skip to Main Content
02-530-9204-5 sammachiv.pr@gmail.com
“มสช.” จับมือชุมชนคลองสามวา ปั้น“นาในกรุง” เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนและศูนย์เรียนรู้ วิถีชีวิตชนบท แห่งใหม่ของคนกรุงเทพฯ

“มสช.” จับมือชุมชนคลองสามวา ปั้น“นาในกรุง” เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนและศูนย์เรียนรู้ วิถีชีวิตชนบท แห่งใหม่ของคนกรุงเทพฯ

          “มูลนิธิสัมมาชีพ” จับมือชุมชนคลองสามวา เนรมิต “นาในกรุง” เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนและศูนย์เรียนรู้ วิถีชีวิตชนบท แห่งใหม่ของคนกรุงเทพฯ

          หลายๆ คนอาจจะไม่คุ้นชื่อ “คลองสามวา” ที่อยู่ชายแดนทิศตะวันออกของกรุงเทพฯ ซึ่งยังคงดำรงวิถีชีวิตแบบชนบท อยู่ร่วมกันด้วยความเกื้อกูลกันระหว่างไทยพุทธกับไทยมุสลิม  ชาวบ้านที่นี่ยังมีอาชีพทำนาปลูกข้าว ปลูกผักและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งพื้นที่ทำนาในเขตคลองสามวารวมกันกว่า 2 หมื่นไร่

 

 

          “มูลนิธิสัมมาชีพ” เล็งเห็นว่าคลองสามวามีศักยภาพ สามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนให้คนในเมืองมาเที่ยวชมวิถีชนบท เรียนรู้การใช้ชีวิตแบบสังคมเกษตรที่อยู่ใกล้ๆ กรุงเทพฯ

          จึงเป็นที่มาของการหารือร่วมกันระหว่างผู้บริหารมูลนิธิสัมมาชีพนำโดย “คุณผดุงศักดิ์ พื้นแสน” รักษาการผู้อำนวยการมูลนิธิสัมมาชีพ กับผู้แทนชุมชนและหน่วยงานราชการในเขตคลองสามวา เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

          “คุณอรษา งามนิยม” หรือคุณเล็ก ประธานกลุ่มวิสาหกิจธนาคารต้นไม้ชุมชนน้ำใสดอกไม้สวย เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร และสมาชิกผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (LFC) รุ่นที่ 9 ผู้ประสานงานในการพูดคุยกัน อธิบายภาพรวมการทำงานในพื้นที่ให้ที่ประชุมฟังว่า

          กลุ่มวิสาหกิจธนาคารต้นไม้ชุมชนน้ำใสดอกไม้สวย รวมตัวกันทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกัน 4 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชน “น้ำใสดอกไม้สวย” ทำหน้าที่แปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร เช่นไอครีมจากข้าวไรซ์เบอรี่, คุกกี้จากกล้วยน้ำว้า ชุมชน “พร้อมใจพัฒนา” เป็นที่ตั้งโรงสีข้าว โรงอบข้าว ชุมชน “วัดสุขใจ” การเลี้ยงสัตว์ที่มีชื่อมากๆ คือ ไข่เป็ดและไข่เค็มอารมณ์ดี และชุมชน “สะแกงาม 3 เดือน” จะเน้นปลูกข้าวอินทรีย์ และผักอินทรีย์ พื้นที่นาข้าวทั้ง 4 ชุมชนรวมกันราวๆ 1,500 ไร่

 

 

          การร่วมมือกันก็เพื่อพัฒนาผลผลิตที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย โดยเฉพาะการทำนาปลูกข้าว ได้มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ข้าวสารกลุ่มชาวนา, ข้าว กข 43 ยี่ห้อ “ไอดิน”ผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์ 100% ผลิตภัณฑ์ตัวล่าสุดคือ ไอศกรีมข้าว “ไอดิน” นำเอาข้าวไรซ์เบอรี่ มาทำเป็นไอศกรีม ซึ่งกำลังได้รับความนิยมจากลูกค้า โดยเฉพาะบริษัทต่างๆ ที่สั่งจองเป็นประจำ เพื่อนำไปเสิร์ฟเป็นอาหารว่างระหว่างการประชุม

 

 

          “ไอศกรีมผลิตแบบแฮนด์เมดจึงทำได้จำกัด และยังต้องพัฒนาเพื่อให้ได้มาตรฐาน อย. และพร้อมจำหน่ายในร้านค้าหรือห้างชั้นนำ นอกจากนี้ชุมชนยังมีโครงการท่องเที่ยวโดยชุมชน “คลองสามวา นาในกรุง” เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้ามาท่องเที่ยว ศึกษาดูงานได้อีกด้วย กิจกรรมทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดงานและรายได้ กลับคืนสู่ชาวชุมชนน้ำใสดอกไม้สวย ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น” คุณอรษา กล่าวทิ้งท้าย

 

 

          ด้านเจ้าหน้าที่เขตคลองสามวาได้ร่วมกัน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาทางสำนักงานเขตได้เชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชน โดยตั้งฐานการท่องเที่ยวในแต่ละจุด ว่าจะให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเรียนรู้อะไร ประกอบด้วยโรงสีข้าวชุมชนดูการแปรรูปผลิตผลการเกษตร ฐานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งนำเสนอทั้งในแนวกว้างและแนวลึก จะดู 1 วันหนึ่งจุด หรือ 1 วัน 3 จุด

          ที่ผ่านมาผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมชุมชนไม่ใช่นักท่องเที่ยวโดยตรง แต่เป็นลูกค้าของชุมชนมาดูแปลงนา มาดูสินค้าของชุมชน ว่าที่ทานเป็นอย่างไร หรือโรงเรียนสาธิตพานักเรียนมาดูวิถีชีวิตชนบท

 

          คุณผดุงศักดิ์ กล่าวปิดท้ายถึงแนวคิดพัฒนา “นาในกรุง”ว่า พื้นที่คลองสามวา มีลักษณะของนาในกรุงเป็นแนวคิดการเกษตรที่สังคมให้ความสนใจ ซึ่งทางมูลนิธิสัมมาชีพคิดว่าถ้าเราทำเรื่องนาในกรุง “นาคลองสามวา” จะทำให้ความสนใจของคนในกรุงเทพฯ มีมากขึ้น

          “ส่วนการทำงานต่อจากนี้ จะประชุมหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทางเราคุยกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ซึ่งคุณเล็กเป็นลูกค้าอยู่แล้ว เขาก็สนใจร่วมกันผลักดันโครงการนี้ไปด้วยกัน” คุณผดุงศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

  

          หลังจากนั้นทุกคนได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานที่จริงโดยมี “คุณเวธนี สีเขียว” เหรัญญิกชุมชนสุขใจสามัคคี นำชมนาข้าวปลอดสารเคมี มีทั้งแปลงข้าวไรซ์เบอร์รี่และข้าวกข 43 ซึ่งสร้างความตื่นตาตื่นใจกับคณะที่มาศึกษาดูงาน เพราะต้นข้าวในนาท้องแก่เต็มที่ เขียวขจีนอนสงบนิ่งไกลสุดลูกหูลูกตาเพื่อรอการเก็บเกี่ยว

 

          คันนาขนาดใหญ่ก็ปลูกกล้วยน้ำว้า แปลงผักสวนครัวอินทรีย์, มะละกอ, พริกและมะเขือ ผลผลิตที่ได้จะนำไปขายให้กับผู้ที่มาออกกำลังกาย และผู้มาพักผ่อนในสวนวารีภิรมณ์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่เดียวกับนาข้าวอินทรีย์ ช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนต่อไป

          ชุมชนคลองสามวาเป็นความลงตัวระหว่างชุมชนเมืองและชุมชนชนบท หากสามารถพัฒนาให้เป็น “นาในกรุง” ได้สำเร็จ ก็จะกลายเป็นศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตชนบทของคนกรุงเทพฯ อย่างน่าสนใจ

ไม่มีภาพกิจกรรม

ไม่มีวิดีโอ

Back To Top