบคุมการขับขี่ยานพาหนะหลังการเสพกัญชาอย่างไร, จะมีมาตรการภาษีกัญชาหรือไม่ อย่างไร และจะใช้งบประมาณส่วนไหน อย่างไร เพื่อจัดระบบรักษาพยาบาลผู้ป่วยจากการใช้กัญชา เพื่อจัดการณรงค์ป้องกันการใช้กัญชาหรือการใช้กัญชาในทางที่ผิด และเพื่อจัดให้มีระบบติดตามและประเมินผล เป็นต้น ซึ่งต้องปรึกษาผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน และต้องใช้เวลาพิจารณาอย่างรอบคอบ จะเร่งรัดไม่ได้

 

จึงควรพิจารณาทบทวนนโยบายกัญชาเสรีดังกล่าว ซึ่งทำได้ง่ายมาก เนื่องจากการปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติดเป็นเพียงประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นอำนาจและความรับผิดชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น โดยควรที่จะต้อง ‘ปิดสภาวะสุญญากาศทันที’ และ ‘จัดให้มีกระบวนการรับฟังผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน เพื่อร่วมกันออกแบบนโยบายกัญชาของประเทศไทย ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาในสภาต่อไป’

 

 

ปิดสภาวะสุญญากาศทันที โดยออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ชะลอการบังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดออกไปก่อน จนกว่าจะมีมาตรการควบคุมที่เพียงพอ หรือประกาศให้กัญชา (ครอบคลุมดอก ยาง สารสกัด และทิงเจอร์ จากดอกและยางกัญชา) เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 (ซึ่งจะใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ เหมือนมอร์ฟีน และประเทศไทยจะไม่ผิดฐานละเมิดอนุสัญญายาเสพติด ปี 1961 และ 1972 ที่ได้ลงนามสัตยาบันไว้อีกด้วย) หรือ ออกพระราชกำหนดกำหนดให้กัญชายังเป็นยาเสพติด จนกว่าจะมีกฎหมายกัญชาออกมาบังคับใช้ 

 

 

จดหมายเปิดผนึกเครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด มีขึ้นเมื่อเกิดสภาวะสุญญากาศกัญชาเสรีครบหนึ่งเดือน แต่ขณะนี้สภาวะสุญญากาศกัญชาเสรีดำเนินมาแล้วกว่า หนึ่งเดือนกับอีก 15 วัน นับแต่การปลดล็อกกัญชาเป็นยาเสพติดเมื่อ 9 มิ.ย. 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่ความแตกตื่นขยายออกไปในวงกว้าง โดยเฉพาะก่อผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนที่อาจเข้าถึงกัญชาได้ กลุ่มหมอรามาฯ จึงร่อนแถลงการณ์กระตุ้นอีกครั้ง

 

ดังนั้น ข้อเสนอสั้นกระชับนี้ทั้งกลุ่มหมอรามาธิบดี เครือข่ายนักวิชาการฯ มีรายละอียดสมเหตุสมผลยิ่งว่า จะปิดสภาวะสุญญากาศกัญชาเสรีอย่างไร ทำด้วยวิธีการเช่นไร ซึ่งเป็นเรื่องง่ายๆของนักการเมืองสามารถทำได้ทันที ดังนั้นนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรรับฟังและต้องดำเนินการแก้ปัญหาโดยเร่งด่วน ก่อนสายเกินมีเวลาคิดอ่านแก้ปัญหาได้ทัน

Back To Top