skip to Main Content
02-530-9204-5 sammachiv.pr@gmail.com
ปลากุเลา ของดีบางตาวา สู่การพัฒนาสินค้าสร้างเศรษฐกิจให้ชุมชน

ปลากุเลา ของดีบางตาวา สู่การพัฒนาสินค้าสร้างเศรษฐกิจให้ชุมชน

ปลากุเลา ของดีบางตาวา สู่การพัฒนาสินค้าสร้างเศรษฐกิจให้ชุมชน 

by Chayanit Khemkald

          ส่วนหนึ่งของอ่าวปัตตานี ในจังหวัดปัตตานี มีแพลงตอนเป็นอาหารปลาจำนวนมากมาย ส่งผลให้ปลาชุกชุมตามไปด้วย กลายเป็นแหล่งเพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจต่างๆ มากมาย การทำประมงพื้นบ้านในจังหวัดปัตตานี ที่ถือว่าชาวประมงมีวีถีชีวิตที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก จนได้รับการขนานนามว่า “มดลูกทะเล”  และอาชีพหลักของคนในพื้นที่คือการทำประมงชายฝั่ง ซึ่ง “ปลากุเลา” ตอนนี้นับว่าเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนเป็นอย่างดี

                  ปลากุเลา เป็นปลาน้ำกร่อย รูปร่างคล้ายปลายี่สก มักหากินแพลงตอนอยู่ตามหน้าดินโคลนพบได้ทั่วไปแถบฝั่งทะเลอ่าวไทย ปลากุเลามีรูปร่างเรียวยาว ลักษณะลำตัวแบนค่อนข้างหนา หัวค่อนข้างเล็ก จะงอยปากสั้น สันหลังสีเทาปนเขียว ครีบหลังและครีบหางมีรอยแต้มสีเทาที่ปลาย ครีบอื่นๆ มีสีเหลือง ได้รับความนิยมในการแปรรูปเป็นปลาเค็ม ถือเป็น “ราชาแห่งปลาเค็ม” แห่งเมืองปักษ์ใต้ และมีการนำปลากุเลามาทำเป็นปลาเค็มเพื่อจำหน่ายในหลายจังหวัด

                  เดิมทีชาวประมงบางตาวา จังหวัดปัตตานี ส่งปลากุเลาสดขายให้อำเภอตากใบ เพื่อเป็นวัตถุดิบแปรรูปเป็น “ปลากุเลาเค็ม” แต่ปี 2560 ผู้ซื้อปลาในพื้นที่ตากใบชะลอการสั่งซื้อปลากุเลาสดจากบางตาวา ทำให้ชาวบ้านขายปลาไม่ได้ จึงปรับตัวแปรวิกฤตให้เป็นโอกาส หันมาแปรรูป “ปลากุเลาเค็มตากแห้ง” ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยวิธีกางมุ้ง และไม่ใช้สารเคมีในการรักษาสภาพปลา ทั้งยังใช้เกลือหวานปัตตานีเป็นส่วนผสมหลักในการทำเค็มของชุมชนประมงบ้านบางตาวา และพัฒนาการขายส่งออกไปสู่มาเลเซีย

            มีการศึกษวิจัยเรื่อง “ปลากุเลาโมเดล” การพัฒนาทุนชุมชนสู่ทุนทางเศรษฐกิจของชุมชน 56 ประมงพื้นบ้านอ่าวปัตตานี” ที่สะท้อนว่า ชาวประมงได้ประสบกับปัญหาแหล่งทรัพยากรเสื่อมโทรมที่เกิดจากการใช้เครื่องมือประมงที่มีการทำลายสูง ทำให้ชาวประมงต้องมีการปรับตัวและแสวงหาทางเลือกเพื่อเพิ่มรายได้ด้วยการร่วมกันฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และเกิดการตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย ในปี 2560 เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการรับซื้ออาหารทะเลสดประเภทต่างๆ และเป็นต้นแบบในการทำธุรกิจของชุมชนประมงพื้นบ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการแปรรูปปลากกุเลาเค็มผ่านกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ช่วยให้กลุ่มมีการรับซื้อสินค้าจากชาวประมงพื้นบ้านโดยปรับราคาขึ้นมากกว่า 40 % แต่มีเงื่อนไขการรับซื้อเฉพาะสัตว์น้ำที่จับมาด้วยเครื่องมือประมงที่ไม่ผิดกฎหมายและเครื่องมือประมงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกลไกราคาซื้อขายอาหารทะเลสดในชุมชนประมงพื้นบ้านหลายหมู่บ้านในจังหวัดปัตตานี ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถช่วยพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนที่ให้ความสำคัญกับทุนของชุมชนเอง

            นอกจากนี้ยังมีภาพการพัฒนาสินค้าจากปลากุเลา ที่สะท้อนมุมมองลูกหลานที่รับช่วงกิจการต่อจากบรรพบุรุษ ของร้าน “ปลากุเลาทองแม่แป้นตากใบ” จังหวัดนราธิวาส ที่ลุกขึ้นมาปรับโมเดลธุรกิจให้เข้าถึงใจคนรุ่นใหม่ ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ จากการใช้นวัตกรรมพาลาโบลาโดม ช่วยตากปลากให้แห้งเร็วขึ้นและลดกลิ่นอับ ทั้งยังต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายให้เหมาะกับการบริโภคของวิถีคนยุคปัจจุบัน

            ณ เวลานี้ ปลากุเลาเค็ม ยังเป็นปลาเค็มที่แพงที่สุด เพราะเป็นปลาธรรมชาติที่มีเฉพาะทะเลภาคใต้ เนื้อมันหนาว กรรมวิธีในการแปรรูปก็มีหลายขั้นตอนและต้องทำอย่างพิถีพิถันไม่ให้มีกลิ่นความเหม็น และใช้เวลาการตากแห้งประมาณ 1 เดือน    

            ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของการปรับตัวและทำให้ชุมชนอยู่รอด รวมถึงใช้ทุนของชุมชนร่วมพัฒนาอาชีพ จากการใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิม และต้องคำนึงถึงการรักษาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นปากท้องของคนในชุมชนด้วยเช่นกัน

แหล่งข้อมูล

http://myweb.cmu.ac.th/somkeit.n/Phd/TRF_Outstanding_Research_2017.pdf
https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_70990
https://www.sentangsedtee.com/exclusive/article_129270
https://bottomlineis.co/Business_Bizlife_saltedfish

แหล่งข้อมูลภาพ

https://www.siambusinessnews.com/2405
https://mgronline.com/travel/detail/9570000103053
https://www.sentangsedtee.com/food-recipes-for-job/article_75229

 

ไม่มีภาพกิจกรรม

ไม่มีวิดีโอ

Back To Top