skip to Main Content
02-530-9204-5 sammachiv.pr@gmail.com
“วสันต์ ดรชัย” LFC รุ่น 6 จับมือ ปตท.พลิก อบต. “ท่ามะนาว”ขึ้น “ฮับไบโอแก๊ส” ผลิตไฟฟ้า-แก๊สชีวภาพป้อนชุมชน ก้าวหน้าถึงขั้นขาย “คาร์บอนเครดิต” ให้แบงก์ชาติ

“วสันต์ ดรชัย” LFC รุ่น 6 จับมือ ปตท.พลิก อบต. “ท่ามะนาว”ขึ้น “ฮับไบโอแก๊ส” ผลิตไฟฟ้า-แก๊สชีวภาพป้อนชุมชน ก้าวหน้าถึงขั้นขาย “คาร์บอนเครดิต” ให้แบงก์ชาติ

เมื่อคราวอบรมหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 9 โดยมูลนิธิสัมมาชีพได้เลือกพื้นที่ ตำบลท่ามะนาว อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เป็นพื้นที่ในการพานักศึกษาดูงานเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ทาง ปตท.เลือกทำกิจกรรม “ซีเอสอาร์” ในโครงการไบโอแก๊ส โดยใช้ของเสียจากฟาร์มหมูผลิตพลังงานไฟฟ้าและแก๊สชีวภาพสำหรับใช้ในชุมชนและยังมีเหลือสำหรับขายคาร์บอนเครดิตให้กับแบงก์ชาติและอยู่ระหว่างการเจรจาขายให้กับเยอรมันอีกด้วย

แต่ที่น่าสนใจผู้นำชุมชนที่พลิกโฉมตำบลท่ามะนาวแห่งนี้ เป็นศิษย์เก่าเคยผ่านโครงการอบรมหลักสูตรผู้นำการเปลี่ยน-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 6 “วสันต์ ดรชัย” นายก อบต. นักพัฒนา

หากพลิกปูม อำเภอชัยบาดาล เป็นชุมชนเก่าแก่ มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร  น้ำ ป่า จึงดึงดูดผู้คนเข้ามาตั้งรกรากที่นี้มากขึ้น จนทำให้ชัยบาดาลเติบโตพัฒนาเรื่อยมา กระทั่งปี 2551 ตำบลท่ามะนาว  อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ได้เข้าร่วมการพัฒนาตามโครงการ “สร้างป่า สร้างคน  84 ตำบล วิถีพอเพียง” โดยความร่วมมือกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

หลายคนมักตั้งคำถามว่า “ทำไม ปตท.จึงเลือกท่ามะนาว” ในเรื่องนี้ “วสันต์ ดรชัย” กำนันตำบลท่ามะนาว กล่าวว่า “เมื่อเห็นชื่อโครงการก็เกิดความสนใจจึงสมัครเข้าร่วม  และถามทาง ปตท.ว่าจะให้ชุมชนทำอะไร ทาง ปตท.ก็ตอบกลับว่าไม่ได้มีกิจกรรมสำเร็จรูปที่จะมากำหนดให้ชุมชนทำตาม แต่จะให้ชุมชนกำหนดความต้องการของตนเอง แล้ว ปตท.จะสนับสนุน”

“ดังนั้นสิ่งแรกที่ทำเมื่อร่วมโครงการคือ การศึกษาชุมชน แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ จากนั้น ปตท.ก็เข้ามาชวนคิดชวนคุย ส่งคนลงมาช่วยคิดและวิเคราะห์ จนพบว่าชาวบ้านอยากแก้ปัญหากลิ่นและน้ำเสียจากโรงงานเลี้ยงหมู โดยการนำขี้หมูมาทำก๊าซชีวภาพมาใช้ทดแทนก๊าซหุงต้ม  และได้ขยายผลการพัฒนาสู่กิจกรรมอื่นๆ เช่น  การปลูกผักส่งห้างดังอย่าง แมคโคร ตั้งโฟลท์ติ่งโซล่าเซลล์ ฯลฯ  เป็นการสร้างกิจกรรมสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน  จนถึงการขายคาร์บอนเครดิต ทั้งหมดเป็นการแสดงศักยภาพและความพร้อมของตำบลท่ามะนาว” นายวสันต์กล่าว

ปัจจุบันตำบลท่ามะนาวสามารถสร้างบ่อหมักแก๊สได้เอง ทำให้มีแก๊สชีวภาพใช้ทดแทนแก๊ส LPG ตำบลท่ามะนาวตั้งเป้าหมายอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จะเป็น “ตำบลปลอด LPG”

 

   

นอกจากนี้ยังมีโซล่าเซลล์ ที่สร้างไว้ใช้สูบน้ำและให้แสงสว่างภายในหมู่บ้าน มีเตาเผาขยะที่ทำแจกชาวบ้าน เพื่อนำขยะที่เหลือจากการคัดแยกมาเผา เพราะตำบลท่ามะนาวนั้นไม่มีที่ทิ้งขยะ จึงต้องหาทางออกโดยการสร้างเตาเผาขยะขึ้นมา ไม่พอเท่านั้น ยังมีบริษัทท่ามะนาว จำกัด ที่มีแนวคิดจะเป็นพ่อค้าคนกลาง โดยรับผลผลิตจากชาวบ้าน ไปส่งท้องตลาด เช่น ห้างแม็คโคร เป็นต้น เพื่อให้ชุมชนได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่

 

 

 มีโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ให้ชาวบ้านที่ไม่มีที่ทำกิน มาทำการเกษตรโดยไม่ต้องเสียค่าเช่าที่ มีทางตำบลคอยรับผลผลิตมาขายส่งให้ตามตลาด หรือร้านค้าใหญ่

มีตลาดลอยน้ำท่ามะนาว ที่สร้างให้คนในชุมชนได้มาขายของ สามารถสร้างรายได้ในระดับครัวเรือนและชุมชน

หากวิเคราะห์ถึงความพร้อมของท่ามะนาวที่สามารถ พัฒนามาถึงจุดนี้ได้เนื่องจาก มี “ทุนทางเลือก” ดังนี้ คือ

  1. ทุนมนุษย์ คือ ผู้นำชุมชน เป็นคนท้องถิ่นทำให้มีความมุ่งมั่นต่อการพัฒนา
  2. ทุนเทคโนโลยี การมีทรัพยากรดินน้ำ และวัตถุดิบที่อุดมสมบูรณ์ ที่ทำให้ชุมชนมีฐานในการพัฒนาเทคโนโลยี จนเกิดความก้าวหน้าไปสู่เรื่องอื่นๆ
  3. ทุนทางสังคม การมีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน โดยเฉพาะที่ชาวชุมชนมีต่อผู้นำ โดยผู้นำเป็นคนใฝ่รู้ และการกล้าตัดสินใจ ไว้วางใจทีมงาน มีความเป็นธรรม
  4. ทุนภายนอก องค์กรหลักที่นำทุนภายนอกคือ ปตท. ที่มาเติมเงินและความคิดให้ชุมชน นอกจากนี้ก็มีองค์กรอื่นๆ เข้ามาเติมเต็มการพัฒนาชุมชน
  5. ต้นทุนวัฒนธรรม การมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน การสร้างสรรค์วัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดร่วมกันมา ดึงดูดผู้สนใจจากเพื่อนบ้านใกล้เคียง และนักท่องเที่ยวจากถิ่นไกลในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก

 

 

 สิ่งเหล่านี้ สร้างให้คนในชุมชนมีความรักและภาคภูมิใจในถิ่นเกิด มีความรักความสามัคคีและมุ่งมั่นในการพัฒนา

 

 

 

“สิ่งที่ชาวบ้านได้รับคือเพื่อนภาคี การมีเครือข่าย การรู้จักพึ่งตัวเอง รู้จักค้นหาปัญหาและพัฒนาตนเอง รู้จักคิดในลักษณะการวิจัยจนนำไปสู่การพัฒนาพลังงานชีวภาพ เพื่อลดค่าใช้จ่ายและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการได้ชีวิตครอบครัวกลับคืนมา ผักอินทรีย์ขายไม่หมดหรือผลผลิตอื่นๆ ก็แบ่งปันกันระหว่างคนมีฐานะดีกับฐานะแย่ในกลุ่ม เราได้บริบทเก่าๆ กลับคืนมา อย่างเช่นการจัดงานประเพณีวันลอยกระทง ทำให้คนในชุมชนเกิดความภูมิใจในชุมชนตนเอง มีคนมาดูงานมากมาย”วสันต์กล่าวทิ้งท้าย

นับเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจกับผลผลิตจากหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 6

ไม่มีภาพกิจกรรม

ไม่มีวิดีโอ

Back To Top