skip to Main Content
02-530-9204-5 sammachiv.pr@gmail.com
“กฟก.” เติมความรู้เกษตรกร พาดูงาน ฟาร์มเห็ด “อิงนที รีสอร์ต”

“กฟก.” เติมความรู้เกษตรกร พาดูงาน ฟาร์มเห็ด “อิงนที รีสอร์ต”

          “กฟก.” เติมความรู้เกษตรกร พาดูงาน ฟาร์มเห็ด “อิงนที รีสอร์ต” พร้อมแลกเปลี่ยนสอนทำ “ไบโอชาร์” ถ่านชีวภาพ ปรับปรุงสภาพดิน

          เมื่อเร็วๆ นี้ นางสาวคัคนางค์ สุวรรณทัต หัวหน้าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) สาขาจังหวัดปทุมธานี นำสมาชิกองค์กรเกษตรกร กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตร ลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้การเพาะเห็ดนางฟ้า, เห็ดภูฐาน, เห็ดเยื่อไผ่และเห็ดหลินจือ ณ “อิงนที รีสอร์ต” จังหวัดปทุมธานี โดยได้รับความอนุเคราะห์สถานที่จาก “คุณพสุ สุขุมวาท” ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะอนุกรรมการ กฟก. จังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วยวิทยากรของทางรีสอร์ต มาช่วยถ่ายทอดความรู้

 

 

          นางสาวคัคนางค์ กล่าวว่า ด้วยภารกิจของ กฟก. มีหน้าที่ในการส่งเสริมการทำเกษตรแบบอินทรีย์ โดยเราทำงานแบบภาคีความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ซึ่งทางอิงนที รีสอร์ต ถือเป็นภาคเอกชนที่มีแนวทางการทำเกษตรแบบอินทรีย์ที่ชัดเจน และยังเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้แก่ผู้ที่สนใจ

          สำหรับสิ่งที่ได้เรียนรู้จากอิงนที รีสอร์ต ในครั้งนี้ คือการเพาะเห็ดชนิดต่างๆ ได้แก่ เห็ดนางฟ้า, เห็ดภูฐาน, เห็ดเยื่อไผ่ และเห็ดหลินจือ โดยเริ่มสอนตั้งแต่การทำก้อนเชื้อเห็ด, การดูแลผลผลิต จนมาถึงการเก็บเห็ดให้ได้คุณภาพ ซึ่งทางกลุ่มเกษตรกรยังได้เรียนรู้ว่า “เห็ดเยื่อไผ่” ไม่จำเป็นต้องทำก้อนเชื้อ ก็สามารถเพาะปลูกได้เลย

          ดังนั้นแปลงเกษตร “ไผ่กิมซุง” ของกลุ่มเกษตรกรที่มาดูงาน หากมีระบบนิเวศที่ดีอยู่แล้ว เพียงแค่กลับไปบำรุงดิน ก็สามารถเพาะปลูกเห็ดเยื่อไผ่ใต้ต้นได้เลย

  

          นางสาวคัคนางค์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ทาง กฟก. เองยังได้แลกเปลี่ยนเทคนิคการผลิต “ถ่านไบโอชาร์” (biochar) ถ่านชีวภาพ พร้อมแนะนำการออกแบบเตาเผาที่ถูกต้องให้กับทางอิงนที รีสอร์ต ซึ่งถ่านไบโอชาร์ที่ทำมาจากต้นไผ่กิมซุง เมื่อนำไปผสมปรับปรุงสภาพดินแล้ว จะทำให้ดินมีรูระบายอากาศมากขึ้น สามารถอุ้มน้ำและดูดซับแร่ธาตุได้ดี

 

 

          นอกจากนี้ยังสามารถแปรรูปเป็น “ถ่านไบโอชาร์อัดแท่ง” เหมาะสำหรับการปิ้งย่างอาหาร เพราะไม่มีควันและให้ความร้อนได้นาน ทั้งนี้ การเผาถ่านไบโอชาร์ นอกจากจะช่วยกำจัดเศษวัสดุทางการเกษตร ไม่ให้เหลือทิ้งเป็นขยะมูลฝอยได้แล้ว กระบวนการเผาถ่านไบโอชาร์ ก็ไม่ทำให้เกิดมลภาวะอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นการทำเกษตรแบบครบวงจรอย่างแท้จริง

          “การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กันระหว่างเทคนิคการเพาะเห็ด ของทางอิงนที รีสอร์ต กับการผลิตถ่านไบโอชาร์ ของทาง กฟก.ในครั้งนี้ นับเป็นความร่วมมือที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาต่อยอด รวมไปถึงแหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ของอิงนที รีสอร์ต ก็ถือเป็นประโยชน์แก่เกษตรกร ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงานเป็นอย่างมาก” นางสาวคัคนางค์ กล่าวทิ้งท้าย

Back To Top