skip to Main Content
02-530-9204-5 sammachiv.pr@gmail.com
อุตมโชว์วิสัยทัศน์..ปั้น ”SME-Start Up” ลดอุปสรรค-ดันเป็นฮับอาเซียน แข่งสิงคโปร์

อุตมโชว์วิสัยทัศน์..ปั้น ”SME-Start up” ลดอุปสรรค-ดันเป็นฮับอาเซียน แข่งสิงคโปร์

อุตม ”โชว์วิสัยทัศน์…ปั้น”SMEStart up” ลดอุปสรรค-ดันเป็น “ฮับอาเซียน”แข่งสิงคโปร์

บทความชิ้นนี้เป็นรายงานกล่าวเปิดงาน ”SME Transform #พร้อมเปลี่ยน ประชารัฐร่วมใจ เชื่อม SME ไทยสู่สากล” เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา “มูลนิธิสัมมาชีพ” เห็นว่าสาระน่าเป็นประโยชน์จึงนำเสนอสำหรับผู้ที่สนใจ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่างาน  “SME Transform #พร้อมเปลี่ยน ประชารัฐร่วมใจ เชื่อม SME ไทยสู่สากล” ได้จัดขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลได้สร้างโอกาสต่างๆ ไว้รองรับเอสเอ็มอีและวิสาหกิจฐานรากของประเทศในการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตที่มั่นคงและยั่งยืน โดยการรวมพลังเครือข่ายประชารัฐในการขับเคลื่อนและยกระดับเอสเอ็มอีสู่ยุค 4.0 รวมถึงเป็นเวทีให้เอสเอ็มอีได้สัมผัสและเรียนรู้ผลสำเร็จนโยบายการส่งเสริมเอสเอ็มอี ตลอดจนการสร้างการรับรู้แนวทางและโอกาสการปรับเปลี่ยนธุรกิจพร้อมนำเสนอกลไกการยกระดับเอสเอ็มอี ทุกกลุ่ม ทุกมิติ และทั่วประเทศ

โดยแกนหลักของการปฏิรูปเศรษฐกิจ ก็คือการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลได้ปรับแนวคิดจากเดิมที่มุ่งเน้นการลงทุนของธุรกิจขนาดใหญ่ ไปสู่การสร้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพจำนวนมากให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะสำนักงาคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่จะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทให้ความสำคัญสตาร์ทอัพรายใหม่ ซึ่งจะใช้แต่เพียงมาตรการด้านภาษีอย่างเดียวคงจะไม่พอจะต้องหามาตรการใหม่ๆ เพื่อจูงใจให้รายย่อยเกิดการลงทุน เช่น การหาเม็ดเงินเข้ามาสนับสนุนเอสเอ็มอี โดยการดึงดูดเวนเจอร์แคปปิตอลต่างชาติให้เข้ามาลงทุน เป็นต้น

ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 จะใช้ทุกกลไกที่มีอยู่ผลักดันให้ไทยเป็นฮับสตาร์ทอัพเอสเอ็มอีของอาเซียนแข่งกับสิงคโปร์ อะไรที่เป็นอุปสรรคกีดขวางต้องได้รับการแก้ไข กฎหมายฉบับใดล้าสมัยต้องได้รับการปรับปรุงให้สนับสนุนการดำเนินงานของผู้ประกอบการ ซึ่งมั่นใจในศักยภาพของผู้ประกอบการไทย

ในอีก 4-5 ปีข้างหน้าจะเป็นโอกาสของธุรกิจไทย อะไรที่กีดขวางหรือเป็นอุปสรรคขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไข เช่น กฏหมายที่เกี่ยวข้อง การจดทะเบียน การเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยขอให้มีความคืบหน้าในช่วงเวลาก่อนเลือกตั้ง รวมทั้งร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ตลอดจะขยายความร่วมมือไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเอสเอ็มอีให้มีประสิทธิภาพ

รัฐบาลตั้งเป้ายกระดับเอสเอ็มอีไทย สู่ Smart Enterprise เปลี่ยนจาก ทำมากได้น้อย เป็น ทำน้อยได้มาก โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายดันจีพีเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 36% เป็นไม่น้อยกว่า 50% ภายในปี 2564 โดยได้เน้นใน 4 เรื่องหลักๆที่สำคัญ ได้แก่

  1. เงินทุน โดยจะให้ธนาคารเข้าไปลงทุนในเรื่องบิ๊กดาต้า และปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบบิ๊กดาต้า เพื่อดูข้อมูลผลประกอบการ สถานทางการเงิน และประวัติต่างๆอย่างละเอียด เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการปล่อยสินเชื่อ โดยไม่ต้องอาศัยหลักทรัพย์ค้ำประกัน
  2. เทคโนโลยี ถ้าเอสเอ็มอีไม่ปรับปรุงในด้านนี้จะมีต้นทุนการผลิตสูง และหากเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตได้ยากขึ้น เพราะโลกได้ปรับไปสู่การค้าระบบดิจิทัล ดังนั้นจะต้องผลักดันให้เอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบการค้าดิจิทัลให้ได้ นอกจากนี้ กระทรวอุตสาหกรรมก็มีศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (ไอทีซี) ซึ่งจะมีกองทุนต่างๆให้ความช่วยเหลือ
  3. โค้ชชิ่ง สถาบันการเงินจะต้องปรับวิธีการปล่อยสินเชื่อ จะต้องเน้นไปสู่ธุรกิจเอสเอ็มอี พร้อมๆกับการเข้าไปฝึกสอนให้เอสเอ็มอีเข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของธนาคาร และเอสเอ็มอีก็จะเติบโตอย่างเข้มแข็งเป็นลูกค้าระยะยาวต่อไป โดยในอนาคตหากธนาคารไม่เกาะกระแสปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี ก็จะเสียส่วนแบ่งการตลาดไปแน่นอน
  4. บิ๊กดาต้า เอสเอ็มอี จะต้องมีข้อมูลข่าวสารเชิงลึก เพื่อที่จะได้รู้ว่าตลาดมีแนวโน้มเปลี่ยนไปอย่างไร ตลาดที่น่าสนใจอยู่ที่ไหน โอกาสของธุรกิจะเป็นเช่นไร ภาครัฐจะต้องมีข้อมูลในเชิงลึกของทุกภาคธุรกิจ และบริการ จะต้องเชื่อมโยงข้อมูลไปยังเวปไซด์ต่างๆ เพื่อให้เอสเอ็มอีเห็นช่องทางการค้ารู้ว่าควรจะผลิตอะไร ผลิตให้ใคร

ในเวลานี้เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอี.และสตาร์ทอัพทั่วโลกกำลังมีบทบาทที่ชัดเจนในฐานะบ่อเกิดแห่งนวัตกรรม และพลังสร้างสรรค์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่หรือยุค 4.0  ทั้งนี้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ดิจิทัล และอินเตอร์เน็ตถือเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการตัวเล็กๆ สามารถพัฒนาสินค้า บริการให้เกิดนวัตกรรมขึ้นได้อย่างชัดเจน

 อย่างไรก็ตามประเทศไทยเองก็กำลังจะเกิดภาพนี้เช่นเดียวกัน หากแต่เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพไทยยังคงมีความท้าทายในเรื่องของการเข้าถึงเทคโนโลยี การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆที่จำเป็น การขาดทักษะและองค์ความรู้ในการประกอบธุรกิจที่สร้างความสามารถในการแข่งขันในโลกยุคใหม่ รวมถึงเรื่องของโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

ด้วยเหตุนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมกับสสว.และ SME Development Bank  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกันจัดทำชุดมาตรการ ที่มุ่งเน้นให้เอสเอ็มอี.และสตาร์ทอัพไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่  ทักษะที่มีความจำเป็นในการประกอบกิจการเพื่อให้สามารถแข่งขันและเติบโตได้ในยุคดิจิทัล และได้มีการจัดงานครั้งนี้เพื่อสร้างการรับรู้ถึงแนวทางและโอกาสในการปรับเปลี่ยนธุรกิจให้กับ เอสเอ็มอี.และสตาร์ทอัพ พร้อมกับแนะนำชุดมาตรการส่งเสริม 9 มาตรการ เกี่ยวกับความช่วยเหลือทางด้านการเงิน ซึ่งได้มีการปรับให้สอดคล้องและตอบสนองกับเอสเอ็มอีทุกกลุ่ม ทุกระดับ ทั่วประเทศเพื่อก้าวไปสุ่ยุค 4.0 ได้อย่างเข้มแข็งเพื่อเป็นกำลังใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เจริญเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน

ปาฐกถาของ “ดร.อุตม คงจะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี.มองเห็นทิศทางในอนาคตว่าจะมีทิศทางไปทางไหน ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์บ้างพอสมควร

 

Cr.ขอขอบคุณรูปภาพจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
เรียบเรียงโดยนายทวี มีเงิน
บรรณาธิการเว็บไซต์มูลนิธิสัมมาชีพ

ไม่มีวิดีโอ

Back To Top