skip to Main Content
02-530-9204-5 sammachiv.pr@gmail.com
อ้อยอีสานเผชิญหน้าโรงไฟฟ้าชีวมวล

อ้อยอีสานเผชิญหน้าโรงไฟฟ้าชีวมวล

 

อ้อยอีสานเผชิญหน้าโรงไฟฟ้าชีวมวล

 

ชาวอีสานในชื่อ “คณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (คปน.) ภาคอีสาน” ได้เคลื่อนไหวคัดค้าน “โรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล” อย่างจริงจังนับตั้งแต่ปี 2560 เรื่อยมาถึงปี 2565

กว่า 5 ปีแล้ว ชาวบ้านอีสานกลุ่มนี้ยื่นข้อเรียกร้องไปทั้งพรรคการเมือง สภาผู้แทนราษฎร ทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งร้องขอความช่วยเหลือจากองค์การสหประชาชาติ โดยการคัดค้านพุ่งตรงไปที่ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี ( ครม.) พ.ศ. 2558 ของประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม และให้ยกเลิกแผนลักดันนโยบายโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในภาคอีสานจำนวน 29 โรง

 

ในการคัดค้านนั้น แม้ชาวอีสานยกเหตุผลว่า ชุมชนไม่มีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย แต่สิ่งสำคัญคือ นโยบายตั้งโรงงานน้ำตาลพวงโรงไฟฟ้าชีวมวลจะก่อผลกระทบให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ฝุ่นละอองจากการเผาไหม้ไร่อ้อยขยายลามก่ออากาศเป็นพิษกระทบปัญหาสุขภาพ อีกทั้งสารเคมีพ่นฉีดไร่อ้อยรุกทำลายพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ ซึ่งผลิตตามระบบเกษตรอินทรีย์ที่ขึ้นชื่อของชุมชนอีสาน

ประเมินในเบื้องหน้า นโยบายโรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลถูกชาวบ้านอีสานให้ค่าเป็นการเบียดเบียนต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งเอาประโยชน์กับความทุกข์ของสุขภาพมนุษย์ ดังนั้น นโยบายนี้จึงไม่สอดคล้องกับแนวทาง “สัมมาชีพ” ซึ่งเป็นวิถีชุมชนยั่งยืนที่ยึดทางสายกลางในการดำเนินชีวิตสังคม

 

อีสานดินแดนปลูกอ้อย

อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจใช้น้ำในการเติบโตยาวนานที่สุด คือ 270-365 วัน เมื่อเทียบกับการใช้น้ำในการปลูกข้าวถือว่ามากกว่าถึง 3 เท่า อีกอย่างอ้อยเป็นพืชที่หยั่งรากลึกลงไปในดินตลอดทั้งปี ทำให้ต้องแย่งน้ำจากพืชชนิดอื่นที่ปลูกอยู่ใกล้ๆ เพราะอ้อยจะดูดน้ำจากใต้ดินขึ้นมาและแย่งน้ำฝนที่ตกลงมาซึ่งอาจทำให้แม่น้ำมีปริมาณน้ำน้อยลง

การปลูกอ้อยจะใช้เวลา 12-14 เดือน โดยเกษตรกรเริ่มปลูกอ้อยตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมและเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณปลายเดือนพฤศจิกายนของปีถัดไป ทำให้มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยไร่ละไม่ต่ำกว่า 7,000-8,000 บาท และปกติได้ผลผลิตประมาณ 10 ตันต่อไร่ หากราคาดีเช่นปี 2563/2564 ราคาตันละ 920-1,002 บาท เมื่อหักกลบหนี้แล้ว เกษตรกรก็พอยิ้มได้บ้างกับกำไรที่เพิ่มขึ้นมาไม่มากมายนัก แต่ส่วนใหญ่ราคาอ้อยอยู่ที่ตันละกว่า 600 บาท ทำให้เกษตรกรขาดทุน ซ้ำเติมความทุกข์ยากไปอีก

 

ข้อมูลสำนักงานงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) พบว่า พื้นที่ปลูกอ้อยในไทย ปี 2563/2564 มีทั้งหมด 10,862,610 ไร่ ในจำนวนนี้ปลูกในอีสานมากที่สุดจำนวน 4,594,444 ไร่ โดยกระจายปลูกทั่วทั้ง 20 จังหวัดอีสาน แต่ปลูกกันหนาแน่นระดับใช้พื้นที่ตั้งแต่แสนไร่ไปถึงเจ็ดแสนไร่ในสุรินทร์ มหาสารคาม บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด มุกดาหาร เลย หนองบัวลําภู กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา ขอนแก่น และอุดรธานี

ในปี 2563/2564 ไทยมีผลผลิตอ้อยประมาณ 78,695,546 ตัน โดยกว่าครึ่งคือ ประมาณ 36,969,634 ตัน มาจากอีสาน และมีโรงงานน้ำตาลมากถึง 20 โรงตั้งอยู่ในอีสาน เมื่อนโยบายตั้งโรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มอีก 29 โรงแล้ว อีสานย่อมมีโรงงานน้ำตาลมากถึง 49 โรง เฉลี่ยจังหวัดละ 2 โรงงาน จัดได้ว่า เป็นพื้นที่หนาแน่นกับการปลูกอ้อย ซึ่งเป็นพืชที่ต้องใช้น้ำในการเติบโตสูง แต่อีสานได้ขึ้นชื่อภาคแห้งแล้ง ดังนั้น อ้อยจึงเป็นพืชซ้ำเติมความแห้งแล้งก่อผลกระทบกับการปลูกพืชชนิดอื่นตามไปด้วย

 

นอกจากนี้การปลูกอ้อยยังสัมพนธ์กับการเผาอ้อยก่อผลกระทบให้เกิดมลพิษทางอากาศด้วย ข้อมูล สอน. ปี 2562 ระบุถึงจังหวัดที่มีโรงงานน้ำตาลที่มีสถิติการผลิตน้ำตาลจากอ้อยที่เผาก่อนเก็บเกี่ยวมากที่สุด ได้แก่ ชัยภูมิ หนองบัวลำภู และอุดรธานี โดยพบว่า มีการผลิตน้ำตาลจากอ้อยที่เผาก่อนเก็บเกี่ยวสูงถึงร้อยละ 70

รวมทั้ง โรงงานน้ำตาลที่มีการผลิตน้ำตาลจากอ้อยที่เผาก่อนตัดน้อยกว่าร้อยละ 60 ได้แก่ โรงงานในจังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น โคราช และบุรีรัมย์ ส่วนโรงงานที่จังหวัดเลย มุกดาหาร มหาสารคาม และสุรินทร์ ผลิตน้ำตาลจากอ้อยที่เผาก่อนเก็บเกี่ยวอยู่ระหว่างร้อยละ 60 ถึง 66

 

รวมความแล้ว การเผาอ้อยของเกษตรกรเกิดขึ้นทุกปีการผลิต และสร้างปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ยิ่งแพร่สะพัดรุนแรงต่อสุขภาพคนในพื้นที่ เช่น ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ เมื่อปี 2562 จังหวัดขอนแก่น มีค่า PM 2.5 ที่ 98-150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทั้งที่ค่ามาตรฐานกำหนดว่า ไม่ควรเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จนปรากฎข่าวหน่วยงานราชการและภาคธุรกิจขอความร่วมมือไม่ให้เผาอ้อย

ดังนั้น การเผาอ้อยไม่ได้ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นสุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบต่อการเป็นโรคทางเดินหายใจเท่านั้น แต่ยังทำให้คุณภาพของดินเสื่อมโทรมไปด้วย เพราะทำให้กิจกรรมของจุลินทรีย์ในดินลดลงและลดคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีของดินด้วย

 

ไม่เพียงเท่านั้น การใช้ยาฆ่าแมลงและยากำจัดศัตรูพืชเพื่อเร่งการเติบโตและป้องกันโรคแมลงอ้อยยังเป็นสาเหตุทำให้แหล่งน้ำปนเปื้อนสารเคมีและเพิ่มความเสี่ยงให้แก่ผู้ฉีดพ่นและหลายพื้นที่ในภาคอีสานต่างเฝ้าระวังถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากโรงงานผลิตน้ำตาลที่มีอยู่เดิม 20 โรง และจะขยายเพิ่มขึ้นอีก 29 โรงย่อมสร้างหวั่นวิตกให้ชุมชนปลูกพืชเกษตรอินทรีย์เป็นอย่างยิ่ง

 

ยุทธศาสตร์เพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อย

หลังการยึดอำนาจเมื่อพฤษภาคม 2557 รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกนโยบายขยายพื้นที่ปลูกอ้อยในปี 2558 โดยมติคณะรัฐมนตรีให้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องให้ตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2558 เป็นการปลดล็อคให้ผู้ประกอบการสามารถขออนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ และขอขยายหรือย้ายโรงงานน้ำตาลไปยังพื้นที่อื่น โดยมีระยะห่างระหว่างโรงงานเดิมกับโรงงานใหม่ไม่น้อยกว่า 50 กิโลเมตร

 

ด้วยมติคณะรัฐมนตรีปี 2558 ของประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมดังกล่าว สอน. ออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลขยายกำลังการผลิตและตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ใน 13 จังหวัดภาคอีสาน รวม 29 โรงงาน ซึ่งโรงงานเหล่านี้พ่วงด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวลทุกโรงงาน

 

ปัจจุบันเกิดโรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลแล้ว 5 แห่งใน 5 จังหวัดอีสาน คือ อำนาจเจริญ, ศรีษะเกษ, ขอนแก่น, อุดรธานี และบุรีรัมย์ แต่โรงงานเหล่านี้ถูกประชาชนคัดค้าน พร้อมเรียกร้องให้ตรวจสอบการทำ EIA มิชอบ ขาดความโปร่งใส โดยอ้างว่า ชุมชนในพื้นที่ไม่มีส่วนรวมในการกำหนดนโยบายหรือเห็นชอบในการตั้งโรงงาน

 

โรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล ทั้ง 29 โครงการที่รัฐบาลอนุมัติตามนั้น ถือเป็น “แผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย” 10 ปี (2558-2567) ให้เพิ่มโรงงานน้ำตาลในภาคอีสาน จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 20 แห่ง อีกทั้ง ยุทธศาสตร์นี้ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยในอีสานให้ได้ 6 ล้านไร่ ในปี 2569 ซึ่งรัฐบาลส่งเสริมให้ชาวนาภาคอีสานทำเกษตรแปลงใหญ่ ด้วยการทำการเกษตรแบบ “Smart Farming” แนวคิดนี้ เป็นนโยบายที่รัฐบาลชักชวนให้ชาวนาหันมาปลูกอ้อยแปลงใหญ่เพื่อส่งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้า ตามยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย 10 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2558 ถึง 2567

 

ผลักดันเชื่อมโยง “Bio Hub”

เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ปลูกอ้อยแปลงใหญ่ เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ผลักดันมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือ Bio Econony ซึ่งมีพื้นที่นำร่อง 3 เขต คือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกคาดว่า จะมีการลงทุน 9,740 ล้านบาท เขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง (นครสวรรค์-กำแพงเพชร) มูลค่าการลงทุน 51,000 ล้านบาท และภาคอีสานตอนกลาง (ขอนแก่น) คาดว่า จะมีการลงทุน 35,030 ล้านบาท

 

พร้อมๆ กับคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการให้ตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (ฉบับที่…) พ.ศ. …. เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ 2562 โดยสรุป คือ การแก้ไขบทนิยามคำว่า “โรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ” ให้ครอบคลุมทุกประเภทกิจการของ โรงงานผลิตเอทิลแอลกอฮอล์ โรงงานผลิตพลาสติก และโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์ สารเคมี หรือวัสดุเคมี ตามที่ระบุในบัญชีท้ายกฎกระทรวง (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และให้โรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบสามารถขออนุญาตตั้งโรงงานได้แม้จะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลเจ้าเดิมไม่ถึง 50 กิโลเมตร โดยต้องได้รับความยินยอมจากโรงงานน้ำตาลในพื้นที่นั้น

 

ดังนั้น โรงงานเคมีชีวภาพต่างๆ เช่น ไบโอพลาสติก ไบโอก๊าซ พลาสติกชีวภาพ เคมีภัณฑ์ หรือโรงงานผลิตสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตยา เครื่องสำอาง ฯลฯ ซึ่งใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบสามารถตั้งได้ในบริเวณเดียวกันกับโรงงานได้ นี่คือความเคลื่อนไหวการแต่งตั้งคณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งภายหลังเรียกว่า “ประชารัฐ”

 

สำหรับอีสานแล้ว โฉมหน้าอุตสาหกรรมชีวภาพที่จะเกิดขึ้นพร้อมกับโรงงานน้ำตาลในพื้นที่เป้าหมายศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือ “Bio Hub ภาคอีสาน” คือ พื้นที่ 4,000 ไร่ ในอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี 2561- 2570 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา

 

โครงการ Bio Hub บ้านไผ่ เป็นโครงการหนึ่งที่กลุ่มฮักบ้านเกิดบ้านเชียงเพ็ง เครือข่ายอนุรักษ์แก่งละว้า กลุ่มอนุรักษ์ป่าโคกหนองม่วง ซึ่งเป็น “คณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (คปน.) ภาคอีสาน”ได้ยื่นหนังสือถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นให้ตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน มาศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ เท่ากับเป็นพุ่งเป้าไปถึงสิ่งที่รัฐบาลควรทำตั้งแต่แรกก่อนจะประกาศนโยบายตั้งโรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล 29 โรงในอีสาน

สหประชาชาติลุยพื้นที่อีสาน

การคัดค้านโรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลยังเคลื่อนไหวเป็นระยะๆ และเป็นข่าวอยู่ต่อเนื่อง มวลชนอีสานสวมเสื้อเขียวสะท้อนถึงสิ่งแวดล้อมสะอาดตามธรรมชาติ รวมกลุ่มถือป้ายกดดันให้ยุติโรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสานในจังหวัดแล้วจังหวัดเล่า

 

ล่าสุด เมื่อ 6 กรกฎาคม 2565 “สิริศักดิ์ สะดวก” ผู้ประสานงานคณะกรรมการคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (คปน.) ภาคอีสาน รายงานว่า ตัวแทนสหประชาชาติได้ลงพื้นที่มาศูนย์ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง บ้านเชียงเพ็ง ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร เพื่อมารับฟังสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีการคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล 6 กรณี 7 จังหวัดในภาคอีสาน ประกอบด้วย ยโสธร อำนาจเจริญ ขอนแก่น ชัยภูมิ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และอุดร

 

อีกคนหนึ่ง “มะลิจิตร เอกตาแสง” คณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน อ่านแถลงการณ์ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี หยุดรัฐและทุนละเมิดสิทธิชุมชน พร้อมย้ำให้“หยุด ! นโยบายโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน การผลักดันแผนของโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน 29 โรงงาน ที่แฝงมาภายใต้นโยบายพลังประชารัฐ

 

ในแถลงการณ์บอกเหตุผลคัดค้านว่า 1.นโยบายที่เกิดขึ้นชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย 2.การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้งครั้งที่ 1 และ 2 ชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งเห็นต่างถูกกีดกันจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3.พื้นที่ตั้งไม่เหมาะสม เนื่องจากอยู่ใกล้ชุมชน วัด โรงเรียน  4.เกิดการแย่งชิงทรัพยากรชุมชน 5.ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนในชุมชน ต่อผู้คัดค้านและผู้สนับสนุน 6.เกิดการปรับเปลี่ยนผังเมืองเพื่อเอื้อให้เกิดการดำเนินการก่อสร้างอุตสาหกรรมจากสีเขียวเป็นสีม่วง

 

“เรากล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นความจริงที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เราไม่อยากเห็นการพัฒนาที่แอบอ้างคำว่า “ความเจริญ” แต่ทรัพยากรชุมชนที่ชาวบ้านพึ่งพาอาศัยทั้ง ดิน น้ำ ป่า กลับถูกทำลายและถูกแย่งชิงไป เราอยากเห็นการพัฒนาที่เกิดจากการมีส่วนร่วมและถูกกำหนดของคนในชุมชนเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ของชุมชนจริง ๆ และเคารพสิทธิของพี่น้องด้วย”

 

ดังนั้น คณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (คปน.) ภาคอีสาน จึงมีข้อเสนอดังต่อไปนี้ 1.ให้ยกเลิกมติ ครม. พ.ศ. 2558 ของประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม 2.ให้ยกเลิกแผนลักดันนโยบายโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในภาคอีสาน

 

เสียงเรียกร้องของชาวบ้านยังไม่ได้รับการตอบกลับ หรือชวนให้เปิดโต๊ะเจรจากันทุกอย่างเงียบตามปกติ แน่ละ นี่คือสิ่งสะท้อนถึงการก่อหวอดครั้งใหม่จะตามมาอีกเช่นเคย


ติดตามมูลนิธิสัมมาชีพได้ที่

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedeehttps:

//www.youtube.com/user/RightLivelihoods

ไม่มีภาพกิจกรรม

ไม่มีวิดีโอ

Back To Top