skip to Main Content
02-530-9204-5 sammachiv.pr@gmail.com
“กันตพงค์ ใจเถิน” ความสุขอยู่ที่บ้าน บอกลาชีวิตเงินเดือน มุ่งสร้างชุมชนสัมมาชีพ “หมู่บ้านแม่พริกลุ่ม” จ.ลำปาง

“กันตพงค์ ใจเถิน” ความสุขอยู่ที่บ้าน บอกลาชีวิตเงินเดือน มุ่งสร้างชุมชนสัมมาชีพ “หมู่บ้านแม่พริกลุ่ม” จ.ลำปาง

          ใครหลายคนคงเริ่มต้นชีวิตการทำงานหลังเรียนจบ ด้วยการเป็นมนุษย์เงินเดือน หรือเลือกที่จะเข้ามาทำงานในเมือง เพื่อแสวงหาโอกาสในชีวิต แต่ชีวิตวันนี้ก็ยังลืมตาอ้าปากไม่ได้อยู่เช่นเดิม คงจะมีสักครั้งที่คิดอยากจะลาออก แล้วกลับสู่ถิ่นฐานบ้านเกิด เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ในแบบของตัวเอง

          เรื่องราวแรงบันดาลใจของผู้ที่หันหลังให้กับงานเงินเดือน ตัดสินใจครั้งใหญ่ด้วยการยื่นใบลาออก แล้วเก็บกระเป๋าเดินทางกลับบ้าน เพื่อหาหนทางใหม่ให้กับชีวิต

          “กันตพงค์ ใจเถิน” หรือ “เปรม” อายุ 31 ปี จากเด็กหนุ่มที่อาศัยอยู่ที่ “หมู่บ้านแม่พริกลุ่ม” จ.ลำปาง  เดินทางเข้ามาใน จ.เชียงใหม่ เพื่อศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร เมื่อเรียนจบได้เข้าทำงานที่บริษัท โมเดิร์นเทรดยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งในแผนกการตลาด พัฒนาตัวเองจนได้เป็นถึงผู้จัดการสาขา จ.สิงห์บุรี

          การทำงานกับบริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ในช่วงนั้นถือว่าดีมาก เพราะรับเงินเดือนหลายหมื่นบาท เมื่อถึงสิ้นปีมีโบนัส ค่าสวัสดิการเงินช่วยเหลือที่ทางบริษัทมอบให้ เรียกได้ว่าเป็นชีวิตมนุษย์เงินเดือนที่ค่อนข้างสุขสบายอยู่ไม่น้อย

          แต่จุดพลิกผันเปลี่ยนวิธีคิดการทำงานของ “เปรม” เริ่มจากวิถีชีวิตที่ต้องเครียดกับงาน วันสงกรานต์ปีใหม่ก็ไม่ได้กลับบ้าน แต่แล้ววันหนึ่งพ่อกับแม่มาเยี่ยม แถมเตรียมกับข้าวมาให้ด้วย ซึ่งวันนั้นเป็นวันพ่อแห่งชาติ ทำให้รู้สึกว่าวันสำคัญขนาดนี้ แต่กลับต้องให้พ่อแม่เป็นฝ่ายเดินทางมาหา จึงตั้งเป้าหมายกับตัวเองว่า จะกลับไปทำงานที่บ้านเกิดให้ได้

 

          เขาตัดสินใจลาออกจากบริษัท เริ่มต้นสำรวจว่าในชุมชนบ้านแม่พริกลุ่มมีอะไรบ้าง ก็พบผลิตภัณฑ์ดีๆ เยอะแยะมากมาย เช่น ข้าวไรซ์เบอรี่, ข้าวกล้อง, กล้วยตาก, งานฝีมือต่างๆ จากผู้สูงอายุ จึงทำการรวบรวมและทำการตลาดด้วยการคิดแบรนด์สินค้าขึ้นมา ในชื่อ “อะหังก๊อ” แปลว่า “อะไรนะ” เพื่อให้ลูกค้าได้รู้จักสินค้าของชุมชนง่ายขึ้น

  

 

          “ช่วงแรกผมลงพื้นที่นั่งจับเข่าคุยกับชาวบ้าน รับฟังปัญหาและอธิบายแนวทางการเพิ่มมูลค่าสินค้าให้มีความแตกต่าง โดยตอนนี้มีรวมกันกว่า 15 ชิ้น เป็นของดีที่มีอยู่แล้ว เพียงแต่เรามาช่วยหารูปแบบการขายใหม่ๆ หาตลาดให้กับชาวบ้าน ซึ่งตลาดหลักจะเชื่อมโยงกับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มฮักน้ำจาง จ.ลำปาง เพราะค่อนข้างมีความเข้มแข็งในเรื่องการหาตลาด และโดดเด่นเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์” เปรม กล่าว

 

          นักพัฒนาหนุ่ม เล่าว่า ในอนาคตเราจะสร้างชุมชนให้เป็นแหล่งอาหารและแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยตอนนี้ได้เริ่มสร้างจุดบริการนักท่องเที่ยว บนเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ โดยจะมีทั้งร้านอาหาร, ร้านกาแฟ และบ้านพักโฮมสเตย์ พร้อมสร้างอาชีพให้ชาวบ้านช่วยกันผลิตภาชนะใส่อาหารจากธรรมชาติ เช่น จานกระทงใบตองและแก้วกระบอกไม้ไผ่ ส่งให้กับทางร้าน

 

          ขณะเดียวกันปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตร ที่แต่ก่อนต้องยอมให้พ่อค้าคนกลางกดราคารับซื้อ เราจะให้ชาวบ้านช่วยกันปลูกผักอินทรีย์รอบๆ จุดบริการนักท่องเที่ยว และจะมีป้ายเขียนบอกไว้ว่า ขายโดยเจ้าของสวน เพื่อให้นักท่องเที่ยวจอดรถลงไปทำกิจกรรมได้เลย

          เปรม บอกด้วยว่า สิ่งที่พยายามทำในวันนี้ อย่างน้อยเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ทำคนเดียวคงจะไม่ไหว จึงมีแนวคิดที่จะจัดค่าย “ยุวเกษตร” โดยจะถ่ายทอดให้เด็กรุ่นใหม่ ได้รู้จักชุมชนของตัวเอง และการดูแลพัฒนาถิ่นฐานบ้านเกิดก็เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ

  

          ความหวังที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเองและครอบครัวดีขึ้น ได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา และมีกิจการเล็กๆ ทางการเกษตรเป็นของตัวเอง เพื่อเป็นการตอบแทนพระคุณพ่อแม่ ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากเขายังคงทำงานเงินเดือนอยู่ในเมืองใหญ่

          เราทุกคนรักบ้านเกิดซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความสุขในการใช้ชีวิต หวังว่าเรื่องราวของ “เปรม” ผู้ที่หันหลังให้กับงานเงินเดือน จะเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจ จุดประกายชวนคนหนุ่มสาวให้กลับไปเติบโต กลับไปทำงานพัฒนาบ้านเกิดของตัวเองต่อไป

Back To Top