skip to Main Content
02-530-9204-5 sammachiv.pr@gmail.com
แพทย์จุฬาฯ โต้กัญชาทางการแพทย์ หวั่นกระทบสังคมก่อปัญหาเยาวชน

แพทย์จุฬาฯ โต้กัญชาทางการแพทย์ หวั่นกระทบสังคมก่อปัญหาเยาวชน

แพทย์จุฬาฯ โต้กัญชาทางการแพทย์

หวั่นกระทบสังคมก่อปัญหาเยาวชน

 

สองแพทย์ จุฬาฯ โต้ปลดล็อคกัญชาเสรี หวั่นลามกระทบสังคม ก่อปัญหามอมเมา ห่วงเยาวชนเข้าถึงได้ง่าย ระบุนโยบายกัญชาทางการแพทย์ย้อนแย้ง มีช่องโหว่ งัดวิจัยสหรัฐยัน ติงกัญชาพารวยจริงหรือ? ระบุสร้างความเสียหายกว่า 1,000 ล้านดอลล่าร์ต่อปี

 

กัญชาทางการแพทย์ย้อนแย้งมีช่องโหว่

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวในงานเสวนาของศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) เมื่อ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยช่วงหนึ่งระบุว่า ที่ผ่านมามีนโยบายทางการเมืองผลักดันเรื่องการใช้กัญชา แต่เห็นว่ามีความย้อนแย้งของนโยบายที่ประกาศและการปฏิบัติจริง  แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุข จะเน้นเสมอว่า การใช้กัญชามีจุดประสงค์เพื่อการแพทย์ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยไม่ส่งเสริมสันทนาการ แต่ในการการไปใช้งานจริง ทั้ง 3 คำนี้มีความย้อนแย้งกันมาก

 

โดยเฉพาะ การใช้กัญชาทางการแพทย์มีใช้อยู่ 3-4 อย่าง คือ เป็นยาแผนปัจจุบัน มีข้อบ่งชี้ 6-7 โรค ส่วนใหญ่เป็นยาแผนโบราณ มีสูตรต่างๆ มากมายถือว่าสีเทาพอสมควร ถ้าควบคุมการผลิตดี คุมปริมาณให้เหมาะสมก็จะไม่เกิดผลเสียมากนัก

 

“แต่ประเด็นที่น่ากังวล คือการใช้สันทนาการ แต่อ้างข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เช่น อ้างว่าปวดหัว รู้สึกไม่สบาย ซึ่งเชื่อว่าจะมีคนที่อ้างแบบนี้ไม่น้อย นอกจากนี้ ยังมาในรูปแบบที่ผสมในอาหาร ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจว่าจะช่วยบรรเทาอาการต่างๆ หรือ เป็นผลดีต่อสุขภาพจริงหรือไม่ แต่ Supply size โตขึ้นมหาศาล หากโตเกินความต้องการ อนาคตจะเกิดการลงใต้ดินไปขายที่อื่น ซึ่งจะต้องเฝ้าระวัง”

 

นพ.ฉันชาย กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชาและกัญชง ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล คิดว่าความหวังจากกรรมการชุดนี้ไม่ได้เยอะมาก เพราะตอนแรกคาดหวังว่าจะได้นายวิษณุ เครืองาม เป็นประธาน

 

“ก่อนที่ร่างพ.ร.บ.กัญชา-กัญชง จะออกมา ได้หารือกับโรงเรียนแพทย์และ รพ.เอกชนให้เฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพของประชาชนอย่างมาก เก็บทุกเคส เพราะถ้ารอการรายงานจาก สธ.คงยาก หากมีปัญหาเกิดขึ้นแต่ไม่รายงานจะกลายเป็นความชอบธรรมให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และออกมาเบามาก เพราะอ้างได้ว่าขนาดเสรีแล้วยังไม่เห็นมีปัญหาอะไร”

 

นพ.ฉันชาย ย้ำว่าประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือเยาวชนจะเข้าถึงกัญชาได้มากขึ้น เพราะในกฎหมายไม่ได้มีข้อจำกัดถึงเยาวชน และถ้าจะรอข้อบังคับที่จะออกมาในอนาคต ก็อาจจะช้าเกินไป เพราะการออกกฎหมายมีขั้นตอนที่ต้องใช้เวลา ดังนั้นช่วงที่เป็นช่องว่างก่อนที่ข้อบังคับต่างๆจะออกมา คือช่วงที่ต้องช่วยกันเฝ้าระวังอย่างมาก

 

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ที่ผ่านการรับร่างมี 2 ร่าง คือ ร่างของพรรคภูมิใจไทย คือกัญชาเสรีเลย และร่างของพรรคพลังประชารัฐ เน้นใช้ทางการแพทย์ ขณะนี้มีการตั้งกรรมาธิการ 25 คน แต่ ส.ส.ไม่ยอมให้ทางเราเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการ จึงต้องอาศัยการเข้าไปร่วมเป็นที่ปรึกษา ซึ่งมีแล้ว 1 ท่าน ยังเหลืออีก 1 ท่านที่ต้องส่งชื่อเข้าไป

 

“อย่างน้อยการเข้าไปเป็นที่ปรึกษาจะได้เข้าร่วมและให้ความเห็นในที่ประชุมกรรมาธิการ ซึ่งเชื่อว่าเนื่องจากตอนนี้ฟรีอยู่ ต้องมีความพยายามผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.ผ่านโดยเร็วแน่นอน ถ้าผ่านออกมาจะเป็นฉบับที่ปล่อยมาก และจะเป็นปัญหามาก”

 

งัดวิจัยสหรัฐโต้กัญชาพารวยจริงหรือ?

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก สรุปตัวเลขการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจจากการเปิดเสรีกัญชาจากรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา โดยระบุถึงการเก็บภาษีจากการเปิดเสรีกัญชา คุ้มค่าหรือไม่ว่า แต่ละครั้งที่รัฐเก็บภาษีได้ 1 ดอลล่าร์จากการขายกัญชาได้ ชาวโคโลราโดจะต้องเสียเงิน 4.5 ดอลล่าร์ เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเสรีกัญชา

 

ดังนั้น ราคาค่างวดที่ประชาชนโดยรวมต้องจ่ายไปนั้น จะเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยจากเสรีกัญชาทั้งโดยตรงและโดยอ้อม รวมถึงความสูญเสียจากการที่เด็กนักเรียนชั้นต่างๆ ต้องออกจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับมัธยม

 

ส่วนการเปิดเสรีกัญชาแล้วจะไม่เสพยากันจนมั่ว ใช่ไหมนั้น สถิติที่เก็บรวบรวมไว้พบว่า น่าเป็นห่วง เพราะอัตราการเสพผลิตภัณฑ์กัญชาในรูปแบบต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่นักศึกษาที่เรียนในมหาวิทยาลัย แต่ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่ากลุ่มแรกคือ กัญชาก็ยังคงมีการเสพกันมากในกลุ่มประชากรในสังคมที่มีระดับการศึกษาน้อย “พูดง่ายๆ คือ เสรีกัญชาแล้ว เพลิดเพลินกันทั้งที่เรียนสูง เรียนน้อย ปุ๊น[1]กันไปทั่ว ว่างั้นเถอะ”

 

กรณีเมื่อเปิดเสรีกัญชาแล้ว ไม่ต้องกลัวติดยาเสพติด เพราะโอกาสติดน้อยกว่าเหล้าบุหรี่ ดีไม่ดี จะทำให้สังคมลดปัญหายาเสพติดด้วย ได้คำตอบว่า ข้อมูลที่มี ชี้ชัดถึงการใช้กัญชาจะนำไปสู่การใช้ยาเสพติดชนิดอื่น หรือจะมีการเสพยาเสพติดชนิดอื่นควบคู่กันไปด้วย เช่น เหล้า ฯลฯ “ดังนั้นที่จะมาอ้างว่าเสี่ยงน้อยกว่าเหล้าบุหรี่นั้น ฟังไม่ขึ้นด้วยประการทั้งปวง อีกหน่อยอาจต้องเปลี่ยนแคมเปญงดเหล้าเข้าพรรษา เป็น “ร่วมกันแก้ปัญหากัญชาท่วมเมือง”

 

สำหรับมีการกล่าวอ้างว่า กัญชามาช่วยให้คนปลอดโรค ภาระแพทย์และบุคลากรสุขภาพจะได้ลดลง นั้น มีคำตอบจากจำนวนการโทรศัพท์ปรึกษาศูนย์พิษวิทยาจากการเสพกัญชามากขึ้นอย่างชัดเจนหลังจากเปิดให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ และเปิดเสรีกัญชา

 

“ดังนั้นไม่ต้องมาเถียงว่าเป็น”สมุนไพรแห่งความเมตตา” จะสกัดเป็นยา ก็ทำเป็นยาแบบมาตรฐานสากล อย่ามาสร้างวาทกรรมลวงโลก เพื่อหาทางให้ภาวะติดยาเสพติดของตนเองนั้นกลายเป็นความถูกต้อง แลกกับความเสี่ยงสูญเสียและหายนะของสังคมในอนาคต”

 

นอกจากนี้ สถิติเล็กๆ ในโคโลราโดคือ ทุกปีจะมีอย่างน้อย 15 คนที่เสพกัญชาผ่านการสูบแล้วเกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้ระหว่างการเสพจนบาดเจ็บต่อร่างกาย คนที่เสพกัญชายิ่งบ่อย ยิ่งจะมีแนวโน้มจะแอคทีพน้อยลง คือมีกิจกรรมทางกายน้อยลง มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง เพราะมัวแต่นั่งฝันหวาน นอนฝันหวาน ฝันถึงสรรพคุณรักษาโรคสารพัดร้อยแปดพันเก้า หรือมีชีวิตเป็นอมตะ สมองไม่เสื่อม ทั้งๆ ที่ยากนักที่จะเป็นจริง และแน่นอนว่าระยะยาวก็ส่งผลต่อสุขภาพและค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพตามมา

 

 

รศ.นพ.ธีระ ระบุถึงการโฆษณาอย่างน่าเชื่อถือว่า กัญชาป้องกันสมองเสื่อม โดยตั้งข้อสังเกตุว่า เสพแล้วสมองดีจริงไหม? ซึ่งได้คำตอบว่า เมื่อเทียบกับคนที่ไม่เสพกัญชา พบว่าคนที่ติดกัญชานั้น โดยทั่วไปแล้วจะไม่ค่อยสนใจหรือตั้งใจศึกษาเล่าเรียน และมีอัตราการออกจากโรงเรียนหรือสถานศึกษาสูงกว่าคนไม่เสพ แต่อาจมีข้อยกเว้น เช่น อาจมีคนติดกัญชาเรียนสูงๆ จบสูงๆ แต่ก็เป็นคนติดยาเสพติดได้

 

“เหลียวซ้ายเหลียวขวาอาจเห็นได้ง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ แถมยังมีข้อมูลจากการวิจัย ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าการเสพกัญชาระยะยาวนั้นจะทำให้ความจำแย่ลง ยิ่งถ้าเสพตั้งแต่อายุน้อยๆ เช่นก่อนอายุ 18 ปี”

 

กรณีระบุว่า กัญชาจะพารวยนั้น รศ.นพ.ธีระ แย้งว่า เอางี้ละกัน จะบอกค่าใช้จ่ายที่คนเสพแต่ละคนต้องเตรียมรับมือ แม้เมืองเราจะไม่เหมือนเมืองเขา ก็รับฟังและไปคิดต่อเอาเองละกัน เขาลองประเมินแล้ว หากเสพกัญชาอย่างเมามันส์จะมีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายต่อปีจากสารพันปัญหาที่เกิดขึ้นคือคนละ 2,200 ดอลล่าร์ หากเสพปานกลาง 1,250 ดอลล่าร์ และหากเสพเบาๆ ก็ 650 ดอลล่าร์

 

ส่วนผลกระทบต่อสังคมนั้น รัฐโคโลราโดประเมินแล้วพบว่า คนเสพกัญชาร้อยละ 27 หรือเกือบหนึ่งในสาม ยอมรับว่า เสพแล้วไปขับรถอยู่ทุกวันขณะที่กำลังมีอาการเคลิบเคลิ้ม แถมร้อยละ 67 ยอมรับว่าเคยขับขณะเคลิบเคลิ้มอย่างน้อยหนึ่งครั้ง แม้จะไม่ทำทุกวันก็ตาม

 

“แค่นี้ก็ลองมโนดูละกันว่า ถ้าเคลิบเคลิ้มแล้วขับไปชนคนอื่น หรือชนลูกหลานและคนในครอบครัวของท่าน จะเอาไหม และมันเป็นเรื่องของคนเสพอย่างเดียวซะที่ไหนกัน ดังนั้น”อย่าแถ”กันนักเลยครับดังนั้น ภาษีที่สังคมต้องจ่ายสำหรับค่าเสียหายและความสูญเสียที่เกิดขึ้นสูงยิ่งนัก แค่ปี ค.ศ.2016 ทางรัฐโคโลราโด ประเมินว่าราว 25 ล้านดอลล่าร์ พวกที่เรียกร้องกันทุกวี่ทุกวันนั้นมาช่วยรับผิดชอบไหม”

 

สำหรับประเด็นธุรกิจกัญชา…จะทำให้ประเทศเจริญรุ่งเรือง ร่ำรวยทรัพยากร หวังได้จริงหรือไม่ รศ.นพ.ธีระ ระบุข้อมูลว่า ที่รัฐโคโลราโด ประเมินในปี ค.ศ.2016 พบว่า ธุรกิจโรงงานกัญชาผลาญพลังงานไฟฟ้าแต่ละปีในปริมาณเทียบเท่ากับบ้านเรือนจำนวน 32,355 หลังเลยทีเดียว

 

“บ้านเราตั้งหน้าตั้งตาทำอย่างที่กำลังโฆษณา ก็อย่าลืมเรียกกระทรวงพลังงานมาร่วมวางแผนด้วยล่ะ อ้อๆ ลืมบอกไปว่า โรงงานกัญชาที่ประกอบการนั้น ปีนึงๆ ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ราว 400,000 ปอนด์ด้วยนะ และยังประมาณไว้ว่าผลิตภัณฑ์กัญชาในรูปแบบต่างๆ ที่จัดจำหน่ายนั้น ทำให้เกิดขยะพลาสติกราว 18.78 ล้านชิ้น ดังนั้นอย่าลืมเรียกกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมาด้วยล่ะ”

 

ไม่เพียงเท่านั้น กัญชานั้นแม้ปั่นเงินให้หมุนเวียนได้ถึง 1,400 ล้านดอลล่าร์ แต่หากดูจริงๆ แล้วจะพบว่า ประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อรัฐในรูปแบบภาษีเงินได้ และมูลค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นนั้น มีเพียง 400 ล้านดอลล่าร์ ในขณะที่ต้องแลกด้วยค่าเสียหายกว่า 1,100 ล้านดอลล่าร์

 

“ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เป็นการฉายภาพผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปลดล็อคกัญชามาใช้ทางการแพทย์และการเปิดเสรีกัญชาที่ต่างประเทศ ตามข้อมูลเท่าที่มี ใครสนใจก็ลองไปศึกษากันต่อตามกำลัง

ปลดล็อคกัญชา…เกิดผลกระทบต่างๆ มากมายหลายด้าน หากรัฐไม่สามารถควบคุมป้องกันการใช้กัญชาได้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาย่อมหนีไม่พ้นเรื่องสังคมที่ไม่ปลอดภัย และมีภาระระยะยาว” รศ.นพ.ธีระ กล่าว

 

กรมการแพทย์แนะ 10 ข้อใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา

มีรายงาน เมื่อวันที่ 11 มิ.ย 2565 กรมการแพทย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุถึงคำแนะนำในการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ ที่จัดทำโดยสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ โดยมีรายละเอียด 10 ข้อ ดังนี้

 

1.รักษาตามมาตรฐานการแพทย์ก่อน 2.ไม่ใช้หากอายุน้อย แนะนำสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 25 ปี 3.ใช้กัญชาอัตราส่วน CBD : THC สูง 4.ไม่ใช้กัญชาสังเคราะห์ 5.ไม่ใช้การสูบแบบเผาไหม้

 

6.หากสูบ ไม่อัดควันเข้าปอด แล้วกลั้นไว้ 7.ใช้อย่างระวัง ใช้บ่อย หรือเข้มข้นสูง ถือว่ามีความเสี่ยงสูง 8.งดขับรถ ใช้เครื่องจักร ไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง 9.งดใช้กัญชา หากมีประวัติครอบครัวจิตเวช หรือตั้งครรภ์ 10.หลีกเลี่ยงใช้หากมีหลายปัจจัยเสี่ยง

 

 

นอกจากนี้ คำแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์ ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 4 (มกราคม 2564) ระบุโรคและภาวะที่ใช้ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ได้ประโยชน์ ได้แก่ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด , โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา , ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง , ภาวะปวดประสาท , ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วย AIDS ที่มีน้ำหนักตัวน้อย , การเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง

 

 

สำหรับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รายงานสถิติการจดแจ้งการปลูกกัญชา กัญชงผ่านแอปพลิเคชั่นปลูกกัญ และเว็บไซต์ https://plookganja.fda.moph.go.th/ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.เวลา 12.00 น. มีผู้เข้าใช้งานระบบ 32,416,944 ครั้ง จำนวนการลงทะเบียน 614,891 คน ออกใบรับจดแจ้งกัญชา 595,964 ใบ และออกใบรับจดแจ้งกัญชง 18,932 ใบ

 

 

 

 

[1] ปุ๊น เป็นอีกชื่อที่หมู่วัยรุ่นใช้เรียกแทนกัญชา


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

 

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

Back To Top