บทบาทของ “มูลนิธิสัมมาชีพ” นอกจากจะเข้าไปช่วยยกระดับวิสาหกิจชุมชนแล้ว บทบาทอีกด้านคือ การพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs นอกจากจะให้ความรู้เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการแล้ว ทางมูลนิธิยังจัดให้มีรางวัล ผู้ประกอบการ SMEs ต้นแบบสัมมาชีพ โดยจัดมาแล้วเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน บล็อกสัมมาชีพฉบับนี้ จึงขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ SMEs
ต้องยอมรับว่า SMEs มีบทบาทสำคัญต่อการสนับสนุนความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และชีวิตคนไทยจำนวนมากเกี่ยวข้องกับธุรกิจ SMEs ทั้งในฐานะเจ้าของกิจการและลูกจ้าง แต่ในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจ SMEs ต้องเผชิญความท้าทายจากเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในกระบวนการผลิต การดำเนินธุรกิจ รวมถึงสภาพการแข่งขันจากโครงสร้างเศรษฐกิจ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
ธนาคารแห่งประเทศไทยเคย สำรวจ SMEs กว่า 2,400 รายทั่วประเทศ เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และการปรับตัวเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาและช่วยเหลือ SMEs ให้ตรงจุดโดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากธนาคารพาณิชย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ในการกระจายแบบสำรวจในครั้งนี้
ข้อสรุปสำคัญจากการสำรวจพบว่า SMEs เผชิญกับ 2 อุปสรรคหลัก คือ
(1) ต้นทุนธุรกิจสูง ทั้งจากต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนทางการเงิน ค่าจ้างแรงงาน ค่าขนส่งค่าสาธารณูปโภค ในขณะที่กฎระเบียบภาครัฐสร้างต้นทุนแฝงให้แก่ SMEs และ
(2) การแข่งขันรุนแรงที่มาจากรอบด้าน ทั้งจาก SMEs ด้วยกันเอง จากธุรกิจขนาดใหญ่ที่ขยายสาขาไปทุกพื้นที่ และมีบริการที่ครบวงจร จากธุรกิจ e-Commerce ที่ทำให้ลูกค้า มีทางเลือกในการบริโภคสินค้าและบริการที่มีราคาและคุณภาพหลากหลาย
ดังนั้น SMEs ส่วนใหญ่เมื่อเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง มักใช้กลยุทธ์ด้านราคาดึงดูดลูกค้าและเพิ่มปริมาณขาย อย่างไรก็ตามการแข่งด้วยราคาโดยไม่ได้พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ หรือแตกต่างจากคู่แข่ง ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง ผลสำรวจพบว่าร้อยละ 70 ของ SMEs ที่เน้นแข่งขันราคาเป็นหลักประสบกับภาวะยอดขายลดลง
ขณะที่ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) เปิดเผยว่า จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบสถิติที่น่าสนใจช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มี SMEs เกิดใหม่กว่า 70,000 รายต่อปี แต่มีเพียง 50% เท่านั้นที่ก้าวผ่านปีแรกไปได้และหลังจากนั้นจะมีธุรกิจอีกราว 10% ที่ปิดตัวไปอย่างน่าเสียดาย กลายเป็นโจทย์ใหญ่ไปสู่การศึกษาวิจัยพฤติกรรมการดำเนินธุรกิจของ SMEs ไทย เพื่อหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นกับ SMEs ภายใต้หัวข้อ “7 หลุมพรางของ SMEs ที่ทำให้ธุรกิจไม่ไปถึงฝั่งฝัน”
ทั้งนี้ ทีเอ็มบีร่วมกับบริษัทวิจัยชั้นนำ สำรวจทางออนไลน์กับกลุ่ม SMEs ไทยทั่วประเทศ ที่มีรายได้เฉลี่ย 1-50 ล้านบาทต่อปี แบบคละประเภทธุรกิจจำนวน 200 คน ได้บทสรุป 7 หลุมพราง ดังนี้
1. ใช้เงินทุนโดยไม่วางแผน โดย 84% ของ SMEs ใช้เงินเก็บส่วนตัวหรือครอบครัวมาใช้เป็นเงินตั้งต้นธุรกิจ หากธุรกิจผิดพลาดจะได้รับผลกระทบทันที
2. ทำธุรกิจโดยไม่ใช้แผนธุรกิจ เพราะหมดเวลาไปกับการแก้ปัญหารายวัน
3. พบว่า 67% มีพฤติกรรมการใช้เงินธุรกิจกับเงินส่วนตัวปนกัน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการดำเนินธุรกิจให้เติบโตระยะยาว
4. ยอดขายสูง แต่ไม่มีกำไร โดย 37% ของ SMEs เคยทำพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการขายของขาดทุน เช่น 14% ลดราคาสินค้าโดยไม่ได้พิจารณาถึงต้นทุน, 14% ลืมใส่เงินเดือนตัวเองลงไปในต้นทุนสินค้า และ 9% คิดแค่ขายสินค้าให้มากกว่าราคาวัตถุดิบ ก็เท่ากับได้กำไร
5. พบ 87% ทุ่มเวลากับการผลิตจนไม่มีเวลาให้การตลาด ทำให้พลาดในการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง
6. ONE MAN SHOW…NO Stand-in กว่า 70% ของ SMEsไทย ไม่สามารถหาบุคคลที่จะมาเป็นตัวตายตัวแทน ที่จะตัดสินใจทางธุรกิจแทนได้ โดยธุรกิจสะดุด หากไม่อยู่ดูแลหรือขายสินค้าเอง ซึ่งส่งผลให้ยอดขายลดลง ออเดอร์หรือฐานลูกค้าหายไปทันที
7. ไม่พร้อมรับมือกับสิ่งใหม่
“ทีเอ็มบี” จึงมีข้อแนะนำ ดังนี้
1. เลือกเงินทุนและจัดสัดส่วนเงินลงทุนอย่างเหมาะสม คำนึงถึงความเสี่ยงด้วย
2. วางแผนธุรกิจคร่าวๆ ด้วยตนเอง
3. แยกกระเป๋าธุรกิจออกให้เป็นสัดส่วน
4. คิดต้นทุนให้ครบ
5. หาเครื่องทุ่นแรงหรือคนมาช่วยดูแลธุรกิจ
6. พัฒนาบุคลากร เพื่อวางรากฐานให้มั่นคง
7. หาความรู้เพิ่มเพื่อต่อยอดธุรกิจ ด้วยการเดินงานแฟร์ คุยกับที่ปรึกษาSMEs ร่วมงานสัมมนา เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ประกอบการ”
ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นข้อมูลให้กับผู้ประกอบการ นำกลับไปพัฒนาธุรกิจ SMEs ของตัวเองได้เป็นอย่างดี
บทความโดย ทวี มีเงิน
ไม่มีภาพกิจกรรม
ไม่มีวิดีโอ