skip to Main Content
02-530-9204-5 sammachiv.pr@gmail.com
“คัคนางค์ สุวรรณทัต” LFC 8 สานต่อรอยไถ นาข้าวพอเพียง “กลุ่มส่งเสริมการเกษตรพืชอุดม” อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี

“คัคนางค์ สุวรรณทัต” LFC 8 สานต่อรอยไถ นาข้าวพอเพียง “กลุ่มส่งเสริมการเกษตรพืชอุดม” อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี

          หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้รับการยอมรับว่า เป็นหลักในการพัฒนาประเทศ ที่จะนำไปสู่ความเจริญได้อย่างแท้จริงเศรษฐกิจพอเพียงยังให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มของชาวบ้าน และความสามัคคีของคนในชุมชน การร่วมแรงร่วมใจเพื่อประกอบอาชีพต่างๆ ให้บรรลุผลสำเร็จ

          “คุณคัคนางค์ สุวรรณทัต” หัวหน้าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) จังหวัดปทุมธานีและLFC8 เป็นหนึ่งในผู้ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดังจะเห็นได้จากการทำโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ภายใต้กิจกรรม “ร้อยเคียว เกี่ยวรวง เพื่อพ่อ พอเพียง”

 

 

          “กลุ่มส่งเสริมการเกษตรพืชอุดม” หมู่ 7 ตำบล พืชอุดม อำเภอ ลำลูกกา จังหวัด ปทุมธานี เป็นพื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือก ให้พัฒนาเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ หลังบูรณาการร่วมกับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) จังหวัดปทุมธานี ในการส่งเสริมให้ทำนาแบบอินทรีย์ 100% เพื่อลดต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ยังได้ช่วยพัฒนา “สายพันธุ์ข้าวหอมปทุมหรือปทุมธานี 1” ข้าวหอมพันธุ์ใหม่ของไทย ให้เป็นข้าวที่ปลอดสารเคมีอย่างแท้จริง ซึ่งนอกจากได้ราคาดีขึ้นแล้ว สุขภาพของชาวนาเองก็ดีตามไปด้วย

 

          

          คุณคัคนางค์ เล่าให้ฟังว่า ชาวนากลุ่มนี้มาติดต่อที่สำนักงาน กฟก. จังหวัดปทุมธานี โดยตอนนั้นเรามีนโยบายช่วยเหลือแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร จึงได้นัดลงไปดูในพื้นที่ ก็พบว่า นอกจากจะมีปัญหาหนี้สินแล้ว ก็ยังมีปัญหาเรื่องสุขภาพ เพราะเขาใช้เคมีสูง ชาวนาหลายคนอายุยังไม่ถึง 60 ปี แต่ก็เจ็บป่วยหลายโรค ทั้งโรคความดัน, เบาหวาน หรือแม้แต่โรคมะเร็ง อย่างไรก็ตามพวกเขาก็มีทุนทางสังคมอยู่บ้างแล้ว เช่น มีที่ทำนาเหมาะแก่การเพาะปลูก, มีต้นไผ่ตรงลืมแล้ง หรือไผ่กิมซุง ที่มีขึ้นให้เห็นอยู่ทั่วหมู่บ้าน เราก็เลยพยายามชวนคิด ให้เขาลองเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตดู จนมาลงตัวที่การทำเกษตรแบบอินทรีย์

          เราเริ่มแก้ปัญหาจากความทุกข์ของเขา ดูว่าชาวนาเขาทุกข์เรื่องอะไรและต้องการอะไร จากนั้นค่อยชวนคุย ชวนทำงาน ชวนเรียนรู้และลงมือปฏิบัติ ไม่ใช่ให้มานั่งฟังทฤษฏีอย่างเดียว ขณะเดียวกันเราต้องเปลี่ยนวิธีคิดของชาวนาที่พอเห็นหน่วยงานราชการมา ก็จะรู้สึกว่ารอคอยความช่วยเหลือดีกว่า

 

 

          คุณคัคนางค์ เล่าต่อว่า ความพิเศษของนาต้นแบบเนื้อที่ 2 ไร่เศษแห่งนี้ นอกจากจะปลอดสารเคมี 100% แล้ว การเก็บเกี่ยวผลผลิตยังใช้วิธีการแบบดั้งเดิมคือ “ลงแขกเกี่ยวข้าว”ประเพณีของชาวนาไทยที่แสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจ การช่วยเหลือซึ่่งกันและกัน อีกทั้งยังสามารถช่วยสร้างความสามัคคีกันในหมู่บ้านได้อีกด้วย สำหรับข้าวเปลือกที่ได้จากการลงแขกเกี่ยวข้าวในครั้งนี้ จะไม่นำไปขาย แต่เราจะนำเมล็ดพันธุ์ที่สะอาดบริสุทธิ์แจกจ่ายให้กับชาวนา โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าอยากจะพัฒนาพื้นที่หมู่ 7 ตำบล พืชอุดมแห่งนี้ ให้เป็นนาข้าวอินทรีย์ทั้งหมด

 

 

 

          ขณะเดียวกันเรายังได้ให้ความรู้เรื่องการผลิตถ่านไบโอชาร์ จากต้นไผ่กิมซุงและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยเฉพาะการทำเตาเผาถ่าน จากถังขนาด 200 ลิตรแบบตั้ง เพื่อให้นำไปผลิตและใช้เอง ซึ่งถ่านไบโอชาร์ที่ได้จากการเผาไหม้ สามารถนำไปผสมปรับปรุงดิน โดยจุลินทรีย์ที่อยู่ในถ่าน จะย่อยสลายอินทรีย์วัตถุให้เป็นสารอาหารที่พืชดูดซึมไปใช้ได้ ช่วยลดต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ยังมี “ถ่านอัดแท่งไร้ควัน” เหมาะสำหรับปิ้งย่าง หมูกะทะและการหุงต้มทั่วไป

 

 

 

          สำหรับบทบาทในฐานะศิษย์เก่าโครงการผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง LFC รุ่นที่ 8 คุณคัคนางค์ บอกว่า โดยส่วนตัวทำงานส่งเสริมภาคการเกษตร ซึ่งต้องอาศัยการทำงานแบบภาคีเครือข่าย นับเป็นความโชคดีที่หลักสูตร LFC มีผู้เรียนที่หลากหลาย ทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้แนวคิดใหม่ๆ ที่สามารถนำไปพัฒนาภาคการเกษตรได้ เช่นเดียวกับการทำงานเพื่อสังคม ที่มีความเข้าใจถึงความยากลำบากของคนระดับล่างมากขึ้น และจะพยายามคิดโครงการดีๆ เพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ต่อไป

 

          การทำนาอินทรีย์ นอกจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้แล้ว สุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภคก็ดีขึ้นด้วย นับเป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสานต่อหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้คงอยู่กับสังคมไทยตลอดไป

Back To Top