แปลงรวม : ประภาคารสาดส่องสัมมาชีพเต็มพื้นที่ชุมชน
แปลงรวม : ประภาคารสาดส่องสัมมาชีพเต็มพื้นที่ชุมชน
ยามบ่ายวันที่ 26 ต.ค. 2565 เจ้าหน้าที่มูลนิธิสัมมาชีพ 5 คน กับนักพัฒนาชุมชนบริษัท บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) 2 คน และหนึ่งผู้สังเกตการณ์ มาถึงบ้านโนนเสลา ตำบลหนองตูม อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ร่วมสมทบกับเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพร ชัยภูมิ ที่รอคอยอยู่ตามนัดหมาย
การลงพื้นที่ครั้งนี้มีกำหนด 3 วัน จากวันที่ 26-28 ต.ค. มีเป้าหมายเก็บข้อมูลปลูกพืชสมุนไพร โดยเฉพาะ”ตะไคร้” เพื่อเตรียมความพร้อมทำ “แปลงรวมตะไคร้ตัดใบ” ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 3 กลุ่มใน 3 อำเภอของชัยภูมิ คือ ภูเขียว คอนสวรรค์ และจัตุรัส พร้อมนำกลับมาวางแนวทางเตรียมลุยงานก่อร่าง”สัมมาชีพเต็มพื้นที่” ให้เป็นจริง
กลุ่มวิสาหกิจที่ถูกจัดวางให้เก็บข้อมูลเบื้องต้นมี 3 กลุ่ม ประกอบด้วย วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ผักบ้านหนองตูม (ภูเขียว) วิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานบ้านหนองตาไก้ (คอนสวรรค์) และกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนโนนทองส่องตะวันโมเดล (จัตุรัส) โดยกลุ่มวิสาหกิจดังกล่าวนี้ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรชัยภูมิประสานงาน นัดหมาย และนำพาลงพื้นที่ไปพบพูดคุยกับเกษตรกรทั้งเชิงประจักษ์และด้านลึก พร้อมตรวจพื้นที่เตรียมทำเกษตรแปลงรวมตะไคร้ตัดใบ
หนองตูม: วิสาหกิจแปลงใหญ่ผัก
ตำบลหนองตูม เป็นชุมชนใหญ่ มีครัวเรือน 3,313 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 11,424 คน แยกเป็นชายและหญิงสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือ 5,673 คน และ 5,751 คน ข้อมูลองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ระบุว่า มีอาณาเขตทั้งหมดประมาณ 1 แสนไร่ แบ่งเป็น 13 หมู่บ้านในสังกัด ประกอบด้วย บ้านแดง (หมู่ 1 กับ 13) บ้านสว่าง (หมู่ 2) บ้านหนองหญ้าข้าวนก (หมู่ 3) บ้านหนองหญ้ารังกา (หมู่ 4) บ้านโนนทัน (หมู่ 5, 10 กับ 12) บ้านโนนเสลา (หมู่ 6 กับ 11) บ้านหนองเนย (หมู่ 7) บ้านประชาสามัคคี (หมู่ 8) และบ้านจำปาทอง (หมู่ 9)
สำหรับบ้านโนนเสลา ข้อมูลดิบปี 2558 มีครัวเรือน 657 ครัวเรือน ประชากร 2,124 คน เป็นชายจำนวน 1,072 คนน้อยกว่าหญิงที่มี 1,443 คน เฉลี่ยแต่ละครัวเรือนอยู่อาศัยประมาณ 3 คน คงชี้ภาพคร่าวๆ ว่าเป็นครอบครัวขนาดเล็กมี พ่อ-แม่ และลูกไม่เกิน 2 คน
ในตำบลหนองตูม มี อบต. 1 แห่ง โดยแผนพัฒนาชุมชนปี 2565 ระบุใช้งบประมาณ 22 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ทุ่มให้กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเกือบ 18 ล้านบาท ในจำนวนนี้ใช้สร้างถนนถึง 16 ล้านบาท แต่งบพัฒนาคุณภาพชีวิตกับการศึกษาของชุมชนมีประมาณด้านละ 1.4 ล้านบาท ส่วนการพัฒนาแหล่งน้ำทั้ง 13 หมู่บ้านวางไว้ 3 โครงการใช้งบรวม 400,000 บาทเท่านั้น
ดังนั้น จึงไม่แปลกใจกับถนนหนทางในหมู่บ้านโนนเสลา ผู้สังเกตการณ์สัมผัสด้วยสายตาได้ถึงความสะอาด ปูด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ขอบถนนสองข้างมีร่องน้ำไหลเล็กๆ ส่วนบ้านเรือนดูภูมิฐานตามสไตล์บ้านจัดสรรแบบชนบท มีรถยนต์ส่วนตัว รถกระบะ รถไถคูโบต้าขนาดเล็ก และแทบไม่เห็นคอกเลี้ยงวัว ควาย และยุ้งฉางเก็บข้าวปะปนอยู่กับที่พักอาศัย
สิ่งขึ้นชื่อของตำบลหนองตูม คือ ประเพณีแห่นาคโหดหรือบุญเดือนหก ซึ่ง อบต.ส่งเสริมเป็นการท่องเที่ยวประเพณีดั้งเดิมของชุมชนที่ยึดถือปฎิบัติสืบทอดกันมาบนความเชื่อชายอายุครบ 20 ปีต้องบวชทดแทนคุณพ่อ-แม่ การอุปสมบทไม่แตกต่างจากทั่วๆไป แต่ที่เพิ่มเติมมาคือ ความรุนแรงจึงเรียกว่าโหด โดยผู้ชายบ้านโนนเสลาต้องผ่านประเพณีนี้ทุกคนถือว่าเป็นด่านสำคัญในชีวิตลูกผู้ชายและเป็นความท้าทายของคนหนุ่มในหมู่บ้านที่มีอายุครบบวช
การแห่นาคโหดเริ่มขึ้นโดยนำนาคโกนหัว นั่งขัดตะหมาดบนแคร่ไม้ไผ่หามอาจเป็นแคร่ละ 1-2 คน แล้วใช้เด็กหนุ่มในหมู่บ้านช่วยกันหามในจังหวะโยกเขย่าโยนนาคขึ้นลง เอียงซ้าย ไปขวา หรือสารพัดโหดที่คิดค้นได้ ส่วนนาคต้องจับยึดมั่นไม่ให้ตกจากแคร่หามลงดินและอดทนฝ่าด่านให้ได้ในเวลาแห่ 4-5 ชั่วโมงตลอดระยะทางรอบหมู่บ้าน 3 กิโลเมตร เมื่อทำได้ก็มีคุณสมบัติครบถ้วนสามารถบวชทดแทนคุณพ่อ-แม่ได้ ยังไม่เท่านั้น สิ่งสำคัญบ้านโนนเสลาคือการรวมกลุ่มทอผ้าขิด-ผ้าไหมด้วยภูมิปัญญาของชุมชน มีลวดลายการทอกว่า 100 ลาย มีสมาชิกกลุ่มถึง 400 คน จัดเป็นของฝากเมื่อนักท่องเที่ยวมาสัมผัสชุมชน
อาชีพส่วนใหญ่โนนเสลาเป็นเกษตรกรรมปลูกเพื่อขาย ทำนาปลูกข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา เลี้ยงวัว และมีกลุ่มรวมตัวตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ผักบ้านหนองตูม จดทะเบียนเมือปี 2563 มีสมาชิก 30 คนรวมพื้นที่ทำการผลิตประมาณ 39 ไร่ จึงจัดอยู่ในเกณฑ์แปลงใหญ่ขนาดเล็ก สมาชิกคนหนึ่งบอกว่า กระทรวงเกษตรจัดงบประมาณอุดหนุนให้ 1.2 ล้านบาท ไม่ได้เป็นตัวเงิน แต่จัดซื้ออุปกรณ์มาให้ เป็นรถไถคูโบต้าขนาดเล็ก 1 คัน พันธุ์ผัก และอื่นๆ อีก
ดังนั้นที่มาของรถไถคูโบต้าในบ้านหลายหลังคงมีที่มาไม่แตกต่างกัน หรือส่วนใหญ่ได้จากงบเกษตรแปลงใหญ่ที่รัฐวางยุทธศาสตร์ 6 ปี เร่งให้ทั่วประเทศมีพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ 30 ล้านไร่ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและขายมีกำไรเป็นรายได้เสริมช่วยยังชีพครอบครัว แต่สมาชิกบางรายบอกด้วยรอยยิ้มเปื้อนหน้าว่า ปลูกผักแล้วเก็บขายทุกอย่างที่ขายได้เพื่อส่งลูกชายเรียนโรงเรียนนานาชาติจนจบ 1 คนและกำลังจะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ส่วนลูกหญิงอีกคนยังเรียนมหาวิทยาลัยในประเทศ
การปลูกพืชสมุนไพร ตามข้อมูลรับรู้ มีโดดเด่นเพียงสมุนไพรตะไคร้ตัดใบ ซึ่งปลูกแซมตามคันนา หรือพื้นที่ว่างบริเวณบ้านเรือน การดูแลรักษาก็ปล่อยตามธรรมชาติ ตามมีตามเกิด และอีกอย่างแบ่งพื้นที่ปลูกเป็นไร่แบบนี้ดูจะทำกันจริงจัง ชาวบ้านระบุว่า ชุมชนมีแปลงปลูก 3 แปลงๆ ละ 3 ไร่ รวม 9 ไร่ และแปลงปลูกตะไคร้ตัดใบดังกล่าว เข้าใจว่า จะถูกพัฒนาเป็น “แปลงรวมนำร่อง” นั่นสะท้อนถึงมีตลาดรองรับซื้อถึง 25 ตันต่อเดือน เท่าที่สังเกตเห็นชุมชนมีเครื่องตัดตะไคร้หนึ่งเครื่อง ตั้งโชว์หน้าบ้านและสาธิตการทำงานให้ผู้มาเยือนดู
การดูพื้นที่และรับรู้ข้อมูลปลูกตะไคร้ตัดใบบ้านโนนเสลา ปัญหาสำคัญประเดประดังระหว่างตั้งวงรายงานข้อมูล ส่วนใหญ่เป็นด้านน้ำ เนื่องจากการปลูกปัจจุบันใช้น้ำบาดาลและหนองสาธารณะ แต่ขาดการจัดระบบให้น้ำมีเพียงพอต่อการดูแลรักษา โดยปัญหานี้ ชาวบ้านหวังได้รับการช่วยเหลือสร้างคันดินกันน้ำล้นหลากท่วมพื้นที่เกษตร และต้องการให้ส่งเสริมผลิตสินค้าทำรายได้เข้าชุมชน
หนองตาไก้กับโนนทองส่องตะวันโมเดล
การลงพื้นที่เป้าหมายไปกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานบ้านหนองตาไก้ ตำบลหนองขาม อำเภอคอนสวรรค์ กับกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนโนนทองส่องตะวันโมเดล ตำบลบ้านกอก อำเภอจัตุรัส จากการสัมผัสเชิงเปรียบเทียบผู้สังเกตการณ์มีความเห็นว่า กลุ่มวิสาหกิจทั้งสองแห่งนี้มีความแตกต่างกันทั้งด้านข้อมูล พื้นที่ และความเข้มขันของสมาชิกรวมกลุ่มกัน
บ้านหนองตาไก้มีบทเรียนเจ็บปวดกับการปลูกตะไคร้ตัดใบ เนื่องจากถูกหลอกให้ซื้อพันธุ์มาปลูก แล้วผู้ขายพันธุ์ไม่มารับซื้อตามที่ตกลงกันไว้เป็นมั่นเหมาะ สุดท้ายผลผลิตตะไคร้คือความสูญเปล่าของรายได้เสริมที่หวังมาจุนเจือครอบครัว ยิ่งกว่านั้นพันธุ์ที่ปลูกในปัจจุบันตลาดไม่ต้องการรับซื้อหรืออย่างดีแค่ซื้อเป็นเศษตะไคร้ราคาถูกกิโลกรัมละ 2 บาท แต่ชาวบ้านก็จำยอมขาย
ความเจ็บปวดอีกอย่าง เมื่อหลายปีก่อนชาวบ้านตาไก้ปลูกหน่อไม้ฝรั่งที่ได้รับการส่งเสริม และมีตลาดมารับซื้อถึงที่ ไม่ต้องเปลืองค่าเดินทางไปขายถึงแหล่งรับซื้อ ปลูกมาได้ 7-8 ปีราคาหน่อไม้ฝรั่งตกต่ำ ชาวบ้านขาดทุน เลิกปลูกแล้วหันกลับไปปลูกพืชเดิมๆ เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ทั้งที่ราคาแต่ละฤดูผลผลิตไม่ดีเด่เท่าใดนัก แต่เมื่อหักลบกลบหนี้แล้วยังมีเหลือเป็นรายได้น้อยนิดอยู่บ้าง ก็ยังดีกว่าชีวิตไม่มีรายได้มายังชีพ
ด้วยชีวิตผจญกับความเจ็บปวดใจบ่อยเข้า “ไชยันต์ ผดุงกิจ” คนหนุ่มวัย 40 ปีตอนต้น รูปร่างผอมบาง ผ่านทำงานสารพัดกลับบ้านมาเลี้ยงวัวพันธุ์ ทำการเกษตรปลูกข้าวโพด อ้อย ในไร่บนเนินภู อีกทั้งยังเคยขาดทุนกับการปลูกหน่อไม้ฝรั่ง เขาผ่านการอบรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง ชัยภูมิ โครงการผู้ก่อการดี ราวกับไฟผู้นำการเปลี่ยนแปลงในตัวเดือดพล่าน จนต้องไปพูดคุยกับชาวบ้านคนอื่น หารือการรวมตัวตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรขึ้น จนปัจจุบันมีสมาชิกรุ่นบุกเบิก 20 คน
ไชยันต์ เล่าว่า เขาเดินขึ้นลงบ้านผู้ปลูกตะไคร้ตัดใบที่เคยเจ็บปวดใจครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อพูดคุย หารือแนวทางตั้งกลุ่มปลูกตะไคร้ตัดใบ ใช้เวลานาน 2-3 เดือนจึงได้ข้อสรุปฟื้นคืนชีวิตปลูกตะไคร้อีกครั้ง จนเกิดประชุมรวมกลุ่มครั้งแรกและสมาชิกเลือกเขาเป็น “ประธานกลุ่ม” นำเดินหน้าหาพื้นที่แปลงรวมนำร่อง
“ผมเห็นพื้นที่สาธารณะแปลงหนึ่งถูกปล่อยทิ้งไว้ไม่ก่อประโยชน์กับชุมชน จึงไปขอผู้ใหญ่บ้านใช้ทำเป็นแปลงรวม ผู้ใหญ่บ้านกับกรรมการชุมชนใจดีบอกสั้นๆว่า เอาเลย จากนั้นผมไปขอรถ อบจ.มาช่วยไถหน้าดิน เตรียมพื้นที่ก็ได้รับความร่วมมือด้วยดี” ไชยันต์ เล่าถึงวันเริ่มต้นผู้นำการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นสุข และเมีย-ลูกก็พร้อมสนับสนุน
ในวันลงพื้นที่ “ไชยันต์” กับสมาชิกกลุ่มรอคณะภาคีเครือข่ายสัมมาชีพอยู่บนพื้นที่โล่ง หน้าดินถูกไถเรียบประมาณ 10 ไร่จากได้รับอนุญาตให้ใช้ 20 ไร่ แต่ส่วนที่เหลือยังมีต้นไม้เล็กใหญ่ปกคลุมหนาแน่น เขาชี้มือพร้อมรายงานว่า พื้นที่ 10 ไร่จะปรับปรุงเป็นแปลงรวม ยกร่องแถวยาวเพื่อปลูกตะไคร้ โดยสมาชิกตกลงร่วมกันดูแลรักษา ส่วนน้ำมีบ่อบาดาลและหนองคลองใกล้เคียง คิดว่าเพียงพอกับการใช้ปลูก พร้อมตั้งความหวังว่า ในอีก 2-3 ปี พื้นที่ตรงนี้จะตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชน
มี 2 สิ่งสำคัญที่ “ไชยันต์” รายงานในห้องประชุมเพื่อขอความช่วยเหลือ หนึ่งต้องการตลาดมารับซื้อถึงชุมชนแล้วได้ราคาแน่นอน แน่ละในเรื่องตลาดย่อมสำคัญอย่างยิ่งกับชาวบ้านที่เคยถูกหลอกและเจ็บปวดกับการปลูกตะไคร้ตัดใบมาแล้ว ดังนั้นข้อเสนอพ่วงของเขาคือ ขอสัญญาซื้อตลอด 3 ปี ส่วนสิ่งที่สองเป็นต้องการให้ช่วยด้านการจัดระบบน้ำ รวมทั้งขอให้ช่วยขุดบ่อเพิ่มเติมเพื่อเก็บกักน้ำหน้าฝนไว้ใช้ยามฤดูแล้งมาถึง
ส่วนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโนนทองส่องตะวันโมเดล มีสมาชิก 14 คน จัดเป็นกลุ่มวิถีธรรมชาติ พื้นดินชุ่มฉ่ำ ร่มรื่นต้นไม้ น้ำอุดมสมบูรณ์ถึงขั้นเหลือเฟือ จนต้องขุดคลองเล็กๆส่งน้ำไปทั่วพื้นที่ ชาวบ้านตั้งบ้านเรือนอยู่ในผืนไร่ของตัวเอง การเกษตรกรรมมีลักษณะผสมผสานระหว่างยังชีพและผลิตเพื่อขาย มีทั้งการปลูกกล้วย หอมแดง พืชสมุนไพร ผักหวานป่า อ้อย มันสำปะหลัง และเลี้ยงวัวพันธุ์ โดยมีระบบการจัดน้ำด้วยพลังงานแผงโซล่าเซลล์ตั้งเด่น มองเห็นแทบทุกบ้าน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ (อบจ.) ทั้งเครื่องปั่นไฟ วางท่อพีวีซีส่งน้ำไปทั่วแปลงการปลูกพืช
ข้อมูลพื้นที่ของกลุ่มนี้ มีปัญหาหลักอยู่ที่น้ำมาก จนดินอุ้มน้ำไว้เกินขนาดการใช้ปลูกพืชสมุนไพรประเภทหัว เช่น ข่า ขิง กระชาย ขมิ้น และตะไคร้ อย่างไรก็ตาม ชีวิตเกษตรกรในชุมชนนี้อยู่ในระดับดี ไม่เดือดร้อนกับการขายผลผลิต
แปลงรวมวิถีต้นแบบเกษตรสัมมาชีพเต็มพื้นที่
การลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลแปลงรวมสมุนไพรทั้ง 3 วัน องค์กรภาคี 3 ประสาน คือ มูลนิธิสัมมาชีพ ไทยเบฟ และเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรชัยภูมิ พยายามเน้นย้ำถึงการรับข้อมูลไปหารือแนวทางทำงานร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ทั้ง 3 แห่งเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “ตลาดนำการผลิต” หรือผลิตตามตลาดต้องการ
ผู้สังเกตการณ์ ประเมินเบื้องต้นจากข้อมูลเชิงประจักษ์และการรายงานสภาพกว้างๆของชุมชนแล้ว ชุมชนหนองตาไก้มีความโดดเด่นในการลงแรงทำแปลงรวมตะไคร้ตัดใบเป็นอันดับแรก เพราะมีพื้นที่พร้อม สมาชิกกลุ่มมีความกระตือรืนร้น แม้แฝงด้วยความหวาดหวั่นกับการถูกหลอกมาแล้วก็ตาม แต่ด้วยความเป็นวิถีชีวิตเกษตรกรรมจึงต้องเข้มแข็งรวมพลังฟื้นคืนการปลูกตะไคร้ให้เป็นรายได้เสริมอีกครั้งอย่างมีความหวังกับภาคี 3 ประสานลงพื้นที่ ดังนั้นแปลงรวมนำร่องจะมีองค์ประกอบของความหวัง การปลุกพลังชุมชน พร้อมเติมความมุ่งมั่น บทเรียนการบริหารจัดการของผู้นำที่ผ่านการอบรมจากมูลนิธิสัมมาชีพมาด้วย
ภาพในห้องประชุมระหว่างการรายงานข้อมูลของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตาไก้ดูคึกคักกว่าอีก 2 กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ทั้งในด้านผู้ร่วมประชุมมากกว่า 50 คน มีหน่วยงานรัฐ เช่น เกษตรจังหวัด พาณิชย์จังหวัด รอง ผอ.วิทยาลัยเกษตรกรรมจังหวัด อบต. ฝ่ายโครงการ อบจ. รวมทั้งการรายงานข้อมูลแบบล้นทะลักของหน่วยงานรัฐเหล่านั้น “ไชยันต์” บอกว่า ภาพการประชุมแบบนี้ชุมชนยังไม่เคยสัมผัสมาก่อน นี่เป็นครั้งแรกที่หน่วยงานรัฐมารายงานและชี้แนะช่องทางให้การช่วยเหลือชาวบ้านปลูกพืชตามตลาดต้องการ
เรียกได้ว่า ปัญหาน้ำเป็นอุปสรรคหลักที่เกิดขึ้นทั้ง 2 กลุ่มวิสาหกิจฯ คือ หนองตูม กับ ตาไก้ ประกอบกับข้อเสนอให้ช่วยเหลือไม่แตกต่างกัน มีทั้งแนวทางขุดบ่อ ขุดสระ สร้างคันดินกันน้ำ ดังนั้นความจำเป็นจึงควรเลือกตัดสินลงแรง ส่วนวิสาหกิจโนนทองฯ มีปัญหาแค่น้อยมาก และแปลงรวมยังไม่พร้อมจะเดินหน้าปรับปรุงนำร่อง
อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่ภายใต้ปฏิบัติการศึกษาข้อมูล “แปลงรวมตะไคร้ตัดใบ” มีนัยยะถึงการก่อรูปสู่ “แปลงต้นแบบ” เพื่อเป็นกรณีศึกษาแล้วขยายให้ชุมชนและกลุ่มวิสาหกิจอื่นๆ นำไปปฏิบัติ ดังนั้น ผลสำเร็จของเกษตรแปลงรวมคือสิ่งสำคัญกับการเกิดร่างต้นแบบขึ้นเป็นตัวอย่าง
ขณะเดียวกันแปลงรวมเป็นเสมือนประภาคารสาดส่องแนวทางต้นแบบสัมมาชีพให้เติบโตเต็มพื้นที่ชุมชนในชัยภูมิ แต่จะสำเร็จหรือไม่ และร่างเกษตรต้นแบบจะเกิดขึ้นเป็นจริงได้แบบใด เบื้องแรกข้อมูลพื้นที่จึงสำคัญเพื่อเตรียมงานแปลงรวมตะไคร้ตัดใบ แล้วขยับสู่แปลงรวมสมุนไพรอื่นๆ ทั้งข่า ขิง ว่าน ไพร กระชาย เป็นต้น
กล่าวอย่างรวบรัดแล้ว เกษตรแปลงรวม จึงเป็นภาพสะท้อนของชุมชนจินตกรรมต้นแบบการปลูกสุมนไพรตะไคร้ตัดใบ ประหนึ่งเป็นภาพฝันที่ถูกสเก็ตด้วยแรงกายใจขององค์กรภาคี 3 ประสานคือ มูลนิธิสัมมาชีพ ไทยเบฟ และเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรชัยภูมิ ซึ่งเร่งผลักดันไปสู่การก่อเกิดการผลิตตามแนวทางสัมมาชีพเต็มที่ ซึ่งเน้นวิถีเกษตรปลอดสารเคมี มุ่งใช้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นสารเร่งความเติบโต มีตลาดรองรับซื้อ ชุมชนมีรายได้เพิ่มไว้จับจ่ายการดำรงชีพในสิ่งจำเป็นตามกำลังแรงสร้างผลผลิตของตัวเอง และไม่เบียดเบียนใคร ตลอดจนยังเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาสิ่งแวดล้อม
โดยองค์ประกอบจำเป็นของแปลงรวมนั้น จะบรรจุให้เกิดการเรียนรู้ทั้งด้านดินที่เหมาะสมในการปลูก การบริหารจัดการน้ำตามลักษณะพื้นที่หรือพืชที่ปลูกต้องการเติบโตอย่างมีคุณภาพ รวมทั้งการใช้พันธุ์พืชที่สอดคล้องกับตลาดรับซื้อ สิ่งสำคัญคือ กำลังคนเข้มแข็งเอาการเอางาน มั่นดูแลรักษา บำรุง จดบันทึกสภาพพืชอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์ รวมถึงชุมชนได้ทดสอบการบริหารจัดการแบบรวมหมู่ แบ่งหน้าที่เฉพาะ รับผิดชอบ เกิดวัฒนธรรมวิจารณ์หมู่อย่างมีดุลภาพ เพื่อพร้อมปรับตัวไปสู่ “ผู้ประกอบการชนบทใหม่”
ดังนั้น แปลงรวมจึงเป็นการก่อเกิดต้นแบบด้านดีของทุกสิ่งอย่างในชุมชน เป็นแปลงที่เรียนรู้การปรับตัว รวมทั้งเป็นแปลงต้นแบบของวิถีการผลิตของ”ผู้ประกอบการชนบทใหม่” ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มค้าขายของชุมชนที่สร้างอำนาจต่อรอง ผลิตสร้างผลผลิตนำเสนอเป็นสินค้าขายด้วยตัวเอง เกิดการจัดสรรรผลประโยชน์ให้สอดรับกับความต้องการของชุมชน สิ่งนี้คือ มิติเป้าหมายของชุมชนสัมมาชีพเต็มพื้นที่ ที่เครือข่ายภาคีร่วมมือกับชุมชนเร่งผลักดันไปให้ถึง โดยมีแปลงรวมและแปลงต้นแบบเป็นทางก้าวผ่านอย่างมีนัยยะสำคัญและท้าทาย
ติดตามมูลนิธิสัมมาชีพได้ที่
https://www.facebook.com/sammachiv
https://www.facebook.com/chumchonmeedee
https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods
https://www.instagram.com/sammachiv/