skip to Main Content
02-530-9204-5 sammachiv.pr@gmail.com
“ชุมชนเนินสำเหร่ 1” จ.ระยอง ร่วมมือกับ “พีทีที โกลบอล” แปลงร่างขยะสู่สินค้าแฟชั่น สร้างรายได้ให้ชุมชน

“ชุมชนเนินสำเหร่ 1” จ.ระยอง ร่วมมือกับ “พีทีที โกลบอล” แปลงร่างขยะสู่สินค้าแฟชั่น สร้างรายได้ให้ชุมชน

          ปัจจุบันคนในชุมชนต่างๆ ตื่นตัวกันสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจให้กับชุมชนที่รวมตัวกันทำในนาม “วิสาหกิจชุมชน” กันอย่างคึกคักบางพื้นที่ก็ทำทางด้านท่องเที่ยวชุมชน บางพื้นที่ก็เป็นชุมชนเกษตรอินทรีย์ และแปรรูปสินค้าเกษตรอินทรีย์ต่างๆ บางพื้นที่ก็เป็นพวกกลุ่มออมทรัพย์แต่ก็มีไม่น้อยที่ทำเกี่ยวกับผ้าพื้นเมือง อยู่ที่ชุมชนไหนมีวัตถุดิบ มีความเชี่ยวชาญเรื่องอะไร แต่เป้าหมายคือ สร้างรายได้ให้กับชุมชน ให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

          แต่ก็มีบางชุมชนที่อาศัยจุดแข็งในพื้นที่ ที่อยู่ในเขตอุตสาหกรรมมีบริษัทยักษ์ใหญ่เข้ามาลงทุน จึงได้ร่วมมือกันกลายเป็นพันธมิตรกันระหว่างชุมชนและบริษัทในการผลิตสินค้าในเชิงอุตสาหกรรมสร้างรายได้ให้กับชุมชน

          อย่างกรณีชุมชนเนินสำเหร่ 1 จังหวัดระยอง ซึ่งร่วมมือกับ บริษัท พีทีที โกลบอล ผู้ผลิตสินค้าปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ซึ่งใช้สำหรับเป็นวัตถุดิบในการผลิตเม็ดพลาสติก ทางบริษัทจึงได้แปลงร่างขยะพลาสติก ขวด PET สู่สินค้าแฟชั่น เป็นหนึ่งในการผลักดันให้มีการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน มาปรับใช้เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

          จุดเริ่มต้นมาจาก บริษัทฯ ได้ริเริ่มโครงการ Upcycling Plastic Waste เพื่อศึกษาวิจัยแนวทางในการพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์จากพลาสติกรีไซเคิลประเภทโพลิเอทิลีน (PE) เพื่อผลักดันให้มีการนำขยะพลาสติก หรือ พลาสติกเหลือใช้มาเข้าสู่กระบวนการ Upcyclingโดยออกแบบให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม นับเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมของ GC

          โดยมีอาจารย์จารุพัชร อาชวะสมิต นักออกแบบ และ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อขยายมิติสู่ภาพความร่วมมือกับชุมชน รวมทั้งสร้างรายได้เสริม บริษัทฯ จึงได้จัดอบรมการถักทอผลิตภัณฑ์จากพลาสติก PE Recycle ให้กับชุมชนเจริญพัฒนา และชุมชนเนินสำเหร่ 1 จังหวัดระยอง

          ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบที่มีความพร้อมด้านการถักทอ โดยมีคณะอาจารย์ ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เข้ารับการอบรมจาก 2 ชุมชนดังกล่าว และมีแผนการขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นที่มีความพร้อมต่อไป เพื่อสร้างรายได้ สร้างอาชีพ และคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ชุมชนในจังหวัดระยอง ถือได้ว่าโครงการฯ นี้ นอกจากจะเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการสร้างโมเดลวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้

           สินค้าที่ผลิตได้ อาทิ กระเป๋าและซองใส่เอกสาร ทำจากเส้นด้ายโพลิเอทิลีน (PE Recycle) ที่ได้จากการแปรรูปขยะพลาสติกประเภทโพลิเอทิลีนด้วยนวัตกรรมจนกลายเป็นเส้นใย ถักทอด้วยฝีมือ ถักทอของชุมชน จ. ระยอง จนเกิดเป็นลวดลายที่สวยงามก่อเกิดเป็นอาชีพใหม่ สร้างรายได้ให้กับชุมชน เพื่อสร้าง Circular Living….ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนโลก

          โดยกระเป๋า 1 ใบ ใช้ขยะถุงพลาสติก 43 ถุง ในการผลิต ซึ่งเป็นวัตถุดิบ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการลดการใช้พลาสติกผลิตใหม่ (Virgin Plastic) และลดปริมาณขยะที่นำไปฝังกลบ ได้เท่ากับ 1,563 กรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (gram of CO2 equivalent) ซองใส่เอกสาร 1 ซอง ใช้ขยะถุงพลาสติก 20 ถุง เป็นวัตถุดิบ ตะกร้า Hamper 1 ใบ ใช้ขยะถุงพลาสติก 38 ถุง เป็นวัตถุดิบ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการลดการใช้พลาสติกผลิตใหม่ (Virgin Plastic) และลดปริมาณขยะที่นำไปฝังกลบ ได้เท่ากับ 1,381 กรัม คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (gram of CO2 equivalent)

          สินค้าแฟชั่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Limited Edition นี้ ได้วางจำหน่ายเพื่อเป็นของขวัญอันทรงคุณค่าในช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่ร้านภัทรพัฒน์ เมื่อต้นปี 2562 ที่ผ่านมาจากขยะพลาสติกไร้ค่า ได้รับการชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ ด้วยการนำนวัตกรรมมาแปรรูป ออกแบบ สร้างสรรค์ ให้กลับมาเป็นของมีค่าอีกครั้ง ถือเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด เท่ากับเราได้ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และโลกของเราอย่างแท้จริง

          งานนี้ยิงนกนัดเดียวได้นกหลายตัว ทั้งเป็นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และยังสามารถนำมาแปรรูปสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย น่าจะเป็นอีกกรณีศึกษาที่น่าสนในให้ชุมชนหรือวิสาหกิจชุมชนที่อยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรมจับมือเป็นพันธมิตรทำงานร่วมกัน เป็นธุรกิจเพื่อสังคมได้ เรียกว่า วินวินทั้งคู่

 

บทความโดย นายทวี มีเงิน

ภาพประกอบจาก เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ และเว็บไซต์ไทยพีบีเอส

ไม่มีภาพกิจกรรม

ไม่มีวิดีโอ

Back To Top