skip to Main Content
02-530-9204-5 sammachiv.pr@gmail.com
AI (Artificial Intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์  ในโลกยุค Technology Disruption

AI (Artificial Intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ในโลกยุค Technology Disruption

“สิ่งที่เราพึงกระทำในขณะนี้ คือ การพัฒนาทักษะให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต เพื่อสามารถใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาดและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด”

 

ในโลกปัจจุบันเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก หลายคนคงได้ยินคำว่า AI (Artificial Intelligence) ชื่อเรียกภาษาไทยว่า ปัญญาประดิษฐ์ นั่นคือ ระบบประมวลผล ที่มนุษย์คิดค้นและพัฒนาขึ้น ให้มีความสามารถในการประมวลผลข้อมูล การวิเคราะห์เชิงลึก ตัดสินใจได้ และได้ผลลัพธ์ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม เฉกเช่นเดียวกับการทำงานของมนุษย์ ถูกนำไปติดตั้งในเครื่องจักรกล หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์และอำนวยความสะดวกตามแต่ละฟังชั่นของการใช้งาน ในที่นี้ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างให้เห็นอย่างง่าย ๆ ว่า AI เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราอย่างไร

 

AI ที่แฝงอยู่ในชีวิตประจำวัน  

ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีในปัจจุบัน เราต่างพึ่งพาอุปกรณ์อำนวยความสะดวก เพื่อตอบสนองต่อการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวันของเรา  อย่างเช่น สมาร์ทโฟนยุคใหม่สุดล้ำ ที่เหมือนบรรจุโลกทั้งใบไว้ข้างใน ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการรองรับความต้องการของผู้ใช้งาน ทำให้สมาร์ทโฟนของเรานั้น ฉลาดล้ำเสียไม่มี ไม่ว่าจะเป็น การปลดล๊อกหน้าจอด้วยระบบ Touch/Face ID ที่จดจำลายนิ้วมือหรือลักษณะใบหน้าของผู้ใช้งาน ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาความปลอดภัยให้แก่สมาร์ทโฟนของเราได้เป็นอย่างดี ระบบการสั่งการด้วยเสียง (Voice Assistant) หรือ Siri ของผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนบนระบบ IOS ที่เปรียบเสมือนมีผู้ช่วยส่วนตัว สามารถจัดการคำสั่งการผ่านเสียงของผู้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะต้องการโทรหรือส่งข้อความในขณะที่มีภาระงานอื่นกำลังกระทำอยู่ ต้องการฟังเพลงโปรดในระหว่างขับรถ หรือเป็นผู้ช่วยที่ดีในการค้นหาข้อมูล เพียงแค่เอ่ยคำว่า “สวัสดี Siri” เท่านี้ เราก็จะมีผู้ช่วยที่ดีเสมือนอยู่เคียงข้างเราตลอดเวลา

แอพพลิเคชั่นสังคมออนไลน์ชื่อดังอย่าง Facebook ที่ต่างเป็นที่นิยมกับผู้ใช้งานทั่วโลก หลายคนต่างตั้งคำถามกับความฉลาดของแอพพลิเคชั่นดังกล่าว ซึ่งไม่ว่าเรากำลังให้การค้นหาหรือสนใจเรื่องอะไรอยู่   Facebook นั้นก็จะทราบเป็นอย่างดี ราวกับได้ยินหรือได้ฟังสิ่งที่เรากำลังคิด และจัดการโชว์ข้อมูลบนหน้าฟีดข่าวของเราเต็มไปหมด นั่นคือปัญญาประดิษฐ์ที่ Facebook นำมาวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภค เพื่อคัดกรองและนำเสนอข้อมูลให้แก่ผู้ใช้งาน นอกจากนั้น คือ ระบบจดจำใบหน้าอัตโนมัติ ผ่านการแท็กชื่อเพื่อนของเราบนรูปภาพ นี่คือ ความสามารถอย่างหนึ่งในการทำงานของ AI ที่สามารถเรียนรู้และจดจำข้อมูลได้ดีราวกับสมองของมนุษย์

หลายภาคส่วนต่างให้การกล่าวถึง บทบาทของ AI ที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละภาคอุตสาหกรรม ซึ่งล้วนแต่มีบทบาทเฉพาะ แต่มีเป้าประสงค์เดียวกัน คือ การนำ AI เข้ามาเป็นผู้ช่วยเพื่อเสริมศักยภาพการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

AI ในภาคการเกษตร  
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) กล่าวถึง การทำเกษตรดิจิทัล ซึ่งเป็นการนำ   ประโยชน์จากการเก็บข้อมูลทางสภาพแวดล้อม ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำเกษตร เช่น อุณหภูมิ ความชื้น  สภาพดิน ปริมาณแสง อัตราการเจริญเติโตของพืช ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรเข้าใจถึงปัญหา และแนวทางในการทำการเกษตรที่เหมาะสม ที่สำคัญที่สุดคือสามารถผนวกนำข้อมูลเหล่านี้ ต่อยอดควบคู่กับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกร เช่น การนำ AI ช่วยดูแลกำจัดศัตรูพืช ควบคุมดูแลแปลงพืช วิเคราะห์ และหาวิธีการกำจัดวัชพืชในแปลง โดยที่เกษตรกรแทบจะไม่ต้องเข้าไปคลุกคลีด้วยตัวเอง

 

AI ในวงการแพทย์
ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์นั้นเติบโตและก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ซึ่งแน่นอนว่า AI ได้เข้ามีบทบาทเป็นผู้ช่วยสำคัญ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดตัวหุ่นยนต์ที่มีชื่อว่า “ยูงทอง” AI แชทบอทภาษาไทย ถูกนำมาทดลองใช้ในสถานการณ์โควิด-19 เพื่อลดลดการแพร่กระจายการติดเชื้อจากคนสู่คน และสร้างความปลอดภัยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ โดยหุ่นยนต์ยูงทอง สามารถทำกิจกรรมได้แทนบุคลากรทางการแพทย์ เช่น วัดไข้ แจกอาหาร/ยา บันทึกประวัติของผู้ป่วย รวมถึงการสื่อสารระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วย เพื่อติดตาม อาการผู้ป่วยขณะกษาพยาบาลในโรงพยาบาล เรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมการรักษาพยาบาลที่เติบโต และก้าวหน้า ซึ่งเราอาจจะพบเจออย่างแพร่หลายได้ในอนาคต

 

AI ในอุตสาหกรรมอาหาร
เป็นที่แน่นอนว่าพฤติกรรมการบริโภคอาหารในปัจจจุบัน มีความแตกต่างและหลายหลาย อาจด้วยปัจจัย ทางด้านอายุ กำลังซื้อ หรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันออกไป ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร กล่าวถึงการนำ AI มาใช้ในการพัฒนาหรือผลิต ผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาการผลิตที่ล้นตลาด ไม่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค  โดยที่ AI จะเข้ามาเป็นตัวช่วยในการผลิตอาหารให้ตรงใจผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น สามารถคาดเดาสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการได้ล่วงหน้า โดยอาศัยการเรียนรู้จากข้อมูลที่ถูกเก็บรวบรวมไว้ก่อนหน้า เข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์ ประมวลผล เพื่อกำหนด หรือจำลองรสชาติที่ผู้บริโภคต้องการขึ้นมา

เห็นได้ว่าการที่ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในแทบทุกมิติ ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่ดี หากแต่เมื่อมีข้อดี  อาจจะทำให้เกิดข้อเสียตามมา ในเมื่อระบบ AI ถูกพัฒนาขึ้นให้มีความสามารถเช่นเดียวกับสมองของมนุษย์   จดจำ เรียนรู้ และประมวลผลได้ พร้อมกับอุตสากรรมเทคโนโลยีที่กำลังมุ่งพัฒนาหุ่นยนต์สมองกล ก็ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า ในอนาคตอันใกล้ AI อาจไม่ใช่เพียงแค่ระบบการประมวลผล แต่เป็นหุ่นยนต์สุดฉลาดล้ำที่ สามารถทำงานแทนมนุษย์ได้โดยที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ความน่ากลัวในอนาคตอันใกล้นี้ อาจจะหนีไม่พ้น การตั้งคำถามว่า “AI จะเข้ามาเป็นผู้ช่วย หรือแย่งงานไปจากมนุษย์กันแน่”

ผู้เขียนเห็นว่าสิ่งที่เราพึงกระทำในขณะนี้ คือการพัฒนาทักษะให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต การเรียนรู้เท่าทันเทคโนโลยี ใช้อย่างชาญฉลาด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะแสวงหาความรู้ในการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา

เขียนโดย : กมลทิพย์ ศรีรรคพรหม

อ้างอิง
https://www.nia.or.th/AgTechTrends
https://www.tcdcmaterial.com/th/article/technology-innovation/28748
https://siamrath.co.th/n/153643

 

 

 

Back To Top