skip to Main Content
02-530-9204-5 sammachiv.pr@gmail.com
เส้นทาง MSME ปี 65 ส่อแวว“ขยับขยาย” ปรับสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล

เส้นทาง MSME ปี 65 ส่อแวว“ขยับขยาย” ปรับสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล

เส้นทาง MSME ปี 65

ส่อแวว“ขยับขยาย”

ปรับสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล

 

ในช่วงเกิดแพร่ระบาดทั่วโลกของโควิด เว็บไซต์ World Economic Forum ระบุว่า มีธุรกิจทั่วโลกกว่า 90% ได้รับผลกระทบทั้งปิดตัวถาวร ปิดชั่วคราว หรือรอให้สถานการณ์ดีขึ้นจึงค่อยกลับมาทำธุรกิจอีกครั้ง แต่ท่ามกลางภาวะวิกฤตโควิดระบาดนั้น ยังมีนวัตกรรมใหม่ๆ ผุดขึ้นสะท้อนถึงอนาคตการปรับตัวการทำธุรกิจ SME ในรูปแบบแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งส่อเป็นธุรกิจที่มาแรง ลอยลำฝ่าวิกฤตโควิดนี้ได้อย่างสวยงาม

 

โดยผลสำรวจล่าสุดของมาสเตอร์การ์ด รายงานช่วงพีคของวิกฤตการณ์โควิดยอดขายของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ตามหลังธุรกิจขนาดใหญ่ถึง 20% แต่ในปี 2564 การใช้จ่ายของผู้บริโภคกลับฟื้นตัวขึ้น ทำให้ยอดขายทั้งหมดของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กเพิ่มขึ้น 4.5% ในช่วงเดือน ส.ค. จนถึงปัจจุบัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 มียอดขายอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้น 31.4% จัดว่าสูงเกินคาด ดังนั้น ปรากฎการณ์นี้บ่งชี้ถึงวงจรเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนไปด้วยการเติบโตของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ชของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง

 

รายงานของมาสเตอร์การ์ด ยังได้เปิดเผยกิจกรรมการซื้อขายที่เกิดขึ้นภายในเครือข่ายการชำระเงินผ่านบัตรมาสเตอร์การ์ด โดยจัดอันดับ 10 ประเทศ ที่มีอัตราการเติบโตของธุรกิจใหม่ และประเทศไทยติดอยู่ในอันดับที่ 10 ของการจัดอันดับนี้ด้วย

 

 

ปัจจัยส่อแววปรับตัว-เติบโต

ปฏิเสธไม่ได้ว่าพลังที่ขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโตของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางทั่วโลก คือ การเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่ง่ายขึ้น โดยมีปัจจัยวิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่เป็นตัวเร่งปฏิกริยาให้การเข้าถึง การใช้จ่ายของผู้คนต่างถ่ายโอนไปอยู่บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ชเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากโควิดได้ล็อคดาวน์ผู้คนทั่วโลกให้อยู่ที่บ้านเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มดิจิทัลและออนไลน์เป็นหลัก

 

ขณะเดียวกัน เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่อยู่รอดและมีอัตราการเติบโตส่วนใหญ่ จำเป็นต้องมีคุณสมบัติของการเป็น “นักนวัตกรที่ยืดหยุ่น” เพื่อประคองธุรกิจในแต่ละส่วนให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ไปให้ได้ อีกอย่าง การทำธุรกิจก็จะแข่งกันปรับตัวด้านราคาเพื่อช่วงชิงลูกค้าอีกต่อหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น กิจการโลจิสติกส์ ขนส่งสินค้า ไปจนถึง host ผู้ดูแลแพลตฟอร์มออนไลน์

 

โดยปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดความสำเร็จของธุรกิจแต่ละประเภทในครั้งนี้ มาสเตอร์การ์ด ชี้ว่า การเกิดขึ้นของวิกฤตโรคระบาด ได้ตอกย้ำถึงการเปลี่ยนผ่านไปยังการค้าขายออนไลน์ การบริหารจัดการแพลตฟอร์มการซื้อขายออนไลน์ เป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญอย่างสูง เพราะถ้าแพลตฟอร์มออนไลน์ของแบรนด์ใดมีความเข้มแข็ง แข็งแกร่ง นั่นย่อมหมายถึงโอกาสในการต่อยอด ขยายธุรกิจไปต่างประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับแบรนด์ใหญ่กว่าได้แบบไม่ยาก

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีเสียงสะท้อนจากองค์กรธุรกิจต่างๆ ว่า การปรับเปลี่ยนไปสู่การซื้อขายบนแพลตฟอร์มดิจิทัลและออนไลน์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องช่วยเหลือ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกธุรกิจสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี แหล่งความรู้ เงินทุน ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้จึงเป็นสิ่งสำคัญ

 

รัฐไทยหนุนธุรกิจขนาดเล็กฝ่าวิกฤต

ความหวังและการประคองตัวให้อยู่รอดของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กอยู่ที่การส่งเสริมจากรัฐบาลในด้านสนับสนุน “เงินทุน” เพื่อสร้างสายป่านพอได้หายใจให้กิจการอยู่ยาวจนพ้นวิกฤตโควิดได้อย่างไร  ล่าสุดภาครัฐได้เห็นชอบใน “มาตรการเยียวยา” ตามโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs โดยจะอุดหนุนค่าจ้างหัวละ 3,000 บาท นาน 3 เดือน ใน พ.ย. 64 – ม.ค. 65 โดยโครงการนี้ได้กำหนดเงื่อนไข-คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการเยียวยานายจ้างภาคเอกชนในฐานข้อมูลประกันสังคม ที่มีลูกจ้างรวมทุกสาขาไม่เกิน 200 คน ณ วันที่ 16 ต.ค. 64

 

สิ่งสำคัญ รัฐจะอุดหนุนการส่งเสริมและรักษาการจ้างงานเฉพาะลูกจ้างสัญชาติไทย ให้แก่นายจ้างเพื่อรักษาการจ้างงานในอัตรา 3,000 บาทต่อลูกจ้างสัญชาติไทย 1 คนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยจะต้องรักษาระดับการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 95% ในระหว่างเข้าร่วมโครงการฯ หากไม่สามารถรักษาจะไม่ได้รับเงินอุดหนุนในเดือนนั้น

 

อีกทั้งนายจ้างมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นจากยอดการจ้างงาน ณ วันเริ่มโครงการ จะได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มตามจำนวนการจ้างงานจริงไม่เกิน 5% รวมทั้งจะต้องจ่ายค่าจ้างไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้างฯ

 

SME ไทยมี“ทรง-ทรุด-ฟื้น”

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รายงานสถานการณ์ MSME (Micro,Small and Medium-Sized Enterprises)    ล่าสุดเดือน ต.ค. 64 โดยระบุถึงการส่งออกว่า เดือน ก.ย. 64 มีมูลค่า 99,450.1 ล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 33.6% เมื่ออยู่ในรูปดอลล่าสหรัฐมีมูลค่า 3,012.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 25.8%

 

การส่งออกในช่วง ม.ค.-ก.ย. 64 มีมูลค่า 806,861 ล้านบาท หรือ 25,981.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 30.2% โดย MSME มีสัดส่วน 13 % ของมูลค่าส่งออกรวม 199,997 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งยังคงขยายตัวทุกตลาด โดยเฉพาะจีนและสหรัฐขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง

 

 

สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าขยายตัว 58.8% กลุ่มเครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ 58.9% สินค้ากลุ่มยางและผลิตภัณฑ์ยาง 46.2% กลุ่มไม้และของทำด้วยไม้ 39.6% กลุ่มผลไม้สด 21.0% และกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก 24.7% สำหรับกลุ่มสินค้าส่งออกปรับตัวลดลง ได้แก่ สินค้าน้ำตาลและของทำจากน้ำตาลลดลง 25.2% สินค้ากลุ่มยานยนต์และส่วนประกอบลดลง 3.4%

 

ในด้านการจัดตั้งธุรกิจใหม่นั้น เดือน ก.ย. 64 มีจำนวน 5,820 ราย ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.3% ประเภทธุรกิจใหม่สูงสุด 3 อันดันแรก คือ ก่อสร้างอาคารทั่วไปจำนวน 680 ราย คิดเป็น 11.7% รองลงมาเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จำนวน 248 รายคิดเป็น 4.3% และธุรกิจขนส่งและขนถ่านสินค้า รวมถึงคนโดยสารจำนวน 188 รายคิดเป็น 3.2%

 

นอกจากนี้ ยังมีการจ้างงานในเดือน ก.ย. พบว่า กทม.จ้างงานมากที่สุด 1.33 ล้านคน ลดลง 1.06% เมื่อเปรียบเทียบย้อนหลัง 3 เดือน รองลงมาคือ สมุทรปราการ 2.8 แสนคน และชลบุรี 2.3 แสนคน โดยธุรกิจขนาดกลาง (ME) จ้างงานในสาขาการขายส่งมากที่สุดจำนวน 1.79 แสนคน รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร 9.1 หมื่นคน และผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก 8.6 หมื่นคน

 

ทั้งนี้ ในธุรกิจขนาดย่อม (SE) จ้างงานในสาขายานยนต์และจักรยานยนต์มากสุดจำนวน 2.49 แสนคน รองลงมาเป็นสาขาขายปลีก 1.85 แสนคน และมาเป็นสาขาการผลิตภัณฑ์จากโลหะประดิษฐ์ 8.9 หมื่นคน นอกจากนี้ธุรกิจขนาดย่อย (Micro) สาขาขนส่งจ้างงานมากที่สุดจำนวน 8.2 หมื่นคน ขายปลีก 7.6 หมื่นคน และการขายส่ง การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ 3.5 หมื่นคน

 

ส่วนการเลิกจ้างงานในอุตสาหกรรม 5 อันดับแรกนั้น ประกอบด้วย อุตสาหกรรมไม่สามารถระบุได้เลิกจ้างงานมากที่สุดจำนวน 1.9 หมื่นคน ที่พักและบริการ 1.4 หมื่นคน การผลิต 9,387 คน การขายส่ง ขายปลีก 8,171 คน และการขนส่ง สถานที่เก็บสินค้า 4,665 คน

 

คาดแนวโน้ม MSME 65

สสว.ประมาณการการขยายตัว GDP MSME ในปี 2565 จะเดินหน้าไปทิศทาง ทรงตัว ทรุดลง หรือขยายตัวต่อเนื่องนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยของสถานการณ์เฉพาะหน้าของไทย โดยเฉพาะปัจจัยจะสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 พร้อมทั้งจัดหา กระจายวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิดได้อย่างน้อย 100 ล้านโดสภายในปี 2564 จนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ภายในครึ่งแรกของปี 2565 มุ่งหวังให้โรคระบาดโควิดแพร่กระจายลดลงและมีความรุนแรงลดลง ซึ่งแต่ละพื้นที่อาจจะมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุม

 

 

อีกอย่าง มาตรการเกื้อหนุนให้ธุรกิจสามารถกลับมาดําเนินการได้ตามปกติ ประชาชนได้เดินทางและมีการใช้จ่ายมากขึ้น รวมทั้งการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและการขยายตัวของจํานวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

 

รวมถึงการบริโภคทั้งภาครัฐและเอกชนขยายตัวเร่งขึ้นจากปี 2564 โดยการลงทุนของภาคเอกชนเติบโต 6.0% จากอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงต่ำอย่างต่อเนื่อง และการลงทุนภาครัฐที่เติบโต 5.7% ภาคการส่งออกและการนําเข้าของ MSME ไทยมีทิศทางขยายตัวได้เพิ่มขึ้น จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของประเทศคู่ค้าสําคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และ กลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึง การค้าชายแดนที่จะกลับมาดีขึ้น ถึงที่สุดแล้ว สสว.ประเมินว่า GDP MSME ไทยจะขยายตัว 4.5% อีกทั้งแนวโน้มการส่งออกในปี 2565 ส่อแววจะขยายต่อเนื่องมีมูลค่าประมาณ 5-10%

 

นอกจากนี้ ในด้านธุรกิจจะมีแนวโน้มการขายและการตลาดในรูปแบบที่ผสมผสานช่องทางออฟไลน์กับออนไลน์ โดยการเปลี่ยนไปใช้โมเดลธุรกิจรูปแบบที่เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง และส่อแววที่ธุรกิจจะปิดหน้าร้านลงเรื่อยๆ เพื่อไปเน้นการขายผ่านช่องทางออนไลน์แทน

 

อีกทั้งธุรกิจภาคค้าปลีกที่มีการเปลี่ยนรูปแบบเป็นดิจิทัลมากที่สุด คือธุรกิจที่มีลักษณะเป็น Business-to-consumer (B2C) โดยได้นําเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในหลายส่วน เช่น การขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ การทําการตลาด  ผ่านแอปพลิเคชัน การทํา Live-streaming บนแอปพลิเคชัน

 

ดังนั้น สถานการณ์โควิดจะทําให้ธุรกิจตระหนักถึงความสําคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลมากยิ่งขึ้น จึงมีธุรกิจมากมายที่ตัดสินใจลงทุนเพื่อเร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคจะเน้น E-Payment ทําให้การทําธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์โตอย่างรวดเร็ว อีกอย่าง พฤติกรรมการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ปรับตัวสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ตัวอย่างการเติบโตของธุรกรรมดิจิทัล ได้แก่การใช้บริการส่งอาหาร ของชําและของใช้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

Back To Top