skip to Main Content
02-530-9204-5 sammachiv.pr@gmail.com
“เรือนไหม-ใบหม่อน” ผุด “ธนาคารน้ำใต้ดิน-ขยะแลกน้ำมัน” สานต่อรางวัล “SME ต้นแบบสัมมาชีพ” โชว์นวัตกรรมสุดล้ำ “ผ้าไหมยีนส์” ต่อยอดธุรกิจเจ้าแรกในไทย

“เรือนไหม-ใบหม่อน” ผุด “ธนาคารน้ำใต้ดิน-ขยะแลกน้ำมัน” สานต่อรางวัล “SME ต้นแบบสัมมาชีพ” โชว์นวัตกรรมสุดล้ำ “ผ้าไหมยีนส์” ต่อยอดธุรกิจเจ้าแรกในไทย

          “เรือนไหม – ใบหม่อน” สานต่อรางวัล SME ต้นแบบสัมมาชีพ สร้างศูนย์เรียนรู้ “บ้านไหมทองสะเร็น” หวังส่งต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คนรุ่นใหม่ ผุดไอเดีย “ธนาคารน้ำใต้ดิน–ขยะแลกน้ำมัน” รักษาสิ่งแวดล้อม โชว์นวัตกรรม “ผ้าไหมยีนส์” เจ้าแรกในไทย ต่อยอดผลิตเครื่องสำอางบำรุงผิว สกัดโปรตีนจากผงไหม

   

        

          สืบเนื่องจากคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิสัมมาชีพ เดินทางไปเยี่ยมชม “ศูนย์การเรียนรู้เรือนไหม – ใบหม่อน” จ.สุรินทร์ เพื่อติดตามความก้าวหน้าการขยายผลรางวัล SME ต้นแบบ ซึ่ง “เรือนไหม – ใบหม่อน” เคยได้รับรางวัลไปเมื่อปี 2560 การลงไปในพื้นที่ครั้งนี้มี “คุณอาทร แสงโสมวงศ์” กรรมการผู้จัดการ และ“คุณทัศนีย์​ สุรินทรานนท์” รองกรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัดเรือนไหม-ใบหม่อน เล่าที่มาของการดำเนินธุรกิจของเรือนไหม–ใบหม่อนว่า เกิดมาจากความร่วมมือกับนิคมสร้างตนเองเลี้ยงไหมจังหวัดสุรินทร์ ในพระบรมราชานุเคราะห์ ได้เข้าไปช่วยส่งเสริมให้ชาวบ้านหันกลับมาปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จนถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง โดยใช้วัตถุดิบและแรงงานในท้องถิ่น

 

 

          คุณอาทร เล่าต่อถึงแนวคิดในการดำเนินธุรกิจว่า จะให้ความสำคัญกับชุมชนที่อยู่รอบๆ ข้างเสมอ ถ้าหากว่าชุมชนเติบโตไปพร้อมๆ กับธุรกิจเรา ก็จะทำให้ตัวเราและชุมชนรอบข้างมีความสุขไปพร้อมๆ กัน เป็นความบังเอิญที่ปลายปี 2559 ได้เจอประกาศรับสมัครประกวด SME ต้นแบบของทางมูลนิธิสัมมาชีพ จึงลองเข้าประกวดปรากฏว่า ได้รับรางวัลของ SME ต้นแบบสัมมาชีพปี 2560 จึงอยากนำเงินรางวัลมาสร้างประโยชน์กับชุมชน

          จึงได้จัดตั้งกลุ่ม “ไดนามิคสุรินทร์ ฟอรั่ม” (Dynamic Surin Forums) เพื่อส่งเสริมและมีส่วนร่วมในการพัฒนาจังหวัดสุรินทร์ โดยเป็นการรวมตัวขององค์กรภาคเอกชน เช่น หอการค้า, สภาอุตสาหกรรม, หน่วยงานด้านการท่องเที่ยว, ชมรมธนาคาร, ชมรมจักยาน-นักวิ่ง, สมาคมกีฬา, ภาคประชาสังคม นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นต้น

          กิจกรรมแรกคือ การส่งเสริมการอนุรักษ์ผ้าไหมสุรินทร์ ใช้ชื่องานว่า “ผ้าไหมของแม่” เพื่อส่งเสริมศิลปะท้องถิ่นด้านการทอผ้าไหม มีเดินแฟชั่นโชว์ผ้าไหมสุรินทร์ จัดนิทรรศการผ้าไหมอายุกว่า 200 ปี เพื่อต้องการสนับสนุนให้ชุมชนมีรายได้ เพราะว่างานทอผ้าไหมเป็นงานที่บรรพบุรุษเราทำมาต่อเนื่องเป็นภูมิปัญญา หากมีกิจกรรมตรงนี้เกิดขึ้น ทุกคนก็จะมีอาชีพมีรายได้ไม่ต้องลำบาก ครอบครัวอบอุ่นมีความสุข

 

 

          ต่อมาได้คิดทำโครงการ “ธนาคารน้ำใต้ดิน” ในหมู่บ้านกระทม เพื่อแก้ปัญหาน้ำทิ้งจากครัวเรือน ส่งกลิ่นเหม็น โดยการขุดหลุมรองรับน้ำทิ้งไปเก็บไว้ใต้ดิน ลดปัญหาน้ำเน่าเสีย และจะทำให้พื้นที่โดยรอบเกิดความชุ่มชื้น เกิดประโยชน์ในการปลูกพืชรอบบริเวณบ้าน สามารถนำมาทำอาหารรับประทาน ขณะเดียวกันยังเป็นการช่วยลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

 

          นอกจากนี้ยังมีโครงการต่อเนื่อง “ขยะพลาสติก แลกน้ำมันเชื้อเพลิง” ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากสมาชิกกลุ่มไดนามิคสุรินทร์ ฟอรั่ม ที่ทำธุรกิจกลั่นน้ำมันจากขยะ โดยจะให้ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกธนาคารน้ำใต้ดิน นำขยะที่เป็นพลาสติกและโฟม 7 กิโลกรัม มาแลกกับน้ำมันเชื้อเพลิงได้ 1 ลิตร ซึ่งสามารถนำไปใช้กับรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเครื่องยนต์ทางการเกษตรต่างๆ โครงการนี้นอกจากจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะพลาสติกและโฟมแล้ว ยังช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นด้วย

          ขณะเดียวกัน มีแนวคิดจะงานวิ่งมาราธอนขึ้นเขาพนมสวาย แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสุรินทร์ เป็นการเชื่อมแหล่งท่องเที่ยวกับชุมชน รวมถึงหมู่บ้านที่อยู่รอบวนอุทยานเขาพนมสวาย โดยจะใช้วนอุทยานเขาพนมสวายเป็นจุดศูนย์กลางในการดึงคนเข้ามาท่องเที่ยว ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานหน่วยงานต่างๆ

 

 

 

          คุณทัศนีย์ กล่าวเสริมว่า “เรือนไหม-ใบหม่อน” ยังสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่หรือคนที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ เพื่อรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ให้คนรุ่นหลังต่อไป จึงเปิดศูนย์การเรียนรู้ “บ้านไหมทองสะเร็น ศูนย์การเรียนรู้วิถีชุมชนคนกับไหม” ที่บ้านเลขที่ 6/1 ต.นาบัว อ.เมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์ ให้ความรู้ตั้งแต่การเลือกใช้พันธุ์ไหม การสาวไหม จนกระทั่งการทอ และจัดแสดงอุปกรณ์การทอไหม ผ้าไหมโบราณและโรงเรียนสอนทอผ้าไหม สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ สร้างงานและรายได้ให้ชุมชน

          คุณทัศนีย์ กล่าวทิ้งท้ายให้กำลังใจผู้ที่ทำงานเพื่อชุมชนว่า ปัญหาอุปสรรคเป็นสิ่งที่ต้องเจอ ทุกคนอย่าท้อต้องมีใจให้ก่อน ให้ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เราต้องทำตัวเราให้เป็นตัวอย่างให้เขาเห็นว่าอุปสรรคปัญหาที่เกิดขึ้นเราต้องไปด้วยกันให้ได้ ด้านคุณอาทร กล่าวเสริมว่า จริงๆ แล้วในการทำงานเพื่อชุมชนเป็นเรื่องที่มันค่อนข้างจะยาก ต้องทุ่มเทมีความเป็นจิตอาสา และที่สำคัญต้องมีความคิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้สามารถฝ่าฟันอุปสรรคออกไปได้ อยากให้มีความอดทนต่อสู้และมีความยึดมั่นในเป้าหมาย แล้วจะประสบความสำเร็จในที่สุด

          สำหรับในเรื่องการดำเนินธุรกิจนั้น “คุณทัศนีย์” เล่าเพิ่มเติมว่า ได้นำนวัตกรรมสมัยใหม่มาปรับใช้ กับองค์ความรู้พื้นฐานเดิมจนได้เป็น “ผ้าไหมยีนส์” และเริ่มนำมาทำเป็นเสื้อผ้าที่ทันสมัยมากขึ้น โดยคุณสมบัติของผ้าไหมยีนส์ จะแตกต่างจากผ้ายีนส์ทั่วๆ ไปคือ เนื้อผ้านุ่ม ไม่แข็งกระด้าง ไม่ดูดกลิ่น ทำให้ใส่สบายไม่อับชื้น ซึ่งได้จดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถือว่าเป็นผ้าไหมยีนส์เจ้าแรกในเมืองไทย

 

 

          ขณะเดียวกันยังได้ต่อยอดผลิตภัณฑ์ต่างๆเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น ชาหม่อน, หม่อนเบอร์รี่, สบู่โปรตีนไหม, ดักแด้อบกรอบ, ครีมโปรตีนไหมบำรุงผิวหน้า และผ้าห่มใยไหม เป็นต้น อีกทั้งล่าสุดได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นอาหารโปรตีนจากผงไหม ในลักษณะเดียวกับเวย์โปรตีน ที่กลุ่มผู้ออกกำลังกายนิยมรับประทาน เพื่อเพิ่มโปรตีนให้กับร่างกายอีกด้วย คุณทัศนีย์ กล่าวทิ้งท้าย

 

ขอบคุณภาพประกอบ โครงการขยะพลาสติกแลกน้ำมันเชื้อเพลิง บ้านกระทม จ.สุรินทร์ จากข่าวกรมประชาสัมพันธ์ และภาพงานไหมของแม่ เฉลิมพระเกียรติฯ บ้านไหมทองสะเร็น จากเว็บไซต์สยามรัฐ

Back To Top