skip to Main Content
02-530-9204-5 sammachiv.pr@gmail.com
แอร์เอเชีย เปิดใจวิกฤติ ผนึกกำลังร่วมแรงฝ่าพ้นภัย

แอร์เอเชีย เปิดใจวิกฤติ ผนึกกำลังร่วมแรงฝ่าพ้นภัย

แอร์เอเชีย เปิดใจวิกฤติ
ผนึกกำลังร่วมแรงฝ่าพ้นภัย

การอบรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 12 เมื่อ 1 พ.ค. 2565 ที่โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ มีนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย เป็นวิทยากรในหัวข้อ “การตัดสินใจในภาวะวิกฤติ”

 

ธุรกิจไทยแอร์เอเชีย หรือแอร์เอเชีย เป็นสายการบินราคาประหยัด ภายใต้ภาพลักษณ์ “ใคร ใคร…ก็บินได้” (Now Everyone Can Fly) ก่อตั้งประมาณปี 2546 ซึ่งนายธรรศพลฐ์ เล่าว่า ตั้งแต่เปิดเที่ยวบินแรกเมื่อ 3 ก.พ. 2547 จากกรุงเทพไปเชียงใหม่ แต่บินไปถึงนครสวรรค์ เครื่องเกิดขัดข้องต้องวนกลับมาลงจอดที่สนามบินดอนเมือง จนเป็นข่าวขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ทุกฉบับโดยไม่เสียเงินค่าโฆษณาสักบาทเดียว และจากนั้นต้องเผชิญกับวิกฤติมาเป็นระยะๆ ทั้งโรคไข้หวัดนกระบาดนักท่องเที่ยวหดลดลงวูบ แล้วยังถูกฝ่ายปฎิวัติยึดอำนาจเมื่อ ก.ย. 2549 กล่าวหาว่า เป็นพวกอำนาจเก่า จึงพยายามสั่งปิดกิจการ แต่ได้สู้จนรอดพ้นมาได้

 

วิกฤติถล่มซ้ำต่อเนื่อง

นายธรรศพลฐ์ บอกว่า ตลอดช่วงดำเนินธุรกิจมาถึงปัจจุบันก้าวขึ้นปีที่ 19 ทุกวิกฤติที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการเมือง เหตุจากธรรมชาติ น้ำท่วม และเจอวิกฤติการเงินต้มยำกุ้ง ล้วนมีผลกระทบกับไทยแอร์เอเซียทั้งสิ้น โดยเฉพาะวิกฤติสึนามิ ไทยแอร์เอเซียต้องบินขนคนที่บาดเจ็บ มีแผลฉกรรจ์กลับมากรุงเทพพนักงานแทบไม่ได้พักผ่อน

 

อีกทั้ง ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสีเหลืองกับแดงปะทุขึ้นเข้มข้นดุเดือด กลุ่มผู้ประท้วงลามปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเครื่องบินของไทยแอร์เอเซีย 9 ลำ กับบางกอกแอร์เวย์อีกประมาณ 13 ลำ
จอดอยู่ นักบินต้องพกปืน ตัดรั้ว ปั่นจักรยาน ลอบปีนไต่เชือกไปขับครื่องบินออกจากสุวรรณภูมิตอนกลางคืน เพราะหวั่นกลัวถูกไฟเผ่าทำลายวอดวาย

 

 

“เราต้องจารกรรมเครื่องบินของเราเอง ไม่เปิดไฟรันเวย์ และปิดไฟบินขึ้น เป่ายิ้งฉุบกับบางกอกแอร์เวย์เพื่อเลือกแท็กซี่รันเวย์ และตกลงกันให้ไทยแอร์เอเซียบินขึ้นแล้วเลี้ยวซ้าย ส่วนบางกอกแอร์เวย์วนไปขวา จนเราสามารถนำเครื่องบินไปจอดเก็บไว้ที่อู่ตะเภาและสนามบินภูเก็ตได้สำเร็จ เรียบร้อย ปลอดภัย” นายธรรศพลฐ์ เล่าด้วยสีหน้าจริงจังกับการแก้ปัญหาหน้างานเพื่อนำเครื่องบินไปให้ห่างไกลกลุ่มผู้ประท้วงสีเหลืองยกพลปิดสนามบินสุวรรณภูมิช่วงปลายปี 2551

 

ถัดจากนั้น มาเผชิญกับวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่ต้องเช่าโรงแรมให้พนักงานพัก 40-50 ห้อง ต่อมาจนต้องอพยพเครื่องบินหนีน้ำท่วมไหลเข้าสนามบินสุวรรณภูมิไปอยู่อู่ตะเภา ใช้ล็อบบี้โรงแรงโนโวเทล บางนา เป็นที่เช็คอิน แล้วใช้รถยนต์พาไปขึ้นเครื่องบินที่อู่ตะเภาโดยเก็บค่าตั๋วโดยสารเท่าเดิม ไม่มีการบวกเพิ่ม

 

“ข้อดีของวิกฤติทุกครั้งคือ พนักงานไม่เคยส่ายหัว ไม่เคยเซย์โน มีแต่สู้ไปด้วยกัน นั่นทำให้เราผ่านพ้นวิกฤติไปได้ เพราะมีแรงกาย แรงใจร่วมกันเป็นหนึ่ง ไม่มีใครบ่น ไม่มีใครย่อท้อ หรือท้อแท้ ทุกคนอยากเอาชนะ นั่นคือ สิ่งทำให้แอร์เอเชียอยู่รอดมาได้จนถึงทุวันนี้”

 

 

ยังมีอีก นายธรรศพลฐ์ เล่าถึงการผจญกับวิกฤติปฎิวัติยึดอำนาจปี 2557 แล้วเจอวิกฤติน้ำมันแพง ตามด้วยปัญหานักท่องเที่ยวจีนไม่พอใจไทย บอยคอตไม่มาเที่ยว ส่งผลกระทบยอดนักท่องเที่ยว 40 % ที่มาขึ้นเที่ยวบินในประเทศเพื่อเดินทางต่อต้องสูญหายไปทันที

 

ไม่เพียงเท่านั้น ถัดมาเจอวิกฤติโควิดอีกกว่า 2 ปี รัฐบาลปิดประเทศ เครื่องบินหยุดบิน แล้วถึง 1 พ.ค. 2565 เป็นวันแรกประกาศเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ยกเลิก “เทสต์แอนด์โก” (Test & Go) ไม่ตรวจ RT-PCR แต่ยังต้องตรวจ ATK ซึ่งความจริงไม่มีตรวจ เพราะสนามบินทั้งสุวรรณภูมิและดอนเมืองไม่มีสถานที่พอให้ตรวจ ดังนั้น ต้องรอดูอีกสัปดาห์ว่า สถานการณ์โควิดจะเป็นอย่างไร

 

รัฐบาลพ่นน้ำลายกระตุ้นท่องเที่ยว

ไทยแอร์เอเชียผจญวิกฤติมาตลอด ไม่เคยจางหาย แล้ววิกฤติครั้งหน้าเมื่อโควิดผ่อนคลายลง
นายธรรศพลฐ์ กังวลถึงรายได้ประชาชนที่สูญหายไป และเงินออมเคยมีต้องพร่องสูญลง เกิดความเดือดร้อน หากทำให้สภาพคล่องกลับมาเหมือนเดิมคงใช้เวลาถึง 5 ปีจึงจะสามารถเก็บออมได้ครั้งใหม่

 

“วันนี้โควิดเป็นบทเรียนให้เราต้องเก็บเงิน การท่องเที่ยวอีก 15 ปีข้างจะเป็นอย่างไร ผมก็เดาไม่ออก เมื่อสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยให้เกิดรายได้ ดังนั้น รัฐบาลต้องกระตุ้น ต้องอัดฉีดเงินในระบบให้คนมีรายได้ส่วนเกินขึ้น ท่องเที่ยวก็ฟื้นได้ โดยเฉพาะต้องมีมาตรการรณรงค์จากรัฐบาลออกมาสนับสนุนช่วยเหลือเอกชนด้วย เพราะเอกชนไม่มีเงินรณรงค์การท่องเที่ยวแบบลดครึ่งราคาทั้งเมือง ทั้งเกาะอีกแล้ว ขณะที่รัฐบาลกลับถังแตกเช่นกัน”

 

พร้อมกับย้ำว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ช่วยเอกชนเลย ตลอดช่วงโควิดระบาดกว่า 2 ปี มีแต่เอกชนช่วยตัวเองตลอด วันนี้จึงไม่มีปัญญาอีกแล้ว ที่ผ่านมาแอร์เอเซียขาดทุนไปกว่า 2 หมื่นล้าน และยังขาดทุนอีกประมาณเดือนละ 120 ล้าน โดยรัฐบาลไม่ได้ช่วยอะไรเลย เอาแต่พ่นน้ำลายมากระตุ้นการท่องเที่ยวด้วยการเปิดประเทศ ทำเพียงแค่นี้เอง

 

 

“การกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาล พูดแต่ปากไม่มีมาตรการอะไรออกมาเสริม ส่วนเอกชนต้องพึ่งตัวเอง จับมือกันเองออกแคมป์เปญกระตุ้นท่องเที่ยว ที่ผ่านมาเอกชนจึงต้องช่วยกันเพราะรัฐบาลไม่มีปัญญามาช่วยเราแล้ว”

 

แก้วิกฤติองค์กรต้องกล้าเปิดใจ

นายธรรศพลฐ์ กล่าวว่า เมื่อเกิดวิกฤติ สิ่งสำคัญคือต้องกล้าตัดสินใจจึงจะนำพาองค์กรไปได้ ยิ่งในช่วงเกิดวิกฤติรัฐบาลประกาศให้หยุดบิน แต่ไม่ได้ช่วยอะไรได้เลย มีแค่ช่วยลดภาษีสรรพามิตรน้ำมันแบบเล็กๆ น้อยๆ และงดเก็บภาษีสนามบินเท่านั้น ดังนั้นในยามวิกฤติองค์กรจึงต้องกล้าเปิดใจอย่างโปร่งใส

 

“สิ่งสำคัญเมื่ออยู่ในช่วงวิกฤติต้องบอกพนักงานเป็นคนแรกให้อดทนรับมือสถานการณ์ไว้ล้วงหน้า เราต้องโปร่งใส ลำบากก็ต้องลำบากด้วยกัน กัดก้อนเกลือกินก็ต้องกัดด้วยกัน จะตัดเงินเดือนก็ต้องบอกเค้า เพื่อให้ตั้งตัวทัน ถ้าบอกว่า เราอยู่ในช่วงวิกฤติแล้ว อีก 3 ปีหากเป็นอย่างนี้ เราอาจจ่ายเงินเดือนได้ไม่ครบ ซึ่งไม่ผิดที่เราจะบอกให้เค้าเตรียมตัว หยุดใช้จ่ายเงิน หากเก็บปัญหาไว้ จนนาทีสุดท้ายมาบอก มันจะสายเสียแล้ว”

 

พร้อมย้ำว่า การสื่อสารบอกคนในองค์กรในเรื่องไม่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะพนักงานจะได้เตรียมตัวกับการแบกรับภาระของครอบครัว อีกอย่างต้องโปร่งใส ต้องบอกพนักงานในเวลาที่เหมาะสม อย่าช้ามันจะสายเกินไป

 

การบอกพนักงานขององค์กรก่อนอื่นนั้นจะทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี โดยเฉพาะการบอกต้องแจ้งทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี ดังนั้นการสื่อสารในองค์กรก่อน เช่น เมื่อมีโปรโมชั่นควรให้คนในองค์กรได้รับรู้ก่อน จึงจะเกิดความรักในองค์กร แล้วยังขยายผลต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ดี และเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

 

“การสื่อสารในองค์กรต้องทำแบบนั่งคุยกันดีกว่าการเขียนบันทึก (MEMO) หรือแจ้งผ่านอีเมล์ เพราะจะทำให้เกิดประโยชน์ ดังนั้นการคุยกันแบบต่อหน้าต่อตาจะดีกว่ากัน ทำให้เกิดความใกล้ชิดกันมาก”

 

อีกทั้งการสื่อสารในองค์กรยิ่งทำบ่อยยิ่งเป็นผลดี และไม่ต้องมีรูปแบบ ควรคุยกันให้ทราบในช่วงมีปัญหาและต้องใส่ใจองค์กรจะดีที่สุด แล้วให้กระทบคนในองค์กรให้น้อยที่สุด ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ดี

 

“วิกฤติโควิดสอนอะไรไว้มาก มันไม่เลวร้ายอย่างที่คิด แต่กลับกระตุ้นตัวเองให้กระทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ดังนั้น อย่างไรก็ตามโควิดได้เปลี่ยนโลก เปลี่ยนทัศนคติคน และคนขยันขึ้น แล้วเริ่มเก็บออมกันใหม่ ต้องเริ่มที่ตัวเอง อีกอย่างถ้าไม่คาดหวังก็จะไม่มีความผิดหวัง”  

 

 


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

 

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

 

 

 

Back To Top