skip to Main Content
02-530-9204-5 sammachiv.pr@gmail.com
“ผู้กองยอดรักษ์” LFC 4 ลุยปั้นกาแฟโรงเรียน “มาลากาแฟ” สานฝันชีวิตเด็กดอย

“ผู้กองยอดรักษ์” LFC 4 ลุยปั้นกาแฟโรงเรียน “มาลากาแฟ” สานฝันชีวิตเด็กดอย

          หากจะกล่าวถึงทักษะความเป็นผู้นำสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ การทำให้ผู้ตามเกิดแรงบันดาลใจ มีความกล้าที่จะคิดสร้างสรรค์นำเสนอสิ่งใหม่และแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง

          “นาวาตรี สถาพร สกลทัศน์” หรือที่ชาวบ้านเรียกกัน “ผู้กองยอดรักษ์” ศิษย์เก่าจากหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (LFC) รุ่น 4  เจ้าของ “ร้านมาลากาแฟ”  ที่อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ร้านกาแฟที่ใครเห็นเป็นต้องสะดุดตา กับรถจักรยานที่เบาะท้ายถูกดัดแปลงเป็นถังไม้ สำหรับบรรทุกอุปกรณ์คั่วกาแฟแบบหม้อดิน ข้างๆ มีโต๊ะสำหรับวางแก้วและเครื่องบดเมล็ดกาแฟแบบหมุนมือ ขณะที่คนชงกาแฟและลูกค้าที่มาอุดหนุนจะนั่งเก้าอี้ไม้ชันเข่า ล้อมวงชมลีลาการคั่วกาแฟจากน้ำต้นดินเผา หรือคนโทน้ำ ภูมิปัญญาพื้นบ้านของชาวล้านนา เคล้าเสียงเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ที่ถูกบรรเลงจากเด็กนักเรียนชาว “ปกาเกอะญอ”

 

 

          “จิบกาแฟแกล้มวรรณกรรม ดื่มดำเสียงดนตรีชนเผ่า ฟังเรื่องเล่าจากดอยสูง” คือสโลแกนของทางร้าน มีรูปของ “มาลา คำจันทร์” เจ้าของรางวัลซีไรต์ และศิลปินแห่งชาติ ด้านวรรณศิลป์ เป็นโลโก้ร้าน ใกล้กันมีผลงานเขียนทุกเล่มของกวีผู้นี้ ให้ได้เลือกอ่านกันตามสบาย ที่สำคัญร้านนี้ “จ่ายตามใจ รายได้เข้าโครงการนักเรียนดอย”

          นาวาตรี สถาพร เล่าให้ฟังว่า ที่มาของมาลากาแฟมาจากการที่ได้รู้จักกับ “ครูต้า” ครูโรงเรียนบ้านสินชัย ที่ตั้งอยู่ระหว่างทางขึ้นดอยอ่างขาง และมีความต้องการช่วยเหลือเด็กๆ บนดอย ซึ่งขาดโอกาสในชีวิต เราจึงช่วยกันคิดโครงการ “กาแฟโรงเรียน” เพื่อสนับสนุนให้เด็กนักเรียนได้รับการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง ผ่านการปลูกและผลิตกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า แบบอินทรีย์ บนดอยสูงกว่า 1,300 เมตรจากระดับน้ำทะเล อีกทั้งยังเป็นการช่วยรักษาต้นน้ำปิง ให้ใสสะอาดไปถึงผู้คนที่อยู่ปลายน้ำด้านล่าง

          “โครงการนี้เป็นโครงการหาเงินสมทบทุน เพื่อหาอุปกรณ์ให้เด็กขายกาแฟที่ดอยอ่างขาง เด็กจะเป็นตัวจริงเสียงจริงด้านการขายกาแฟ ดังนั้นโครงการนี้เป็นการเติมเต็มอาชีพให้เด็กบนดอย โดยที่ไม่ต้องให้เด็กบนดอยลงมาทำงาน หรือทำผิดเรื่องผิดราวบนพื้นราบอีกต่อไป”

          “ผู้กองยอดรักษ์” เล่าต่อว่า ได้รับความเมตตาจากศิลปินล้านนา โดยเฉพาะพ่อครูมาลา คำจันทร์ ศิลปินแห่งชาติและกวีซีไรต์ อันเป็นที่มาของ “มาลากาแฟ” รวมทั้งพ่อครูสล่าแดง บ้านน้ำต้น ช่างปั้นน้ำต้นคนโทโบราณล้านนา มาช่วยสร้างความน่าสนใจให้กับกาแฟโรงเรียน กลายเป็นจุดขายจิบกาแฟแกล้มวรรณกรรม ทำให้คนหันกลับมาอ่านหนังสือกันมากขึ้น

 

 

          นาวาตรี สถาพร ยังเผยถึง เอกลักษณ์การคั่วในแบบ “มาลากาแฟ” ว่า เรามีหม้อคั่วที่ทำจากน้ำต้นดินเผา หรือคนโทน้ำ ภาชนะใส่น้ำดื่มของชาวล้านนา นำมาดัดแปลงวางในแนวนอน แล้วทุบให้แบนลงพร้อมเจาะรู ทำเป็นเครื่องคั่วกาแฟแทน เรียกว่า “หม้อมาลา” ซึ่งเมื่อร้อนระอุได้ที่ก็จะกรอกเมล็ดกาแฟลงไป พร้อมออกแรงเป่า เพื่อกระจายความร้อนให้ทั่วถึง ด้วยกระบวนการผ่านความร้อนของหม้อดินนี้เอง ทำให้กลูโครสภายในเมล็ดกาแฟถูกละลายออกมา สร้างความหวานตอนอม ขณะเดียวกันความขมเข้มของคาเฟอีนก็ถูกขับออกมาเช่นกัน ช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ที่ดื่มกาแฟ

          “เราจะรู้สึกดีกว่าหรือไม่ ที่จะออกไปค้นหากาแฟที่มีรสอร่อยทั่วราชอาณาจักร มีร้านไหนเช็คอินเราก็จะตามล่าไป เราหยุดค้นหาแต่เรามาค้นคว้ากาแฟที่เหมาะกับตัวของเราเองที่บ้าน ไม่ต้องไปรถติดกับคนข้างนอก เอาครอบครัวมานั่งล้อมวง หรือเชิญเพื่อนบ้านมานั่งชงกาแฟกันที่บ้าน ซึ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นได้”

          สำหรับก้าวต่อไปของมาลากาแฟ “ผู้กองยอดรักษ์” บอกว่า อยากให้โครงการนี้ค่อยเป็นค่อยไป ตอนนี้ยังเป็นเพียงกาแฟเชิงภาพลักษณ์ เชื่อมโยงศิลปะวัฒนธรรมล้านนา เข้ากับสิ่งดีงามที่เกิดขึ้นจากมาลากาแฟ ซึ่งในอนาคตถ้ามีภาคีเครือข่ายสนับสนุน มาลากาแฟก็น่าจะยกระดับเป็นธุรกิจเพื่อชุมชนได้ เช่นเดียวกับเด็กนักเรียนชาวดอยเมื่อเติบโตขึ้น ก็ต้องรู้จักรวมกลุ่มทำธุรกิจเพื่อชุมชนที่อาศัยอยู่ต่อไป

 

          นอกจากนี้ ในส่วนของหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (LFC) นาวาตรี สถาพร เผยให้ฟังว่า ส่วนตัวเป็นทหาร ดังนั้นแต่ก่อนใครจะมาเปลี่ยนความคิดเป็นเรื่องยาก โดยความรู้สึกแรกก่อนเข้าไปเรียนคือ ฉันจะเข้าไปเปลี่ยนอะไรประเทศนี้ได้บ้าง ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดหมดเลย เพราะว่าโครงการผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้สอนให้เราไปเปลี่ยนอะไรใคร แต่สอนให้เราเปลี่ยนที่ตัวเราเองก่อน ตอบโจทย์ตัวเองให้ได้ว่าสิ่งที่เราทำแก้ปัญหาอะไรให้คนส่วนใหญ่ได้บ้าง หลังจากนั้นจึงถอดบทเรียนเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นและนำพาสังคมให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้

          จากความมุ่งมั่นที่จะสร้างอนาคตที่ดีให้กับเด็กบนดอย ของนาวาตรี สถาพร หรือ ผู้กองยอดรักษ์ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำงานเพื่อสังคม โดยไม่รอคอยให้ทุกอย่างพร้อมเสียก่อน จึงจะกล้าลงมือทำ ขอเพียงมีใจที่แน่วแน่แก้ปัญหา ก็จะบรรลุความสำเร็จได้ในที่สุด

ไม่มีภาพกิจกรรม

ไม่มีวิดีโอ

Back To Top